วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ผู้เสียหายความผิดฐานปลอมเอกสาร - เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

 เจาะฎีกา ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------


ความผิดฐานปลอมเอกสาร
        คุณธรรมทางกฎหมายนอกจากมุ่งคุ้มครองประชาชนหรือรัฐมิให้ได้รับความเสียหายจากการปลอมหรือใช้เอกสารปลอมแล้วยังคุ้มครองเอกชนด้วย หากเอกชนคนใดได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสาร เอกชนคนนั้นย่อมเป็นผู้เสียหาย

ผู้ที่ถูกปลอมลายมือชื่ออาจไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมเอกสารก็ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นไม่ได้รับความเสียหายจากการใช้เอกสารปลอมนั้น หรือเป็นผู้รู้เห็นยินยอมในการปลอมลายมือชื่อนั้น เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๐๑๘/๒๕๔๒ คดีนี้มีผู้ปลอมลายมือชื่อของผู้ถือบัตรเครดิตในใบบันทึกรายการขาย แล้วจำเลยนำใบบันทึกรายการขายปลอมนั้นไปเบิกเงินจากธนาคาร จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานฉ้อโกง ธนาคารเป็นผู้เสียหายในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ไม่ใช่ผู้ถือบัตรที่ถูกปลอมลายมือชื่อ เพราะกรณี นี้ผู้ถือบัตรไม่รู้เรื่องว่ามีคนปลอมลายมือชื่อของตน ดังนั้น หากธนาคารจ่ายเงินให้แก่จำเลยตามใบบันทึกรายการขายปลอมไป ธนาคารก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น เอง จะเรียกเก็บเงินที่ทดรองจ่ายไปจากผู้ถือบัตรไม่ได้ ผู้ถือบัตรจึงไม่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว

การลงลายมือชื่อ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงแทนกันได้ แม้เจ้าของลายมือชื่อจะอนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงแทนกันไม่ได้ หากไปลงลายมือชื่อแทนกันถือว่าเป็นลายมือชื่อปลอม เป็นการปลอมเอกสารแล้ว แต่เจ้าของลายมือชื่อที่อนุญาตหรือยินยอมให้ผู้อื่นลงลายมือชื่อแทนตนไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ผู้ลงลายมือชื่อแทนจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๔

  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๘๖/๒๕๕๐ จำเลยกับพวกร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมแสดงต่อผู้เสียหายและหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่า ภ. เป็นเจ้าของรถยนต์ตามสมุดใบคู่มือจดทะเปียนรถยนต์จริง จนผู้เสียหายยอมรับจำนำและจ่ายเงินให้จำเลยไป ลักษณะการกระทำตามข้อเท็จจริง ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้เอกสารราชการปลอมเพื่อฉ้อโกง ว. และ ว. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหาย แม้มีการทำสัญญาจำนำก็เป็นผลสืบเนื่องจากการหลอกลวงของจำเลยเพื่อให้ผู้เสียหายส่งมอบเงิน อันเป็นทรัพย์สินให้ ดังนั้น สัญญาจำนำจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่ หาเป็นเหตุให้ ว, ซึ่งเป็นผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นมิใช่ผู้เสียหายไม่ ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๕๒/๒๕๔๕ จำเลยปลอมลายมือชื่อของ ช. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทในคำขอจดทะเบียนบริษัท แล้วนำคำขอนั้นไปยืนต่อนายทะเบียน เพื่อจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทดังกล่าว โดยถอนชื่อผู้ร้องซึ่งเป็นกรรมการ บริษัทออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความเป็นผู้แทนนิติบุคคลของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำของจำเลยเฉพาะในความผิดฐานใช้เอกสารปลอม (ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่มีผู้เสียหายเพราะเจ้าของลายมือชื่อ ยินยอม) ผู้ร้องอาจจะไม่ถูกหลอกลวงเลยก็เป็นผู้เสียหายได้เพราะผลของการกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมมันมีผลโดยตรงกับผู้ร้อง

ฎีกาใหม่ ถอดคำบรรยายเนติ วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
 วันที่ 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
----------------------

ผู้เสียหาย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557 การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง


ฎีกาเด่น* ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70

ฎีกาเด่น ถอดคำบรรยายเนติฯ* วิ.อาญา ภาค1-2 (อ.จุลสิงห์ วสันตสิงห์) 
20 พ.ย.60 ภาคปกติ สัปดาห์ที่1 สมัยที่ 2/70
--------------

          คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๗๕/๒๕๕๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ประกอบอาชีพ รับจ้างขนส่งสินค้า ได้รับมอบสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. เพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ห. ลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. และได้ความจาก ม. พนักงานของห้างหุ้นส่วน ฮ. พยานโจทก์ว่า ร้าน ห. ได้สั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงจะชำระเงิน แสดงว่าการส่งมอบสินค้าดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องให้ลูกค้าตรวจสอบก่อน หากใช่ตามที่ต้องการตกลงซื้อขายกันแล้วจึงจะชำระเงิน เมื่อสินค้าดังกล่าวยังไม่มีการชำระราคา และยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่ร้าน ห. กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจึงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. การที่มีผู้โทรศัพท์มาหลอกลวง ส. ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และมารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงในความผิดฐานฉ้อโกงได้
ในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ผู้ว่าจ้างส่งสินค้าถ้ามีผู้หลอกลวงผู้รับจ้างขนส่งคือ ป ให้มารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายมีสิทธิร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงได้ และในอีกหลายคดีที่มีผู้เสียหาย ได้หลายคนโดยเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น คดีเรื่องเช่าซื้อรถยนต์มีการเบียดบังหรือลักรถที่เช่าซื้อไป ผู้ให้เช่าซื้อซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เป็นผู้เสียหายได้ ผู้เช่าซื้อซึ่งเป็นผู้ครอบครองก็เป็นผู้เสียหายได้ หรือคดีที่มีการทำร้ายร่างกายหลายๆ คน ดังนั้นต่างคน ต่างเป็นผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายแต่ละคนก็ว่ากันไป
เพราะฉะนั้นในคำพิพากษาฎีกานี้ ผู้ที่ถูกหลอกลวงคือ ผู้รับจ้างขนสินค้าแต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าของสินค้าซึ่งไม่ได้ถูกหลอกลวงแต่ได้รับความเสียหายจากความผิดฐานนี้ก็เป็นผู้เสียหายได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๕๘/๒๕๔๑ การที่จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยทำสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม. ที่ธนาคาร ก. ออกให้แก่จำเลย สูญหายไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานก็เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานออกหลักฐานนำไปขอสมุด คู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ใหม่จากธนาคาร ก. เท่านั้น อันเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานโดยตรง มิได้เจาะจงว่ากล่าวถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่จำเลยนำสมุดคู่ฝากเงิน ออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม มอบให้เพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมจากสมุดคู่ฝากเงินออมทรัพย์และบัตร เอ.ที.เอ็ม ดังกล่าว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะว่าการแจ้งความเท็จอันเป็นเหตุให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหายนั้นเจ้าหนี้ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะเจ้าหนี้ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากเอกสาร ดังกล่าวได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงว่า ไปกู้ยืมเงินแล้วให้บัตรเอทีเอ็มไว้เป็นประกัน และเพื่อการชำระหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปกดเงินเอาจากบัตรเอทีเอ็มและเป็นส่วนหนึ่งของการชำระหนี้ ดังนั้นถ้าลูกหนี้ไปแจ้งว่าบัตรเอทีเอ็มหายเจ้าหนี้ซึ่งถือบัตรเอทีเอ็มไว้เพื่อบังคับชำระหนี้ก็จะเบิกเงินไม่ได้เพราะบัตรเอทีเอ็มถูกยกเลิกใช้ไม่ได้ก็จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔/๒๕๓๓*** รับเงินค่าสินค้าไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ร่วม ถ้าเบียดบังโจทก์ร่วมก็เป็นผู้เสียหาย เมื่อจำเลยครอบครองเงินของโจทก์ร่วมแล้วไม่ส่งมอบตามหน้าที่ก็เป็นความผิดฐานยักยอกโจทก์ร่วมก็จะเป็นผู้เสียหาย


วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สถิติ วิแพ่ง เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69 ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)

สถิติ วิแพ่ง เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69   ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)





สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69 ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)

สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69   ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560

การแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องแสดงออกโดยทางทะเบียน
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560 แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560 เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้ 
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559

        ทนายความของบริษัทไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่แจ้งให้กรรมการทราบก่อน 
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559  ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)