วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

การอ่านกฎหมาย อ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร


แนวทางการอ่านกฎหมาย
         ถ้อยคำในตัวบทมีความหมาย จึงต้องแยกอ่านเป็นรายคำ รายวลี รายประโยค และรายวรรค แล้วจึงพิจารณาถ้อยคำทุกคำและพิจารณาตัวบทกฎหมายทุกบททุกมาตราที่เกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่ง

          ในเรื่องที่ยุ่งยากสับสน นักศึกษาควรอ่านให้ช้ากว่าปกติและใช้วิจารณญาณตามไปด้วย นอกจากนี้สมควรบันทึกหัวข้อย่อหรือเนื้อหาเรื่องที่อ่าน และควรข้ามไปอ่านคำสรุปตอนท้ายบทเสียก่อน เพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์

ที่มา: หนังสือคำเเนะนำนักศึกษากฎหมาย ศ.(พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร



หลักฟ้องซ้ำ ( ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148)

ฟ้องซ้ำ (มาตรา 148)

หลัก   1.   คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว   คู่ความจะนำคดีเรื่องที่เคยพิพาทกันมาในคดีก่อนมาฟ้องกันใหม่อีกไม่ได้ (เป็นฟ้องซ้ำ)
      1.1.คำว่า ถึงที่สุด คือ
         1.1.1.เมื่อได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นที่สุด
         1.1.2.เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์หรือฏีกา หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่
      1.2.คำ พิพากษาที่ถึงที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีใดยื่นฟ้องก่อนหลัง เพราะหลักของการฟ้องซ้ำ มิได้ถือเวลาที่ยื่นฟ้องเป็นสำคัญ   แต่ถือคดีถึงที่สุดเมื่อใด

   2.   ฟ้องซ้ำต้องเป็นคู่ความเดียวกันจึงจะต้องห้าม
      2.1.คู่ความเดียวกัน     แม้คดีก่อนเป็นโจทก์  แต่คดีใหม่กลับมาเป็นจำเลยก็ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน
      2.2.คู่ความเดียวกัน รวมถึงผู้สืบสิทธิจากคู่ความเดิม  เช่นสามีภริยา    เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม  ผู้รับโอนทรัพย์
      2.3.แม้ เป็นคู่ความเดิมแต่เข้ามาคนละฐานะ   ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าคู่ความเดิม  เช่น คดีก่อนฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว  คดีใหม่ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม  เช่นนี้ไม่ถือเป็นคู่ความเดียวกัน

   3.   ได้นำคดีมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกัน ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
      3.1.เหตุ อย่างเดียวกัน หมายถึง คำพิพากษา หรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องร้องกันโดย วินิจฉัยอย่างเดียวกับคดีก่อนที่ศาลได้วินิจฉัยมาและต้องเป็นส่วนของเนื้อหา ด้วย  (หากไม่ใช่ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ )
      3.2.กรณีศาลได้วินิจฉัยใน ประเด็นแห่งคดี  แต่ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ เพราะศาลมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีนั้นเอง  ดังนั้นจึงนำคดีมาฟ้องใหม่ได้  เช่นดังนี้.-
         3.2.1.ศาลจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ( ฏ.1740/2520 )
         3.2.2.ยกฟ้องเพราะเหตุฟ้องคดีเคลือบคลุม ( ฏ.155/2523 )
         3.2.3.ยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์บกพร่อง ( ฏ.2522/2523 )
         3.2.4.ยกฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ( ฏ.666/2530 )
         3.2.5.กรณีโจทก์ถอนฟ้อง ( ฏ.268/2489 )

   4.   ข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ        มีดังนี้.-
      4.1.การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
         - กรณีบังคับคดีไม่พอชำระหนี้  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก
         - กรณีโต้แย้งว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
      4.2.คำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราว ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติการณ์
         - การกำหนดวิธีชั่วคราว  คือกำหนดการบังคับคดีเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว   เช่น  ค่าอุปการะเลี้ยงดู
      4.3.ศาลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
         -  ได้แก่  ศาลยกฟ้องเพราะผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่สามารถจะแบ่งทรัพย์กันๆได้ในชั้นนี้ ศาลชอบที่จะอนุญาตไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมว่าไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีมา ฟ้องใหม่
         -  การพิพากษาให้นำคดีมาฟ้องใหม่ได้ตาม ม.148(3)นี้    ไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
         -  การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำคดีมายื่นฟ้องใหม่ ตาม ม.148(3)   มิใช่การย่นหรือขยายระยะเวลา
      -  คดีเดิมมีการฟ้องร้องกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว  ซึ่งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาก็ถือว่าได้มีคำ วินิจฉัยในประเด็นแล้ว   เมื่อนำคดีมาฟ้องใหม่อีก   จึงเป็นฟ้องซ้ำ  แต่เนื่องจากคดีนี้ปรากฏว่าไม่สามารถปฎิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้    ดังนั้นคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมจึงตกไป  เท่ากับยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุ อย่างเดียวกัน  คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฏ.124/2546)

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2546
           คดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ ถือกรรมสิทธิรวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสแล้วทำสัญญาประนี ประนอมยอมความว่าจะนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสินสมรสไปขายให้แก่ผู้ มีชื่อในราคา 2,000,000 บาท ภายใน 1 เดือนแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ศาลพิพากษาตามยอมต่อมาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โดยอ้างว่าผู้ซื้อเปลี่ยนใจไม่ซื้อจึงมีการทำข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสกัน ใหม่ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามข้อตกลงใหม่เป็นคดีที่ สอง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแรกเป็นสัญญา มีเงื่อนไขไม่สามารถสำเร็จผล อันมีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตกไปไม่มีผลบังคับส่วนข้อตกลงจัดการสิน สมรสกันใหม่เป็นสัญญาระหว่างสมรส เมื่อคู่สมรสบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสจึงเป็นอันสิ้นผล โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน พร้อม สิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสเดียวกับที่ฟ้องคดีแรก ดังนี้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมเช่นนี้ คำพิพากษาตามยอมในคดีแรกเป็นอันตกไปไม่มีผลบังคับเช่นเดียวกับสัญญาประนี ประนอมยอมความ ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าคดีแรกได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

      -  คดีแรกศาลได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด   ดังนั้นผลของคำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองมิให้โต้เถียง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงไม่มีสิทธิจะยึดรถยนต์ไว้  คดีหลังที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับให้คืนรถยนต์เป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตาม สิทธิของตนเอง ซึ่งเกิดจากคำพิพากษาคดีก่อน  คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ( ฏ.1939/2545 , 2658/2545 )

คำพิพากษาฎีกาที่ 1939/2545 (ป)        ในคดีก่อนศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คดีนี้ ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าว ให้ยกฟ้องของจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ผลของคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดัง กล่าวมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทกับโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้ร้อง สอดในคดีข้างต้นอีก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิจะยึดรถยนต์พิพาทไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำ พิพากษาฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาฎีกาที่ 7600/2544          คดีก่อน ป. ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระ โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนกับ ป. โดยมีข้อสัญญาเอาเปรียบ ป. สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน จึงขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
            โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ ป. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของ ป. โจทก์ในคดีก่อน ถือว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีก่อน
            การที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่า ป. และจำเลยแสดงเจตนาลวงทำสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนโดยไม่มี เจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุน แม้จะเป็นการเบียงเบนข้อเท็จจริงที่ ป. ฟ้องคดีก่อน แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกว่า สัญญาการซื้อขายร่วมสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ป. กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามป.วิ.พ. มาตรา 148

      -  ความเสียหายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีหลังนี้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภาย หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว   คำขอบังคับจำเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงต่างกับคำขอให้บังคับจำเลย ทั้งสองของโจทก์ในคดีก่อน  และมิใช่ประเด็นที่ศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว กัน  ดังนั้นฟ้องโจทก์ในคดีที่สองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก ( ฏ.456/2545 , 1584/2545 , 457/2545 )

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการถือกรรมสิทธิ์รวม และเพิกถอนการจดทะเบียนการขายเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถกระทำได้ ให้นำที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ขอตีมูลค่าที่ดินพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท และคืนเงินทุนให้โจทก์ 680,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
  เห็นว่า
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012
   เมื่อพิจารณาสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ ข้อ 9 ที่ว่า "เจ้าของที่ดินเมื่อสิ้นสุดสัญญา หรือโครงการสิ้นสุด มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินพิพาท ต้องแจ้งให้ผู้ร่วมโครงการทราบก่อนที่จะบอกขายแก่บุคคลภายนอกโครงการ" จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ให้สัญญา และเป็นผู้ออกเงินลงทุนในโครงการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว หากโจทก์ในฐานะผู้รับสัญญาไม่ดำเนินการจัดจำหน่ายดินลูกรัง หรือกีดกันหน่วงเหนี่ยวเมื่อลูกค้ามีใบสั่งซื้อให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหมดสิทธิในการดำเนินการในที่ดินพิพาททุกกรณีตามข้อ 6.1 และหากพบการฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์หรือบุคคลอื่นที่กระทำและโจทก์รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ตามข้อ 6.2.2
  แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว ส่วนโจทก์เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าจำเลยที่ 1 ดังนั้น คำว่า "เจ้าของที่ดิน" ตามข้อ 9 จึงหมายถึง จำเลยที่ 1 ส่วนคำว่า "ผู้ร่วมโครงการ" หมายถึง โจทก์
  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทดังฎีกาโจทก์
   การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้นเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม และมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุนอีกจำนวน 680,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องให้แก่โจทก์ด้วยนั้น
   เห็นว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์เอกสารหมาย จ. 7 ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2560

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วันเสาร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แจกไฟล์เสียง เนติ 1/70 ฟรี ภาคค่ำ ปีการศึกษา 2560

แจกไฟล์เสียง เนติ 1/70 ฟรี  ภาคค่ำ ปีการศึกษา 2560

.............................
      ปีการศึกษา 2560 ภาคค่ำ อัพเดท

 แบ่งปันข้อมูล โดย สำนักงานทนายความชนะ ชนะพล (ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่เสียเงิน เพื่อการศึกษาเท่านั้น)
.............................


วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 16

...........................................


                  คำถาม   ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า  เมื่อหมดสัญญาแล้ว  ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่า ต่อไปอีก ให้ผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่หรือจะต้องทำความตกลงเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อนเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  8692/2549   ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10 ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน  ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า และตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย  แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน  ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว  แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาฉบับใหม่  ดังนั้น  การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 569/2525  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปีถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้วโจทก์เสนอขอเช่าต่ออีก  แต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ  ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย
                 ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่าเมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้ผู้เช่ามาทำสัญญาใหม่ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า
                   
                  คำถาม  คำมั่นจะให้เช่าระบุไว้ในสัญญาเช่า  เมื่อผู้เช่าสนองรับ  จะต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  748/2533   หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า  ผู้ให้เช่าสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว  ผู้ให้เช่าก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี  ทั้งนี้โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่าเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปีหรือไม่  และตามข้อตกลงนี้มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิจะเรียกร้องบังคับเอาได้  ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า  ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงขอเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 1765/2517   สัญญาเช่ามีข้อความว่า  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว  ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้  ทั้งนี้  ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้  เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว  และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม  โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก
                   
                  คำถาม   สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดกว่า 3 ปี มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าไว้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า  หากผู้เช่าสนองรับคำมั่นสัญญาเช่าเกิดขึ้นหรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  563/2540  เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้  จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป  คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2 (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย  ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก
                   
                   คำถาม    คำมั่นจะให้เช่ามีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ค.  ค. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ค. โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้  ค. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ค. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3 ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
           
                   คำถาม  กรณีที่มีการบังคับจำนอง  โดยเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดแต่ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นั้น  หมายความเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3535/2550  ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  733 บัญญัติว่า “......ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น”  ปรากฏว่าสัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า  ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น  อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตรา ดังกล่าว  คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
                    ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733  หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่  ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลอดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น  ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
                     
                    คำถาม   ความผิดฐานฉ้อโกงจะต้องได้ความว่าผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง ขอให้ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่าผู้หลอกลวงไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1733/2516   จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายว่ามีรถยนต์ขนส่งนักร้อง นักดนตรี และเครื่องยนต์ขัดข้อง ต้องให้ช่างแก้ไข  จึงว่าจ้างรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่ง เมื่อส่งเรียบร้อยแล้วจำเลยจะให้ค่าขนส่งแก่ผู้เสียหาย 1,000 บาท ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงดังกล่าว  ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงจัดการรับจ้างขนส่งให้จำเลยนั้น  การที่จำเลยกล่าวหลอกลวงหรือปกปิดความจริงก็เพื่อให้ผู้เสียหายรับจ้างทำการขนส่งให้จำเลยเท่านั้น จำเลยได้รับผลเพียงการขนส่งจากผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ส่วนเงินค่าขนส่ง 1,000 บาท ที่จำเลยไม่ได้ชำระให้ผู้เสียหายนั้น เป็นทรัพย์สินที่ผู้เสียหายจะเรียกร้องเอาจากจำเลยภายหลังเมื่อขนส่งให้จำเลยถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3667/2542  จำเลยทั้งสองร่วมกันนำ ธ. มาสมัครเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์โจทก์ร่วม โดยแจ้งแก่โจทก์ร่วมว่า ธ. คือ บ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อจึงรับ บ. เป็นสมาชิก ความจริงแล้วขณะนั้น บ. ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ ไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้  การหลอกลวงมีผลเพียงให้โจทก์ร่วมกับ บ. เข้าเป็นสมาชิกเท่านั้น หาได้ทำให้จำเลยทั้งสองได้ทรัพย์สินไปจากโจทก์ร่วมไม่ แม้ต่อมาโจทก์ร่วมจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้จำเลยที่ 1 ไปจำนวน 92,000 บาท แต่ก็เนื่องจาก บ. ถึงแก่กรรมหาใช่เนื่องจากจำเลยทั้งสองหลอกลวงไม่  การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง พนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ขอถือเอาตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ย่อมตกไปด้วย ศาลไม่สั่งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 92,000 บาท แก่โจทก์ร่วมได้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  7264/2543  โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยผู้เป็นนายจ้างแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย  โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยหาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341  และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 15


-----------------------------------



               คำถาม   ใบรับรองเงินฝากในธนาคารเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่  และความผิดฐานปลอมเอกสารจำต้องมีเอกสารแท้จริงอยู่ก่อนหรือไม่
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 เปิดดูเอกสารภายในซองเอกสาร ได้เห็นใบรับรองเงินฝากแล้วจึงใส่ซองปิดผนึก  และเขียนชุดใบนำส่งเอกสาร  แม้ใบรัรองเงินฝากจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีข้อความเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่เป็นถ้อยคำในทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีตัวเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเงินระบุว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มีชื่อของจำเลยที่ 2  จำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานกับธนาคารโจทก์ร่วมมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี  เชื่อว่าสามารถเข้าใจได้ว่าใบรับรองเงินฝากดังกล่าวเป็นใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยวิสัยของผู้ที่ทำงานกับธนาคารมานานย่อมทราบว่า จำเลยที่ 2 ไม่น่าจะมีเงินฝากธนาคารโจทก์ร่วมมาถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นเอกสารปลอม
               ใบรับรองเงินฝากมีข้อความว่าจำเลยที่ 2  มีเงินฝากในธนาคารโจทก์ร่วมมีกำหนดจ่ายคืนสามารถเปลี่ยนมือได้  แบ่งแยกและซื้อขายได้ จึงเป็นเอกสารที่แสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเงินฝากตามจำนวนในเอกสารฝากไว้กับโจทก์ร่วมและสามารถรับเงินฝากคืนจากโจทก์ร่วม  สามารถเปลี่ยนมือแบ่งแยกและซื้อขายได้ด้วย จึงเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ใบรับรองเงินฝากดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ
                การที่จำเลยที่  1  ทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากเป็นเอกสารสิทธิปลอมแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมจัดส่งเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปต่างประเทศ  โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ในธุรกิจของโจทก์ร่วมด้วยการปิดผนึกซองเขียนชุดใบนำส่งเอกสารการของธนาคารโจทก์ และใบนำส่งไปรษณีย์มอบให้แก่พนักงานโจทก์ร่วมผู้มีหน้าที่จัดส่งเอกสารตามวิธีการจัดส่งเอกสารในธุรกิจโจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว  จึงเป็นการลงมือใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ แม้เอกสารสิทธิปลอมจะปิดผนึกอยู่ในซองและพนักงานผู้จัดส่งเอกสารของโจทก์ร่วมตรวจเห็นพิรุธจนพบว่าเอกสารสิทธิที่จัดส่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมก่อนที่เอกสารจะส่งถึงผู้รับในต่างประเทศ ก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมเป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องรอผลของการใช้หรืออ้างว่าผู้รับหรือผู้ถูกอ้างจะได้รับเอกสารสิทธิปลอมที่จัดส่งไป เพราะจำเลยที่ 1ได้ใช้หรืออ้างเอกสาร การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือได้ว่ากระทำไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม  ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา  265  แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม
                 ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
                 

                 คำถาม    ผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนหรือสมัครใจวิวาท จะอ้างการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  3238/2554  จำเลยที่ 1 กับพวกได้เข้าร่วมต่อสู้ชกต่อยกับผู้เสียหายด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน  ทั้งยังได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย อันเป็นการสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะการป้องกันโดยชอบจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายโดยที่ตนเองและผู้อื่นไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมต่อสู้ทำร้ายกับอีกฝ่าย
                 การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนพกลูกซองเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายชีวิตคนได้เล็งยิงไปยังด้านหลังของผู้เสียหาย  ย่อมส่อเจนาให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย  จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
                   
                คำถาม   การนำบุคคลที่อยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งแม่น้ำถือว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4091/2554   แม้การเข้าไปทำร้ายผู้ตายในตอนแรก  จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือสมคบกับ  ส. บ. ค. หรือจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1  เข้าไปเตะผู้ตายเพียงครั้งเดียว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายก็ตาม  แต่เหตุการณ์ทำร้ายผู้ตายดังกล่าวได้ยุติลงและขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นไม่ได้สติไปโยนลงแม่น้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่  จำเลยที่  1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการนำผู้ตายซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งน้ำเช่นนั้น  ย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องจมน้ำตาย จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย

                 
               คำถาม   ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ หากครอบครองโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง แต่ความจริงเป็นที่ดินของผู้อื่น ผู้ครอบครองได้สิทธิ์หรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  3866/2554   จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท  เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  การครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองปรปักษ์ เพราะการครองครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382  หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่  หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน  แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่  เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว  ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
                 โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่โอกาสกระทำได้โดยง่าย  กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง  จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
                   
                 คำถาม   ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองหรือไม่  หากผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  4436/2545  การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล.  โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน  สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์   โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
                 การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า  การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล.  และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกันแล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง  จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน  จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย  หาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่  จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

                 คำพิพากษาฎีกาที่   817/2521   การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2  เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1  สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น  ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา  702  ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า  ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข  จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง  ก็จำนองได้  ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด  เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

                   คำถาม   เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร หากผู้กระทำความผิดมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 5445/2552  จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม  กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าการพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวได้กระทำในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา

                   คำถาม     ออกเช็คชำระหนี้แทนลูกหนี้หรือทำหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 5112/2552   การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามเช็ค ก็มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ ๒ เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ  เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 7624/2552    หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของ บ. ที่ทำไว้ให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ บ. ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง

                   คำถาม   การเปลี่ยนมูลหนี้ จากมูลหนี้อย่างหนึ่งไปเป็นมูลหนี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้  มีคำพิพากษาฎีกา วินิจฉัยดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 291/2544   จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน  ยังมิได้ชำระหนี้  การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3272/2547   จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขาบางนา เมื่อปี 2535  ก. พนักงานขายประจำสาขาบางนาได้ขายรถยนต์ให้แก่ ส. ในราคา 299,000 บาท โดย ส. วางเงินดาวน์ไว้ 60,000 บาท  ส่วนที่เหลือจะนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์   หลังจากส่งมอบรถยนต์ให้แก่ ส. ไปแล้ว ปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่อนุมัติให้ ส. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากเอกสารของ ส. เป็นเอกสารปลอม และ ส. ได้นำรถยนต์หลบหนีไป จำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์แก่โจทก์  ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3209/2550   ป. กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้ และผูกพันจำเลย
                   หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนเกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์

                    คำถาม   การที่เจ้าหนี้ลดยอดหนี้ให้แก่ลูกหนี้  การตกลงกันเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ วิธีชำระหนี้ หรือการที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                    คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 6525/2542  โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่ โดยโจทก์เพียงลดยอดหนี้ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้เปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 หากแต่เพิ่มให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดในหนี้เดิมส่วนหนึ่ง  เพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้เดิมจึงยังไม่ระงับไป
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1938/2540  จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 9221/2544   จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้และ วิธีการชำระหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ  หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่  แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพนหนี้ด้วยก็ตาม เพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน และหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2545   การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว แต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม  มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 5303/2545    การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้  ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ.  ระงับไปจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2550   หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือ การค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป  เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3847/2548   ตามสัญญาร่วมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าบริการโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิมนั้น  ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม  จึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30  แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมี อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ