วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 11


....................................

                 คำถาม  การใช้สิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกัน หากต่อมามีการโอนที่ดินแปลงหนึ่งไป ผู้รับโอนจะนำสิทธิที่เจ้าของรวมมีอยู่ในที่ดินที่รับโอน มารับต่อเนื่องเพื่อให้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๐๑๕/๒๕๕๓  ขณะที่  ส.  ซื้อที่ดินแปลงแรก  และต่อมา  พ.  ซื้อที่ดินแปลงที่  ๒  นั้น  ส.  และ  พ.  อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว  แม้จะไม่ได้ความว่า  ส.  และ  พ.  ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง  และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑  จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน  มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ  ส.  ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ  พ.  มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว  โจทก์จะนำสิทธิที่  ส.  มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่  เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดิน  มีโฉนดจาก  ส.  ในปี  ๒๕๓๖  นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง  ๑๐  ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑

                คำถาม  ซื้อขายรถยนต์โดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ  หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วน  ผู้ขายไปเอารถยนต์คืนมา  จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๓๑๔/๒๕๕๓  จำเลยขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้เสียหายโดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้แก่ผู้เสียหาย  โดยที่สัญญาจะซื้อขายไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ไว้  การซื้อขายรถยนต์ของกลางจึงเสร็จเด็ดขาดและกรรมสิทธิ์โอนขณะทำสัญญาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๔๕๓  และมาตรา  ๔๕๘  การชำระราคาไม่ครบถ้วนกรณีนี้ไม่เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนแก่ผู้เสียหาย  ผู้เสียหายจึงได้กรรมสิทธิ์นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อสัญญาซื้อขายไม่กำหนดเวลาชำระราคาไว้  ผู้เสียหายจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระราคา  การที่จำเลยเอารถยนต์ของกลางไปจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายและที่จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ผู้เสียหายนำรถยนต์ของกลางไปห้างที่เกิดเหตุโดยจำเลยอ้างต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าบัตรจอดรถหายแล้วใช้บัตรจอดรถที่อ้างว่าหายนำรถยนต์ของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย  แสดงว่าได้มีการวางแผนลักทรัพย์รถยนต์ของผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นขั้นตอน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                คำถาม  ผู้ขายโอนขายห้องชุดแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนผู้ซื้อบอกเลิกสัญญา  ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่  และจะต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญาหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๑๕/๒๕๕๓  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย  คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา  กล่าวคือ  โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์  แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา  ดังนี้  การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก็ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย  โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๓๘๙  โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา  ๓๘๗  ก่อน  การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว  เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา  คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  กล่าวคือ  จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  ๗.๕ต่อปี  นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้  ทั้งนี้ตามมาตรา  ๓๙๑  วรรคหนึ่งและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๗
                คำถาม  กรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  นั้น  หมายถึงที่ดินแปลงเดิมต้องมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้วในขณะแบ่งแยกหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๓๒๕/๒๕๕๓  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว  ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย  ๑  กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  มาบังคับได้  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  ๓  ทาง  แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ  อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์  ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้  และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให่โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย  ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก  จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้  แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๔๐๘/๒๕๕๑  การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๕๐  มาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา  ๑๓๔๙  ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
                เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ  แต่การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม  มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  ๑๓๕๐  แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา  ๑๓๔๙
                โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของบุคคลอื่นที่มิได้หวงห้ามโจทก์  การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์  แต่ทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องเดือดร้อนและเสียหาย  และถ้าหากให้จำเลยที่  ๑  เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น  จะทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก  อันจะทำให้จำเลยที่  ๑  ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๓๕/๒๕๔๔  ที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้สัญจรตามปกติจึงเป็นทางสาธารณะ  ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคหนึ่ง
                บ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์เป็นบ้านยกพื้น  อยู่สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำประมาณ  ๗๐  เซนติเมตร  แสดงให้เห็นว่า  ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า   ๗๐  เซนติเมตร  กรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของมาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสอง
                เมื่อที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดกับทางสาธารณะ  แม้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว  ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้
                ที่ดินของโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และโจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  แปลงอื่น  ซึ่งไม่ได้ติดทางสาธารณะโดยตรงนั้น  เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินที่ติดทางสาธารณะ  หากโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และ  โจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  จะเรียกร้องเอาทาง  ก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน  ไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้

                คำถาม  รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิด  เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ  จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๖๑๑/๒๕๕๓  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ  โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม  ป.อ.  มาตรา  ๑๓๗,  ๑๗๔  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๑๗๓  นอกจากนี้  จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วม  อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง  จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2554 เจาะฎีกา 5 ดาว* สัปดาห์ที่ 3 วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) 7 มิ.ย 60 ภาคปกติ สมัยที่ 1/70

 เจาะฎีกา 5 ดาว * สัปดาห์ที่ 3  วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366
 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) 7 มิ.ย 60  ภาคปกติ สมัยที่ 1/70
................................


คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2554 พฤติการณ์ที่จำเลยได้ดักรอแล้วตีผู้เสียหายที่ศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จนตกจากรถจักรยานแล้วใช้อาวุธมีดซึ่งมีอันตรายไล่แทงผู้เสียหายจนถูกที่ท้องทะลุถึงลำไส้ แล้วติดตามทำร้ายไปถึง 60 เมตร จนผู้เสียหายหลบหนีลงไปในบ่อน้ำจำเลยก็ยังวนเวียนรอทำร้ายเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายถูกแทงที่ท้อง หากไม่ได้รับการรักษายอมถึงแก่ความได้ จำเลยก็ยังไม่ยอมให้ผู้เสียหายขึ้นจากบ่อน้ำเพื่อไปรักษาตัว พฤติการณ์ของจำเลยเมื่อพิจารณาประกอบกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย อย่างไรก็ดีการที่จำเลยถือขวดดักรอทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายถูกตีล้มตกจากรถจักรยาน จำเลยจึงใช้ขวดแตกแทงและใช้อาวุธมีดแทง แสดงว่าเจตนาในเบื้องแรกจำเลยมีเจตนาไตร่ตรองเพียงทำร้ายผู้เสียหาย แล้วมาเปลี่ยนเจตนาเป็นมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายในภายหลัง เนื่องจากเจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกลืนกันไปในการกระทำต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80 เท่านั้น



ข้อเท็จจริง
1.จำเลยมีสาเหตุวิวาทกับผู้เสียหายเพราะถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าจำเลยลักโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายและกล่าววาจายั่วยุ ท้าทาย จนจำเลยร้องไห้ออกไปจากบ้าน ส. จากนั้นจำเลยก็ไปดักรอเพื่อไปทำร้ายผู้เสียหาย
2. เมื่อผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยใช้ขวดตีศีรษะผู้เสียหายอย่างแรง จนขวดที่ตีแตกและเสียหายตกจากรถจักรยาน เมื่อขวดแตกแล้วจำเลยได้ใช้ขวดนั้นแทงเข้าที่ลำตัวและท้องของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายหลบหนีจำเลยก็ตามเข้าไปแทงผู้เสียหายด้วยอาวุธมีดปลายแหลมโดยจำเลยได้ตระเตรียมอาวุธมีดมาและการทำร้ายผู้เสียหายได้กระทำอย่างต่อเนื่อง เมือผู้เสียหายหลบหนีจนถึงบ่อน้ำผู้เสียหายกระเสือกกระสนหลบลงไปในบ่อน้ำ จำเลยยังตามไปจะทำร้ายอีกแต่ไม่ได้ลงไปในบ่อน้ำเพราะผู้เสียหายขู่ว่าผู้เสียหายมีมีดและปรากฏว่าจำเลยรอผู้เสียหายอยู่อีกครึ่งชั่วโมง เมื่อฝนตกหนักจำเลยจึงกลับไป
3. ปัญหามีว่า กระกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
4. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289(4) ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 297 ประกอบมาตรา 298 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องฐานพยายามฆ่า
5. อัยการโจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ที่จำเลยไปดักรอแล้วตีผู้เสียหายที่ศีรษะแล้วใช้อาวุธมีดซึ่งมีอันตรายไล่แทงผู้เสียหายจนถูกที่ท้องทะลุถึงลำไส้แล้วติดตามทำร้ายไปถึง 60 เมตร จนผู้เสียหายหลบหนีลงไปในบ่อน้ำ จำเลยก็ยังวนเวียนรอทำร้ายเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายถูกแทงที่ท้อง หากไม่ได้รับการรักษาย่อมถึงแก่ความตายได้ จำเลยก็ยังไม่ยอมให้ผู้เสียหายขึ้นจากบ่อน้ำ
เพื่อไปรักษาตัว พฤติการณ์ของจำเลยเมื่อพิจารณาประกอบกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี การที่จำเลยถือขวดดักรอทำร้ายผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายถูกตีล้มตกจากรถจักรยาน จำเลยจึงใช้ขวดแตกแทงและให้อาวุธมีดแทง แสดงว่าเจตนาในเบื้องแรกจำเลยมีเจตนาไตร่ตรองเพียงทำร้ายผู้เสียหายแล้วมาเปลี่ยนเจตนาเป็นมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายในภายหลัง เนื่องจากเจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกันไปในการกระทำต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

หมายเหตุ
1. คดีนี้ศาลฎีกาใช้คำว่า เจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกันไปในการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว
2. ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาใช้คำทำนองเดียวกันว่าเกลื่อนกลืน ตามฎีกาที่ 185/2520 ซึ่งคดีนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่และเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่จึงเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
3. ตามฎีกา 7034/2554 ข้างต้น ถ้าผู้เสียหายหลบหนีจำเลยลงไปในบ่อน้ำแล้วจมน้ำตาย จำเลยจะมีความผิดตาม ป.อ. ฐานใดและเพราะเหตุใด
4. ตามฎีกา 7034/2554 จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 371 ด้วยหรือไม่ หากผิดจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรม


ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 10


------------------------------------

                  คำถาม  ก่อสร้างตอม่อ  ทำคานปูนและปักเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น  จะอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๒๓๘/๒๕๔๖  ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตามฟ้องจริง
                ปัญหาข้อต่อมาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า  จำเลยทั้งสองได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวโดยอายุความนั้น  เห็นว่า  การที่จำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน  จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำของโจทก์โดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๘๒  ประกอบมาตรา  ๑๔๐๑  ดังนั้น  แม้จะมีการครอบครองมานานเท่าใด  จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว


                คำถาม  ผู้กู้นำโฉนดที่ดินมอบให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้  ผู้ให้กู้จะมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินหรือไม่  และหากผู้ให้กู้คืนโฉนดที่ดินแก่ผู้กู้ไป  จะเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               ๑.คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๔/๒๕๔๖  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า  ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทหรือไม่  เห็นว่า  ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินก็โดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายคำร้อง  ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัย  ข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวนั้นเอง  แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้  ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๔๑  หมายถึง  การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น  หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว  ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท
               ๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๑๘/๒๕๑๕  ในประเด็นที่ว่า  การที่โจทก์ได้คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไปนั้น  จำเลยที่  ๒  ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๖๙๗  นั้น  ต้องเป็นสิทธิที่ให้อำนาจแก่เจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้  เช่น  การจำนอง  จำนำ  หรือบุริมสิทธิ  โฉนดเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์  จำเลยที่  ๑  มอบโฉนดให้โจทก์ยึดถือไว้ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใดๆ  ในตัวทรัพย์  คือที่ดินตามโฉนด  การที่โจทก์คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไป  จึงไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยที่  ๒  ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดไปได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่  ๖๓๑/๒๔๗๔
               ๓.  เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เงินโดยลูกหนี้มอบโฉนดให้ยึดไว้เป้นประกันนั้น  ไม่มีสิทธิยึดหน่วงตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๒๔๑  จึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯ  มาตรา  ๖  เมื่อลูกหนี้ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย  เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิน  ๒  เดือนไม่ได้  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  มาตรา  ๙๑  (ฎีกาที่  ๕๔๕/๒๕๐๔)
               ๔.  ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันยอมให้เจ้าหนี้ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ครบถ้วนนั้น  ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  กรณีเช่นนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจำนอง  เพราะเจ้าหนี้มิได้มีสิทธิพิเศษในที่ดินอันเป็นตัวทรัพย์นั้น  (ฎีกาที่  ๕๐๕/๒๕๐๗)  เพียงเอาโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ตามสัญญากู้  มิใช่หนี้ที่มีประกันตามกฎหมาย   (ฎีกาที่  ๑๖๑๒/๒๕๑๒)
               ๕. จำเลยให้โจทก์กู้เงินยึดโฉนดไว้เป็นประกัน  หนี้ขาดอายุความ  โจทก์เรียกโฉนดคืนได้  มิใช่จำนำที่จะบังคับตามมาตรา  ๑๘๙  (ฎีกาที่  ๒๒๙/๒๕๒๒  ประชุมใหญ่)
               ๖.   กู้เงินมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดไว้  เมื่อลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ก็เรียกโฉนดคืนไม่ได้  (ฎีกาที่  ๔๑๖/๒๕๒๐)
               โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลย  โดยจำเลยยึดถือโฉนดรายพิพาทกับใบมอบอำนาจที่โจทก์ให้ไว้ยังมิได้นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันตามที่ตกลงกัน  เมื่อโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยมากกว่าที่โจทก์เสนอจะชำระให้แก่จำเลย  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับชำระหนี้  และ  ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นได้  (ฎีกาที่  ๙๔๒/๒๕๒๗)


                คำถาม  กรณีลูกหนี้ทำสัญญาจะขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว  กลับเอาทรัพย์นั้นไปโอนขายแก่ผู้อื่น  ผู้ซื้อรายแรกจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อรายหลังได้หรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๙๒/๒๕๔๕  ก่อนที่จำเลยที่  ๑  จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  ๒  จำเลยที่  ๒  ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่  ๑  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้วการที่จำเลยที่  ๒  ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่  ๑  จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่  ๑  เสียเปรียบ  ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์  โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๓๘๔/๒๕๔๐  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  และเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้  ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้
                คดีเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลฎีกาเห็นว่า  จำเลยที่  ๓  เป็นน้องภรรยาของจำเลยที่  ๒  เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการในนามของจำเลยที่  ๑  จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่  ๓  ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ดังกล่าวกับจำเลยที่  ๑  ก่อนแล้ว  โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่  ๒๒๖๐๖๓  เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  ๑  เป็นเพียงบุคคลสิทธิ  หาใช่ทรัพยสิทธิ  โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่  ๑  กับที่  ๓  ไม่ได้นั้น  เห็นว่า  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ดังนี้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  แต่จำเลยที่  ๑  มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  ย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น  เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ในคดีนี้คือบ้านพร้อมที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  ดังนี้แม้จำเลยที่  ๑  จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก้โจทก์ได้  ก็ยังทำให้โจทก์เสียเปรียบ  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น

                คำถาม  การปลอมเอกสารต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและต้องทำให้เหมือนของจริงหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๕/๒๕๔๖  จำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันทำปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์  ฉบับลงวันที่  ๒๖  สิงหาคม  ๒๕๔๑  ระหว่างนายยืนยง  ผู้ขาย  กับนายเตือนใจ  ผู้ซื้อโดยจำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  เป็นบุคคลคนเดียวกับนายยืนยงซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน  ภ – ๗๘๗๔  นครราชสีมา  และตกลงขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นางเตือนใจ  ซึ่งความจริงแล้ว  จำเลยที่  ๒  กับนายยืนยงเป็นบุคคลคนละคนกัน

                เห็นว่า  การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน  และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้  จำเลยที่  ๒  กับพวกหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  คือ  นายยืนยงเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว  และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันนั้น  โดยพวกของจำเลยที่  ๒  ลงลายมือชื่อนายยืนยง  ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าวมอบให้นางเตือนใจยึดถือไว้การกระทำของจำเลยที่  ๒  กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากนางเตือนใจ  และไม่ให้นางเตือนใจใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินคืน  ทำให้นางเตือนใจได้รับความเสียหาย  จำเลยที่  ๒  กับพวก  จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ  เมื่อจำเลยที่  ๒  กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้นางเตือนใจยึดถือไว้  จำเลยที่  ๒  กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง  รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 9

-------------------------------------

                   คำถาม  การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น  จะนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินออกโฉนด  รวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินที่โจทก์แล้วได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2270/2554  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่  ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี  2529  ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด  ต่อมาปี  2533ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาทผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด  ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก  ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี  2533  เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่  20  กรกฎาคม  2541  ยังไม่ครบ  10  ปี  ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
                คำพิพากษาฎีกาที่  677/2550  การครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  นั้น  อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นของบุคคลอื่น  ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง  หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นคือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ  ดังนั้น  การครอบครองที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น  ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย  เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2539  เช่นนี้  การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่  8  พฤษภาคม  2539  เป็นต้นไปเท่านั้น  ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมารับรวมกันได้  เมื่อคิดถึงวันที่  6  พฤศจิกายน  2540  ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี  จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382

                คำถาม  ผู้สั่งจ่ายเช็คแก้ไขวันเดือนปีในเช็คโดยผู้ทรงยินยอมจะถือว่าเป็นการขยายกำหนดอายุความฟ้องร้องหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  1385/2554 เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้  ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ  หรือด้วยการส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ  เช็คพิพาททั้ง  5  ฉบับ  เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือออก  จึงเป็นเช็คผู้ถือ  โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง  โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  904  เมื่อการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขโดยจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยินยอม  เช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้ต่อจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้แก้ไขตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1007  วรรคแรก  โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินตามที่แก้ไขนั้นหาใช่เป็นเรื่องขยายอายุความฟ้องร้องไม่


                คำถาม  สัญญาจ้างทำของ  มีข้อสัญญาทำนองว่า  เมื่อมีการเลิกสัญญา  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องใช้ค่างานแก่ผู้รับจ้าง  ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นเบี้ยปรับหรือไม่  หรือจะต้องบังคับตามข้อสัญญาดังกล่าว
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4330/2554 โดยปกติเมื่อสัญญาเลิกกัน  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้  ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามสมควรค่าแห่งการนั้นๆ  ตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ.  มาตรา  391  วรรคหนึ่งและวรรคสาม  โจทก์ผู้รับจ้างจึงย่อมมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างไปแล้ว  การที่สัญญาข้อ  9  ดังกล่าวระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ  ไม่ได้เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์  จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ  ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  383  วรรคหนึ่ง  หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาด  เป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  วินิจฉัยเสมอไปไม่  คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานตามจำนวนค่าจ้างไปเป็นเงิน  504,000  บาท  จำเลยชำระแล้ว  300,000  บาท  เมื่อคำนึงถึงค่าปรับรายวันที่จำเลยมิได้เรียกร้องประกอบกับความเสียหายอย่างอื่นที่จำเลยได้รับแล้วเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเพียง  50,000  บาท  ซึ่งแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง  แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินตามควรค่าแห่งงานที่กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์เพื่อการกลับคืนสู่ฐานะเดิมและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงแล้วนั่นเอง  หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิดก็ชอบที่จะอุทธรณ์  แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์  เพียงแต่มีคำขอมาในคำแก้อุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น  ซึ่งไม่อาจกระทำได้  ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระเงินจำนวน  50,000  บาท  แก่โจทก์หรือไม่  จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  จะต้องยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีก


                คำถาม  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด  หุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าวจะต้องรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2778/2552 จำเลยที่  3  เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ระหว่างวันที่  28  ธันวาคม  2543  ถึงวันที่  27  มกราคม  2545  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่  3  จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ซึ่งจำเลยที่  3  ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด  2  ปี  นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  แต่ข้อเท็จจริง  ปรากฏว่าจำเลยที่  3  ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่  28  มกราคม  2545ความรับผิดของจำเลยที่  3  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่  28  มกราคม  2547การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีนี้เมื่อวันที่  17  มิถุนายน  2548  จึงเกินกำหนดเวลา  2  ปีแล้ว  จำเลยที่  3  จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีล้มละลายได้

                คำถาม  ใช้ปืนยิงผู้อื่น  แต่ลูกกระสุนปืนมีกำลังอ่อน  ผู้ถูกยิงจึงไม่ถึงแก่ความตายเป็นความผิดพยายามฆ่าผู้อื่นตาม  ป.อ.  มาตรา  80  หรือ  81
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  77/2555 ลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงไม่ทะลุผ่านผิวหนังทำอันตรายแก่อวัยวะภายในของผู้เสียหายที่  1  เป็นเพราะมีกำลังอ่อน  มิใช่เพียงแต่ผู้เสียหายที่  1  ถูกยิงในแนวเฉียง  การกระทำของจำเลยย่อมไม่สามารถจะบรรลุผลให้ผู้เสียหายที่  1  ถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้  จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ประกอบมาตรา  81  วรรคแรก  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  195  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  225

                คำถาม  การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้อื่นโดยให้เปลี่ยนข้อหาให้เบาลง  จะเป็นความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  144  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3096/2552  จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ  ช.  เพื่อขอให้ช่วยเหลือ  พ.  กับพวก  โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยเสนอให้เงิน  70,000  บาท  ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ  ช.  ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  เพื่อพันตำรวจตรี  ต.  ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ  ช.  ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจ  ช.  และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง  จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ  ช.  และพันตำรวจตรี  ต.  เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  144


                คำถาม  ผู้เริ่มก่อการและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิในนามของบริษัท  บ.  แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ที่ตัวแทนของบริษัท  บ.  กระทำไปหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3411/2553 จำเลยที่  8  ซื้อสินค้าจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของบริษัท  บ.  เมื่อบริษัท  บ.  ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท  จำเลยที่  1  ถึงที่  4  ที่  6  และที่  7  ในฐานะผู้เริ่มก่อการจึงต้องรับผิดชำระค่าสินค้าต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1113
                บริษัท  บ.  ซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงแรม  อันเป็นกิจการของบริษัท  บ.  อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด  5  ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/33

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 8

.....................................................

                  คำถาม   การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในอาคารโดยการนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งที่อาคารด้านหน้าเป็นการบังหน้า  เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  3279/2554  จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลางและด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา  จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคารที่เกิดเหตุ  โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น  ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209)
                 
                 คำถาม   ปลอมใบรับรองเงินฝากของธนาคาร  โดยที่ธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากจึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ.มาตรา 265 หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า  โจทก์ร่วมไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากตามเอกสารหมาย จ. 4  จึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง  เอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิปลอมนั้น  เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงก่อน  เมื่อจำเลยที่  2 ทำปลอมใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4 ขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4  จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

                 คำถาม   ผู้ครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น  หากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  จะต้องบอกกล่าวแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

                 คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดขับรถยนต์พาพวกมายังบ้านผู้เสียหาย แต่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยในการติดต่อเจรจาในการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขาย  จะถือว่าเป็นตัวการหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  225/2555   จำเลยที่  1 และที่  2 ร่วมกันกระทำความผิดโดยพูดจาหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมแปลงหมายเลขออกขายให้แก่ผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยติดต่อเจรจากับผู้เสียหาย  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่  3 เป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดฐานใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอม จากการที่จำเลยที่  3  เป็นผู้ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1  และที่  2  มายังบ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขายเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่  1  ก่อนการกระทำความผิด จำเลยที่  3 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่  1 ในการกระทำความผิดต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

                คำถาม   ในสัญญาจะซื้อขาย คู่สัญญาจะโอนสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลอื่นตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2618/2549  ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ จำเลยที่  1  ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก  1,232,650 บาท
                ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า  จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์หรือไม่  ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่  1 กับจำเลยที่ 2  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1  โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2  มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น  กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1  โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว  โจทก์กับจำเลยที่ 2  ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน  ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่  2  ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1  ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และจำเลยที่ 2  ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว  จำเลยที่ 2  ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา  จำเลยที่ 2  ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 2  ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวัน  เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1  กับจำเลยที่ 2  ระบุให้จำเลยที่  2  จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป  สัญญาที่ทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2  ที่ว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่  ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  2  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  1  ตามสัญญาจะซื้อขายดิน  เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา  349 แล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1  รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  6494/2541  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  กล่าวคือ  พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.  แม้ว่า พ.  จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา  306 วรรคแรก ได้ก็ตาม  แต่ พ. ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้
                 อย่างไรก็ดี หากผู้ขายได้ชำระหนี้ส่วนของตนให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียวจึงย่อมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   5574/2551   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส.  กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย  ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระค่าที่ดินที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์ จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

                 คำถาม   ก่อสร้างถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1312  หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   2743/2541   จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15  ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน  4  ต้น โดยมี ส. เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนนและโจทก์รู้เห็นการก่อสร้าง  ทั้งโจทก์ และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์  การกระทำของจำเลยที่ 1  และที่  3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลิ่นเล่อไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1  และที่  3  ได้
                  สิ่งที่จำเลยที่ 1  และที่  3  ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน  แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต  กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้  เมื่อเป็นกรณีไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง  จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310  บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย  และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน  ซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่  3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1310 วรรคสอง