วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

แนวข้อสอบอัยการผู้ช่วย วิชากฎหมายอาญา (ข้อสอบ อาญา เนติ ๒๕๔๓)

 

แนวข้อสอบอัยการผู้ช่วย 

ใกล้เคียงกับ วิชากฎหมายอาญา ข้อ ๑ เนติฯ (ข้อสอบ อาญา เนติ ๒๕๔๓)


คำถามที่เคยออกเป็นข้อสอบสมัย ๕๓ ปีการศึกษา ๒๕๔๓

ถามว่า นางเดือนคนไทยเป็นนายหน้าหาหญิงไปค้าประเวณี ได้ไปที่ประเทศมาเลเซียและชักชวน นางดาวคนมาเลเซียไปค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนางเดือนเป็นธุระจัดการในเรื่อง การเดินทาง นางดาวตกลงเต็มใจไปด้วย นางเดือนพานางดาวเดินทางจากประเทศมาเลเซีย ไปส่งให้สถานค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่น นางเดือนได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางคืนกับได้ ค่านายหน้าอีกจำนวนหนึ่งเป็นของตน นางดาวค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่นได้วันเดียวก็ถูกตํารวจจับ แต่นางเดือนหนีกลับประเทศไทยได้ ทางการประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ

การกระทําของนางเดือนเป็นความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิงเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ต่อมา นางเดือนถูกจับได้ในประเทศไทย พนักงานอัยการฟ้องนางเดือนต่อศาลอาญาขอให้ลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว

ให้วินิจฉัยว่า นางเดือนจะถูกลงโทษในราชอาณาจักรได้หรือไม่

ตามคำถาม เป็นการกระทําความผิดเกี่ยวกับเพศ ซึ่งตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ ต่างระบุความผิดเกี่ยวกับเพศไว้ แต่ฐานความผิดที่ระบุไว้เป็นคนละฐานกัน มาตรา ๘ (๓) เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา ๒๗๖ คือ ฐานข่มขืนกระทําชําเรา มาตรา ๒๘๐ คือฐานกระทําอนาจารตามมาตรา ๒๗๘ หรือมาตรา ๒๗๙ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย มาตรา ๒๘๕ ฐานข่มขืนกระทําชําเราผู้สืบสันดานหรือศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ส่วนมาตรา ๗ (๒ ทวิ) เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓

 

ข้อสังเกต ที่ใช้คำว่า “ทางการประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ” แสดงว่า ผู้ออกข้อสอบประสงค์จะให้ตอบเกี่ยวกับมาตรา ๘ ด้วย ประการแรกจะต้องตอบว่ามาตรา ๒๘๒ เป็นความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ วรรคสอง หรือไม่ และต้องแปลความคำว่า “การที่ประเทศญี่ปุ่นแจ้งให้ตํารวจไทยทราบ” ถือว่าเป็นการร้องขอให้ลงโทษหรือไม่ ถ้าถือว่า เป็นการร้องขอให้ลงโทษ ก็จะต้องตอบว่ากรณีนี้จะลงโทษนางเดือนภายในราชอาณาจักร โดยอาศัยมาตรา ๘ ได้หรือไม่ด้วย

คำตอบ นางเดือนกระทําความผิดนอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๒ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗ (๒ ทวิ) นางเดือนจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ตามมาตรา ๗

แม้ทางราชการประเทศญี่ปุ่นจะได้แจ้งให้ตํารวจไทยทราบอันถือว่าเป็นการร้องขอ ให้ลงโทษตามมาตรา ๘ (ก) แต่ความผิดที่นางเดือนกระทํานั้นมิใช่ความผิดที่ระบุไว้ในวรรคสองของมาตรา ๘ ดังนั้น นางเดือนจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามมาตรา ๘ 


วิชา  กฏหมายอาญา มาตรา ๑-๕๘, ๑๐๗ - ๒๐๘ อ.อุทัยฯ สมัยที่ ๗๗ ครั้งที่ ๓


วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

คำถาม-ตอบ เนติ อาญา สมัย ๕๒ ปี ๒๕๔๒

 

คำถามสมัย ๕๒ ปี ๒๕๔๒

ถามว่า นายซิงห์คนสัญชาติอินเดีย ใช้มีดกรีดเสื้อ ของนายซันคนสัญชาติอินเดียขาด เหตุเกิดในเครื่องบินสายการบินแอร์อินเดีย ขณะบินอยู่ ในน่านฟ้าในทะเลหลวง เมื่อเครื่องบินเข้ามาจอดที่ท่าอากาศยานในประเทศไทย นายซัน ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนผู้มีอํานาจให้ดําเนินคดีแก่นายซิงห์ ต่อมานายซิงห์ถูกฟ้อง ฐานทําให้เสียทรัพย์ของนายซัน ตามมาตรา ๓๕๘

 ให้วินิจฉัยว่า นายซิงห์จะถูกลงโทษ ในราชอาณาจักรได้หรือไม่เพียงใด

คำตอบ นายซิงห์ใช้มีดกรีดเสื้อของนายชั้นขาด แม้จะเป็นความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๘ อันเป็นความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา ๘ (๑๓) ก็ตาม แต่ผู้กระทําความผิดเป็นคนต่างด้าว และนายซันผู้เสียหายเป็นคนสัญชาติ อินเดีย จึงถือไม่ได้ว่าคนไทยเป็นผู้เสียหาย กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๘ (ข) ที่นายซิงห์จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ดังนั้น กรณีที่พนักงานอัยการฟ้องนายซิงห์ฐานทําให้เสียทรัพย์ของนายซัน นายซิงห์จะถูกลงโทษในราชอาณาจักรไทยไม่ได้


วิชา  กฏหมายอาญา มาตรา ๑-๕๘, ๑๐๗-๒๐๘  อ.อุทัยฯ สมัยที่ ๗๗  ครั้งที่ ๓

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ข้อสอบเก่า กฎหมายอาญา มาตรา ๖๑ อัยการผู้ช่วย (๒๕๓๓)

  
 ข้อสอบเก่า กฎหมายอาญา มาตรา ๖๑ อัยการผู้ช่วย (๒๕๓๓)

 ข้อสอบ ผู้สมัครเป็นข้าราชการในตําแหน่งอัยการ โดยวิธีการคัดเลือก วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๓

ข้อ ๑. มาตรา ๖๑ แห่ง ป.อ. บัญญัติว่า “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่า มิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่” ดังนี้
(๑) ให้ท่านยกตัวอย่างกรณีของมาตรา ๖๑ ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมา ๑ ตัวอย่าง และ
(๒) ถ้าไม่มีบทบัญญัติของมาตรา ๖๑ ใน ป.อ. ผลของการวินิจฉัยตัวอย่าง ที่ท่านยกมาใน (๑) นั้น จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร
 
การสำคัญผิดในตัวบุคคลนี้อาจเป็นการสำคัญผิดใน “ทรัพย์สิน” ของบุคคล ก็ได้ ตัวบทในมาตรา ๖๑ ที่ว่า “เจตนากระทําต่อบุคคลหนึ่ง” นั้น ไม่ได้หมายความว่า เจตนากระทําต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิใน ทรัพย์สินด้วย
 
ตัวอย่าง
แดงหยิบเอา สายสร้อยดำ ไปขาย โดยเข้าใจว่าเป็นสายสร้อยของขาว ถือว่าแดงมีเจตนาลักสายสร้อยเส้นนั้นของดำนั่นเอง หรือแดงต้องการบุกรุกบ้านของขาว ในความมืดแดงเข้าไปในบ้านดำโดยเข้าใจว่าเป็นบ้านของขาว ถือว่าแดงมีเจตนาบุกรุกบ้านของดำ
กรณีแดงหยิบสายสร้อยของดำไปขายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นของขาว

แดงมีเจตนาตามมาตรา ๕๙ ที่จะเอาสายสร้อยเส้นนั้น เพราะ
 (๑) แดง “รู้”  ว่าเป็นการ “เอาไป” ซึ่ง “ทรัพย์ของผู้อื่น” (หลักในมาตรา ๕๙ วรรคสาม) และ
(๒) แดงก็ประสงค์ต่อผล กล่าวคือ มุ่งหมายจะทําให้ทรัพย์ชิ้นนั้นเคลื่อนที่ (หลักใน มาตรา ๕๙ วรรคสอง)
เพราะฉะนั้น แดงจึงมี “เจตนาประสงค์ต่อผล” ตามมาตรา ๕๙ ในการลักสายสร้อย “เส้นนั้น” แดงจะยกเอาความสำคัญผิดในตัวบุคคลมากล่าวอ้างว่า ไม่มีเจตนาเอาไปซึ่งสายสร้อยเส้นนั้น โดยทุจริตไม่ได้
ความรับผิดของแดงต่อดำ เจ้าของสายสร้อย คือ มาตรา ๓๓๔๕๙๖๑ โดยแดงไม่ต้องรับผิดใด ๆ เลยต่อขาว เพราะสายสร้อยเส้นที่เอาไปเป็นของดำ แม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นของขาวก็ตาม
 

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การเปลี่ยนโทษ (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

 


เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : กฎหมายคุ้มครองแรงงาน (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี  ๒๕๖๗ -๒๕๖๘)


ประเด็น การเปลี่ยนโทษจากการเลิกจ้างเป็นการหักค่าจ้างซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงน้อยกว่าสามารถทําได้ หรือไม่ 

การหักค่าตอบแทนในระหว่างนัดหยุดงานตามหลัก no work no pay หรืการเปลี่ยนโทษจากการเลิกจ้างเป็นการหักค่าจ้างซึ่งเป็นโทษที่ร้ายแรงน้อยกว่าสามารถทําได้ (ฎีกาที่ ๓๔๕๑ - ๓๔๕๒/๒๕๔๙ และที่ ๓๑๐๙/๒๕๓๕)

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๕๑ - ๓๔๕๒/๒๕๔๙ เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างกันโดยไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ แต่อย่างใดไม่ การที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจากันมีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคดีนี้ได้

เมื่อโจทก์มีพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่ติดใจเอาโทษต่อจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ โดยโจทก์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกจ้างและหักค่าจ้างสำหรับการเข้าทำงานสายแล้ว โจทก์ก็ไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นอีก จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมทั้งหมดได้จงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใด ที่บรรดาจำเลยร่วมทั้งหมดและพวกลูกจ้างโจทก์ในคดีนี้ได้กระทำลงไปมาลงโทษทางวินิจฉัยด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙


ไล่สาย ประเด็นที่น่าสนใจ แนวการออกข้อสอบกฎหมายแรงงาน ⭐

๑. การที่ลูกจ้างได้รวมตัวกันหยุดงานเมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องก็ดี จำนวนผู้แทนของลูกจ้างผู้เข้าร่วมในการเจรจากันมีจำนวนเกินกว่าเจ็ดคนก็ดี พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าดำเนินการไกล่เกลี่ยในวันเดียวกับที่บรรดาลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องก็ดีนั้น 

๒. แม้จะเป็นการผิดแผกแตกต่างจากขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ก็หามีผลเป็นเหตุให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยแล้วต้องตกเป็นโมฆะ

๓. พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ย่อมมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานนี้ได้

๓. ดังนั้น เมื่อบรรดาลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง แล้วบรรดาลูกจ้างดังกล่าวกับโจทก์ได้เจรจากันจนสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างกันโดยไม่มีข้อตกลงใดที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับได้หาตกเป็นโมฆะดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ 

๔. เมื่อนายจ้างไม่ติดใจลงโทษทางวินัยอย่างอื่นอีก จึงถือไม่ได้ว่าลูกจ้างได้จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และนายจ้างย่อมไม่อาจจะนำการกระทำใด ที่บรรดาลูกจ้าง ในคดีนี้ได้กระทำลงไปมาลงโทษทางวินิจฉัยด้วยการเลิกจ้างบรรดาลูกจ้างดังกล่าวได้อีก 


วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : กฎหมายแพ่ง ละเมิด (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

 เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา : กฎหมายแพ่ง ละเมิด (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี 2567 -2568)



                   คำถาม   ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จะถือว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใด

                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  7495/2555  ป.พ.พ.มาตรา  206 บัญญัติ ให้หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเช่นเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด มิใช่นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ



แนวการเขียนตอบข้อสอบ ⭐

1.  ป.พ.พ.มาตรา  206 บัญญัติ ให้หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด

2.  เมื่อลูกจ้าง ทำละเมิดต่อโจทก์และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับ ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้าง ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง 

3. นายจ้าง จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับลูกจ้าง

4.  นายจ้าง จึงผิดนัดมาแต่เวลาที่ลูกจ้าง ทำละเมิดเช่นเดียวกัน

5.  ลูกจ้าง และนายจ้าง ทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด มิใช่นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ


วิเคราะห์ปัญหาในประเด็นคำถามนี้

1. ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จะถือว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใด อาจจะเป็นคำถามที่ "ถามง่าย แต่ตอบยาก"  ทำให้เกิดความลังเลใจ

2. หลักกฎหมาย เบื้องต้น ทุกท่านทราบ ตอบได้ทันทีอยู่แล้วว่า  "หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด" แต่ปัญหาที่จะต้องตอบ คือ  นายจ้างผิดนัดเมื่อใด💣💣💣  เกิดปัญหา ว่าจะตอบไปทางซ้าย ธงอาจจะไปทางขวา (คือ เดา หรือไม่มั่นใจ วัดดวง)

3. .ให้เขียนตอบข้อสอบแบบ "แพ่ง"


https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam




วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก ที่ดิน เพิกถอนการโอน

 

เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง 

เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา (ปี ๒๕๖๗ -๒๕๖๘)


ประเด็นปัญหา "ผู้ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนการโอนได้อย่างไร"

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๑/๒๕๑๙ โจทก์เป็นบุตรของ ร. ซึ่งเกิดจาก ส. มารดา ก่อน ส. ถึงแก่กรรม ส. ได้ทําพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ ร. และโจทก์ โดยระบุให้ ร. เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมา ร. สมรสกับจำเลย และ ร. ได้ลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไว้ ในฐานะผู้จัดการมรดก ก่อน ร. ถึงแก่กรรม ร. ไม่ได้ทําสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกกับโจทก์ เพียงแต่ได้ทําหนังสือแสดงเจตนาว่าจะแบ่งทรัพย์ของตนให้แก่บุตร และให้โจทก์ลงชื่อไว้ในหนังสือนั้นด้วยเท่านั้น แล้ว ร. ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาส่วนของตนคืนได้เสมอ โดยไม่มีอายุความฟ้องร้อง เว้นแต่กรณี จะต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒, ๑๓๘๓ ฟ้องของโจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา ๒๓๗ และมิใช่คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก

 

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๙๐/๒๕๓๘ ต. ทําสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาท และทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ แม้ ต่อมา ต. ให้จำเลยร่วมที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมที่ ๒ และจำเลยร่วมที่ ๒ โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยรู้อยู่แล้วว่า ต. ได้ทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ แต่จำเลยร่วมที่ ๑ ไม่ใช่ลูกหนี้ของจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยร่วมที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ ๒ ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ วรรคแรกได้

ต. ทําสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ต. เพียงแต่ทําสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเท่านั้น จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับ จำเลยร่วมที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ของจำเลยร่วมที่ ๑ ทั้งมิใช่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จำเลยร่วมที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๒ ได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยร่วมที่ ๑ กับจำเลยร่วมที่ ๒ ได้

 

สรุป ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่บุคคลหนึ่งเอาที่ดินไปโอนให้แก่บุคคลภายนอก มีปัญหาว่าผู้ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนการโอนได้อย่างไร

 ปัญหานี้มีหลักกฎหมายที่อาจนํามาพิจารณาได้ ๓ ลักษณะ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๐ เรื่องผู้มีสิทธิจดทะเบียนได้ก่อน มาตรา ๑๓๓๖ เรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืน และมาตรา ๒๓๗ เรื่องเพิกถอนการฉ้อฉลต้องเข้าให้ถูกว่าเป็นมาตราใดจึงจะตอบถูก

          ที่คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าววินิจฉัยว่ากรณีนี้ไม่เข้ามาตรา ๒๓๗ แสดงว่าเป็น กรณีที่ไม่ใช่หนี้หรือไม่มีหนี้ผูกพันจึงไม่นํามาตรา ๒๓๗ ซึ่งอยู่ในบทบัญญัติบรรพ ๒ ว่าด้วยหนี้มาใช้บังคับเพื่อเพิกถอนการฉ้อฉลไม่ได้


วิเคราะห์แนวการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแพ่ง ⭐

 กฎหมายแพ่งมีประเด็นที่เริ่มเรื่องมา ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ธงคำตอบ มักจะออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

         ข้อสังเกต "เป็นกรณีที่ท่านอาจารย์ให้ ข้อคิดว่า เพื่อให้มีความเข้าใจว่ากรณีตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นเรื่องหนี้หรือไม่ และให้สามารถนํากฎหมายมาใช้ในการวินิจฉัยได้ถูกต้องตรงตามเรื่องที่พิพาทกัน"

 


อ้างอิง คำบรรยายเนติฯ วิชา หนี้ อ.ไพโรจน์ วายุภาพ สมัยที่ ๗๗



เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา) : กฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก

          


เจาะหลักกฎหมาย ประเด็นฎีกา (เตรียมสอบ ผู้ช่วยผู้พิพากษา)

  กฎหมายกฎหมายแพ่ง หนี้ มรดก (สอบ ปี 2567 -2568)



                     คำถาม  หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้กู้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ผู้ให้กู้จะฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันได้ทันทีหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ


เจาะหลักการเขียนตอบข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา  ⭐ ⭐ ⭐ ⭐ ⭐

 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้

2.  ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย 

3.  แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับเจ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม  💥💥

4.  เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย 

5. ดังนั้น หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว เจ้าหนี้จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ



 

https://www.lawsiam.com/?file=lawyer-exam



"ทำแบบเดิมๆ อ่านแบบเดิมๆ ยังสอบไม่ได้ หรือเกือบได้ ต้องหาวิธีปรับวิธีใหม่"