วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การร้องเท็จเพื่อขอให้ลงโทษทางวินัย มีความผิดฐานใด?

 

      การร้องเท็จเพื่อขอให้ลงโทษทางวินัยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๓, ๑๗๔ (ฎีกาที่ ๑๔๘๑๙/๒๕๓๐) และไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒ (ฎีกาที่ ๑๓๓/๒๕๔๘)


     ฎีกาที่ ๑๔๘๙/๒๕๓๐ ผู้กํากับการตํารวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับการตํารวจภูธรและผู้บัญชาการตํารวจภูธรต่างมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอํานาจหน้าที่ที่จะดําเนินการทางวินัย ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฉะนั้น หากข้อความในหนังสือที่จําเลยร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ดังกล่าวเป็นเท็จ จําเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ การที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๗๓, ๑๗๔ ผู้แจ้งจะต้องมีเจตนาที่จะให้เจ้าพนักงานสอบสวนดําเนินการสอบสวนเอาตัวผู้กระทําผิดมาลงโทษในทางอาญา แต่การที่จําเลยทําหนังสือร้องเรียน ต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์นั้นเห็นได้ว่าจําเลยมีเจตนาให้ผู้บังคับบัญชาดําเนินการทางวินัยแก่โจทก์มิได้เจตนาที่จะให้ดําเนินการเอาความผิดแก่โจทก์ในคดีอาญา การกระทําของจําเลยจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๓, ๑๗๔ 


     ฎีกาที่ ๑๒๓/๒๕๔๘ การที่จําเลยที่ ๑ มีหนังสือถึงพลตํารวจโท ป. และพลตํารวจโท ว. ขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับความประพฤติโจทก์ต่อบุคคลทั้งสองในฐานะผู้บังคับบัญชาโจทก์ มิใช่ในฐานะที่เป็นพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญาแต่อย่างใด และพลตํารวจโท ป. มิได้มีคําสั่งให้ดําเนินการสืบสวนสอบสวนความผิดในทางอาญาแก่โจทก์ คงมีคําสั่งให้ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ความคุ้มครองจําเลยที่ ๑ แล้วรายงานให้พลตํารวจโท ป. ทราบด้วยเท่านั้น การกระทําของจําเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๗๒

 

อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ไม่มีการกระทําความผิดอาญาเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด ผิดฐานอะไร?

 

        ฎีกาที่ ๑๐๘๘/๒๕๓๖ จําเลยมิได้แลกเช็คจาก ศ. เพียงแต่รับสมอ้าง จึงไม่เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายการที่จําเลยไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้ทรงโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเช็คที่ไม่มีมูลความผิด เพราะโจทก์มิได้ลงวันที่สั่งจ่ายเพื่อให้พนักงานสอบสวนดําเนินคดีแก่โจทก์อันจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ จึงเป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๓ ประกอบมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง เมื่อการกระทําของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๓ ประกอบมาตรา ๑๗๔ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๓๗ ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกและไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒

        ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงฎีกานี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔ เมื่อกรณียังไม่มีการกระทําความผิดอาญาเกิดขึ้น ศาลจึงวินิจฉัยว่าเข้าองค์ประกอบการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๗๓ โดยไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒

        แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นกรณีที่มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นแล้วแต่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จศาลก็พิพากษาว่าเป็นการกระทําความผิดตามมาตรา ๑๗๒ โดยไม่ผิดตามมาตรา ๑๗๓ ได้เช่นเดียวกัน



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ข้อความอันเป็นเท็จ โดยแจ้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ผิดฐานอะไร?

 

        ฎีกาที่ ๑๒๔๗๕/๒๕๑๙ จําเลยฝ่ายเดียวเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แล้วไป แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าผู้เสียหายใช้มีดแทงพยายามชิงทรัพย์จําเลยโดยผู้เสียหายมิได้กระทําผิด จําเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าและผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา ๑๗๒ อีกกระทงหนึ่ง

        ข้อสังเกต ประเด็นนี้ขอให้ดูประกอบ ข้อสอบเนติฯ สมัย ๖๖ ตํารวจนอก เครื่องแบบชกกับชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านยิงปืนขึ้นฟ้า ตํารวจกลับกล่าวหาว่าชาวบ้านพยายามฆ่าตน โดยยิงปืนเล็งมาที่ตน ข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่มีการกระทําความผิดยิงปืนขึ้นฟ้าซึ่งเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา ๓๗๖ เกิดขึ้นแล้ว แต่ตํารวจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โดยแจ้งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การกระทําจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒, ๑๗๔ วรรคสอง ประกอบ ๑๘๑ (๒)



อ้างอิง : กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริง แต่แจ้งข้อเท็จจริงเท็จ ผิดฐานอะไร?

 

       มาตรา ๑๗๓ เป็นกรณีไม่มีการกระทําผิดเกิดขึ้น แต่ถ้ามีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริง แต่แจ้งข้อเท็จจริงให้ผิดออกไปเป็นกรณีตามมาตรา ๑๗๒

        ฎีกาที่ ๒๒๔๙/๒๕๑๕ นาย ก. ถูกคนร้ายฆ่าตาย จําเลยเห็น นาย ส. กับ ฮ. ร่วมกันฆ่านาย ก. โดยไม่ได้เห็นนาย ท. ร่วมกระทําผิดด้วย แต่จําเลยไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตํารวจที่ออกไปสืบสวนและให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเห็นนาย ท. ร่วมกับคนร้ายดังกล่าวกระทําผิด จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒

        ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกามีการกระทําผิดเกิดขึ้น คือมีการฆ่ากันแล้ว จึงมีการแจ้งเท็จเกี่ยวกับตัวคนร้าย กรณีนี้เข้าองค์ประกอบของมาตรา ๑๗๒


อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

รู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการชิงทรัพย์ ผิดฐานอะไร?

           ฎีกาที่ ๗๗๙๙/๒๕๔๓ การที่จําเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายสองคนร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ที่จําเลยเช่าซื้อมาจากบริษัทไปเพื่อมิให้บริษัทดังกล่าวยึดรถจักรยานยนต์คืนจากจําเลย เนื่องจากจําเลยค้างชําระค่าเช่าซื้อ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๓


อ้างอิง : ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่12 กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ขู่ว่าจะเปิดเผยรูปภาพและวิดีโอ ความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ผิดฐานอะไร?

 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๘๘/๒๕๖๑ จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับ รูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทําของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทําให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทําของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

ขู่ว่าจะตบถ้าไม่ให้ค่าเฝ้ารถและยังนําเก้าอี้ มาขวาง ผิดฐานอะไร?

 

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖๓/๒๕๕๑ ผู้เสียหายนํารถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยนําเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๐

 

        ข้อสังเกต เรื่องนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยตามมาตรา ๓๓๗ เท่านั้น มิได้ฟ้องข้อหาชิงทรัพย์มาด้วย**** การขู่ว่าจะตบถ้าไม่ให้ค่าเฝ้ารถและยังนําเก้าอี้ มาขวาง แสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้ผู้เสียหายยื่นเงินค่าจอดรถในเวลาเดียวกันนั้น การกระทําของจำเลยจึงน่าจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

ตกลงยินยอมตามที่ขู่แล้วเอาตำรวจมาจับ เป็นกรรโชกหรือไม่?

 

ถ้าตกลงยินยอมแล้วแม้ต่อมาจะเอาตํารวจมาจับกุมก็เป็นความผิด สําเร็จ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๓๐ เมื่อผู้เสียหายได้อ่านจดหมายกรรโชก ของจําเลยแล้วจึงตกลงยอมให้เงินตามที่เรียกร้องเนื่องจากเกรงจะได้รับอันตราย การที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดแก่ตน ก็เป็นการแจ้งความเพื่อขอความคุ้มครองเจ้าพนักงานตามปกติ มิใช่ผู้เสียหายไม่ยอมทําตามการขู่เข็ญ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดสําเร็จไม่ใช่อยู่ขั้นพยายาม

ตกลงมอบเงินให้แต่เป็นการวางแผนเพื่อจะจับกุม ผิดฐานกรรโชก หรือไม่?

 

กรณีที่ตกลงมอบเงินให้แต่เป็นการวางแผนเพื่อจะจับกุมเป็นเพียงพยายาม

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๓๙/๒๕๒๗ จําเลยเขียนจดหมายใช้ชื่อว่า ส. ถึง ผู้เสียหายให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จําเลยจํานวนหนึ่ง หากไม่ให้จะฆ่าผู้เสียหาย บุตร ภริยาและอื่น ๆ ผู้เสียหายได้ไปปรึกษากับตํารวจ ในที่สุดวางแผนส่งเงินมี กระดาษยัดใส่โดยเอาธนบัตรฉบับละ ๕๐๐ บาท ปะหน้าไว้ ๔ ใบ ไปวางไว้ที่นัดหมายตามที่จดหมายบอก พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายนําความเข้าแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อทําวางแผนจับกุมจําเลย แสดงว่าผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินตามขู่ การกระทํา ของจําเลยเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก

เขียนจดหมายไปขู่เข็ญผู้เสียหาย ได้ความว่า บุตรของผู้เสียหายเป็นคนบอกให้เขียน ผิดฐานกรรโชกหรือไม่?

 

       ประเด็น ปัญหาว่าถ้าขู่ว่าจะทําอันตรายต่อบุคคลที่สาม หากผู้ที่ถูกข่มขืนใจไม่ ทราบเรื่อง และเกิดความเกรงกลัวจึงให้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินไป ทั้ง ๆ ที่ผู้ขู่กับบุคคลที่สามได้สมยอมกันเพื่อทําให้ผู้ที่ถูกข่มขืนใจ เกิดความเกรงกลัว ว่าจะเกิดอันตรายต่อบุคคลที่สาม เช่นนี้จะเป็นความผิดฐานกรรโชกหรือไม่

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๘/๒๕๐๓ (ประชุมใหญ่) จําเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็ญผู้เสียหายให้ส่งเงิน ๓,๐๐๐ บาท ไปให้จําเลย มิฉะนั้นบุตรผู้เสียหายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้จะได้ความว่าบุตรของผู้เสียหายเป็นคนบอกให้จําเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็ญบิดาเพื่อหลอกลวงให้บิดาส่งเงินมาให้ ก็ยังถือว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนใจเพราะในแง่ของผู้เสียหายยังคงถือว่าบุตรผู้เสียหายเป็นบุคคลที่สามตามมาตรา ๓๒๗ วรรคต้น จําเลยจึงมีความผิดฐานกรรโชกตาม มาตรา ๓๓๗