วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 9

-------------------------------------

                   คำถาม  การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น  จะนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินออกโฉนด  รวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินที่โจทก์แล้วได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2270/2554  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา  10  ปี  ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่  ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี  2529  ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด  ต่อมาปี  2533ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาทผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด  ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก  ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี  2533  เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่  20  กรกฎาคม  2541  ยังไม่ครบ  10  ปี  ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
                คำพิพากษาฎีกาที่  677/2550  การครอบครองปรปักษ์ที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382  นั้น  อสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์จะต้องเป็นของบุคคลอื่น  ซึ่งก็คือบุคคลนั้นจะต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง  หลักฐานที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นคือโฉนดที่ดินเพราะเป็นหลักฐานทางทะเบียนของทางราชการ  ดังนั้น  การครอบครองที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์นั้นจะต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นที่ได้ออกโฉนดแล้วเท่านั้น  ทั้งจะต้องครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีด้วย  เมื่อทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2539  เช่นนี้  การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่  8  พฤษภาคม  2539  เป็นต้นไปเท่านั้น  ระยะเวลาที่ครอบครองก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดไม่อาจนำมารับรวมกันได้  เมื่อคิดถึงวันที่  6  พฤศจิกายน  2540  ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจึงยังไม่ถึงสิบปี  จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1382

                คำถาม  ผู้สั่งจ่ายเช็คแก้ไขวันเดือนปีในเช็คโดยผู้ทรงยินยอมจะถือว่าเป็นการขยายกำหนดอายุความฟ้องร้องหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  1385/2554 เช็คเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้  ย่อมโอนเปลี่ยนมือกันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบเช็คในกรณีเช็คระบุชื่อ  หรือด้วยการส่งมอบเช็คในกรณีเช็คผู้ถือ  เช็คพิพาททั้ง  5  ฉบับ  เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินสดโดยมิได้ระบุชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือออก  จึงเป็นเช็คผู้ถือ  โจทก์เป็นผู้มีเช็คพิพาทไว้ในครอบครอง  โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  904  เมื่อการแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นการแก้ไขโดยจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงยินยอม  เช็คพิพาทจึงไม่เสียไปและใช้ได้ต่อจำเลยที่  1  ซึ่งเป็นผู้แก้ไขตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1007  วรรคแรก  โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินตามที่แก้ไขนั้นหาใช่เป็นเรื่องขยายอายุความฟ้องร้องไม่


                คำถาม  สัญญาจ้างทำของ  มีข้อสัญญาทำนองว่า  เมื่อมีการเลิกสัญญา  ผู้ว่าจ้างไม่ต้องใช้ค่างานแก่ผู้รับจ้าง  ข้อสัญญาดังกล่าวถือเป็นเบี้ยปรับหรือไม่  หรือจะต้องบังคับตามข้อสัญญาดังกล่าว
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4330/2554 โดยปกติเมื่อสัญญาเลิกกัน  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้  ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามสมควรค่าแห่งการนั้นๆ  ตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.พ.พ.  มาตรา  391  วรรคหนึ่งและวรรคสาม  โจทก์ผู้รับจ้างจึงย่อมมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างไปแล้ว  การที่สัญญาข้อ  9  ดังกล่าวระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ  ไม่ได้เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์  จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ  ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  383  วรรคหนึ่ง  หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาด  เป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  วินิจฉัยเสมอไปไม่  คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ทำงานตามจำนวนค่าจ้างไปเป็นเงิน  504,000  บาท  จำเลยชำระแล้ว  300,000  บาท  เมื่อคำนึงถึงค่าปรับรายวันที่จำเลยมิได้เรียกร้องประกอบกับความเสียหายอย่างอื่นที่จำเลยได้รับแล้วเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเพียง  50,000  บาท  ซึ่งแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง  แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินตามควรค่าแห่งงานที่กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์เพื่อการกลับคืนสู่ฐานะเดิมและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงแล้วนั่นเอง  หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิดก็ชอบที่จะอุทธรณ์  แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์  เพียงแต่มีคำขอมาในคำแก้อุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น  ซึ่งไม่อาจกระทำได้  ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระเงินจำนวน  50,000  บาท  แก่โจทก์หรือไม่  จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค  9  จะต้องยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีก


                คำถาม  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนจะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด  หุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าวจะต้องรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2778/2552 จำเลยที่  3  เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ระหว่างวันที่  28  ธันวาคม  2543  ถึงวันที่  27  มกราคม  2545  มูลหนี้ที่เกิดขึ้นได้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่  3  จะออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่  1  ซึ่งจำเลยที่  3  ต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวภายในกำหนด  2  ปี  นับแต่ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  แต่ข้อเท็จจริง  ปรากฏว่าจำเลยที่  3  ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่  28  มกราคม  2545ความรับผิดของจำเลยที่  3  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่  28  มกราคม  2547การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีนี้เมื่อวันที่  17  มิถุนายน  2548  จึงเกินกำหนดเวลา  2  ปีแล้ว  จำเลยที่  3  จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1068  ประกอบมาตรา  1080  โจทก์จึงไม่อาจนำหนี้นี้มาฟ้องจำเลยที่  3  เป็นคดีล้มละลายได้

                คำถาม  ใช้ปืนยิงผู้อื่น  แต่ลูกกระสุนปืนมีกำลังอ่อน  ผู้ถูกยิงจึงไม่ถึงแก่ความตายเป็นความผิดพยายามฆ่าผู้อื่นตาม  ป.อ.  มาตรา  80  หรือ  81
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  77/2555 ลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงไม่ทะลุผ่านผิวหนังทำอันตรายแก่อวัยวะภายในของผู้เสียหายที่  1  เป็นเพราะมีกำลังอ่อน  มิใช่เพียงแต่ผู้เสียหายที่  1  ถูกยิงในแนวเฉียง  การกระทำของจำเลยย่อมไม่สามารถจะบรรลุผลให้ผู้เสียหายที่  1  ถึงแก่ความตายได้อย่างแน่แท้  จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ประกอบมาตรา  81  วรรคแรก  ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  195  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  225

                คำถาม  การให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้อื่นโดยให้เปลี่ยนข้อหาให้เบาลง  จะเป็นความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  144  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3096/2552  จำเลยทั้งสองไปติดต่อกับดาบตำรวจ  ช.  เพื่อขอให้ช่วยเหลือ  พ.  กับพวก  โดยเปลี่ยนข้อหาจากเดิมข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต  โดยเสนอให้เงิน  70,000  บาท  ย่อมเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ขอให้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้ดาบตำรวจ  ช.  ไปดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชากระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  เพื่อพันตำรวจตรี  ต.  ผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจ  ช.  ทราบความประสงค์ของจำเลยทั้งสองจากดาบตำรวจ  ช.  และวางแผนจับกุมโดยตอบตกลงและนัดหมายให้นำเงินมอบให้และจับกุมได้พร้อมเงินของกลาง  จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ขอให้ทรัพย์สินแก่ดาบตำรวจ  ช.  และพันตำรวจตรี  ต.  เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  144


                คำถาม  ผู้เริ่มก่อการและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิในนามของบริษัท  บ.  แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท  จะต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ที่ตัวแทนของบริษัท  บ.  กระทำไปหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3411/2553 จำเลยที่  8  ซื้อสินค้าจากโจทก์ในฐานะตัวแทนของบริษัท  บ.  เมื่อบริษัท  บ.  ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท  จำเลยที่  1  ถึงที่  4  ที่  6  และที่  7  ในฐานะผู้เริ่มก่อการจึงต้องรับผิดชำระค่าสินค้าต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1113
                บริษัท  บ.  ซื้อสินค้าเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงแรม  อันเป็นกิจการของบริษัท  บ.  อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด  5  ปี  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/33

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 8

.....................................................

                  คำถาม   การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในอาคารโดยการนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งที่อาคารด้านหน้าเป็นการบังหน้า  เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  3279/2554  จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลางและด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา  จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคารที่เกิดเหตุ  โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น  ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209)
                 
                 คำถาม   ปลอมใบรับรองเงินฝากของธนาคาร  โดยที่ธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากจึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ.มาตรา 265 หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า  โจทก์ร่วมไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากตามเอกสารหมาย จ. 4  จึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง  เอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิปลอมนั้น  เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงก่อน  เมื่อจำเลยที่  2 ทำปลอมใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4 ขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4  จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

                 คำถาม   ผู้ครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น  หากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  จะต้องบอกกล่าวแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

                 คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดขับรถยนต์พาพวกมายังบ้านผู้เสียหาย แต่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยในการติดต่อเจรจาในการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขาย  จะถือว่าเป็นตัวการหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  225/2555   จำเลยที่  1 และที่  2 ร่วมกันกระทำความผิดโดยพูดจาหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมแปลงหมายเลขออกขายให้แก่ผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยติดต่อเจรจากับผู้เสียหาย  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่  3 เป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดฐานใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอม จากการที่จำเลยที่  3  เป็นผู้ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1  และที่  2  มายังบ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขายเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่  1  ก่อนการกระทำความผิด จำเลยที่  3 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่  1 ในการกระทำความผิดต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

                คำถาม   ในสัญญาจะซื้อขาย คู่สัญญาจะโอนสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลอื่นตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2618/2549  ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ จำเลยที่  1  ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก  1,232,650 บาท
                ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า  จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์หรือไม่  ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่  1 กับจำเลยที่ 2  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1  โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2  มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น  กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1  โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว  โจทก์กับจำเลยที่ 2  ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน  ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่  2  ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1  ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และจำเลยที่ 2  ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว  จำเลยที่ 2  ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา  จำเลยที่ 2  ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 2  ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวัน  เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1  กับจำเลยที่ 2  ระบุให้จำเลยที่  2  จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป  สัญญาที่ทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2  ที่ว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่  ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  2  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  1  ตามสัญญาจะซื้อขายดิน  เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา  349 แล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1  รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  6494/2541  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  กล่าวคือ  พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.  แม้ว่า พ.  จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา  306 วรรคแรก ได้ก็ตาม  แต่ พ. ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้
                 อย่างไรก็ดี หากผู้ขายได้ชำระหนี้ส่วนของตนให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียวจึงย่อมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   5574/2551   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส.  กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย  ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระค่าที่ดินที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์ จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

                 คำถาม   ก่อสร้างถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1312  หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   2743/2541   จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15  ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน  4  ต้น โดยมี ส. เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนนและโจทก์รู้เห็นการก่อสร้าง  ทั้งโจทก์ และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์  การกระทำของจำเลยที่ 1  และที่  3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลิ่นเล่อไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1  และที่  3  ได้
                  สิ่งที่จำเลยที่ 1  และที่  3  ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน  แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต  กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้  เมื่อเป็นกรณีไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง  จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310  บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย  และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน  ซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่  3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1310 วรรคสอง

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

                คำถาม    คำว่า  “ ตอแหล ”  เป็นการดูหมิ่นหรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๙๑๙/๒๕๕๒  การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง  การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย   การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว  หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว  เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า  “ ตอแหล ”  ว่า  เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย  การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ  จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๑
               
               คำถาม   ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน  มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย  จะเป็นความผิดหรือไม่                 
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               (ก)  กรณีที่ผู้ถึงแก่ความตายมิได้มีเจตนากระทำความผิด

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐   ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย  เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดฐานให้คนตายโดยไม่มีเจตนา

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๙/๒๕๑๑  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ได้ใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลยใกล้ทางเดินของบุคคลทั่วไปในระดับคนยืนพื้นเอื้อมจับถึง แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดดังกล่าวขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย  เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปรอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหตุให้ นาย ป. ซึ่งเข้าไปยืนถ่ายปัสสาวะที่ริมรั้วตรงบริเวณดังกล่าวเอื้อมมือไปจับส่วนบนของรั้ว นิ้วมือเลยไปถูกเส้นลวดนั้น กระแสไฟฟ้าจึงแล่นเข้าสู่ร่างกายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๙๑ และริบเส้นลวดของกลาง
                   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวดนั้นเพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์  เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า  แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนทำเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐  มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๙/๒๕๒๐  จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้านจำเลยเมื่อประมาณ ๗ วันก่อนเกิดเหตุ จำเลยใช้ขึงลวด ๒ เส้นรอบที่ตกกล้า สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์จากบ้านเข้าไปในเส้นลวด ๒ เส้นที่ขึงไว้ เพื่อป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า  ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๘ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา  นาย ส. ผู้ตายออกจากบ้านไปหากบหาปลาตามทุ่งนาแล้วไปเหยียบสายลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง
                   พิเคราะห์แล้ว  เห็นว่า  จำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าสายลวดที่จำเลยขึงรอบที่นาที่ตกกล้าและปล่อยกระแสไว้นั้น หากสัตว์ไปถูกเข้าก็จะถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วย  แสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่า สายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายแก่คนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้าเช่นเดียวกัน  การที่จำเลยขึงลวดมีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้วย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า หากมีคนหากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าว และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย  จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว  เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ป.อ.มาตรา ๒๙๐  

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๘๔/๒๕๒๘   ผู้ตายเข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างเพื่อจะเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้  เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้าง และปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้น ผู้ตายมาถูกกระแสไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐




                    (ข)  กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์  กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่  ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
 
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๓/๒๕๑๙   จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลยมีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้  ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไป  ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม  จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย ผู้ตายกับพวกอีก  ๓ คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาลโดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑  อัน  แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว  ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้   ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ  จำเลยไม่มีความผิด  ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ  ที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ (ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
                   มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้  ศ.จิตติ ติงศภัทิย์  ความว่า โจทก์ฟ้องตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช่กำลังทำร้าย

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๙๐/๒๕๔๘   แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรเหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้  แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัด ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มาก  การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ.มาตรา ๖๙  จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบมาตรา ๖๙
                   
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๑/๒๕๔๙   โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า  เด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์  ดังนี้  การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว  ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่ป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๐๐ โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก  ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา ๖๙  ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ   และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา  แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
                   
                   คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๗๙๔/๒๕๕๒   จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน  ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด  ๑  เส้น  จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐  เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกาย  เนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น  ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ ๑๔ ปีเศษกับ ต. อายุ  ๑๕ ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก  ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุ จำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงร้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                   

                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๕๐/๒๕๕๓   จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย  แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง ๒๒๐ โวลต์ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น   ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้  ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้  แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙  (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๖๙ )

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

ฎีกาเด่น* กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 
อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิ.ย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

.......................

คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๙๐๕/๒๕๔๘ การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ ต้องปรากฏว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์ บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดในราชอาณาจักรที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๔๕/๒๕๕๒ จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชัก ธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม กรณีต้องด้วย ปอ. มาตรา ๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ได้กระทำตลอดไปในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือน เป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิด

        ข้อสังเกต การกระทำความผิดตามมาตรา ๕ วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในการ ตระเตรียมหรือการพยายามกระทำผิดใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้น จะทำนอกราชอาณาจักรถ้าผู้กระทำนั้นได้กระทำไปตลอดแล้วผลก็จะเกิดในราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบของมาตรา ๕ วรรคสอง แล้วดังนั้นไม่ต้องไปพิจารณามาตรา ๗ และ ๘ เพราะกรณีของมาตรา ๗ และ ๘ นั้นไม่ได้ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร แต่เป็นการต้องรับโทษในราชอาณาจักรสำหรับการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

------------------------

                 คำถาม   การบังคับเอาโทรศัพย์เคลื่อนที่ของผู้อื่น  โดยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในบริเวณเอว  ถือว่าเป็นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรงๆหรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ  การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย  โดย ม. พวกของจำเลยทำท่างเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว  แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม  แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป  การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
               
                คำถาม  การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  หรือการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย  จะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา  350  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3973/2551   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย  ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต  ดังนี้  จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย  เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
                 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย  แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว  ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่  เพียงใด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350
                 
                  คำถาม  การให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 20 ปี โดยผู้เช่าต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ผู้ให้เช่า  เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาหรือไม่ และข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7894/2553   การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท  ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่า โดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น  หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่  ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา  เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374  ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไป  ข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
                   
                   คำถาม   เจ้าของที่ดินปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงของตน  ต่อมาที่ดินแปลงหนึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนำออกขาย  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรังวัดตรวจสอบที่ดินพบว่า  เจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินที่ซื้อบางส่วน  ดังนี้  ผู้ซื้อจะขอให้บังคับเจ้าของที่ดินเดิมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป  ได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  796/2552   ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312  ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด  แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท  แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330  โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว  โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336  เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป  และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้  โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้  มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต  และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4

                    คำพิพากษาฎีกาที่  9785/2553   ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า  เดิมจำเลยเป็นเจ้าที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และ  13742  ตำบลตลิ่งชัน(บางโอ)  อำเภอตลิ่งชัน(บางใหญ่)  กรุงเทพมหานคร  โดยที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีอาณาเขตติดต่อกันและมีบ้านเลขที่ 6/1  ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และบางส่วนของบ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี  คดีหมายเลขแดงที่  1497/2536  ตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว
                    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านเลขที่ 6/1  ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่  13742  หรือไม่

                    เห็นว่า  เดิมบ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลย  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742  จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกัน  โดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม มาตรา 1312  เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด  กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด  อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท  จะมีหรือไม่หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต  กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร  ดังที่จำเลยฎีกาไม่  เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้