วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ข้อ4 วิแพ่ง เนติฯ (จำเลยร่วมมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*


ข้อ4 วิแพ่ง ขาดนัด

วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


จำเลยร่วมมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด


 คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๔๖/๒๕๖๐ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ปัญหามีว่าศาลจะใช้ดุลพินิจหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ ได้นั้น เห็นว่า มาตรา ๑๙๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้ จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด และวรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอ ต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์มิให้โจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีของตนภายในเวลาที่กำหนด แต่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา ๑๙๘ วรรคสอง หรือไม่ ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป สำหรับคดีนี้ ปรากฎว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเท่านั้น ไม่ได้ฟ้องจำเลยร่วม แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี เนื่องจากจำเลยร่วมเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัท ส. เช่นเดียวกัน หากศาลพิจารณาให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยร่วมผู้เป็นกรรมการด้วยกัน ซึ่งโจทก์ไม่ได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว ศาลจึงให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี แต่เมื่อจำเลยร่วมได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จำเลยร่วมมิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด ถือว่าจำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การ ตามมาตรา ๑๙๗ แม้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอตามมาตรา ๑๙๘ วรรคสอง ก็ตาม แต่โจทก์ดำเนินคดีในส่วนของตนต่อมา ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นั้น หากจะต้องรับผิดต่อบริษัท ส. หรือ แพ้คดีก็ประสงค์ให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยร่วมให้ต้องร่วมรับผิดในฐานะที่เป็นกรรมการ ด้วยกันกรณีเช่นนี้ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลจะดำเนินคดีในส่วนของจำเลยร่วมไปพร้อมกับจำเลยคนอื่นๆ การที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจ ตามสมควร 



อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง อ.ประเสริฐฯ


-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate





วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ข้อ1 วิแพ่ง เนติฯ (การอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*


ข้อ1 วิแพ่ง

วิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


การอุทธรณ์คำสั่งคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล


ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่เฉพาะบางส่วน หรือให้ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ผู้ขอ อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ โดยจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕/๒๕๕๖ จำเลยอุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง หากจำเลยประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาลชั้นต้นภายใน ๑๐ วัน นับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งของศาลอุทธรณ์ เป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖/๑ วรรคท้าย
จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งเป็นที่สุดไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาอีก

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๑/๒๕๕๗ ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องที่อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๕๖/๑ วรรคสี่ ซึ่งมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลนั่นเอง ผู้ร้องจึงมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ กล่าวคือ ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นมาชำระภายใน ๑๕ วัน การที่ผู้ร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลอีก และศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุด เช่นเดียวกับคำสั่งศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ อันเป็นที่สุดนั้นด้วย ผู้ร้องไม่มีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ต่อมา อีกได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๗๗๗/๒๕๖๐ แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฉบับที่สองของจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนเกี่ยวกับการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลนั่นเอง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖/๑ วรรคท้าย บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แต่เฉพาะบางส่วนหรือมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ขออาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลได้ภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาอีก

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าฎีกาของโจทก์เป็น เรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ซึ่งคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖/๑ วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทมาตราที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงไม่อาจขออนุญาตฎีกาได้ (คำสั่งของศาลฎีกาที่ ครพ. ๑๑๖/๒๕๖๐)

ข้อสังเกต
แม้เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แต่ เฉพาะบางส่วน หรือให้ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาก็ต้องยื่น อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ หาใช่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไม่***
ตามมาตรา ๑๕๖/๑ วรรคสี่ (ที่แก้ไขใหม่) ผู้ขอต้องยื่นอุทธรณ์โดยยื่นเป็นอุทธรณ์ หาใช่ยื่นคำขอเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่***



อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง อ.ประเสริฐฯ


-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate





ข้อ1 วิแพ่ง เนติฯ (กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*


ข้อ1 วิแพ่ง

วิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 1

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

 กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ผู้ใดมีความจำนงจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดี


๑. ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้องหรือได้ฟ้องคดีไว้นั้นพร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด หรือคำให้การ แล้วแต่กรณี

๒. แต่ถ้าบุคคลนั้นตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง จะยื่นคำร้องในเวลาใด ๆ ก็ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๖๑/๒๕๖๑*** จำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์มาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ แต่ยื่นภายหลังเมื่อใกล้จะครบกำหนดขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายตามคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ในภายหลัง ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖, ๔๕ และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖ วรรคหนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะสั่งยกคำร้องเสียได้ และจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ คำสั่งได้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันมีคำสั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๖/๑ วรรคสี่ จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลโดยมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระและสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ยื่นคำร้อง ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลก็เพื่อให้ศาลกำหนดเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลใหม่ อันเป็นการขยายเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ออกไปอีก โดยมีลักษณะเป็นการประวิงคดี คำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้กำหนดเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลย และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย เพราะมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ภายในกำหนด จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ สัมมนา วิ.แพ่ง อ.ประเสริฐฯ


-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์ ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดท รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate





วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ข้อสอบฟื้นฟูกิจการ เนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๐

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*


ข้อ9 วิแพ่ง

ฟื้นฟูกิจการ

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72



ข้อสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๐


คำถาม ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท เอ จำกัด ซึ่ง ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลและตั้งผู้ทำแผน ต่อมาผู้ทำแผนได้ซื้ออ้อยจากนายรวย มาผลิตน้ำตาลเป็นเงิน ๑๔,๐๐๐ บาท ตกลงชำระราคาภายใน ๓๐ วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางครั้นถึงกำหนด ผู้ทำแผนไม่ชำระหนี้ นายรวยทวงถามให้ผู้ทำแผนชำระหนี้ ผู้ทำแผนโต้แย้งว่าสัญญาซื้อขายอ้อยตกเป็นโมฆะ ทั้งนายรวยมิได้ยื่น คำขอรับชำระหนี้จึงหมดสิทธิได้รับชำระหนี้

ให้วินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้งของผู้ทำแผนฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ การที่ผู้ทำแผนซื้ออ้อยมาผลิตน้ำตาลเป็นการดำเนินการตามปกติในทางการค้า เพื่อให้กิจการของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผู้ทำแผนสามารถทำนิติกรรมดังกล่าวได้เอง โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายอ้อยระหว่างผู้ทำแผนกับนายรวยจึงสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๙๐/๒๕ ประกอบมาตรา ๙๐/๑๒ (๙)

หนี้ค่าอ้อยเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ซึ่งมิใช่หนี้ที่อาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๒๗ วรรคหนึ่ง แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ทำแผนก่อขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการ นายรวยมีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๖๒ (๑) (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๓๑/๒๕๔๖, ๗๐๓๒/๒๕๔๖) ข้อโต้แย้งของผู้ทำแผนฟังไม่ขึ้น 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.เอื้อนฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


ข้อ9 ฟื้นฟูกิจการ เนติฯ (หนี้ที่เกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ9 วิแพ่ง

ฟื้นฟูกิจการ

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


หนี้ที่เกิดขึ้นหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน

ข้อจำกัดสิทธิตามมาตรา ๙๐/๑๒ (๔) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เช่นนี้ หากว่ามูลหนี้เกิด ขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เช่น หนี้ที่ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราวก่อขึ้น หากผู้บริหารแผนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้ผู้บริหาร แผนชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตามข้อจำกัดสิทธินี้ (ฎ. ๓๑๙๕/๒๕๔๙)

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๙๕/๒๕๔๙ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้าง ของจำเลยที่ ๑ ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ส่วนศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ ๒ และตั้งผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ และต่อมาศาล ล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๖ ดังนี้ เมื่อหนี้คดีนี้ซึ่งเกิดจากมูลละเมิดเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลล้ม ละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนที่ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ ๒ และแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ ๒ ลูกหนี้ เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๙๐/๖๒ และไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๙๐/๑๒ (๔)

ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกานี้เคย นำไปออกข้อสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ ๖๒ มาตรา ๙๐/๑๒ (๔) ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้ 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.เอื้อนฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


ข้อ9 วิแพ่ง ฟื้นฟูกิจการ (ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ9 วิแพ่ง

ฟื้นฟูกิจการ

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


ห้ามมิให้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน

เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้ กฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้องเฉพาะลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ดังนั้น หากลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเป็นลูกหนี้ร่วมกับบุคคลอื่น หรือมีผู้ค้ำประกันอยู่ด้วย ผลของสภาวะพักการชำระหนี้มีผลเฉพาะตัวลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ เท่านั้น เช่นนี้ หากมีการฟ้องลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ร่วมและผู้ค้ำประกันในคดีแพ่งไว้ก่อนแล้ว เฉพาะคดีส่วนของลูกหนี้เท่านั้นที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะพักการชำระหนี้ คดีส่วนของผู้ค้ำประกันหรือลูกหนี้ร่วมศาลดำเนินคดีต่อไปได้ (เน้น**) และลูกหนี้ในที่นี้หมายถึง ลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๐๓/๒๕๔๕ แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔จะถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีเดียวกันกับคดีของจำเลยที่ ๑ แต่ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอที่ฟื้นฟูกิจการแต่ผู้เดียว จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๙๐/๑๒ (๔) เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๑ เพราะจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่ได้อยู่ในฐานะลูกหนี้ในคดีที่ฟื้นฟูกิจการดังกล่าวด้วย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาและยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ต่อไปได้
ข้อสังเกต คำพิพากษาฎีกานี้เคยนำไปออกข้อสอบเนติ บัณฑิต สมัยที่ ๖๑ 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.เอื้อนฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ข้อสอบ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (ผู้ช่วยผู้พิพากษา 2 มิถุนายน 2555)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ10 วิแพ่ง

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


อุทาหรณ์

เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดระยอง ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่ง เป็นทายาทโดยธรรม คนละ ๑ ส่วน รวม ๔ ส่วน ใน ๕ ส่วน คิดเป็นเงิน ๔๐ห๐,๐๐๐ บาท นายเที่ยงผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยองแต่ผู้เดียวนั่งพิจารณาคดีนี้จนเสร็จการสืบพยานโจทก์ แล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานหจำเลย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำพิพากษาไว้แล้ว แต่นายเที่ยงถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะทำคำพิพากษา นายธรรมผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดระยองจึงมอบหมายให้นายเดชผู้พิพากษาอาวุโสศาลจังหวัดระยองเป็นผู้ทำคำพิพากษาคดีนี้แทนนายเที่ยง นายเดชตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าคดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความ จึงลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาโดยพิพากษายกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณา ตลอดจนการทำคำพิพากษาคดีนี้ ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกราคา ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนละ ๑ ส่วน รวม ๔ ส่วนใน ๕ ส่วน คิดเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์ แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะตัวของตน เมื่อที่ดิน ๔ ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมาคิดเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่ดินแต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ย่อมเป็นคดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๔) (นัย ฎ.๕๙๗๑/๒๕๔๔ ประชุมใหญ่) การที่นายเที่ยงผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยองแต่ผู้เดียวนั่งพิจารณาคดีนี้จนเสร็จการสืบพยานโจทก์ จึงเป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๔) คำสั่งงดสืบพยานจำเลยของนายเที่ยงผู้พิพากษาศาลจังหวัดระยอง เป็นการออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๔ (๒)
ดังนั้นการที่นายเที่ยงเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานจำเลย จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยย่อมชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเช่นกัน การที่นายเที่ยงถึงแก่ความตายก่อนทำคำพิพากษา เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา ๓๐ ทำให้นายเที่ยงผู้พิพากษาคนเดียวซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้และเหตุจำเป็นเช่นว่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๙ (๓) กำหนดให้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษา หัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาได้ ดังนั้น การที่นายธรรมผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดระยองมอบหมายให้นายเดชผู้พิพากษาอาวุโสของศาลจังหวัดระยองเป็นผู้ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๙ (๓) (ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ๒ มิถุนายน ๒๕๔๕) 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม อ.อนันต์ฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


ข้อ10 วิแพ่ง พระธรรมนูญศาลยุติธรรม (อุทาหรณ์)

สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ10 วิแพ่ง

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72


อุทาหรณ์

(๑) โจทก์ฟ้องว่า เทศบาลจำเลยออกประกาศสอบราคาเครื่องปั้มน้ำ โจทก์ เสนอราคาตามประกาศและเป็นผู้สอบราคาได้ จำเลยเรียกโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขาย เครื่องปั้มน้ำ ต่อมาจำเลยได้รับเครื่องปั้มน้ำแล้ว แต่ไม่ยอมตรวจรับสินค้าอ้างว่าเป็น ของเก่าและบอกเลิกสัญญา ขอให้จำเลยตรวจรับและชำระราคา จำเลยให้การว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค โจทก์ ผิดสัญญาฝ่ายเดียว อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาซื้อขาย ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครอง พิพากษายกฟ้อง

ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำตอบ
จำเลยเพียงแต่โต้แย้งเรื่องคดีอยู่ในอำนาจศาลปกครองไว้ในคำให้การ ไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครอง ทั้งไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว (ฎ.๗๙๕๑/๒๕๕๑) 



อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม อ.อนันต์ฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ข้อ2 วิแพ่ง เนติฯ ประเด็น ยกฟ้องแย้งในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งได้ หรือไม่?


ข้อ2 วิแพ่ง

วิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค1

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72



กรณีจำเลยฟ้องแย้ง ซึ่งหากฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมตามมาตรา ๑๗๗ วรรคสาม และ ๑๗๙ วรรคท้าย ศาลชั้นต้นจะไม่รับฟ้องแย้ง หากฟ้องแย้งนั้นเกี่ยวกับฟ้องเดิม แต่ตามฟ้องแย้งจำเลยไม่มีทางชนะคดีตามฟ้องแย้งได้ ศาลก็สามารถพิพากษายกฟ้องแย้งในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งได้เช่นกัน ซึ่งกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องไม่รับฟ้องแย้ง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๘๓/๒๕๓๘ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโจทก์ เพราะจำเลยประพฤติผิดสัญญาเช่า แต่จำเลยฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่ง แต่งตั้งประธานกรรมการและผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะเพราะขัดต่อมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้ชอบแล้ว ส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยขอให้ศาลบังคับโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินโจทก์ต่อมีกำหนด ๓ ปี นับแต่คำพิพากษาคดีนี้ถึงที่สุดและให้จำเลยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้คราวละ ๓ ปี ตลอดไปนั้น เป็นฟ้องแย้งที่กล่าวอ้างสัญญาเช่าเดิมที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม แต่ตามฟ้องแย้งของจำเลยนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามฟ้องแย้ง ศาลก็ไม่สามารถบังคับโจทก์ให้ทำสัญญาเช่าให้แก่จำเลยตามคำขอท้ายฟ้องแย้งได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องแย้ง
ส่วนนี้เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๒)


หมายเหตุ เรื่องนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งทั้งหมด ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้บังคับโจทก์ ทำสัญญาให้จำเลยเช่าที่ดินมีกำหนด ๓ ปี 


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค1 อ.อำนาจฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท 


วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ข้อ2 วิแพ่ง เนติฯ : ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ หรือไม่?


สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ข้อ2 วิแพ่ง

วิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค1

เตรียมสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 72



ข้อห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา ๑๔๔ เป็นเรื่องที่กฎหมายห้ามทั้งศาลและคู่ความ (ฎีกาที่ ๖๔๖/๒๕๕๖) มิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๖/๒๕๕๖ คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยตามสัญญาขายสินทรัพย์ขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โจทก์จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพง มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง และต้องถือว่าศาลนั้นได้วินิจฉัยสิทธิของจำเลยตามสัญญาขายสินทรัพย์อันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยว่าจำเลยกระทำละเมิด ต่อโจทก์ขอให้เพิกถอนสัญญาขายสินทรัพย์ โดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าสัญญาขายสินทรัพย์เป็นโมฆะซึ่งข้ออ้างต่าง ๆ ล้วนเป็นข้ออ้างที่โจทก์สามารถยกขึ้น เป็นข้อต่อสู้ในคดีก่อนได้อยู่แล้ว ซึ่งหากฟังได้ตามอ้างโจทก์ก็อาจไม่ต้องรับผิด ชำระหนี้ให้แก่จำเลย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์นำประเด็นแห่งคดีที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว ในคดีก่อนมากล่าวอ้างให้ศาลในคดีนี้วินิจฉัยซ้ำอีก ต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๔ และ บทบัญญัตินี้มิใช่ห้ามเฉพาะคู่ความ แต่รวมทั้งห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวน พิจารณาด้วย การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ว่าคำพิพากษาในคดีก่อหนผูกพัน โจทก์และจำเลยนั้นชอบแล้ว แต่ที่วินิจฉัยว่าสัญญาขายสินทรัพย์ตามฟ้องไม่เป็นโมฆะ จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนเป็นการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีซึ่งมิการวินิจฉัยไปแล้วเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่ชอบด้วยกฎหมาย


สรุป ตามฎีกานี้ คดีนี้จำเลยในคดีก่อนมาเป็นโจทก์คดีนี้ฟ้องกล่าวหาโจทก์คดีก่อนกระทำละเมิด สภาพแห่งคำฟ้องต่างกับคดีก่อน ที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้ให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาขายสินทรัพย์ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ และคำพิพากษาในคดีก่อนผูกพันคู่ความ คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ


อ้างอิง : คำบรรยายเนติฯ วิแพ่ง ภาค1 อ.สมชัยฯ


ถอดเทป สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท