วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง อ.ประเสริฐ 27 พ.ย 62 ครั้งที่1 (ภาคค่ำ) สมัยที่72 (บรรยายแทน)





สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

 ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง สมัยที่72 

อ.ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ (ภาคค่ำ) 27 พ.ย 62  (บรรยายแทน)

----------------------------

           คำพิพากษาฎีกาที่ 6412/2556 จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง ที่ศาลต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อน
          แม้โจทก์อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ แต่ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การยังมีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ไม่มีข้อที่ต้องเสียเปรียบ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายหรือเสียเปรียบ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1


 

          คำสั่งศาลฎีกาที่ ๕๖๒๓/๒๕๔๘ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยจะยื่นฎีกา แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนี้ต้องถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ชอบที่จะถอนฟ้องได้ และศาลชั้นต้นชอบที่จะมีอำนาจสั่ง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องโดยจำเลยไม่คัดค้านแล้ว ซึ่งการถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลยตามมาตรา 176 ดังนั้น ฎีกาของจำเลยจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้อง ศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ

          คำพิพากษาฎีกาที่ 3042/2559 ในเรื่องการถอนคำร้องขอ หรือเรื่องถอนฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 175 ไม่ได้ห้ามผู้ร้องถอนคำร้องขอหลังจากผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้ว โดยบังคับศาลเพียงว่า ภายหลังผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังผู้คัดค้านหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน แม้ผู้ร้องขอถอนคำร้องขอและผู้คัดค้านจะคัดค้าน ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ก็ไม่ได้ห้ามผู้ร้องที่ถอนคำร้องขอ ยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ศาลจึงไม่อาจนำข้อที่ผู้ร้องอ้างเรื่องการออกโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วจะมายื่นฟ้องผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคดีใหม่เป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนคำร้องขอได้ด้วย ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า หากศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปหรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้ว จะต้องยกคำร้องขอนั้น เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านคาดเดาไปเอง ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้อีกฝ่ายเห็นข้อเท็จจริงที่เป็นการสนับสนุนข้ออ้างตามคำร้องขอและข้อเถียงตามคำคัดค้านของฝ่ายตนแต่อย่างไร ทั้งกรณียังไม่ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใดเลย หากผู้ร้องนำคดีมาร้องหรือฟ้องใหม่ ผู้คัดค้านก็มีสิทธิต่อสู้คดีได้เต็มที่เช่นเดิม จึงหาทำให้ผู้คัดค้านเสียเปรียบในเชิงคดีไม่

-----------------



แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น