วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หลัก จะอ้างจําเป็นตาม ป.อ มาตรา ๖๗ (๒) ได้ ผู้กระทําจะต้อง...

 

 ผู้กระทําได้กระทําไป เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย

        หลัก จะอ้างจําเป็นตามมาตรา ๖๗ (๒) ได้ ผู้กระทําจะต้อง...

        ๑. มีเจตนาธรรมดา คือ “ประสงค์ต่อผล” หรือ “เล็งเห็นผล” หรือ “เจตนาโดยพลาด” และ

        ๒. กระทําโดยมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ “เพื่อให้พ้นภยันตราย”

        หลักข้อ ๑. ข้างต้นที่ว่า ต้องมีเจตนาธรรมดา (คือ “ประสงค์ต่อผล” หรือ “เล็งเห็นผล”)

        มีฎีกาบรรทัดฐาน คือ ฎีกาที่ ๗๒๒๗/๒๕๕๓ คําเบิกความและคําให้การชั้นสอบสวนของจําเลยได้ความว่า ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะ ตนเองแล้วจําเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจน ไม่ได้สติแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืน หรือไม่ ดังนั้น การที่จําเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจําเลยกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และ จําเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ อันเป็นการกระทําโดย ประมาทตาม ป.อ. มาตรา ๕๙ วรรคสี่ การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทําความผิดด้วย ความจําเป็นได้นั้น ต้องเป็นเรื่องการกระทําผิดโดยเจตนา แต่คดีนี้จําเลยกระทําความผิดโดยประมาท จึงมิใช่เป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็น

        ข้อสังเกต

        ๑. คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจําเลยตามมาตรา ๒๙๑ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ยกฟ้องโจทก์ไม่ลงโทษจําเลย โดยเห็นว่าเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตาม มาตรา ๖๗ (๒) เพื่อให้ผู้ตาย “พ้นภยันตราย” แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับลงโทษจําเลย โดยให้เหตุผลว่าเพราะจําเลย “ประมาท” จึงอ้าง “จําเป็น” ไม่ได้

        ๒. ข้อเท็จจริง เช่นนี้ ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าตาม “พฤติการณ์” เช่นนั้น จําเลย “ประมาท” ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ หรือไม่

 

        หลักข้อ ๒. จะอ้างจําเป็นตามมาตรา ๖๗ (๒) ได้ ต้องกระทําไปโดยมี “เจตนาพิเศษ” “เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นภยันตราย”



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตร 59-106 (อ.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์) สมัยที่74

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น