แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถามตอบฎีกา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ถามตอบฎีกา แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

                คำถาม    คำว่า  “ ตอแหล ”  เป็นการดูหมิ่นหรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๙๑๙/๒๕๕๒  การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง  การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย   การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว  หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว  เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า  “ ตอแหล ”  ว่า  เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย  การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ  จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๑
               
               คำถาม   ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน  มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย  จะเป็นความผิดหรือไม่                 
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               (ก)  กรณีที่ผู้ถึงแก่ความตายมิได้มีเจตนากระทำความผิด

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐   ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย  เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดฐานให้คนตายโดยไม่มีเจตนา

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๙/๒๕๑๑  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ได้ใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลยใกล้ทางเดินของบุคคลทั่วไปในระดับคนยืนพื้นเอื้อมจับถึง แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดดังกล่าวขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย  เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปรอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหตุให้ นาย ป. ซึ่งเข้าไปยืนถ่ายปัสสาวะที่ริมรั้วตรงบริเวณดังกล่าวเอื้อมมือไปจับส่วนบนของรั้ว นิ้วมือเลยไปถูกเส้นลวดนั้น กระแสไฟฟ้าจึงแล่นเข้าสู่ร่างกายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๙๑ และริบเส้นลวดของกลาง
                   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวดนั้นเพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์  เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า  แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนทำเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐  มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๙/๒๕๒๐  จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้านจำเลยเมื่อประมาณ ๗ วันก่อนเกิดเหตุ จำเลยใช้ขึงลวด ๒ เส้นรอบที่ตกกล้า สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์จากบ้านเข้าไปในเส้นลวด ๒ เส้นที่ขึงไว้ เพื่อป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า  ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๘ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา  นาย ส. ผู้ตายออกจากบ้านไปหากบหาปลาตามทุ่งนาแล้วไปเหยียบสายลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง
                   พิเคราะห์แล้ว  เห็นว่า  จำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าสายลวดที่จำเลยขึงรอบที่นาที่ตกกล้าและปล่อยกระแสไว้นั้น หากสัตว์ไปถูกเข้าก็จะถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วย  แสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่า สายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายแก่คนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้าเช่นเดียวกัน  การที่จำเลยขึงลวดมีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้วย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า หากมีคนหากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าว และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย  จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว  เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ป.อ.มาตรา ๒๙๐  

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๘๔/๒๕๒๘   ผู้ตายเข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างเพื่อจะเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้  เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้าง และปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้น ผู้ตายมาถูกกระแสไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐




                    (ข)  กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์  กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่  ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
 
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๓/๒๕๑๙   จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลยมีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้  ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไป  ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม  จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย ผู้ตายกับพวกอีก  ๓ คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาลโดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑  อัน  แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว  ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้   ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ  จำเลยไม่มีความผิด  ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ  ที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ (ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
                   มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้  ศ.จิตติ ติงศภัทิย์  ความว่า โจทก์ฟ้องตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช่กำลังทำร้าย

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๙๐/๒๕๔๘   แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรเหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้  แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัด ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มาก  การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ.มาตรา ๖๙  จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบมาตรา ๖๙
                   
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๑/๒๕๔๙   โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า  เด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์  ดังนี้  การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว  ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่ป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๐๐ โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก  ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา ๖๙  ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ   และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา  แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
                   
                   คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๗๙๔/๒๕๕๒   จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน  ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด  ๑  เส้น  จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐  เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกาย  เนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น  ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ ๑๔ ปีเศษกับ ต. อายุ  ๑๕ ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก  ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุ จำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงร้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                   

                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๕๐/๒๕๕๓   จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย  แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง ๒๒๐ โวลต์ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น   ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้  ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้  แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙  (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๖๙ )

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

------------------------

                 คำถาม   การบังคับเอาโทรศัพย์เคลื่อนที่ของผู้อื่น  โดยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในบริเวณเอว  ถือว่าเป็นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรงๆหรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ  การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย  โดย ม. พวกของจำเลยทำท่างเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว  แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม  แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป  การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
               
                คำถาม  การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  หรือการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย  จะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา  350  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3973/2551   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย  ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต  ดังนี้  จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย  เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
                 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย  แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว  ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่  เพียงใด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350
                 
                  คำถาม  การให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 20 ปี โดยผู้เช่าต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ผู้ให้เช่า  เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาหรือไม่ และข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7894/2553   การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท  ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่า โดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น  หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่  ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา  เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374  ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไป  ข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
                   
                   คำถาม   เจ้าของที่ดินปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงของตน  ต่อมาที่ดินแปลงหนึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนำออกขาย  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรังวัดตรวจสอบที่ดินพบว่า  เจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินที่ซื้อบางส่วน  ดังนี้  ผู้ซื้อจะขอให้บังคับเจ้าของที่ดินเดิมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป  ได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  796/2552   ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312  ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด  แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท  แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330  โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว  โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336  เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป  และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้  โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้  มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต  และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4

                    คำพิพากษาฎีกาที่  9785/2553   ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า  เดิมจำเลยเป็นเจ้าที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และ  13742  ตำบลตลิ่งชัน(บางโอ)  อำเภอตลิ่งชัน(บางใหญ่)  กรุงเทพมหานคร  โดยที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีอาณาเขตติดต่อกันและมีบ้านเลขที่ 6/1  ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และบางส่วนของบ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี  คดีหมายเลขแดงที่  1497/2536  ตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว
                    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านเลขที่ 6/1  ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่  13742  หรือไม่

                    เห็นว่า  เดิมบ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลย  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742  จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกัน  โดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม มาตรา 1312  เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด  กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด  อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท  จะมีหรือไม่หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต  กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร  ดังที่จำเลยฎีกาไม่  เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

-------------------------------

                   คำถาม   ข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกในการสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 1 เมื่อปี 2491 นั้น คำถามมีว่าอย่างไร
                 คำตอบ   คำถามข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกของสำนักอบรมฯสอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2492 คำถามมีดังนี้
                 1.คำถาม   มีข้อความจริงอย่างไรบ้าง  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมแล้ว  ถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน
                 อุทาหรณ์มีว่า  ผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ครั้นตนบรรลุนิติภาวะแล้ว  จึงได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  ดังนี้  จะถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันหรือไม่ ?
                 แนวคำตอบ   ข้อความจริงซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (ปัจจุบันคือมาตรา 180)  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้  ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา  141
(ปัจจุบันคือมาตรา 179)  มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม  ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด  ท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ทั้งนี้คือเช่นว่า
(1)    ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
(2)    ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว
(3)    ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4)    ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น
(5)    ได้มีการโอนซึ่งสิทธิหรือความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
                  ตามอุทาหรณ์  ถึงแม้ว่าการที่ผู้เยาว์ได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  จะไม่ใช่การวางประกันตามความหมายในอนุมาตรา  4  ก็ตาม   โดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 142(ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติกรณีตัวอย่างไว้บางประการ ด้วยการใช้คำว่า  “เช่นว่า”  ข้อความจริงอย่างอื่นอันมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน  ดังเช่นการเอาโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายมาตรานี้
               
                  คำถาม   ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ค่างวด  ผู้ให้เช่าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้เช่าชำระ  จะถือว่าผู้ให้เช่าผ่อนเวลาให้แก่ผู้เช่าซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 6734/2553   การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน  และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น  โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
 
                    คำถาม   ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าผู้รับจะต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง   หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ให้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้โดยให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของผู้ให้โดยอ้างว่างนิติกรรมให้เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 11228/2553   นิติกรรมอำพรางตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง  เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม  นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฎออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย  ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้   ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม  แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว   การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด   เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น  สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้  และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง  กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง  กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา  มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้  ดังนี้  แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง  กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142  กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่  เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
 
                      คำถาม   ผู้ขายเสนอจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ  มีการวางเงินมัดจำไว้โดยผู้ขายออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน  มีข้อตกลงว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ต่อมาผู้ซื้อกับผู้ขายไม่อาจตกลงเงื่อนไขระหว่างกันได้  ผู้ขายจะมีสิทธิรับมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2553   ใบรับเงินมีข้อความว่า  “จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์  โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี  และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาทด้วยเช็ค  ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30 วัน”   เห็นได้ว่า  ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น  หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน  แสดงให้เห็นว่า  โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง  ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ”  ดังนั้น  เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ  สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น  เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้  จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  406
 
                      คำถาม   ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน  หากผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6857/2553   แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1715 วรรคสองบัญญัติว่า  “ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน  แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว  ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง  แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ ”  ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน  การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา  1726  ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก  หากปรากฎว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา  1736 วรรคสอง  และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา  1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา  1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้  ดังนั้น  เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้  โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514   ข้อความในวรรคสอง (ของมาตรา 1715) นั้น สืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง   คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน” ในวรรคสองนั้น  หมายถึง  ผู้จัดการซึ่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่เกี่ยวถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของตนนั้นก็เนื่องจากเจ้ามรดกไว้วางใจบุคคลนั้น  แม้จะตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคนก็ดี  เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว  ทายาทจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นแทนผู้ที่ตายไปนั้นย่อมทำไม่ได้  เพราะขัดกับคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น  กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่คนเดียวดำเนินการในการจัดการมรดกได้โดยลำพัง  ไม่เหมือนกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งโดยไม่มีพินัยกรรม  เพราะทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ใด  จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก  ก็โดยเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ดังนั้น  เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ถึงแก่ความตาย  ทายาทของเจ้ามรดกอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้อื่นเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ต่อไปก็ได้  โจทก์จะจัดการต่อไปตามลำพังคนเดียว  โดยมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญิติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
                   
                      คำถาม   สามีภรรยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร  ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภรรยา ทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว  หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล  จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553   โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร  และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม  อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า  8 วัน  ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว  จำเลยไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก  มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด  เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ  การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้  ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร(ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  364 ,  365(3))

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 2


--------------------------------

                  คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ.  มาตรา  1300  หากมีผู้ซื้อที่ดินจากบุคคลดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง  ผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  13846/2553   ธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป  แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน  แม้มิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม   แม้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า  20 ปี แล้ว  โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีจำเลยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน  จำเลยก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตามป.พ.พ. มาตรา  1330 ได้  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย  เมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย  โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้


                 คำถาม   ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปเป็นของผู้ซื้อเมื่อใด  และหากผู้ซื้อไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  ผู้ขายเอารถยนต์กลับคืนมาโดยพลการจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9603/2553 (ประชุมใหญ่)   โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา  310,000  บาท  ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า  จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540  ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540  สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด  จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ.  มาตรา 453 , 458
                 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น  คดีจึงรับไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว  ดังนั้น  การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ  จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ  แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท  แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง  100,000 บาท  การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น  เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                 คำถาม   ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว  ผู้ซื้อจะได้สิทธิครอบครองหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12473/2553 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก  แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ  แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่  จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน  จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง
                  สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่


                 คำถาม   ผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้ว  จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งได้หรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12168/2553  ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1  ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท  โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆกัน จำนวน  8,500,000  บาท  ตามป.พ.พ.  มาตรา  229(3) และมาตรา  296   เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้  จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่  359/2509 , 4574/2536 วินิจฉัยเช่นเดียวกัน)

                  คำถาม  จำเลยตบหน้าผู้เสียหายทันทีที่เปิดประตูห้อง  ล้วงเอามีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือกรรโชก
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  11052/2553   ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน  เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด  การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน  แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.  มาตรา 334  โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339(2)  โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน  หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฎว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า  ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้อง  เมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง  จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหาย ขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น  แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก  ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  339  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  83 จึงชอบแล้ว


                  คำถาม  การกระทำความผิดโดยประมาท  ผู้กระทำจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า  ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน  บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น  ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น  ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด  ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่  ดังนั้น  การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
                   การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น  ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา  แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น


                  คำถาม  สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา  ต่อมา  ผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในสัญญาโดยพลการ  แล้วนำมาฟ้องต่อศาลเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  1126/2505  ศาลฎีกาเห็นว่า  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  264  จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน  คดีนี้  โจทก์รับอยู่ว่า  โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง  สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นภายหลัง  ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์  จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

                     คำถาม  ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม  ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง  จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบตาม    
ป.พ.พ. มาตรา  1656  หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา  1656  วรรคแรก  หมายความว่า  ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน  และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ  ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน  และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น  เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้  ดังนั้น  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง  ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1705  ไปในทันที  แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม  ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
                     
                     คำถาม  หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้  จะถือเป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  4537/2553  สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก  อยู่ที่ว่า  มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้  ดังนั้น เมื่อเอกสารมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้  แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง  แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน  จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้แล้ว
                     
                     คำถาม  ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศรีษะจำเลยแต่ยังคงนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน  จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้าน  อีก 2 ชั่วโมงต่อมา  จำเลยกลับไปฆ่าผู้ตาย  จะอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย  ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน  และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว  ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ  จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว  เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่  แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว  และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง  จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา  แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
                     
                       คำถาม  การเรียกและริบเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนช่วยเหลือในทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ผู้อื่นถูกดำเนินคดีอาญาและยังไม่มีการให้เงินแก่กัน  ฉะนั้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา  143  หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  661/2554  มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านาย ธ.  ไม่ใช่อัยการเข้าของสำนวนในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์  จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว  และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน  จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น
                       เห็นว่า   การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีอาญา  แม้อัยการ ธ.  จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม  ก็ถือว่านาย ธ.  เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นาย ร.  แล้ว  การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
                       
                        คำถาม  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  112/2554  การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได  จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้  เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์  และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้  แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  192 วรรคสาม
                         
                         คำถาม  ซื้อสุราต่างประเทศในห้างสรรพสินค้า  โดยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้า   แล้วชำระเงินตามราคาน้ำปลา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                         คำพิพากษาฎีกาที่  3935/2553   จำเลยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟู  โดยเอาสุราต่างประเทศ 12 ขวด  ราคา  3.228 บาท  ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลาและใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง  จากนั้นจำเลยนำน้ำปลาอีก 1 ลัง  วางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลังเป็นเงิน  420  บาท  แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว  การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานมอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น  พนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ให้ดูเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2542)

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม15


------------------------------

                     คำถาม  หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้กู้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ผู้ให้กู้จะฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันได้ทันทีหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

                      คำถาม  ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หากผู้ทรงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้สลักหลังเช็ค ผู้ทรงจะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  2569/2551  ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็ครวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว
                      คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ ได้อีกหรือไม่
                      เห็นว่า การที่บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
                       ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด
                        หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500 วินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500  การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 - 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 - 2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 - 2  นั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1 - 2 พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป

                       คำถาม  การที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น จะมีผลทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้สะดุดหยุดลงด้วยหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  1438/2540  การที่ ว. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วยแม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น การที่ ว. ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น จึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง 5 ปีเท่านั้น ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 11 ฉบับ คิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 891,808.23 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย จึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ภายในอายุความ 5 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความ แม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า 5 ปี อันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้

                         คำถาม  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง โดยสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง พินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่
                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                         บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลาย เป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

วันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม13


---------------------------------


                       คำถาม    เจ้าของบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน หากมีบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องหลบหนีผู้กระทำความผิดก่อนหรือไม่ และจะมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  7940/2551  บ้านและบริเวณบ้านของจำเลยถือว่าเป็นเคหสถานที่ประชาชนทั่วไปย่อมเห็นว่าเป็นที่ปลอดภัยไม่ควรถูกบุคคลอื่นรุกล้ำเข้ามากระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่จำเป็นต้องหลบหนีและมีสิทธิที่จะป้องกันสิทธิของตนเพราะจำเลยเป็นผู้สุจริตหาต้องถูกบังคับให้ไปเสียจากเคหสถานของจำเลยซึ่งมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและเคลื่อนไหวโดยอิสระ หากจำเลยจำต้องหนีแล้วเสรีภาพของจำเลยก็จะถูกกระทบกระเทือน
                      ผู้ตายขับรถเข้ามาในบริเวณบ้านของจำเลยเพื่อจะบังคับ ผ. ซึ่งเป็นบุตรสาวของจำเลยและเคยเป็นภริยาของผู้ตายให้ไปอยู่กินด้วยกันเช่นเดิมแล้วเกิดโต้เถียงกัน จำเลยพูดจาห้ามปราม ผู้ตายไม่ฟังและได้ลงจากรถพร้อมกับถืออาวุธมีดยาว 12 นิ้ว เดินไปหาจำเลย จำเลยวิ่งขึ้นไปบนบ้านหยิบเอาอาวุธปืนยาวกึ่งอัตโนมัติขนาด .22 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ ทั้งเป็นอาวุธปืนที่ปกติใช้ยิงนกหรือสัตว์ขนาดเล็กและมีแรงปะทะน้อยลงจากบ้าน เพื่อปรามมิให้ผู้ตายทำร้ายจำเลยหรือทำลายทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับให้ ผ. ไปอยู่กับผู้ตาย โดยไม่มีกิริยาอาการที่จะยิงทำร้ายผู้ตายซึ่งถูก ผ. โอบกอดไว้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยมีเจตนาสมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทกับผู้ตายหาได้ไม่ หลังจากนั้นสักครู่ผู้ตายสะบัดตัวหลุดและเดินเข้าหาจำเลยเพื่อทำร้ายจนห่างประมาณ 1 วา โดยมีอาวุธมีดยาว เช่นนี้นับว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิจะป้องกันเนื่องจากหากปล่อยให้ผู้ตายเข้ามาใกล้กว่านั้น โอกาสที่จะใช้อาวุธปืนยาวยิงเพื่อป้องกันตัวย่อมจะขัดข้อง การที่จำเลยใช้อาวุธดังกล่าวยิงไปที่ผู้ตายไป 1 นัด แต่ผู้ตายยังเดินเข้ามาหาจำเลยอีก จำเลยจึงยิงผู้ตายอีก 2 นัด ติดต่อกันผู้ตายจึงล้มลง นับว่าเป็นการพอสมควรแก่เหตุในภาวะและวิสัยเช่นนั้น แต่หลังจากผู้ตายล้มลงนอนหงายจำเลยยังเดินเข้าไปยิงผู้ตายอีก 2 นัด จึงเป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                        คำพิพากษาฎีกาที่  169/2504  ผู้ตายเมาสุราร้องท้าทายจำเลยให้มาต่อสู้กัน จำเลยไม่สู้ ผู้ตายก็ถือมีดดาบปลายแหลมลุยน้ำข้ามคลองจะเข้าไปฟันจำเลยถึงในบ้าน แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อนและอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานของตนโดยชอบจะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย ดังนี้การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตาย 1 นัด ขณะผู้ตายอยู่ห่างจากจำเลย 6 ศอกถึง 2 วา นั้น ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุ

                        คำถาม   ผู้เช่าซื้อส่งมอบรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นถือครอบครองและใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ครอบครองผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทน หากผู้ครอบครองนำรถที่เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ หรือนำไปขายต่อ เป็นความผิดฐานยักยอกหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   9532/2554 โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากบริษัท ร. โดยเป็นผู้ชำระเงินค่ามัดจำและค่าประกันภัย แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อจะยังเป็นของบริษัท ร. ผู้ให้เช่าซื้อ แต่โจทก์ผู้เช่าซื้อมีสิทธิตามสัญญาที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อ แม้โจทก์จะส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยยึดถือครอบครองใช้ประโยชน์โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อรถแทนโจทก์ ก็เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีผลถึงหน้าที่และความรับผิดที่โจทก์มีต่อผู้ให้เช่าซื้อและโจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีที่มีเหตุต้องคืน ทั้งยังต้องรับผิดชดใช้ราคารถกับค่าเสียหายกรณีที่ไม่สามารถติดตามรถคืนมาได้ การที่จำเลยเบียดบังนำรถยนต์บรรทุกที่โจทก์เช่าซื้อไปไว้ที่อื่นเพื่อหลบเลี่ยงมิให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามยึดรถคืนได้ก็ดี หรือนำไปขายต่อก็ดี ทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่จะเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนและบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

                         คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยมีมีดถืออยู่ในมือถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน เมื่อผู้เสียวิ่งหนี ผู้ร่วมกระทำผิดดังกล่าววิ่งไล่ตามจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่ ขู่เข็ญ แสดงท่าทีหรือแทงประทุษร้าย จะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  11865/2554  การกระทำที่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 339 วรรคแรกนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่าจะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะนั้นผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทันแล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีใด ๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟัน หรือแทงประทุษร้าย หากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ หากแต่เป็นเพียงการร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าที่โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไป หรือให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ. มาตรา 83

                            คำถาม   วางเพลิงเผาร้านซึ่งมีลักษณะเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงเป็นห้องโล่งปลูกอยู่ริมถนนเหนือคูน้ำ ไม่มีผู้ใดพักอาศัย รอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ รวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้หมื่นบาทเศษ จะเป็นความผิดฐานใด
                            คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                            คำพิพากษาฎีกาที่  10647/2554  จำเลยจุดไฟเผาร้านของผู้เสียหายทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ เป็นเหตุให้โต๊ะ เก้าอี้อุปกรณ์เคลือบบัตร ไม้และกระเบื้องของร้านเสียหายรวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ทั้งสิ้นประมาณ 15,500 บาท ร้านของผู้เสียหายดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นห้องโล่ง ปลูกอยู่ริมถนนเหนือคูน้ำไม่มีผู้ใดพักอาศัย รอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ ดังนี้ จึงต้องถือว่าร้านของผู้เสียหายและทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้มีราคาน้อย ทั้งขณะเกิดเหตุไม่มีบุคคลอยู่อาศัยย่อมไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 223


                           คำถาม  ผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ให้กระทำความผิดโดยเตรียมเงินค่าจ้างให้หรือช่วยพูดเกลี้ยกล่อมจนผู้ถูกใช้ยอมตกลงไปกระทำความผิด จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดหรือไม่
                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาไว้ ดังนี้
                          คำพิพากษาฎีกาที่  11834/2554 จำเลยที่ 4 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 และเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 เขียนจดหมายถึงจำเลยที่ 4 เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องจ้างคนมายิงผู้ตายส่วนจำเลยที่ 3 ได้เตรียมเงินค่าจ้างมามอบให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ช่วยพูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 จนยอมตกลงไปยิงผู้ตาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2

                           คำถาม   การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว หากผู้โอนไปรับชำระหนี้จากลูกหนี้ จะถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อเจ้าหนี้ผู้รับโอนหรือไม่
                          คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                          คำพิพากษาฎีกาที่   11632/2554  ภายหลังจากทำสัญญาขายผ้าให้แก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อโจทก์ให้แก่บริษัท ส. โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในช่องผู้โอน โดยสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 ก่อนที่จะมีการส่งมอบสินค้างวดที่ 1 ให้แก่โจทก์และ อ. หัวหน้างานบัญชีของบริษัท ส. นำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปส่งให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เดินทางไปด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมรู้ว่าการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัท ส. มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัท ส. และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่ 1 แล้วเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่1มอบอำนาจให้ ส. พนักงานของจำเลยที่1ไปรับเงินจากโจทก์แทนจำเลยที่1โดยจำเลยที่1ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่2ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต อันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1  นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม14


-------------------------------------------

                      คำถาม  ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญา  หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  1268/2555  เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และจะผ่อนชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยงวดแรกชำระภายในวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 2,854.80 บาท และจำเลยชำระงวดต่อไปภายในวันที่1ของทุกเดือน เดือนละ 2,800 บาท จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญารวม 20 งวด งวดสุดท้ายจะชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเงิน 3,115.52 บาท โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแรก หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือกระทำผิดระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์ทันทีโดยมิต้องรอให้การชำระหนี้รายนี้ถึงกำหนด และต้องใช้ค่าเสียหายต่าง ๆให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 2 และดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้และล่วงพ้นระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเพียง 14 งวด รวมเป็นเงิน 49,594 บาท อันเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วน โดยชำระงวดที่ 14 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ซึ่งมีจำนวนเงินไม่เพียงพอและไม่ตรงตามวันที่กำหนดในตารางกำหนดการชำระเงินท้ายสัญญากู้อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไปอีกเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ส่วนดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
                     คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของดาบตำรวจพีระพลผู้ค้ำประกันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่  ปัญหานี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของดาบตำรวจพีระพลจึงยังไม่เกิด  สัญญาค้ำประกันเป็นสิทธิเฉพาะของผู้ค้ำประกันไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่า ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของดาบตำรวจพีระพลไม่  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ดาบตำรวจพีระพลทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของดาบตำรวจพีระพลผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
                      หมายเหตุ  เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538 วินิจฉัยไว้ดังนี้
                      จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากทางราชการให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของโจทก์และทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์โดยมี ก. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายลงในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาและยังไม่ผิดนัด จึงยังไม่มีหนี้ของ ก. ที่โจทก์จะเรียกให้รับผิดได้ สัญญาค้ำประกันของ ก. ที่ทำไว้ต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาท ก. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
                     มีข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555  นั้น ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย

                     คำถาม   ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จะถือว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  7495/2555  ป.พ.พ.มาตรา  206 บัญญัติให้หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเช่นเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด มิใช่นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

                      คำถาม   ผู้ซื้อ ฝากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ซื้อให้ผู้ขายเก็บรักษาไว้ ต่อมาสลากกินแบ่งถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายอ้างว่าสลากกินแบ่งไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้วโดยให้บุตรผู้ขายสมอ้างเป็นผู้ซื้อสลากไป แล้วนำไปขอรับรางวัลมาจะเป็นความผิดฐานใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  11224/2555  สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ร่วมซื้อและฝากจำเลยที่ 1 ไว้ถูกรางวัลที่หนึ่ง จำเลยที่ 1 คิดจะเบียดบังเอาสลากไว้เสียเอง จึงได้อ้างต่อโจทก์ร่วมว่าสลากไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้ว จากนั้นให้จำเลยที่ 1 บุตรชายรับสมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อสลากไป แล้วร่วมมือกันนำสลากไปขอรับรางวัลมาเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมครอบครองสลากมาแต่แรก แต่การที่จำเลยที่ 2 รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของสลากและร่วมไปขอรับเงินรางวัลมา  ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 1 ในการยักยอกสลาก จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกับมาตรา 86

                     คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จะเริ่มนับเมื่อใด
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  17094/2555  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่
                    เห็นว่า การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งหากครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของบุคคลอื่นแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นของตนเองก็ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น ชอบแล้ว


                    คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นมายังไม่ครบ 10 ปี หากเจ้าของที่ดินโอนขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นไป โดยผู้ซื้อสุจริต การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับใหม่หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                    คำพิพากษาฎีกาที่   6147/2554  แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3262 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 บริษัท ค. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 จากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนซื้อขายและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อบริษัท ค. ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม12


----------------------------------


                         คำถาม   ผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดิน แต่มิใช่เจ้าของที่ดิน จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้หรือไม่
              เจ้าของรวมในที่ดินซึ่งมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดและที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อม หากที่ดินที่ปิดล้อมดังกล่าวแปลงหนึ่งเป็นที่ดินของเจ้าของรวมคนหนึ่งซึ่งติดถนนสาธารณะจะถือว่าที่ดินกรรมสิทธิ์รวมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  5740/2551 ในเรื่องทางจำเป็น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเพียงผู้ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) เลขที่ 439 เท่านั้น แม้จะฟังได้ว่าที่ดินดังกล่าวถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
                        โจทก์ที่ 4 ถึงที่ 5 ส. น. และ ม. เป็ฯเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่439 โดยมิได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินส่วนใด ความเป็นเจ้าของของแต่ละคนจึงครอบครองที่ดินทั้งแปลง ดังนั้นเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งจึงอาจใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของรวมครอบที่ดินทั้งแปลงเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1359 การที่โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอให้เปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิแทนเจ้าของรวมอื่นซึ่งรวมถึง ส. ด้วย กล่าวคือโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นได้ ทางดังกล่าวย่อมได้ประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน แต่ ส. เป็นเจ้าของที่ดิน โฉนดที่ 2528 ซึ่งด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะอีกด้านหนึ่งติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 438  ส. จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นสำหรับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 439 เพราะจากที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 ของ ส. เอง  การที่ ส. ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 2528 โดยเว้นทางเข้าออกด้านที่ติดกับที่ดินของจำเลยไว้เพียงประมาณ 1 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 4  และที่ 5 ไม่สามารถนำรถยนต์ผ่านเข้าออกได้แต่ยังคงเดินเข้าออกได้นั้นเป็นเพียงทำให้ความสะดวกของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ในการเข้าสู่ทางสาธารณะลดลงเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 439 ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น

                      คำถาม   ที่ดินก่อนการแบ่งแยกต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ จะถือว่าที่ดินดังกล่าว มีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้วก่อนการแบ่งแยกตาม ป.พ.พ.มาตรา 1350 หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3408/2551 บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1350 จะมาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ครั้นเมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน แต่คดีนี้เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้ เพราะเขายินยอม มิใช่เป็นตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  กรณีของโจทก์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1350 แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา 1349
                       ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทาง คือ ทางแรกโจทก์สามารถผ่านที่ของ ส. ผู้ซึ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์แล้วไปออกทางที่ดิน ค. โดย ส. และ ค. มิได้หวงห้าม ทางที่สองโจทก์สามารถออกทางที่ดินของ ป. และทางที่สาม คือ ทางพิพาทนั้น โจทก์เพิ่งมาใช้ในภายหลัง  ดังนั้น  เมื่อโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านที่ดินของ ส. ค. และ ป. ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้หวงห้ามโจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์ แต่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องเดือดร้อนและเสียหาย และถ้าหากให้จำเลยที่ 1 เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก อันจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

              คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลสุจริต กับ
                       (ก)  ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์แต่ยังมิได้จดทะเบียน
                       (ข)  ผู้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความใครจะมีสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 3239/2549 โจทก์เป็นผู้ซื้อที่และบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่าการกระทำโดยสุจริตคดีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 ซึ่งบัญญัติว่า  “ สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นท่านว่ามีเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย” ดังนั้น การที่ผู้ร้องจะอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์เพื่อแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงต้องแสดงให้เป็นอำนาจพิเศษที่ดีกว่าอำนาจหรือสิทธิของโจทก์ ทั้งการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการได้สิทธิมาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม และยังมิได้จดทะเบียนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ก็มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว เมื่อคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวบรรยายเพียงว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินและบ้านมาตั้งแต่ปี 2522 และได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยมิได้กล่าวบรรยายมาในคำร้องว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยไม่สุจริตหรือไม่ ต้องฟังว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริตตามข้อสันนิษฐานของบทบัญญัติมาตรา 6 ดังนั้น แม้ศาลจะทำการไต่สวนและฟังผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำร้องของผู้ร้อง ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องชนะคดีได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ได้ทำการไต่สวนจึงชอบแล้ว

                       การที่มีผู้ยื่นคำร้องขออ้างว่าได้ที่ดินดังกล่าวมาโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนดังกล่าวนี้ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหน้าที่ผู้รับจำนองที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง แม้จะมีผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม สิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจยกขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองซึ่งย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในอันที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
                       ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายโดยสุจริต สิทธิของผู้ร้องจึงมิเสียไปแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์นั้นมิใช่ของผู้ล้มละลายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1330 แม้ผู้ร้องจะยังมิได้มีการชำระราคาทรัพย์ครบถ้วนหรือยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ยังได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ผู้อื่นจะอ้างเหตุว่าเป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินดังกล่าวขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้ร้องมิได้ การที่มีผู้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินที่ผู้ผู้ร้องประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาด จึงมิได้มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด
                       แม้มีผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดแต่ศาลล้มละลายแต่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางยกคำร้องดังกล่าวไปแล้วและศาลอุทธรณ์ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยังคงได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330
                      (ข) คำพิพากษาฎีกาที่ 6459/2551 แม้โจทก์จะซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด แต่ก่อนเวลาที่โจทก์จะได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวจำเลยได้ใช้ที่ดินตลอดมาโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 มิใช่เพียงรุกล้ำใช้อย่างสภาพทางจำเป็น แม้จำเลยจะยังไม่จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมก็หาทำให้สิทธิดังกล่าวสิ้นไป เพราะทรัพย์วัตถุแห่งสิทธิเป็นประธานภาระจำยอมมีลักษณะเป็นสิทธิประเภทรอนสิทธิมิใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ จึงไม่อยู่ในบังคับหลักกฎหมายที่ว่าสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ต่อบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม16


------------------------------

                      คำถาม  สามีเห็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนอนหนุนตักชายอื่นและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน สามีใช้มีดแทง จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่กระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน โดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อ จ. ก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิ แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

                      คำถาม   พนักงานคุมประพฤติรับเงินค่าตอบแทนของผู้เยาว์และได้เบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยมิได้นำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารในนามผู้เยาว์เป็นความผิดฐานใด
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  205/2554  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติรับเงินค่าตอบแทนของผู้เยาว์ และได้เบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารในนามของผู้เยาว์ เป็นการไม่ปฏิบัติตนในฐานะผู้กำกับการใช้อำนาจปกครองในส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามคำสั่งศาล การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 สำเร็จไปแล้ว แม้ต่อมาจำเลยนำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้แก่ผู้เยาว์ที่ธนาคาร ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ไม่อาจทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาสำเร็จไปแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิดไปได้

                     คำถาม  การให้ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ส่งมอบที่ดินให้ผู้รับเข้าครอบครอง ต่อมาผู้ให้ถึงแก่ความตาย ที่ดินจะถือเป็นทรัพย์มรดกของผู้ให้หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   2156/2555  จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของตนที่ได้รับการยกให้จากนางรอด มิใช่ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น อันแสดงว่านางรอดได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยครอบครองแล้วโดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะที่นางรอดแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่นางรอดส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แม้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครอง จึงถือได้ว่านางรอดสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และมาตรา 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย การออกโฉนดที่ดินพิพาทจัดทำโดยทางราชการออกให้แก่นางรอดซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหนังสือรับรองการทำปะโยชน์(น.ส.3)ฉบับเดิม แม้ความจริงนางรอดไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วขณะออกโฉนดก็หาทำให้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของจำเลยเสียไปไม่ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนางรอดที่จะตกทอดแก่ทายาทอีกต่อไป

                    คำถาม  ข้อความในสัญญาเช่าว่า ก่อนครบสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรมดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณีถือเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3801/2555  ข้อความในสัญญาเช่าที่ว่า ก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรมดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไปเพื่อขอขยายอายุสัญญาเช่าใหม่ ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

                   คำถาม  ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับ เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างตามที่ชนะการประมูล ถือว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7790/2554  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จำเลยที่ 1 ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างลานกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยได้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1  ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดส่งวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยกำหนดให้เริ่มทำงานภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2549 แจ้งอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย

                   คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินใช้บังคับได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ขณะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างลานกีฬาให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชนะการประมูลงานก่อสร้างลานกีฬาดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 จึงย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างตามแบบของทางราชการและเริ่มงานก่อสร้างกันเมื่อใด หาใช่สาระสำคัญไม่ เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความลงในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า “ ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว"  พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตราองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย ก็เพียงพอที่จะถือว่าองค์การบริหารส่วนตำรบเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า ขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้