วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค2 อ.สมชาย พงษธา วันที่ 15 ธันวาคม 2560 สมัยที่ 70

           สรุป ฎีกาเด่น ห้องบรรยายเนติ กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค2  
 ศอ.สมชาย พงษธา  วันที่ 15 ธันวาคม 2560 สมัยที่ 70
-------------------------

             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2524 ฎีกาที่ว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ขอให้ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยด้วยนั้น เมื่อโจทก์มิได้อ้างว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ส่วนฎีกาที่ว่าแม้จำเลยจะทำหนังสือเอกสารโดยความ ยินยอมของโจทก์ จำเลยก็มีความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นเป็น ปัญหาข้อกฎหมาย

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 628/2539 ฎีกาในปัญหาที่ว่าจำเลยที่1เป็นผู้ขับรถโดยประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวและจำเลยที่1เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่4เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาคำสั่งศาลที่มีนายทะเบียนและจ่าศาลรับรองถึงความถูกต้องรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่จำต้องนำเจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาสืบประกอบ หลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายต้องการให้แนบมากับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา18และเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำมาสืบในชั้นพิจารณาได้แม้โจทก์ไม่ได้แนบหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหายมาท้ายฟ้องด้วยก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสอง แม้จำเลยที่2จะขับรถด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแต่เหตุที่รถชนกันเกิดจากความผิดของจำเลยที่1ฝ่ายเดียวที่ขับรถตัดหน้ารถยนต์ที่จำเลยที่2ขับโดยกะทันหันจำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดด้วยแม้จำเลยที่2จะไม่ได้ฎีกาแต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่2ในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่2กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่2ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)ประกอบมาตรา247

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2534 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการคิดค่าขาดไร้อุปการะเริ่มตั้งแต่เมื่อใด และสิ้นสุดลงเมื่อใด จัดการศพอยู่กี่วัน วันละเท่าใดก็เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม การที่ผู้ตายชวนจำเลยขับขี่รถยนต์ไปกับโจทก์ ไม่มีกฎหมายรับรองว่าผู้ตายมีส่วนร่วมเสี่ยงภัยและต้องเฉลี่ยความรับผิดในเรื่องค่าเสียหายกับจำเลย เมื่อไม่ได้ความว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยจึงไม่มีเหตุที่จะให้ผู้ตายเฉลี่ยความรับผิดชอบในเรื่องค่าเสียหายกับจำเลย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2529 โจทก์ฟ้องขอค่าขาดไร้อุปการะแม้จะไม่ได้บรรยายว่าโจทก์ควรได้เป็นรายเดือนรายปีเท่าไรเป็นเวลานานเท่าใดก็ตามเมื่อได้ระบุจำนวนที่ขอมาศาลก็พิจารณากำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยประกอบกิจการรถทัวร์รับส่งคนโดยสารได้เช่ารถทัวร์คันเกิดเหตุมาแล่นรับส่งคนโดยสารแทนรถทัวร์ของจำเลยซึ่งเสียอยู่การที่คนขับรถทัวร์ได้ขับรถทัวร์ในกิจการของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้กำหนดและใช้ให้กระทำนั้นคนขับรถทัวร์จึงเป็นตัวแทนของจำเลยเมื่อตัวแทนของจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยในฐานะตัวการต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา427ประกอบมาตรา425 การใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าขาดไร้อุปการะต้องพิจารณาถึงโอกาสแห่งการมีชีวิตของผู้ขอด้วยเมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่1ผู้ขอมีอายุ90ปีเศษขณะยื่นฟ้องและได้ถึงแก่กรรมเมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ที่ศาลล่างกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน90,000บาทจึงสูงไปโจทก์ที่1ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียง45,000บาท เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาทของคนขับรถทั้งสองคันทำให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นตัวการและนายจ้างร่วมรับผิดด้วยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าจำเลยคนใดต้องรับผิดเฉพาะส่วนไหนเท่าใดจำเลยทุกคนจึงต้องรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวอย่างลูกหนี้ร่วม

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4982/2538 โจทก์ที่ 5 ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 5 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุก รถยนต์ดังกล่าวของโจทก์ที่ 5 ได้ถูกจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศชนได้รับความเสียหายโดยความประมาท ของจำเลยที่ 1โจทก์ที่ 5 ต้องเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 80,300 บาทเงินค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 5 จำนวน 80,300 บาท นี้เป็นยอดค่าเสียหายรวมที่โจทก์ที่ 5 ต้องการให้จำเลยทั้งสี่ทราบว่า ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 5 เสียหายคิดเป็นเงินทั้งหมดเท่าไร ค่าเสียหายส่วนนี้จำเป็นที่โจทก์ที่ 5 จะต้องบรรยายไว้ในฟ้อง ส่วนรายละเอียดแห่งความเสียหายที่ว่าโจทก์ที่ 5 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถส่วนไหนเป็นเงินเท่าไร แม้โจทก์ที่ 5 จะไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ 5 เคลือบคลุมไม่ เพราะโจทก์ที่ 5 ชอบที่จะนำสืบถึงรายละเอียดแห่งการซ่อมในชั้นพิจารณาได้ จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันเกิดเหตุโดยประมาทเพียงฝ่ายเดียว หากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันดังกล่าวล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนที่เกิดเหตุเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 6 การเฉี่ยวชนของรถยนต์ทั้งสองคันและความเสียหายทั้งปวงก็จะไม่เกิดขึ้นจำเลยที่ 3 นายจ้างของจำเลยที่ 1 จะเฉลี่ยความรับผิดไปให้แก่โจทก์ที่ 6 ด้วยไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ผู้เสียหายจากการที่ถูกผู้อื่นทำให้เสียหายแก่ร่างกายและอนามัยชอบที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำให้เสียหายได้ แม้ค่าเสียหายนั้น มิใช่ตัวเงินก็ตาม กฎหมายมาตรานี้มิได้บังคับให้เรียกได้เฉพาะค่าเสียหายที่คำนวณเป็นเงินได้หากแต่บัญญัติเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายเรียกค่าเสียหายที่คำนวณเป็นเงินไม่ได้แต่กำหนดขึ้นมาเพื่อทดแทนความเสียหายนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 6ที่ต้องทุกข์ทรมานในระหว่างรักษาตัวเป็นตัวเงินจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 6 ได้รับอันตรายแก่กาย ถึงขนาดม้ามแตก ไตแตก และตับ ขาด จนแพทย์ต้องผ่าตัดไตทิ้งไปข้างหนึ่งเป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายของเสียได้ตามปกติ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ร่างกายของโจทก์ที่ 6 ซึ่งมีอวัยวะไม่ครบบริบูรณ์จะต้องอ่อนแอ กว่าตอนที่โจทก์ที่ 6 ไม่ได้รับอันตรายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ลักษณะของความอ่อนแอ หรือความเสื่อมโทรมของร่างกายของโจทก์ที่ 6 นี้ แม้โจทก์ที่ 6จะยังประกอบการงานตามปกติได้ก็ตาม แต่ความอ่อนแอ หรือความเสื่อมโทรมนั้นจะค่อยเป็นค่อยไปจนในที่สุดโจทก์ที่ 6ก็จะมีร่างกายที่อ่อนแอ หรือเสื่อมโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็นไปตามปกติ และจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเหมือนก่อน ในระหว่างพักรักษาตัว โจทก์ที่ 5 ได้จ่ายค่าแรงงานให้โจทก์ที่ 6 เพียงครึ่งหนึ่งของค่าจ้างเงินค่าแรงงานส่วนที่โจทก์ที่ 6 ไม่ได้รับอีกครึ่งหนึ่งนี้เห็นได้ว่าเป็นการเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานอันเป็นผลจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โดยตรงโจทก์ที่ 6 ชอบที่จะเรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ผู้ทำละเมิดได้ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 มีผลประโยชน์ในกิจการเดินรถร่วมกับจำเลยที่ 3หรือไม่นั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การทั้งสองสำนวนรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุรถชนเกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว และจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้ฎีกาขึ้นมาจึงไม่มีประเด็นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้

ฟ้องเคลือบคลุม
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9594/2544 ในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง กำหนดว่าศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(โจทก์เดิม) มีฐานะเสมือนจำเลย ดังนั้น คำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์จึงเปรียบเสมือนคำฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้รายการใดเป็นของผู้ร้อง จึงเป็นคำฟ้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งก็ไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นพิจารณาเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยจะต้องต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งจะต้องให้การโดยชัดแจ้งด้วยว่าฟ้องเคลือบคลุมอย่างไร มิฉะนั้น ไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึง และในคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าคำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์เคลือบคลุมแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องเป็นคำร้องขอที่ขาดสาระสำคัญในเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2539 ข้ออ้างว่าฟ้องเคลือบคลุมตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคนละเหตุกับที่อ้างต่อสู้มาในคำให้การอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225 ตามระเบียบระบุให้ปลัดสุขาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกรรมการอื่นในการเก็บและรักษาเงินหากมีการทุจริตเกี่ยวกับการรักษาเงินโดยการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้คืนจำเลยที่3เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ในทางปฏิบัติของโจทก์เองจำเลยที่3จึงไม่มีหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์โดยตรงดังนั้นการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้กรณีไม่ต้องตามระเบียบที่จะให้จำเลยที่3ชดใช้เงินแก่โจทก์ ในการถอนเงินฝากมีระเบียบให้เป็นหน้าที่ของประธานสุขาภิบาลปลัดสุขาภิบาลและหัวหน้าหน่วยการคลังลงชื่อถอนร่วมกันการไปรับหรือส่งเงินที่ธนาคารหรือที่แห่งใดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลไปรับหรือส่งเงินลำพังผู้เดียวต้องมีกรรมการไปรับหรือส่งเงินร่วมกันรับผิดชอบเป็นคณะกรณีจำนวนเงินเกิน30,000บาทจะต้องมีกรรมการควบคุมร่วมกันอย่างน้อย3คนระเบียบดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเงินที่อาจขาดจำนวนหรือสูญหายและเพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุจริตการที่จำเลยที่1เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโจทก์ปล่อยให้ร.สมุห์บัญชีของโจทก์ถอนเงินตามลำพังและเบียดบังเอาเงินไปจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่1ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยที่2และที่4เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยเฉพาะจำเลยที่4ยังเป็นหัวหน้าหน่วยการคลังของโจทก์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วยมีเงินผลประโยชน์ของโจทก์ประเภทต่างๆไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์เงินของโจทก์ที่เบิกมาใช้จ่ายในรายการต่างๆไม่มีหลักฐานการรับจ่ายและเงินที่ขาดหายไปเพราะลงบัญชีผิดพลาดจำเลยที่2และที่4เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยหน้าที่นอกจากเป็นกรรมการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยแล้วยังต้องร่วมกันตรวจสอบตัวเงินและหลักฐานแทนตัวเงินและรายงานคงเหลือประจำวันตามระเบียบแต่ไม่ปรากฏว่าในช่วงเวลาที่มีการทุจริตเบียดบังเงินของโจทก์ไปได้มีกาตรวจสอบรายงานคงเหลือประจำวันรวมทั้งบัญชีต่างๆจึงเป็นช่องทางให้ร.ทำการทุจริตขึ้นได้จำเลยที่2และที่4ในฐานะผู้บังคับบัญชาของร.และมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบเงินของโจทก์เป็นรายวันจะอ้างว่าร.ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไม่ได้จำเลยที่2และที่4ปล่อยปละละเลยและประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิด คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งรายงานผลการสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดทางแพ่งซึ่งรวมถึงจำเลยที่1ที่2และที่4ด้วยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้เรียกร้องแก่ผู้ต้องรับผิดทางแพ่งใช้เงินแก่โจทก์ต้องถือว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้มีอำนาจสั่งการรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการตรวจสอบสวนไม่ใช่นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่าร.เป็นผู้ทำละเมิดเพราะจำเลยที่1ที่2และที่4เป็นผู้ต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งที่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ต่างรายไปจากร.โจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้น1ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2874/2550 คำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อความที่กล่าวถึงการที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในข้อ 3 ว่า "ด้วยผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวในข้อ 2 ทำให้โจทก์และบุตรอีก 3 คน ต้องได้รับความเสียหายและขาดผู้อุปการะ..." โดยคำฟ้องของโจทก์ข้ออื่นตลอดจนเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ตาย ในฐานะใด อันมีผลทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ในฐานะส่วนตัวหรือฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบรรยายฟ้องโดยไม่แจ้งชัดว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพ และโจทก์อาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับเรื่องการต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เข้าใจและไม่สามารถต่อสู้คดีปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ได้ตามสมควร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้จะได้ความในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจทราบฐานะของโจทก์ว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้


            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2541 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัยไว้และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้อง มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถ นำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และ ฉ. มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไรอันเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ ฉ. จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7106/2557 (อ. เน้น) แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องให้เห็นแล้วว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประกันภัยรถบรรทุกหมายเลขทะเบียน 93 - 3064 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ หลังเกิดเหตุตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาที่เกิดเหตุและตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยออกหลักฐาน (ใบเคลม) โดยตัวแทนของจำเลยที่ 2 ระบุเลขกรมธรรม์ 1 - 45 - 2164 ให้แก่โจทก์ในวันเกิดเหตุตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 อันเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามหลักฐานเอกสารใบตรวจสอบรายการความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ออกให้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ให้การโต้แย้งฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีถึงเหตุที่เกิดตลอดจนนิติสัมพันธ์ที่จำเลยที่ 2 มีต่อรถบรรทุกคันเกิดเหตุจึงได้ส่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
                ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาหรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด เหตุเกิดวันที่ 21 เมษายน 2545 เดิมโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือวันที่ 13 กันยายน 2545 ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งรับฟ้องและส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา เป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภายหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีใหม่ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โดยศาลแขวงพระนครเหนือไม่จำต้องมีคำสั่งว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ภายในหกสิบวันนับแต่คำสั่งศาลแขวงพระนครเหนือถึงที่สุดชอบแล้ว
                ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องเนื่องจากไม่มีอำนาจพิจารณา จึงเป็นกรณีที่ศาลแขวงพระนครเหนือยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดีแต่อย่างใด ที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ต่อศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์นำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของรถที่โจทก์ใช้อยู่ ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 2 จะบังคับให้โจทก์ไปซ่อมรถที่อู่ทั่วไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 2 หาได้ไม่

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2542 โจทก์บรรยายฟ้องระบุหนี้เงินต้นและหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ 2 ฉบับรวมกันมาและเอกสารท้ายฟ้องก็ไม่ได้แยกหนี้ตามสัญญากู้แต่ละฉบับออกจากกัน จำเลยที่ 5 ผู้ค้ำประกันสัญญากู้ฉบับเดียวย่อมไม่ทราบว่าหนี้ที่ตนต้องรับผิดมีเพียงใด ฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 5 จึงเคลือบคลุม โจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยใช้เช็คเมื่อใด เป็นเงินเท่าใด มีการชำระเงินเข้าบัญชีเมื่อใด คิดดอกเบี้ยในอัตราใดและมิได้แนบบัญชีกระแสรายวันท้ายฟ้องมาด้วย เพียงบรรยายว่ายอดหนี้ถึงวันสิ้นสุดบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียงใด ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หนี้เงินต้นกับหนี้ดอกเบี้ยตามสัญญาฉบับเดียวกันถือเป็นหนี้รายเดียวกัน หากมีการฟ้องร้องก็ต้องฟ้องรวมกันมา ไม่อาจแยกเป็นหนี้เงินต้นคดีหนึ่งและหนี้ดอกเบี้ยอีกคดีหนึ่งการที่ลูกหนี้ชำระหนี้โดยระบุว่าเป็นการชำระเงินต้นย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องในหนี้ดอกเบี้ยยังไม่เริ่มนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้องจึงยังไม่ขาดอายุความ

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2494 โจทก์ฟ้องบรรยายเพียงว่า สินค้าในร้านสหกรณ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการได้ขาดหายไปเป็นราคาเงินจำนวนหนึ่ง โดยมิได้แสดงรายละเอียดว่าสิ่งของอะไรบ้าง อย่างไหนราคาเท่าใด ย่อมเป็นฟ้องเคลือบคลุม

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2525 โจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุถึงการกระทำของจำเลยแต่ละคนที่ได้นำโคของตนปล่อยเข้าไปกัดกินต้นยางในสวนยางของโจทก์เป็นไปในลักษณะจำเลยแต่ละคนต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งการกระทำอันละเมิดต่อโจทก์ของจำเลยแต่ละคนนั้นจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนของแต่ละคนมากน้อยเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏชัด ข้ออ้างแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยแต่ละคนตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ใช่หนี้ร่วมที่โจทก์จะฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมได้ตามคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นการขัดแย้งกันในตัว ยากที่จำเลยแต่ละคนจะต่อสู้คดีของตนได้ถูกต้องจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3350/2542 แม้ขณะทำสัญญาเช่าซื้อผู้ให้เช่าซื้อไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่าซื้อก็ตามแต่ผู้ให้เช่าซื้อก็อาจปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามสัญญาเช่าซื้อได้ หรือหากไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อก็เป็นกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งจะต้องรับผิดต่อไปดังนั้น ในขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือไม่นั้นไม่ทำให้ความสมบูรณ์แห่งสัญญาเช่าซื้อเสียไป สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย
                โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 เป็นต้นมา ตามคำฟ้องดังกล่าวสาระสำคัญอยู่ที่ว่าทำสัญญากันเมื่อใด และจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองรับผิด เมื่อโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในระหว่างที่สัญญายังไม่เกิด จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมขัดกันไม่อาจเข้าใจได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
                โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกกันชำระมิได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกเรื่องฟ้องเคลือบคลุมขึ้นเป็นข้อต่อสู้แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้การในเรื่องนี้ไว้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งทำโดยจำเลยที่ 2 ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะมิใช่เป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) จึงต้องถือว่าฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เคลือบคลุมด้วย

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2537 โจทก์มีเวลาทำงานปกติ จำเลยที่ 1 มีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาให้โจทก์ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลาทำงานและตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์กับมีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดงานหรือมาทำงานสายเงินรายได้จากการแต่งผมที่จ่ายให้โจทก์ก็คำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสอง

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2536 คำฟ้องโจทก์แม้จะมีข้อความว่าพินัยกรรมปลอม แต่ก็มีข้อความต่อไปซึ่งเป็นการอธิบายว่าพินัยกรรมทำขึ้นขณะเจ้ามรดกมีอายุ94 ปี ไม่มีสติรู้สึกผิดชอบ หลงลืมและฟั่นเฟือน ไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้แล้ว และไม่ทำตามแบบจึงตกเป็นโมฆะ หรือเสียเปล่ามิใช่คำฟ้องหลายนัยขัดกัน คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อฉลให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าเป็นเช่นนั้น คงมีพยานปากหนึ่งอ้างว่า ผ่านไปเห็นการทำพินัยกรรมโดยบังเอิญ ขณะเห็นก็ยังไม่ทราบว่าที่บ้านจำเลยทำอะไรกัน และพยานปากนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าจำเลยฉ้อฉลเจ้ามรดกในการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด เช่นนี้พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยได้ฉ้อฉลเจ้ามรดกให้ทำพินัยกรรม จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4) การที่พินัยกรรมระบุว่า ทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากที่ได้ดำเนินการตามข้อ 2 รวมทั้งทรัพย์สินอื่นซึ่งมีภายหลังจากที่ได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ทั้งหมดขอแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่ากันและยกให้ผู้รับพินัยกรรมนั้น เป็นการระบุให้ทรัพย์สินอื่นที่ได้มาภายหลังทำพินัยกรรมให้เอามาแบ่งแก่ผู้รับพินัยกรรมฉบับนี้ จึงไม่รวมที่ดินพิพาทซึ่งเจ้ามรดกทราบว่าตนมีสิทธิก่อนทำพินัยกรรมและไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนเช่นเดียวกับทรัพย์รายอื่น ๆดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกเป็นเงินเดือนละ 2,500 บาท ชำระแก่โจทก์นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้ กรณีไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องฎีกาในประเด็นนี้อีก

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2537 โจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้ครอบครองให้ไปทำการรังวัดแบ่งแยกได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของซ. ได้ขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจำเลยยอมขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 46 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยจำเลยแบ่งที่ดินให้กับโจทก์ด้านติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 191 แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทกองมรดกไม่ยอมไปทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดให้โจทก์ดังนี้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ได้ความชัดเจนว่าโจทก์ฟ้องเพื่อให้จำเลยที่ 2 ไปทำการรังวัดแบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ส่วนที่ดินจะกว้างยาวขนาดใดเป็นเรื่องที่จะดำเนินการรังวัดต่อไปฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้มีการเรียกประชุมทายาทของซ.โดยจำเลยที่ 2 เข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีมติให้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งขายให้จำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 46 ไว้ก่อนการประชุมทายาทจึงเป็นเพียงการครอบครองไว้แทนทายาทอื่นทุกคน จำเลยที่ 2มิได้ครอบครองยึดถือไว้เพื่อตนจึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2533 คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโจทก์ การเป็นชู้ย่อมเป็นการล่วงสิทธิของโจทก์ นับเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์อยู่ในตัว ทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ และขอให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทดแทน นับได้ว่าเป็นการแจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์นำสืบว่าโจทก์เดินทางไปต่างประเทศครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 และโจทก์ได้ทราบเรื่องจำเลยเป็นชู้เมื่อต้นเดือนเมษายน 2527 จำเลยมิได้สืบหักล้างให้เห็นว่าโจทก์ทราบเรื่องตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทราบเรื่องเมื่อเดือนเมษายน 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่13 ธันวาคม 2527 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี สิทธิฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 วรรคหนึ่ง

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448/2521 สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า "ถ้าปรากฏขึ้นเมื่อใดว่าผู้ได้รับทุนนี้ตกเป็นผู้ผิดสัญญาหรือกระทำการใด ๆ อันนำความเสียหายหรือด้วยประการใด ๆ จนผู้รับทุนตกเป็นลูกหนี้แก่รัฐบาล หรือแก่กรมการแพทย์ผู้รับสัญญา จะเป็นโดยสัญญาหรือโดยเหตุใด ๆ ก็ตาม ข้าพเจ้า (จำเลย)ขอให้สัญญาไว้แก่กรมการแพทย์ผู้รับสัญญาว่าข้าพเจ้า (จำเลย)ยอมรับชดใช้เงินที่ตกเป็นลูกหนี้ดังกล่าวแทนผู้ได้รับทุนรายนี้ทั้งสิ้น ฯลฯ" โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดคือเงินทุนที่ผู้รับทุนได้รับไปตามแผนโคลัมโบที่รัฐบาลแคนาดาให้แก่รัฐบาลไทยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลแคนาดาเกี่ยวกับรายการฝึกอบรมของผู้รับทุนเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 247,943.01 บาท โดยมิได้แสดงรายละเอียดว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าอะไรบ้าง แต่ละอย่างจำนวนเท่าใด อันเป็นสารสำคัญที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จำเลยย่อมไม่ทราบว่าค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันมิใช่เป็นผู้รับทุน เมื่อจำเลยไม่เข้าใจข้อหาย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ได้ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ขาดข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นฟ้องเคลือบคลุม (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2521)

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4094/2536 โจทก์ไม่ได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์เป็นค่าสินค้าอะไรบ้าง แต่ละรายการเป็นเงินเท่าใด และเรียกเก็บเงินดังกล่าวจากลูกค้าคนใดของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นจึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อเป็นคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245(1) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2382/2533 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตัดซอยพิพาทขึ้นมาเพื่อทำการจัดสรรที่ดินและสร้างอาคารพาณิชย์ออกขาย โจทก์เชื่อตามคำประกาศโฆษณาของจำเลยว่าซอยพิพาทเป็นทางสาธารณะจึงซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ที่จำเลยจัดสรร ทั้งจำเลยได้ยอมให้โจทก์กับผู้ซื้อรายอื่น ๆ ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นใช้ซอยพิพาทโดยปรกติสุขมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซอยพิพาทจึงเป็นทั้งทางสาธารณะและทางภารจำยอม นอกจากซอยพิพาทแล้ว โจทก์ไม่มีทางอื่นใดจะอาศัยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้อีก ซอยพิพาทจึงเป็นทางจำเป็นอีกด้วย ดังนี้คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ให้เป็นที่เข้าใจโดยชัดแจ้งแล้วในการต่อสู้คดี จำเลยก็ยกเหตุแห่งการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ได้ถูกต้องทั้งสามข้อหา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสวนหย่อมและซุ้มอาคารขายอาหาร เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้ปลูกสร้าง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ให้ชัดแจ้งในคำให้การและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 400/2537 ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้แม้จะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เท่ากับศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในส่วนนี้ คดีจึงไม่ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก เดิมศาลฎีกาจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ตามคำฟ้องดังกล่าวต้องฟังว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกและวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2539 จำเลยที่2มิได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่2เคลือบคลุมด้วยจึงไม่ชอบถือว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคแรกแต่เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่2รับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา887ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดต่อเมื่อเป็นวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบเมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าใครเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่2เป็นผู้รับประกันภัยและนาย ค.ผู้ขับรถยนต์คันนี้มีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของนาย ค. ด้วยคำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่พึงกระทำให้จำเลยที่2ต้องรับผิดและศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่2โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้จำเลยที่2จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา887และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบมาตรา246และ247 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่1รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนแต่มิได้บรรยายฟ้องว่านาย ว. ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่1รับประกันภัยนั้นขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะใดหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันนั้นอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของนาย ว.เมื่อโจทก์มิได้บรรยายถึงเหตุที่จะทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดแล้วจำเลยที่1ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบจึงไม่ต้องรับผิดด้วยคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่1จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2110/2537 การฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา26 วรรคหนึ่ง นั้น เพื่อให้ศาลบังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องว่า ค่าทดแทนที่ควรจะได้รับชำระมีจำนวนเท่าใด และคำขอท้ายฟ้องต้องเป็นเรื่องให้บังคับผู้มีอำนาจในการเวนคืนหรือควบคุมการเวนคืนชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้น แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงจำนวนเงินค่าทดแทนที่เห็นว่าตนพึงได้รับมีเท่าใดและคำขอท้ายฟ้องก็เพียงขอให้บังคับจำเลยดำเนินการตามกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง คำฟ้องจึงขาดสาระสำคัญตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีทางที่ศาลจะพิจารณาให้จำเลยรับผิดได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องจึงชอบแล้ว

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5779/2539 โจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์น้อยกว่าค่าทดแทนที่โจทก์ควรได้รับตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงถือได้ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินโดยละเมิดเท่านั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างไรและกระทำผิดต่อกฎหมายประการใด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2518 ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อสินค้า บรรยายแต่วันเดือนปีและจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าของโจทก์ไปมิได้ระบุว่าสินค้าต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์นั้นเป็นสินค้าอะไรบ้างกล่าวแต่เพียงว่า สินค้าต่างๆ โจทก์จะได้เสนอหลักฐานในชั้นพิจารณาทั้งมิได้แนบรายการสินค้ามาท้ายฟ้อง ตามหนังสือทวงถามก็มิได้แนบรายการสินค้าให้เช่นเดียวกัน โจทก์เป็นบริษัทจำกัด ก็มิได้กล่าวไว้ว่ามีวัตถุประสงค์ทำการค้าสินค้าอะไร ซึ่งถ้ามีกล่าวไว้ ก็พอจะให้จำเลยเข้าใจได้ว่าสินค้าต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์หมายถึงสินค้าต่างๆ ที่บริษัทโจทก์ทำการค้า ดังนี้ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มิได้แสดงรายการละเอียดว่าเป็นสินค้าอะไรบ้าง อย่างไหน จำนวนและราคาเท่าใดอันเป็นสารสำคัญซึ่งพอจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่มิได้แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และขาดข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 405/2538 อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหาตามป.วิ.พมาตรา172วรรคสองโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้องว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2542 แม้คำฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) ซึ่งอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ผู้ฎีกาจะต้องบรรยายคำฟ้องฎีกาให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 172 วรรคสองและมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำฟ้องฎีกาไม่จำเป็นต้องบรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้องเดิมคำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะทั้งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีปรากฏอยู่ในสำนวนของศาลแล้ว คำฟ้องฎีกาเพียงแต่บรรยายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ชัดแจ้งโดยแสดงเหตุผลแห่งคำคัดค้านให้ปรากฏ ทั้งระบุคำขอท้ายคำฟ้องฎีกามาให้ชัดเจน ก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่สมบูรณ์แล้ว โจทก์บรรยายคำฟ้องฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแต่ละแปลงมาโดยชัดแจ้ง และมีคำขอบังคับให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มกับให้ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลมาท้ายคำฟ้องฎีกาครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายเนื้อหาแห่งคำฟ้องเดิม คำให้การ และคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาด้วย คำฟ้องฎีกาของโจทก์ก็เป็นคำฟ้องฎีกาที่สมบูรณ์ ชอบที่ศาลจะรับคำฟ้องฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2542)

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 179/2518 ศาลมีคำสั่งให้โจทก์จำเลยตรวจสอบเอกสาร และกำหนดเวลาให้จำเลยคัดค้านความไม่ถูกต้องของเอกสารและยอดเงินเป็นหนี้ที่โจทก์ฟ้องหากจำเลยไม่แถลงให้ถือว่าถูกต้องเมื่อปรากฏว่าการยื่นคำร้องขอขยายเวลาตรวจสอบเอกสารของจำเลยมิได้มอบฉันทะให้ผู้ใดมายื่นแทนเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 64 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นโดยหลงผิดว่าได้มีการยื่นคำร้องโดยชอบแล้ว จึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งและยกคำร้องของจำเลยเสียแล้ว ก็เสมือนจำเลยไม่แถลงการณ์ถึงความไม่ถูกต้องของบัญชีโจทก์ตามคำสั่งศาลกรณีต้องถือว่าจำเลยได้ยอมรับยอดหนี้ตามฟ้องของโจทก์เป็นการถูกต้องแล้ว
                เจ้าพนักงานศาลไม่มีหน้าที่ทักท้วงหรือแนะนำคู่ความในกระบวนความแต่อย่างใด เป็นหน้าที่ของคู่ความจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่บังคับไว้

อำนาจฟ้อง
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2544 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระเงิน 5,575,551.53 บาทจากโจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลย 5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ 6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมากจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ จึงเป็นกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้อยู่แก่จำเลยจำนวนเท่าใด แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าถูกต้องณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากเป็นจำนวนที่ถูกต้องโจทก์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331เมื่อโจทก์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                การตรวจคำฟ้องศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่าให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิอันเป็นกรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว
                การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วนำข้อเท็จจริงในคำฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์และพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) ซึ่งมีผลเป็นการพิจารณาคดีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ ตามมาตรา 151

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 34/2520 ในเรื่องอำนาจฟ้อง อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น แม้ไม่เป็นประเด็นที่คู่ความอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
                เมื่อตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยหาจำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 17,18 ไม่


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5630/2548 ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลภาษีอากรกลางนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18" คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ถือว่าศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้ก่อนไม่
                ตามหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์แนบมาพร้อมคำฟ้อง มิได้มีข้อความระบุถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว และกรณีถือว่าศาลภาษีอากรกลางได้นำเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำฟ้องมาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นเด็ดขาดแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) มิใช่สั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 จึงคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ไม่ได้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1733/2543 การที่โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องขอให้ระงับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานขอนแก่นและขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว โดยที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วจะมีผลถึงขนาดที่คณะรัฐมนตรีจะไม่อนุมัติการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จึงยังไม่อาจถือได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบ ทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ทั้งสิบหกได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอันเนื่องมาจากความบกพร่องของผู้ก่อสร้างที่ไม่ป้องกันมลพิษ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ผลโดยตรงจากมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสิบหกย่อมไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5183/2538 ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนที่ตั้งเขตศาลและวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์ภาค(ฉบับที่2)พ.ศ.2536มาตรา4บัญญัติว่าบรรดาคดีทีได้อุทธรณ์ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณีซึ่งคดีนั้นค้างพิจารณาอยู่คงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไปพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่29กรกฎาคม2536คดีนี้ปรากฎว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่26พฤษภาคม2536ก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์เท่านั้นศาลอุทธรณ์ภาค1ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโจทก์เพราะจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่าแต่จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการและผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะเพราะขัดต่อมาตรา26แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ.2494จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้ชอบแล้วส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้ศาลบังคับโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินโจทก์ต่อมีกำหนด3ปีนับแต่คำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุดและให้จำเลยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้คราวละ3ปีตลอดไปนั้นเห็นพ้องแย้งที่กล่าวอ้างสัญญาเช่าเดิมที่่โจทก์ฟ้องฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมแต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องแย้งศาลก็ไม่สามารถบังคับโจทก์ให้ทำสัญญาเช่าให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องแย้งส่วนนี้เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา131(2)

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2542 ในคำให้การของจำเลยบรรยายเพียงว่า ที่ดินพิพาทยังเป็น ของจำเลยซึ่งถูกโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก.ทำกลฉ้อฉลเท่านั้นมิได้บรรยายว่าโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก.กระทำการอย่างใดอันเป็นเหตุแห่งกลฉ้อฉลไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจึงต้องห้ามมิให้นำสืบข้ออ้างดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะให้จำเลยนำสืบถึงรายละเอียดเหล่านี้ ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก. ทำกลฉ้อฉลจำเลยเมื่อโจทก์มีหลักฐานเอกสารมาแสดงว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทสามารถนำไปใช้เพาะปลูกหรือทำประโยชน์ใด แต่การที่จำเลยเข้าขัดขวาง มิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย อยู่ในตัว ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามความเหมาะสมได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2495 โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากสามีภริยากับจำเลย จำเลยต่อสู้ปฏิเสธเหตุหย่า มิได้ยกเอาอายุความขึ้นต่อสู้ไว้แม้ภายหลังจำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์เสียโดยอ้างว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ก็ดีคำร้องดังกล่าวก็มิใช่เป็นคำให้การเพิ่มเติมศาลจึงจะยกเอาเรื่องอายุความขึ้นเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 652/2541 โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทซึ่งได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัด ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ทั้งสามขอให้จำเลยทั้งสาม ไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามส่วนสัดที่แต่ละฝ่ายได้ครอบครองแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามไปทำการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่ โจทก์ทั้งสามครึ่งหนึ่งจำเลยทั้งสามให้การว่า เดิมที่ดินพิพาท เป็นกรรมสิทธิ์รวมของ ม. และส. ซึ่งได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดมานาน 40 ปี แล้ว โดย ม. ครอบครองปลูกสร้างอยู่ทางทิศตะวันตกและส.ครอบครองปลูกสร้างบ้านอยู่ทางทิศตะวันออกต่อมาโจทก์ทั้งสามได้ครอบครองที่ดินส่วนของ ม.ส่วนจำเลยทั้งสามได้ครอบครองที่ดินส่วนของ ส. เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวมิได้ระบุว่าโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสามแบ่งแยกการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดจำนวนเนื้อที่ฝ่ายละเท่าใด เพื่อเป็นการปฏิเสธว่าข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสามที่ว่าโจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งนั้นไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นพิพาทแม้จำเลยทั้งสามจะได้แถลงต่อศาลชั้นต้น ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาถึงส่วนสัดของที่ดินที่จำเลยทั้งสาม ได้ครอบครองก็ตาม คำแถลงดังกล่าวก็มิใช่คำให้การไม่ก่อ ให้เกิดประเด็นพิพาทเช่นกัน

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4940/2539 แม้จำเลยที่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่เมื่อคดีนี้มีการชี้สองสถานและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทโดยโจทก์และจำเลยต่างไม่โต้แย้งคัดค้านเช่นนี้จึงถือได้ว่าคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้ระหว่างคู่ความการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าจำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์ได้แจ้งต่อศาลตลอดมาว่าเอกสารต่างๆตามที่จำเลยอ้างมานั้นมีจำนวนมากยังค้นไม่พบต่อมาโจทก์ได้ส่งเอกสารตามคำสั่งเรียกมาให้เป็นบางส่วนแสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังค้นหาเอกสารไม่พบจริงไม่มีเจตนาจะบิดพลิ้วไม่ส่งเอกสารแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมสามารถนำสืบสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93(2)กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา123ที่จะถือว่าโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นแล้ว


                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3892/2559 โจทก์บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของฟ้องว่า โจทก์ซื้อห้องชุดพิพาทเลขที่ 30/540 จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ขอให้จดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้โจทก์ โดยบรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอให้ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยให้การว่า กรณีห้องชุดเลขที่ 30/540 นั้น จำเลยตรวจสอบพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 ส. พนักงานของจำเลยเข้าครอบครองโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบัน กรรมสิทธิ์จึงตกเป็นของ ส. แล้ว จึงเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ ประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีว่าห้องชุดเลขที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้หรือไม่เท่านั้น ไม่มีปัญหาว่าจำเลยค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยหรือไม่ การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นเหตุให้จำเลยไม่ยอมออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้โจทก์ เป็นการนำสืบนอกประเด็นคำให้การ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์ได้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับห้องชุดดังกล่าวแก่จำเลย และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
                ส่วนคำให้การที่ต่อสู้เรื่องการครอบครองปรปักษ์นั้น จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยครอบครองปรปักษ์ห้องพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ แต่กลับอ้างว่ามีบุคคลภายนอกครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยไม่มีหลักฐานคำพิพากษาของศาลแสดงกรรมสิทธิ์ของบุคคลดังกล่าวหรือมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เป็นของบุคคลอื่นแล้ว จึงเป็นคำให้การที่ไม่อาจทำให้ศาลวินิจฉัยให้จำเลยชนะคดีในประเด็นนี้ได้

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2511 คำให้การของจำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าสัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์กับลูกหนี้ในคดีเรื่องก่อน ทำให้หนี้ตามสัญญากู้ระงับสิ้นไป อันทำให้จำเลยผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 698 คำให้การจำเลยกล่าวแต่เพียงว่าสัญญาประนีประนอมยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ ส. ลูกหนี้ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 700 เท่านั้น ยิ่งกว่านั้น ในการชี้สองสถาน จำเลยยังแถลงรับว่า ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดก็เพราะโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ ส. โดยจำเลยมิได้ยินยอม การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยอีกทั้งที่โจทก์ได้ฟ้อง ส. และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ย่อมเป็นฟ้องซ้ำ ดังนี้ คำแถลงรับของจำเลยประกอบคำให้การสู้คดี ทำให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า จำเลยมิได้ประสงค์จะยกประเด็นข้อกฎหมายว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมระงับ อันทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 698 ขึ้นสู้คดี จำเลยจึงมิได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งในคำให้การเพียงแต่จำเลยสรุปไว้ท้ายคำให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดโดยหลักกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698,850,851,852 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 จึงไม่ทำให้เกิดประเด็นข้อนี้
                เมื่อถือว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมระงับ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 698 แล้วการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ จึงเป็นการนอกประเด็น คู่ความจะยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาต่อมาไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 25/2511)

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7467/2543 การให้การต่อสู้ว่าได้สิทธิภารจำยอมในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยการครอบครองนั้นเป็นข้ออ้างที่รอนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นจึงต้องชัดแจ้งตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 เมื่อจำเลยให้การเพียงว่าก่อนซื้อที่ดินโจทก์ทราบดีว่าจำเลยได้ใช้สอยประโยชน์ในที่ดินของโจทก์มาโดยตลอดและเป็นที่ดินที่ตกเป็นภารจำยอมตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ก่อสร้างตึกแถวได้กันไว้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ โดยมิได้อ้างว่าจำเลยครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้วมาด้วย ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้สิทธิภารจำยอมในส่วนแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์โดยการครอบครอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในส่วนนี้ ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาว่าจำเลยได้สิทธิภารจำยอมในที่ดินของโจทก์โดยอายุความหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยให้เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยหรือนอกประเด็นข้อพิพาทต้องถือว่าปัญหาดังกล่าวตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
                แม้จำเลยติดตั้งเครื่องปรับอากาศซึ่งรุกล้ำไปในแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์เกินกว่า 10 ปี และต่อมาได้เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศเครื่องใหม่ติดตั้งแทนและโจทก์รู้ถึงการทำละเมิดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่การละเมิดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์คงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงวันฟ้องและปัจจุบันโจทก์ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรื้อถอนเครื่องปรับอากาศที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ หาอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปีไม่

                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2557 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 บัญญัติว่า ...ให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกรณีทั่วไป มาตรา 37 บัญญัติว่า เจ้าอาวาสมีหน้าที่ดังนี้ (1) บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี... และมาตรา 40 บัญญัติว่า ศาสนสมบัติแบ่งออกเป็นสองประเภท (1) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนาซึ่งมิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง (2) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง ดังนั้น เจ้าอาวาสจึงเป็นผู้แทนของวัด และมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ซึ่งคำว่า จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดนั้น หมายถึง การบริหารจัดการวัดและศาสนสมบัติของวัดนั่นเอง โจทก์โดยเจ้าอาวาสจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ที่อยู่ในที่ดิน ซึ่งเป็นศาสนสมบัติของวัดโจทก์โดยละเมิดได้ ส่วนบทบัญญัติมาตรา 40 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดวิธีการในการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับอำนาจฟ้อง
                สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการนำที่ดินศาสนสมบัติของวัดโจทก์ออกให้เช่า ซึ่งการตั้งตัวแทนให้กระทำการต่าง ๆ นั้น หาตัดสิทธิตัวการที่กระทำการนั้นด้วยตนเองไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นการฟ้องให้รับผิดในข้อหาละเมิด เมื่อโจทก์หรือเจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องขับไล่แล้ว โจทก์ย่อมมอบอำนาจให้ พ. หรือ ส. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น