วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

แนวข้อสอบอัยการผู้ช่วย วิชากฎหมายอาญา (ข้อสอบ อาญา เนติ ๒๕๔๓)

 

แนวข้อสอบอัยการผู้ช่วย 

ใกล้เคียงกับ วิชากฎหมายอาญา ข้อ ๑ เนติฯ (ข้อสอบ อาญา เนติ ๒๕๔๓)


คำถามที่เคยออกเป็นข้อสอบสมัย ๕๓ ปีการศึกษา ๒๕๔๓

ถามว่า นางเดือนคนไทยเป็นนายหน้าหาหญิงไปค้าประเวณี ได้ไปที่ประเทศมาเลเซียและชักชวน นางดาวคนมาเลเซียไปค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนางเดือนเป็นธุระจัดการในเรื่อง การเดินทาง นางดาวตกลงเต็มใจไปด้วย นางเดือนพานางดาวเดินทางจากประเทศมาเลเซีย ไปส่งให้สถานค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่น นางเดือนได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางคืนกับได้ ค่านายหน้าอีกจำนวนหนึ่งเป็นของตน นางดาวค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่นได้วันเดียวก็ถูกตํารวจจับ แต่นางเดือนหนีกลับประเทศไทยได้ ทางการประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ

การกระทําของนางเดือนเป็นความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิงเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ต่อมา นางเดือนถูกจับได้ในประเทศไทย พนักงานอัยการฟ้องนางเดือนต่อศาลอาญาขอให้ลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า นางเดือนจะถูกลงโทษในราชอาณาจักรได้หรือไม่

ตามคำถาม เป็นการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ต่างระบุความผิดเกี่ยวกับเพศไว้ แต่ฐานความผิดที่ระบุไว้เป็นคนละฐานกัน มาตรา ๘ (๓) เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา ๒๗๖ คือ ฐานข่มขืนกระทําชําเรา มาตรา ๒๘๐ คือฐานกระทําอนาจารตามมาตรา ๒๗๘ หรือมาตรา ๒๗๙ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย มาตรา ๒๘๕ ฐานข่มขืนกระทําชําเราผู้สืบสันดานหรือศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ส่วนมาตรา ๗ (๒ ทวิ) เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓

 

ข้อสังเกต ที่ใช้คำว่า “ทางการประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ” แสดงว่า ผู้ออกข้อสอบประสงค์จะให้ตอบเกี่ยวกับมาตรา ๘ ด้วย ประการแรกจะต้องตอบว่ามาตรา ๒๘๒ เป็นความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ วรรคสอง หรือไม่ และต้องแปลความคำว่า “การที่ประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ” ถือว่าเป็นการร้องขอให้ลงโทษหรือไม่ ถ้าถือว่า เป็นการร้องขอให้ลงโทษ ก็จะต้องตอบว่ากรณีนี้จะลงโทษนางเดือนภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยมาตรา ๘ ได้หรือไม่ด้วย

คำตอบ นางเดือนกระทําความผิดนอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗ (๒ ทวิ) นางเดือนจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๗

แม้ทางราชการประเทศญี่ปุ่นจะได้แจ้งให้ตํารวจไทยทราบอันถือว่าเป็นการร้องขอ ให้ลงโทษตามมาตรา ๘ (ก) แต่ความผิดที่นางเดือนกระทํานั้นมิใช่ความผิดที่ระบุไว้ในวรรคสองของมาตรา ๘ ดังนั้น นางเดือนจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามมาตรา ๘ 


วิชา  กฏหมายอาญา มาตรา ๑-๕๘, ๑๐๗ - ๒๐๘ อ.อุทัยฯ สมัยที่ ๗๗ ครั้งที่ ๓


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น