วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์) 21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาใหม่ ถอดเทปเนติฯ* กฏหมายล้มละลาย (อ.ชีพ จุลมนต์)
21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
คำพิพากษาฎีกาที่ 914/2559 (ฎีกาใหม่) มูลหนี้ตามคำพิพากษาถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และกรณีเช่นนี้คู่ความต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 โดยไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุด ดังนั้น แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด ก็สามารถนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องให้ล้มละลายได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10781/2558 (ฎีกาใหม่) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 12340/2558 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ โดยตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 057-1-07973-9 ไว้กับโจทก์ สาขาพระรามที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ( MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ของยอดหนี้ในส่วนที่ไม่เกินวงเงิน ส่วนที่อยู่เกินวงเงินจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่โจทก์ประกาศกำหนดเป็นคราว ๆ ไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในวันเดียวกันจำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 4,400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.75 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.20 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวดไม่น้อยกว่างวดละ 89,700 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไปกำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2558 นอกจากนี้ในวันดังกล่าวจำเลยยังได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ขั้นต่ำที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวก 1.79 ต่อปี ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 8.2 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นงวดรายเดือนรวม 60 งวด ไม่น้อยกว่างวดละ 3,900 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2553 งวดต่อไปชำระทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดไป กำหนดชำระให้เสร็จสิ้นในเดือน มิถุนายน 2558 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวและหนี้สินอื่น จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 68402 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 5,189,300 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่จะเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 11.45 ต่อปี หากผิดนัดหรือผิดสัญญายอมเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัด หลังจากทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยได้เบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง และเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมาแล้วผิดนัด สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2553 จากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น คำนวณยอดหนี้ดังกล่าวถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับจำเลยผิดนัดชำระ คำนวณยอดหนี้เงินกู้ทั้งสองฉบับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ ทั้งสิ้น 11,581,250.70 บาทเมื่อหักกับราคาประเมินทรัพย์จำนองเป็นเงิน 6,409,500 บาท จำเลยยังมีหนี้โจทก์ 5,171,750.70 บาท โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้สองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยไม่ชำระหนี้ ทั้งไปเสร็จจากเคหะสถานที่เคยอยู่หรือหลบไปหรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง จำเลยไม่เคยไปธนาคารโจทก์ สาขาธนาคารถนนพระรามที่ 3 ลายมือชื่อในใบสมัครเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย เป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินต่อหน้าพนักงานของโจทก์ นายณัฐกฤษ สว่างผล เป็นผู้ทำนิติกรรมกับโจทก์ จำเลยไม่เคยได้รับเงิน จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หนี้ของโจทก์ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องว่าถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์ไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ จำเลยมิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสมชาย เวศยาสิรินทร์ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 5,000,000 บาทและทำสัญญากู้เงินจากโจทก์สองฉบับ ฉบับแรกเป็นเงิน 4,400,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นเงิน 189,300 บาท โดยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว และจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนด 68402 ตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันแก่โจทก์ และนับแต่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แล้ว จำเลยได้เบิกเงินตามสัญญาไปจากโจทก์และนำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนกันหลายครั้ง ซึ่งบัญชีของจำเลยได้เดินสะพัดเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2553 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ณ วันดังกล่าวเป็นเงิน 5,034,770.59 บาท หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นคำนวณหนี้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,174,835.69 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับที่ สองจำเลยได้ผ่อนชำระให้แก่โจทก์บ้างไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ หลังจากนั้นก็ไม่ชำระ คำนวณหนี้เงินกู้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,406,415.01 บาท รวมยอดหนี้ทุกประเภทแล้วเป็นเงิน 11,581,250.70 บาท เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารโจทก์มีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้สินคืนให้แก่โจทก์และดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ของโจทก์เบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่พยานได้ตรวจสอบเอกสารแห่งหนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารที่โจทก์อ้างส่ง ประกอบกับโจทก์มีหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี หนังสือยินยอมให้ธนาคารหักบัญชี สัญญากู้เงิน หนังสือขอรับเงินกู้ หลักฐานการรับเงินกู้ และรายการบัญชีเอกสารหมาย จ. 4 ถึง จ.6 และ จ.11 ถึง จ. 13 มาแสดงโดยเฉพาะตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เอกสาร จ.4 จ.5 และ จ.6 มีลายมือชื่อจำเลยในฐานะผู้กู้เซ็นชื่อไว้ทุกแผ่น แผ่นแรกลงชื่อไว้ด้านบนและด้านล่าง เมื่อเปรียบเทียบดูลายมือชื่อของจำเลยในใบแต่งทนายก็มีลีลาการลงคล้ายคลึงกัน ประกอบกับจำเลยเองให้การรับว่าหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 4 จ. 5 และ จ.6 จำเลยไม่เคยลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของโจทก์แสดงว่าจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวจริง ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ แต่จำเลยกลับเบิกความว่า เอกสารหมาย จ.4 จ.5 และจ.6 เป็นลายมือชื่อจำเลยที่ลงชื่อในกระดาษเปล่ามอบให้นายณัฐกฤษ สว่างผล ไปแตกต่างขัดแย้งกันกับคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือและรับฟังไม่ได้ ทั้งนี้เพราะจำเลยลงชื่อในกระดาษเปล่าจริง ย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะนำไปพิมพ์ปลอมข้อความซึ่งมีรายละเอียดมาก และตำแหน่งลายเซ็นผู้กู้จะตรงกับที่จำเลยลงชื่อไว้ สำหรับการรับเงินกู้และเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เงินระบุจำนวนเงินกู้และวิธีขอรับเงินกู้ โดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันของจำเลยและของบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด เพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตของจำเลย โดยโจทก์มีหลักฐานการรับเงินกู้เอกสารหมาย จ. 6 และรายการเดินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.11 มาประกอบ นอกจากนี้ในวันทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินกู้ไปจากโจทก์ จำเลยยังได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ด้วยตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ. 7 หากจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญากู้และรับเงินไปจากโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยต้องไปจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกันหนี้แก่โจทก์ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบสามารถรับฟังได้แล้วว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้กับโจทก์ตามฟ้องโดยโจทก์ไม่จำต้องนำบุคคล ที่รู้เห็นในการทำสัญญาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญามาเบิกความยืนยันดังที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า ถ้าจำเลยล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 10 บัญญัติว่า “….เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ…(2)กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายหรือตีราคาหลักประกันมาให้มาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งล้านบาทหรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลในจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแยกออกเป็น 2 กรณี คือ การสละหลักประกันกรณีหนึ่ง กับการตีราคาหลักประกันอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบรรยายมาในฟ้องแสดงความไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิบังคับเอาแก่หลักประกันเพื่อประโยชน์ของตนเพียงผู้เดียว โดยยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือประสงค์จะใช้สิทธิของตนบังคับเอาแก่หลักประกันนั้น โดยต้องบรรยายต่อไปว่าราคาหลักประกันที่ตีเมื่อหักกับหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท ตามฟ้องโจทก์ใช้สิทธิ์เลือกบรรยายมาในฟ้องด้วยวิธีตีราคาหลักประกันหักกับหนี้ เงินยังขาดอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท โจทก์ไม่จำต้องบรรยายสละหลักประกันมาในฟ้องอีกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ครั้งแรกภริยาจำเลยรับหนังสือทวงถามไว้แทน ครั้งที่สองพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่า “ไม่มารับภายในกำหนด” ทั้งที่โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไปยังภูมิลำเนาของจำเลยแห่งเดียวกันกับการส่งครั้งแรกอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการโดยชอบแล้ว แต่ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ เชื่อว่าจำเลยหลีกเลี่ยงไม่รับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่สองด้วยแล้ว กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากทรัพย์จำนองซึ่งไม่พอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมด จึงไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่สมควร


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ถอดเทปเนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค1(อ.อำนาจ พวงชมภู) 21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดเทปเนติฯ* วิ.แพ่ง ภาค1(อ.อำนาจ พวงชมภู)
วันที่  21 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
------------------------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๖๑/๒๕๓๕ เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องนั้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลชั้นต้น อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์เพียงสั่งว่า “รวม” จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๑) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเสร็จไปแล้ว การที่จะเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์แต่อย่างใด เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี
ข้อสังเกต มาตรา ๑๓๑ (๑) นี้ใช้ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาด้วย ดังนั้น คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ถ้ามีการยื่นคำขอต่อศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลชั้นฎีกาก็ต้องมีคำสั่งอนุญาตหรือ ยกคำขอตามมาตรา ๑๓๑ (๑) เช่นกัน


           คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๐๔/๒๕๔๐ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม ให้สิทธิแก่จำเลยที่จะฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การได้ ถ้าข้ออ้างตามฟ้องแย้งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ศาลย่อมจะต้องรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา เมื่อโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๘ แล้ว ย่อมเกิดประเด็นข้อพิพาทที่จะนำไปสู่ประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่ความแพ้หรือชนะกัน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๑ (๒) และมาตรา ๑๓๓ บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องของโจทก์แล้ววินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องแย้งของจำเลยร่วมที่ ๒ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559


      คำถาม ถ้าผู้ทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประโยชน์ตายพร้อมกัน ทรัพย์สิน สิทธิ หรือประโยชน์นั้นตกแก่ใคร?

       คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้ (ป.พ.พ. ม.4, ม.374, ม.889, ม.1599)

ผู้เสียหายความผิดฐานปลอมเอกสาร - เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

 เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------


ความผิดฐานปลอมเอกสาร
        คุณธรรมทางกฎหมายนอกจากมุ่งคุ้มครองประชาชนหรือรัฐมิให้ได้รับความเสียหายจากการปลอมหรือใช้เอกสารปลอมแล้วยังคุ้มครองเอกชนด้วย หากเอกชนคนใดได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสาร เอกชนคนนั้นย่อมเป็นผู้เสียหาย

ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่ออาจไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารก็ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้รับความเสียหายจากการใช้เอกสารปลอมนั้น หรือเป็นผู้รู้เห็นยินยอมในการปลอมลายมือชื่อนั้น เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๘/๒๕๔๒ คดีนี้มีผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้ถือบัตรเครดิตในใบบันทึกรายการขาย แล้วจำเลยนำใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปเบิกเงินจากธนาคาร จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานฉ้อโกง ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ไม่ใช่ผู้ถือบัตรที่ถูกปลอมลายมือชื่อ เพราะกรณี นี้ผู้ถือบัตรไม่รู้เรื่องว่ามีคนปลอมลายมือชื่อของตน ดังนั้น หากธนาคารจ่ายเงินให้แก่จำเลยตามใบบันทึกรายการขายปลอมไป ธนาคารก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น เอง จะเรียกเก็บเงินที่ทดรองจ่ายไปจากผู้ถือบัตรไม่ได้ ผู้ถือบัตรจึงไม่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว

การลงลายมือชื่อ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่อจะอนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงแทนกันไม่ได้ หากไปลงลายมือชื่อแทนกันถือว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เป็นการปลอมเอกสารแล้ว แต่เจ้าของลายมือชื่อที่อนุญาตหรือยินยอมให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนตนไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ผู้ลงลายมือชื่อแทนจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๔

  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๖/๒๕๕๐ จำเลยกับพวกร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้เสียหายและหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ภ. เป็นเจ้าของรถยนต์ตามสมุดใบคู่มือจดทะเปียนรถยนต์จริง จนผู้เสียหายยอมรับจำนำและจ่ายเงินให้จำเลยไป ลักษณะการกระทำตามข้อเท็จจริง ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อฉ้อโกง ว. และ ว. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหาย แม้มีการทำสัญญาจำนำก็เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบเงิน อันเป็นทรัพย์สินให้ ดังนั้น สัญญาจำนำจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ หาเป็นเหตุให้ ว, ซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นมิใช่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๕ จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ช. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทในคำขอจดทะเบียนบริษัท แล้วนำคำขอนั้นไปยืนต่อนายทะเบียน เพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าว โดยถอนชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการ บริษัทออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความเป็นผู้แทนนิติบุคคลของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยเฉพาะในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่มีผู้เสียหายเพราะเจ้าของลายมือชื่อ ยินยอม) ผู้ร้องอาจจะไม่ถูกหลอกลวงเลยก็เป็นผู้เสียหายได้เพราะผลของการกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมมันมีผลโดยตรงกับผู้ร้อง

ฎีกาใหม่ ถอดคำบรรยายเนติ วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------------

ผู้เสียหาย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557 การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง


ฎีกาเด่น* ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
--------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๗๕/๒๕๕๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ประกอบอาชีพ รับจ้างขนส่งสินค้า ได้รับมอบสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. เพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ห. ลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. และได้ความจาก ม. พนักงานของห้างหุ้นส่วน ฮ. พยานโจทก์ว่า ร้าน ห. ได้สั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงจะชำระเงิน แสดงว่าการส่งมอบสินค้าดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องให้ลูกค้าตรวจสอบก่อน หากใช่ตามที่ต้องการตกลงซื้อขายกันแล้วจึงจะชำระเงิน เมื่อสินค้าดังกล่าวยังไม่มีการชำระราคา และยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่ร้าน ห. กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจึงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. การที่มีผู้โทรศัพท์มาหลอกลวง ส. ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และมารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงในความผิดฐานฉ้อโกงได้
ในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ผู้ว่าจ้างส่งสินค้าถ้ามีผู้หลอกลวงผู้รับจ้างขนส่งคือ ป ให้มารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงได้ และในอีกหลายคดีที่มีผู้เสียหาย ได้หลายคนโดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น คดีเรื่องเช่าซื้อรถยนต์มีการเบียดบังหรือลักรถที่เช่าซื้อไป ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เป็นผู้เสียหายได้ ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ครอบครองก็เป็นผู้เสียหายได้ หรือคดีที่มีการทำร้ายร่างกายหลายๆ คน ดังนั้นต่างคน ต่างเป็นผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายแต่ละคนก็ว่ากันไป
เพราะฉะนั้นในคำพิพากษาฎีกานี้ ผู้ที่ถูกหลอกลวงคือ ผู้รับจ้างขนสินค้าแต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของสินค้าซึ่งไม่ได้ถูกหลอกลวงแต่ได้รับความเสียหายจากความผิดฐานนี้ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๕๘/๒๕๔๑ การที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ธนาคาร ก. ออกให้แก่จำเลย สูญหายไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานนำไปขอสมุด คู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ใหม่จากธนาคาร ก. เท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยนำสมุดคู่ฝากเงิน ออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม มอบให้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจากสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะว่าการแจ้งความเท็จอันเป็นเหตุให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหายนั้นเจ้าหนี้ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากเอกสาร ดังกล่าวได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงว่า ไปกู้ยืมเงินแล้วให้บัตรเอทีเอ็มไว้เป็นประกัน และเพื่อการชำระหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปกดเงินเอาจากบัตรเอทีเอ็มและเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าลูกหนี้ไปแจ้งว่าบัตรเอทีเอ็มหายเจ้าหนี้ซึ่งถือบัตรเอทีเอ็มไว้เพื่อบังคับชำระหนี้ก็จะเบิกเงินไม่ได้เพราะบัตรเอทีเอ็มถูกยกเลิกใช้ไม่ได้ก็จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔/๒๕๓๓*** รับเงินค่าสินค้าไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม ถ้าเบียดบังโจทก์ร่วมก็เป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วไม่ส่งมอบตามหน้าที่ก็เป็นความผิดฐานยักยอกโจทก์ร่วมก็จะเป็นผู้เสียหาย


วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สถิติ วิแพ่ง เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69 ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)

สถิติ วิแพ่ง เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69   ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)





สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69 ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)

สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69   ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560

การแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องแสดงออกโดยทางทะเบียน
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560 แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560 เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225