วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้ 
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559

        ทนายความของบริษัทไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่แจ้งให้กรรมการทราบก่อน 
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559  ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)




วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559

           คำว่า ผู้อื่น ตาม ปอ.มาตรา 334 จะเป็นใครก็ได้ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง(ในส่วนของเจ้าทรัพย์) ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559  แม้ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น แต่กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัท ส. นายจ้างของจำเลยเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าบริษัท ช. เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักเกณฑ์การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

หลักเกณฑ์การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘๐


          ประเด็น การแก้ไขคำให้การให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน ..... คำว่า ๗ วัน ตามมาตรา ๑๘๐ ขยายคำว่า "วันชี้สองสถาน" หรือไม่

         คำถาม คดีที่มีการชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจะต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือไม่?

          คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้


        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๔๒/๒๕๕๕ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ ก่อนศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันชี้สองสถาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ แล้ว ส่วนคำร้องขอให้หมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสองยื่นในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ พร้อมกับคำร้องขอแก้ไขคำให้การถือได้ว่าเป็นการยื่นพร้อมกับคำให้การชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓)

        ข้อสังเกต ซึ่งเดิมเข้าใจกันว่า คำว่า ไม่น้อยกว่า ๗ วันนั้นมาขยายวันชี้สองสถานด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องก็น่าจะด้วยเหตุผลว่าคำว่า ๗ วัน ขยายวันชี้สองสถาน ซึ่งปรากฏว่าศาลฎีกาได้วางหลักชัดเจนแล้ว ว่า กำหนดเวลา ๗ วันใช้เฉพาะไม่มีการชี้สองสถานก็ให้ยื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน


หลักฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)

ฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)
               เมื่อได้ยื่นฟ้องและศาลรับฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแล้ว ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นซึ่งอาจเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ (มาตรา ๑๗๓(๑)) แม้ว่าภายหลังคดีเดิมจะหมดไป ก็ไม่ทำให้คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน (ฎีกาที่ ๓๓๔๖/๒๕๓๕) ศาลจะพิพากษายกฟ้องสำหรับคำฟ้องที่ยื่นครั้งหลังนี้

                หลักเกณฑ์ฟ้องซ้อน มีดังนี้
                                ๑.๑ ห้ามเฉพาะโจทก์เท่านั้น – ถ้ามีผู้อื่นใช้สิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีอยู่แล้ว โจทก์ก็จะมาฟ้องอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน เช่น กรณีเจ้าของร่วม อัยการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๗๙/๒๕๒๕ – จำเลยสามารถฟ้องคดีใหม่ได้ แม้คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการฟ้องซ้อน เพราะมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม และมิใช่การฟ้องซ้ำ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด
                                ๑.๒ คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีก่อนและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน – หากคู่ความต่างกันหรือผลัดกันเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๙๙/๒๕๓๐ - ถ้าเป็นคู่ความเดียวกัน แม้จะถอนฟ้องคดีเดิมหลังจากฟ้องคดีใหม่ก็ไม่ทำให้มีสิทธิฟ้องใหม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๖/๒๕๑๘ – การฟ้องของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ถือเป็นการฟ้องคดีแทนเจ้าของรวมทั้งหมด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๘/๒๕๒๓ – ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนทายาทฟ้องคดีไว้แล้ว ทายาทจะฟ้องอีกไม่ได้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๒๔/๒๕๔๓ – ถ้าผู้จัดการมรดกยังไม่ฟ้องคดี ทายาทย่อมฟ้องคดีได้เอง
                                ๑.๓ การฟ้องคดีทั้งสองนั้นจะต้องเป็นการฟ้องเกี่ยวกับประเด็นอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกัน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๖/๒๕๑๑ – โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุผิดสัญญาเช่า ต่อมาสัญญาเช่าหมดอายุ โจทก์จึงฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุสัญญาเช่าระงับ เช่นนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะไม่ใช่เกิดจากมูลคดีเดียวกัน

    กรณีโจทก์เรียกทรัพย์คนละอย่างกันซึ่งสามารถเรียกได้ในฟ้องเดิมเนื่องจากเป็นเรื่องสืบเนื่องจากคดีเดิม หากมาฟ้องใหม่ถือเป็นฟ้องซ้อน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖-๕๗/๒๕๑๙ – การฟ้องเรียกคืนค่ารถยนต์เพราะถูกบุคคลอื่นยึดรถไป สามารถเรียกรวมไปในฟ้องผิดสัญญาแลกเปลี่ยนรถยนต์ได้อยู่แล้ว โจทก์นำมาฟ้องใหม่จึงเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๘๖/๒๕๔๖ – จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ในคดีก่อน ต่อมาโจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยในคดีนี้ จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรส ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะฟ้องหย่าและฟ้องขอแบ่งสินสมรสจำต้องทำพร้อมกัน
                ๑.๔ คดีแรกต้องอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นไหน – อาจเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกันก็ได้ หรือคดีอาจอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๗๓/๒๕๓๙ – กรณีการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของศาลชั้นต้น และการฟ้องคดีใหม่เป็นเรื่องเดียวกับฟ้องแย้ง ถือเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้ง


การอ่านกฎหมาย อ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร


แนวทางการอ่านกฎหมาย
         ถ้อยคำในตัวบทมีความหมาย จึงต้องแยกอ่านเป็นรายคำ รายวลี รายประโยค และรายวรรค แล้วจึงพิจารณาถ้อยคำทุกคำและพิจารณาตัวบทกฎหมายทุกบททุกมาตราที่เกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่ง

          ในเรื่องที่ยุ่งยากสับสน นักศึกษาควรอ่านให้ช้ากว่าปกติและใช้วิจารณญาณตามไปด้วย นอกจากนี้สมควรบันทึกหัวข้อย่อหรือเนื้อหาเรื่องที่อ่าน และควรข้ามไปอ่านคำสรุปตอนท้ายบทเสียก่อน เพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์

ที่มา: หนังสือคำเเนะนำนักศึกษากฎหมาย ศ.(พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร



หลักฟ้องซ้ำ ( ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148)

ฟ้องซ้ำ (มาตรา 148)

หลัก   1.   คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว   คู่ความจะนำคดีเรื่องที่เคยพิพาทกันมาในคดีก่อนมาฟ้องกันใหม่อีกไม่ได้ (เป็นฟ้องซ้ำ)
      1.1.คำว่า ถึงที่สุด คือ
         1.1.1.เมื่อได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นที่สุด
         1.1.2.เมื่อพ้นระยะอุทธรณ์หรือฏีกา หรือขอให้พิจารณาคดีใหม่
      1.2.คำ พิพากษาที่ถึงที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงว่าคดีใดยื่นฟ้องก่อนหลัง เพราะหลักของการฟ้องซ้ำ มิได้ถือเวลาที่ยื่นฟ้องเป็นสำคัญ   แต่ถือคดีถึงที่สุดเมื่อใด

   2.   ฟ้องซ้ำต้องเป็นคู่ความเดียวกันจึงจะต้องห้าม
      2.1.คู่ความเดียวกัน     แม้คดีก่อนเป็นโจทก์  แต่คดีใหม่กลับมาเป็นจำเลยก็ถือว่าเป็นคู่ความเดียวกัน
      2.2.คู่ความเดียวกัน รวมถึงผู้สืบสิทธิจากคู่ความเดิม  เช่นสามีภริยา    เจ้าของกรรมสิทธิ์รวม  ผู้รับโอนทรัพย์
      2.3.แม้ เป็นคู่ความเดิมแต่เข้ามาคนละฐานะ   ก็ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าคู่ความเดิม  เช่น คดีก่อนฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว  คดีใหม่ฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม  เช่นนี้ไม่ถือเป็นคู่ความเดียวกัน

   3.   ได้นำคดีมาฟ้องร้องกันใหม่ในประเด็นเดียวกัน ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน
      3.1.เหตุ อย่างเดียวกัน หมายถึง คำพิพากษา หรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องร้องกันโดย วินิจฉัยอย่างเดียวกับคดีก่อนที่ศาลได้วินิจฉัยมาและต้องเป็นส่วนของเนื้อหา ด้วย  (หากไม่ใช่ก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ )
      3.2.กรณีศาลได้วินิจฉัยใน ประเด็นแห่งคดี  แต่ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ เพราะศาลมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีนั้นเอง  ดังนั้นจึงนำคดีมาฟ้องใหม่ได้  เช่นดังนี้.-
         3.2.1.ศาลจำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ( ฏ.1740/2520 )
         3.2.2.ยกฟ้องเพราะเหตุฟ้องคดีเคลือบคลุม ( ฏ.155/2523 )
         3.2.3.ยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์บกพร่อง ( ฏ.2522/2523 )
         3.2.4.ยกฟ้องเพราะขณะยื่นฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง ( ฏ.666/2530 )
         3.2.5.กรณีโจทก์ถอนฟ้อง ( ฏ.268/2489 )

   4.   ข้อยกเว้นตามกฎหมายที่ไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ        มีดังนี้.-
      4.1.การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
         - กรณีบังคับคดีไม่พอชำระหนี้  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก
         - กรณีโต้แย้งว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
      4.2.คำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราว ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติการณ์
         - การกำหนดวิธีชั่วคราว  คือกำหนดการบังคับคดีเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว   เช่น  ค่าอุปการะเลี้ยงดู
      4.3.ศาลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ
         -  ได้แก่  ศาลยกฟ้องเพราะผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่สามารถจะแบ่งทรัพย์กันๆได้ในชั้นนี้ ศาลชอบที่จะอนุญาตไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมว่าไม่ตัดสิทธิที่จะนำคดีมา ฟ้องใหม่
         -  การพิพากษาให้นำคดีมาฟ้องใหม่ได้ตาม ม.148(3)นี้    ไม่ถือเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
         -  การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำคดีมายื่นฟ้องใหม่ ตาม ม.148(3)   มิใช่การย่นหรือขยายระยะเวลา
      -  คดีเดิมมีการฟ้องร้องกันและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว  ซึ่งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาก็ถือว่าได้มีคำ วินิจฉัยในประเด็นแล้ว   เมื่อนำคดีมาฟ้องใหม่อีก   จึงเป็นฟ้องซ้ำ  แต่เนื่องจากคดีนี้ปรากฏว่าไม่สามารถปฎิบัติตามคำพิพากษาตามยอมได้    ดังนั้นคำพิพากษาตามยอมในคดีเดิมจึงตกไป  เท่ากับยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุ อย่างเดียวกัน  คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฏ.124/2546)

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 124/2546
           คดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ ถือกรรมสิทธิรวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสแล้วทำสัญญาประนี ประนอมยอมความว่าจะนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสินสมรสไปขายให้แก่ผู้ มีชื่อในราคา 2,000,000 บาท ภายใน 1 เดือนแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ศาลพิพากษาตามยอมต่อมาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โดยอ้างว่าผู้ซื้อเปลี่ยนใจไม่ซื้อจึงมีการทำข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสกัน ใหม่ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามข้อตกลงใหม่เป็นคดีที่ สอง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแรกเป็นสัญญา มีเงื่อนไขไม่สามารถสำเร็จผล อันมีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตกไปไม่มีผลบังคับส่วนข้อตกลงจัดการสิน สมรสกันใหม่เป็นสัญญาระหว่างสมรส เมื่อคู่สมรสบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสจึงเป็นอันสิ้นผล โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน พร้อม สิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสเดียวกับที่ฟ้องคดีแรก ดังนี้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมเช่นนี้ คำพิพากษาตามยอมในคดีแรกเป็นอันตกไปไม่มีผลบังคับเช่นเดียวกับสัญญาประนี ประนอมยอมความ ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าคดีแรกได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้ วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

      -  คดีแรกศาลได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่ารถยนต์คันพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด   ดังนั้นผลของคำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองมิให้โต้เถียง กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงไม่มีสิทธิจะยึดรถยนต์ไว้  คดีหลังที่โจทก์นำมาฟ้องบังคับให้คืนรถยนต์เป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตาม สิทธิของตนเอง ซึ่งเกิดจากคำพิพากษาคดีก่อน  คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ( ฏ.1939/2545 , 2658/2545 )

คำพิพากษาฎีกาที่ 1939/2545 (ป)        ในคดีก่อนศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์คดีนี้ ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าว ให้ยกฟ้องของจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ผลของคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดัง กล่าวมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทกับโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้ร้อง สอดในคดีข้างต้นอีก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิจะยึดรถยนต์พิพาทไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำ พิพากษาฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาฎีกาที่ 7600/2544          คดีก่อน ป. ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่ค้างชำระ โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนกับ ป. โดยมีข้อสัญญาเอาเปรียบ ป. สัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของ ประชาชน จึงขอให้บังคับจำเลยชำระราคาที่ดินที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
            โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้สืบสันดานและเป็นทายาทโดยธรรมของ ป. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิของ ป. โจทก์ในคดีก่อน ถือว่าโจทก์และจำเลยในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีก่อน
            การที่โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่า ป. และจำเลยแสดงเจตนาลวงทำสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุนโดยไม่มี เจตนาที่จะผูกพันกันตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนสัญญาการซื้อขายที่ดินร่วมสัญญาร่วมลงทุน แม้จะเป็นการเบียงเบนข้อเท็จจริงที่ ป. ฟ้องคดีก่อน แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยคดีนี้อีกว่า สัญญาการซื้อขายร่วมสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ป. กับจำเลยเป็นโมฆะหรือไม่ ดังนั้น คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามป.วิ.พ. มาตรา 148

      -  ความเสียหายที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีหลังนี้เป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภาย หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว   คำขอบังคับจำเลยทั้งสองตามฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงต่างกับคำขอให้บังคับจำเลย ทั้งสองของโจทก์ในคดีก่อน  และมิใช่ประเด็นที่ศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียว กัน  ดังนั้นฟ้องโจทก์ในคดีที่สองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก ( ฏ.456/2545 , 1584/2545 , 457/2545 )

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2559

    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการถือกรรมสิทธิ์รวม และเพิกถอนการจดทะเบียนการขายเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง และเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นชื่อจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถกระทำได้ ให้นำที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนหรือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ขอตีมูลค่าที่ดินพิพาทเป็นเงิน 1,000,000 บาท และคืนเงินทุนให้โจทก์ 680,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
  เห็นว่า
สัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ เป็นสัญญาที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนในโครงการผู้เดียว ส่วนโจทก์เป็นผู้ดำเนินการขายดินลูกรัง โดยจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินปันผลร้อยละ 40 ส่วนโจทก์ได้รับร้อยละ 60 ข้อตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงิน ส่วนโจทก์เป็นผู้ลงแรงด้วยประสงค์เพื่อแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากการดำเนินกิจการดังกล่าว จึงเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012
   เมื่อพิจารณาสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์ ข้อ 9 ที่ว่า "เจ้าของที่ดินเมื่อสิ้นสุดสัญญา หรือโครงการสิ้นสุด มีความประสงค์ที่จะขายที่ดินพิพาท ต้องแจ้งให้ผู้ร่วมโครงการทราบก่อนที่จะบอกขายแก่บุคคลภายนอกโครงการ" จำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้ให้สัญญา และเป็นผู้ออกเงินลงทุนในโครงการขายดินลูกรังในที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว หากโจทก์ในฐานะผู้รับสัญญาไม่ดำเนินการจัดจำหน่ายดินลูกรัง หรือกีดกันหน่วงเหนี่ยวเมื่อลูกค้ามีใบสั่งซื้อให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหมดสิทธิในการดำเนินการในที่ดินพิพาททุกกรณีตามข้อ 6.1 และหากพบการฉ้อโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์หรือบุคคลอื่นที่กระทำและโจทก์รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันที ตามข้อ 6.2.2
  แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทและอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว ส่วนโจทก์เข้าทำสัญญาในฐานะผู้ร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลมากกว่าจำเลยที่ 1 ดังนั้น คำว่า "เจ้าของที่ดิน" ตามข้อ 9 จึงหมายถึง จำเลยที่ 1 ส่วนคำว่า "ผู้ร่วมโครงการ" หมายถึง โจทก์
  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่นำที่ดินพิพาทมาให้ใช้เป็นการลงหุ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นการลงหุ้น โจทก์จึงมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทดังฎีกาโจทก์
   การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนเลิกการเช่าที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้นเป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสาม และมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่ประการใด
  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนทุนอีกจำนวน 680,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องให้แก่โจทก์ด้วยนั้น
   เห็นว่า โจทก์เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยแรงงานเท่านั้น ไม่ได้มีเงินมาลงทุน และในสัญญาข้อตกลงร่วมทำผลประโยชน์เอกสารหมาย จ. 7 ก็มิได้บอกว่าจะแบ่งทุนหรือตีราคาค่าแรงงานเป็นทุนเพื่อคืนให้แก่โจทก์เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนทุนพร้อมดอกเบี้ย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
เผยแพร่เมื่อ: 22 มี.ค. 2560