วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายอาญา มาตรา ๑๙๙, ๓๖๖/๓

 

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : องค์ประกอบความผิด (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

ทบทวนเตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี 2567 -2568)


        ถ้าวัตถุแห่งการกระทําคือ “คน” ไม่ใช่ “ศพ” การกระทําก็ไม่ผิดมาตรา ๑๙๙ และไม่ผิดมาตรา ๓๖๖/๓

 

          ฎีกาที่ ๑๓๒๖๒/๒๕๕๘ วินิจฉัยว่า การที่จําเลยยกร่างชายที่หมดสติขึ้นรถกระบะแล้วนําฟางมาคลุมร่างกายแล้วจุดไฟเผารถกระบะ โดยเข้าใจผิดว่าชายนั้นถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จําเลยไม่ผิดมาตรา ๑๙๙ แม้จะกระทําไปโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อปกปิดเหตุแห่งการตาย (ทําไปเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่ารถถูกไฟไหม้และไฟคลอกคนในรถตาย)

          เหตุผล เพราะ “ขาดองค์ประกอบภายนอก” เนื่องจาก “วัตถุแห่งการกระทํา” ตามมาตรา ๑๔ คือ “ศพ” แต่ตามความจริงสิ่งที่ถูกเผาคือ “คน” ไม่ใช่ “ศพ” (ถือ “ความจริง” เป็นหลักในการวินิจฉัย)

           ข้อสังเกต จําเลยก็ไม่ผิดมาตรา ๓๖๖/๓ เพราะไม่ใช่การ “ทําลายศพ” แต่จําเลยผิดมาตรา ๒๑๗ และมาตรา ๒๙๑

คดีนี้ ศาลตัดสินว่าจําเลยผิด มาตรา ๒๑๗ เพราะเป็นรถกระบะของผู้อื่น และผิดมาตรา ๒๙๑ โดยไม่ผิดมาตรา ๒๘๘ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นมาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๒๙๑ ดังนี้

          การที่จําเลยจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้ว เป็นการกระทําโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มี เจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทําของจําเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจําเลยจักต้องมีตามวิสัยและ พฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงมีความผิดฐาน “กระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ตามมาตรา ๒๙๑


ย่อหลักกฎหมาย 

มาตรา ๑๙๙ เป็นกระทําไปโดย "มีเจตนาพิเศษ" เพื่อปกปิดเหตุแห่งการตาย

มาตรา ๓๖๖/๓  “ทําลายศพ” 


 คำบรรยายเนติ วิชา กฎหมายอาญา ม.๕๙-๑๐๖ อ.เกียรติขจรฯ เล่มที่ ๓ สมัยที่ ๗๗



เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : ป้องกัน จำเป็น บันดาลโทสะ (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

 

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา ที่พร้อมออกสอบ

เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี 2567 -2568)



หลักกฎหมาย จากคำพิพากษาฎีกา 🌟🌟🌟🌟🌟

๑. ป้องกัน ยกเว้นความผิด ที่กระทําโดยเจตนา เท่านั้น (ฎีกาที่ ๙๖/๒๕๒๙ และ ๑๕๙๗/๒๕๖๒)

๒. จําเป็น ยกเว้นโทษ เฉพาะความผิดที่กระทําโดยเจตนา เท่านั้น (ฎีกาที่ ๗๒๒๗/๒๕๕๓) 

๓. บันดาลโทสะ ลดโทษ ที่กระทําโดยเจตนา เท่านั้น



ประมาท ตามมาตรา ๕๙ วรรคสี่ จะไปอ้างว่าเป็นการกระทําโดยจําเป็น ตาม มาตรา ๖๗ ไม่ได้เป็นอันขาด





เจาะหลัก ฎีกา เตรียมสอบผู้พิพากษา : คดีอาญาศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง พิพากษาคดีอย่างไร?

   เจาะหลัก ฎีกา เตรียมสอบผู้พิพากษา (ปี 2567)


                       คำถาม   ศาลในคดีอาญาพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ดังนี้ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ 

                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่   349/2555   คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 793/2549 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเป็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่  ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ ในคดีแพ่ง      จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

                      คำพิพากษาฎีกาที่  11473/2555  คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องข้อหายักยอก ศาลวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยรับเงินส่วนที่ขาดจากพนักงานขายมาแล้วไม่ส่งให้ผู้เสียหาย แต่เป็นกรณีที่พนักงานขายยังไม่ส่งเงินส่วนที่ขาดส่งให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้ยักยอก พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นจะยกฟ้องโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย แต่ผลในทางคดีต้องฟังว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงินดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวให้รับผิดทางแพ่งโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายของโจทก์จำเลยที่ 1 รับเงินค่าสินค้าจากพนักงานขายแล้วส่งมองให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนโดยคำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 รับมาจากพนักงานขายไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์จำนวน 150,559 บาท เป็นเงินจำนวนเดียวกันกับคำขอท้ายฟ้องคดีอาญาเพื่อขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย จึงเป็นการฟ้องอาศัยเหตุเดียวกันกับคดีอาญา ถือเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากพนักงานขายของโจทก์ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าส่วนที่ขาดส่งสินค้าส่วนที่ขาดส่งจากพนักงานขายของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วยเช่นกัน   



เจาะหลักแนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

"เขียนคำตอบอย่างไร ให้ใกล้เคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่เราอ่าน ผ่านตาให้มากที่สุด"

1. คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญา

2. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย

3. เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเป็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด

4. ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46

5. แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่  ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้

          ในคดีแพ่ง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์



https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2567

ฎีกาใหม่ เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา : วิอาญา มาตรา218 , 44/1

 

ฎีกาใหม่ เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา


              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2566 สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว 

              การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ 

              ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยศาลตั้งให้ ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อจำเลยเป็นบุพการีของผู้ร้อง และมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น 

              ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง จึงเป็นการไม่ชอบ 

              ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง



แนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

กลุ่มมาตรา 218 , 219 , 219 ตรี , 220 , 221 (ออกสอบเสมอ 1 ข้อ* แม่นตัวบท ได้คะแนนมากกว่าครึ่ง)

1. ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง 

2.  การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

3. ประเด็นแนวข้อสอบซ้อนสองชั้น ที่มักจะถาม คือ

"การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาจะสั่งอย่างไร"

        คำตอบ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


        วิเคราะห์ปัญหาในการวินิจฉัย คือ เราจะเกิดความสงสัยว่าศาลใดมีอำนาจสั่งรับฎีกา / ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาได้หรือไม่ / หรือว่า ต้องให้ศาลฎีกาสั่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้ตอบผิดธง ผิดประเด็น


เก็บตกหลักกฎหมายจากฎีกา 💥💥💥💥💥

1.  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

     ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1

2.  ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง

     มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น 


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา : การับฟัง ถ้อยคำบันทึกการจับกุม เป็นพยานหลักฐาน (พยาน อาญา)

 

เจาะหลัก วิเคราะห์ประเด็น เตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา 

(เตรียมสอบผู้ช่วย ปี 2567 ครั้งที่ 2)




                     คำถาม   ถ้อยคำบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก อ. และดาบตำรวจ ท. ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยได้หรือไม่

                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  5375/2555  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “..........มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่ามีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อกับจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง และคำเพิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาดังกล่าวตนเป็นผู้ปลูกขึ้นวินิจฉัยรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย หรือไม่

                     เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า  “ ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี ” มีความหมายว่าห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว ถ้อยคำตามบันทึกการจับกุมที่ว่า มีการตรวจค้นพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อ และจำเลยรับว่าเป็นธนบัตรที่ตนได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริง กับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอนุรักษ์และดาบตำรวจทวีศักดิ์ที่ยืนยันว่า จำเลยรับว่าต้นกัญชาตนเป็นผู้ปลูกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้น เป็นเพียงถ้อยคำอื่นที่จำเลยให้ไว้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมิใช่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลย เมื่อปรากฎตามบันทึกการจับกุมว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งสิทธิแก่จำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน กับฐานผลิตกัญชาจึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว



เจาะประเด็นแนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

 1. บทบัญญัติมาตรา 84 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า  “ ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่งหรือตามมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี 

2. หลัก คือ ห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้ว

3. หากเป็นเพียงถ้อยคำอื่นที่ให้ไว้แก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมมิใช่คำรับสารภาพในชั้นจับกุม

3.1 เมื่อปรากฎตามบันทึกการจับกุมว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งสิทธิแก่จำเลยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง แล้ว 

3.2 การที่ศาลอุทธรณ์ นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว



         ประเด็นที่ข้อสอบจะถามซ้อนลงไปอีกชั้น คือ  "ศาลอุทธรณ์ นำถ้อยคำอื่นของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้หรือไม่ / หรือ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" 

         คำตอบ ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย แล้ว


           ข้อสังเกต  ปัญหาหลัก ทำให้ผู้เข้าสอบเกิดความสับสน ในระยะเวลาอันสั้น ว่า คำถาม มุ่งถามไปที่ศาลชั้นอุทธรณ์ ไม่ได้ถามศาลชั้นต้น ........ศาลอุทธรณ์จะรับฟังบันทึกนี้ได้หรือไม่ ทำไม แล้วศาลชั้นต้นทำไม่ไม่รับฟังมาแต่ต้น ฯลฯ ทำให้ธงคำตอบผิด ทั้งที่ก็รู้หลักกฎหมายเรื่องนี้เป็นอย่างดี.




https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam






เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา : กฎหมายอาญา (ภาคทั่วไป) ชุดที่ ๑

 

เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา 

กฎหมายอาญา (ภาคทั่วไป) ชุดที่ ๑



๑. มาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ” 

ฎีกาที่ ๘๗๔๓/๒๕๕๔ วินิจฉัยว่า จําเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่า การตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย มิใช่กระทำผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ เพราะมีจิตบกพร่องตามมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่า กระทำโดยมิได้รู้สํานึกในการที่กระทำ

ข้อสังเกต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จําเลยไม่ต้องรับผิดในทางอาญานั้น มิใช่ เป็นเพราะมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเพราะถือได้ว่าจําเลยไม่มีการกระทำ 


มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า ผู้ใด “กระทำความผิด” ในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิต บกพร่อง ฯลฯ ดังนั้น จะอ้างมาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง จะต้องมีการกระทำตามมาตรา ๕๙ เสียก่อน


๒.  เด็กทารกไร้เดียงสา เด็กทารกไร้เดียงสาอายุยังน้อย ๆ ถ้ากําเศษไม้ไว้ในมือ แล้วพลิกตัวไปข้าง ๆ เศษไม้ไปถูกลูกนัยต์ตาของเด็กอีกคนหนึ่ง ตาบอด

        ๒.๑ เด็กทารกคนนี้ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา โดยไม่ต้องไปอ้างมาตรา ๗๓ ที่ว่าเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๒ ปี ไม่ต้องไปอ้าง เพราะมาตรา ๗๓ เด็กอายุยังไม่เกิน ๑๒ ปี จะยกเว้นโทษ เด็กคนนั้นต้องมี “การกระทำ” เสียก่อน 

ดังนั้น จะใช้มาตรา ๗๓ การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กอายุไม่เกิน ๑๒ ปี ต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สํานึก กล่าวคือ อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ 

๒.๒ แต่การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กทารกไร้เดียงสา ไม่ถือว่ารู้สํานึก เพราะไม่ได้อยู่ภายใต้ บังคับของจิตใจ เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าไม่มีการกระทำ เมื่อไม่มีการกระทำ จุดตัดของ ความรับผิดอยู่ที่ มาตรา ๕๙ ไม่ใช่มาตรา ๗๓ 


๓. คนละเมอ

ฎีกาที่ ๒๕๙๐/๒๕๖๒ “สามีแทง ภรรยาตายขณะสามี ละเมอ” ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่ผู้ตายนอนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ จําเลยซึ่งเป็นสามีของผู้ตายใช้มีดเป็นอาวุธแทงผู้ตายที่บริเวณหน้าอกขวาและซ้าย ไหปลาร้า มือขวาและซ้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยว่า จำเลยแทงผู้ตายโดยรู้สึกนึกในการกระทำหรือไม่ โดย จําเลยฎีกาว่า การกระทำของจําเลยเป็นการนอน ละเมอในช่วงหลับลึก จําเลยไม่รู้สึก ในการที่กระทำความผิด อันจะถือว่าจําเลยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลมิได้ การกระทำของจําเลยจึงขาดเจตนา ไม่เป็นความผิด เมื่อพิจารณาตามคำเบิกความของนายแพทย์ ศ. นายแพทย์ชํานาญการ หัวหน้า กลุ่มงานจิตเวช ประจําโรงพยาบาล ส. ซึ่งเบิกความในฐานะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญว่า คนทั่วไปแม้ไม่ถึงขั้นจิตเวช แต่ในช่วงนอนหลับสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ไม่รู้สึกตัว ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า สลีปวอร์คเกอร์ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า เป็นอาการละเมอ อาการละเมอดังเช่นจําเลยโดยปกติคนทั่วไปสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่จําเป็นได้โดยต้องเป็นผู้ป่วยทางด้านจิตเวชมาก่อน อีกทั้งโจทก์และจําเลยนําสืบตรงกันว่าจําเลยและผู้ตายไม่เคยทะเลาะกัน ยังรักกันดี จึงไม่มีสาเหตุที่จําเลยจะต้องฆ่าผู้ตาย ถึงแม้จําเลย ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิด แต่จําเลยก็นําสืบว่าที่จําเลยฆ่าผู้ตายนั้น จําเลยไม่รู้สึกตัว นอกจากนี้ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.๑๑ จําเลยให้การว่า จําเลยไม่ทราบเรื่องและไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้กระทำการดังกล่าวไปได้ อย่างไร เนื่องจากในวันเกิดเหตุจําเลยเข้านอนหลับพักผ่อนกับผู้ตายและหลายชาย

 คดีนี้แม้จําเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิด แต่เนื่องจากเป็นคดีที่กฎหมายกําหนด อัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จําเลยได้กระทำความผิดจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง เมื่อพยานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่า จําเลยกระทำโดยรู้สํานึกในการที่กระทำ การกระทำของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาลงโทษจําเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจําเลยฟังขึ้น...พิพากษา กลับให้ยกฟ้อง 


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พากษา : การค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน

เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พากษา


                    คำถาม   พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานได้หรือไม่   

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้                

                     คำพิพากษาฎีกาที่  8722/255ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  93 บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ” แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าจุดที่จำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนเป็นบริเวณหน้าสนามเด็กเล่นอยู่บทถนนสุทธาวาส ส่วนซอยโรงถ่านอยู่ริมคลองวัดโล่ หรือคลองชลประทาน แสดงว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาส ไม่ได้อยู่หลังโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และ และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยมีท่าทางพิรุธนอกจากจำเลยนั่งโทรศัพท์อยู่ริมถนนสุทธาวาสเท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง 

                      

แนวการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

1. หลักกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  93 บัญญัติว่า “ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด ” 

        1.1 หลักสำคัญ ที่จะต้องพิจารณาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงในคำถาม และตามแนวฎีกาที่นำมาออกสอบ คือ

          กรณีใด ที่จะค้นบุคคลได้ .....ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

2.  แสดงว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถานไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าว 

3. การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวบุคคล จึงขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวบุคคลดังกล่าว จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันสมควรสงสัยตามกฎหมายดังกล่าวที่จะทำการตรวจค้นได้ 

4. ดังนั้น การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam


เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา : ประเด็น ผู้รับโอนสิทธิ จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความ บังคับคดีได้หรือไม่

                    

                    คำถาม  ผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษามาจากคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีจะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีได้หรือไม่ 

                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  11401/2555 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยอัตรานับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอให้บังคับคดี ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี

                   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในคดีนี้ โดยผู้ร้องมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ฯลฯ

                  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “........เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนยะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสอง ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ นอกจากนี้การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีนั้นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ เช่น พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์สินในคดีล้มละลายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เป็นต้น เมื่อผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวนสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้


หลักในการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ⭐

1. บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนยะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271

2. เมื่อผู้ร้องเป็นเพียงบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสอง ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้

3. นอกจากนี้การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีนั้นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ 

4. ดังนั้น เมื่อผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวนสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองในคดีนี้ได้


สรุป ผู้รับโอนสิทธิ ไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี ไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้



https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam


เจาะหลักเตรียมสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ประเด็น : หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้หรือไม่

                    

                        คำถาม  หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จะร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีในคดีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นจำเลย ได้หรือไม่  

                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้

                       คำพิพากษาฎีกาที่  12110/2555  คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาโจทก์และจำเลยตกลงกันได้ จึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี

                       ผู้ร้องทั้งหกยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งหกและนายต่อพงษ์เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดเลย โดยนายต่อพงษ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายต่อพงษ์ได้สมรู้ร่วมคิดกับโจทก์ ซึ่งเป็นป้าของนายต่อพงษ์ทำสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงมิได้มีการกู้ยืมเงินแต่ประการใด โจทก์และนายต่อพงษ์ได้สมรู้ร่วมคิดกันแสดงเจตนาลวงเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์หลายรายการของจำเลย ผู้ร้องทั้งหกได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีซึ่งออกโดยผิดหลงดังกล่าวด้วย

              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “........ ผู้ร้องทั้งหกเป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของจำเลยเท่านั้น ความรับผิดของผู้ร้องทั้งหกจึงจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลย เมื่อศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชดใช้เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คำพิพากษาดังกล่าวย่อมกระทบแต่เฉพาะทรัพย์สินและกิจการของจำเลย หากจะต้องมีการบังคับคดีก็เป็นเพียงจำเลยเท่านั้นที่จะต้องถูกบังคับคดี ผู้ร้องทั้งหกในฐานะหุ้นส่วนจำกัดความผิดหาต้องถูกบังคับคดีด้วยไม่ ผู้ร้องทั้งหกจึงไม่ได้รับผลกระทบอันที่จะต้องได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่จะขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ได้ หากการกระทำของจำเลยกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องทั้งหก ผู้ร้องทั้งหกก็ชอบที่จะต้องนำคดีไปฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ผู้ร้องทั้งหกจะขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและหมายบังคับคดีซึ่งได้ดำเนินมาโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหกโดยไม่ต้องไต่สวนก่อนชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทั้งหกฟังไม่ขึ้น ”



เจาะข้อสังเกต แนวคำถามข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา

            คำถาม ผู้ช่วยผู้พิพากษามักจะถามไปถึง ประเด็น ศาลยกคำร้องของผู้ร้องสอด โดยไม่ต้องไต่สวนก่อน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

        คำตอบ  ผู้ร้อง เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ศาลยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหกโดยไม่ต้องไต่สวนก่อนชอบแล้ว 



https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam