วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 8

.....................................................

                  คำถาม   การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในอาคารโดยการนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งที่อาคารด้านหน้าเป็นการบังหน้า  เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  3279/2554  จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลางและด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา  จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคารที่เกิดเหตุ  โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น  ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209)
                 
                 คำถาม   ปลอมใบรับรองเงินฝากของธนาคาร  โดยที่ธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากจึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ.มาตรา 265 หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า  โจทก์ร่วมไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากตามเอกสารหมาย จ. 4  จึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง  เอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิปลอมนั้น  เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงก่อน  เมื่อจำเลยที่  2 ทำปลอมใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4 ขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4  จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

                 คำถาม   ผู้ครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น  หากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  จะต้องบอกกล่าวแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

                 คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดขับรถยนต์พาพวกมายังบ้านผู้เสียหาย แต่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยในการติดต่อเจรจาในการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขาย  จะถือว่าเป็นตัวการหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  225/2555   จำเลยที่  1 และที่  2 ร่วมกันกระทำความผิดโดยพูดจาหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมแปลงหมายเลขออกขายให้แก่ผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยติดต่อเจรจากับผู้เสียหาย  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่  3 เป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดฐานใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอม จากการที่จำเลยที่  3  เป็นผู้ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1  และที่  2  มายังบ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขายเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่  1  ก่อนการกระทำความผิด จำเลยที่  3 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่  1 ในการกระทำความผิดต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

                คำถาม   ในสัญญาจะซื้อขาย คู่สัญญาจะโอนสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลอื่นตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2618/2549  ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ จำเลยที่  1  ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก  1,232,650 บาท
                ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า  จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์หรือไม่  ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่  1 กับจำเลยที่ 2  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1  โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2  มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น  กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1  โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว  โจทก์กับจำเลยที่ 2  ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน  ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่  2  ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1  ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และจำเลยที่ 2  ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว  จำเลยที่ 2  ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา  จำเลยที่ 2  ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 2  ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวัน  เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1  กับจำเลยที่ 2  ระบุให้จำเลยที่  2  จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป  สัญญาที่ทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2  ที่ว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่  ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  2  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  1  ตามสัญญาจะซื้อขายดิน  เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา  349 แล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1  รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  6494/2541  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  กล่าวคือ  พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.  แม้ว่า พ.  จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา  306 วรรคแรก ได้ก็ตาม  แต่ พ. ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้
                 อย่างไรก็ดี หากผู้ขายได้ชำระหนี้ส่วนของตนให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียวจึงย่อมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   5574/2551   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส.  กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย  ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระค่าที่ดินที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์ จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

                 คำถาม   ก่อสร้างถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1312  หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   2743/2541   จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15  ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน  4  ต้น โดยมี ส. เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนนและโจทก์รู้เห็นการก่อสร้าง  ทั้งโจทก์ และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์  การกระทำของจำเลยที่ 1  และที่  3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลิ่นเล่อไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1  และที่  3  ได้
                  สิ่งที่จำเลยที่ 1  และที่  3  ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน  แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต  กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้  เมื่อเป็นกรณีไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง  จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310  บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย  และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน  ซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่  3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1310 วรรคสอง

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

                คำถาม    คำว่า  “ ตอแหล ”  เป็นการดูหมิ่นหรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๙๑๙/๒๕๕๒  การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง  การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย   การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว  หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว  เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า  “ ตอแหล ”  ว่า  เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย  การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ  จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๑
               
               คำถาม   ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน  มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย  จะเป็นความผิดหรือไม่                 
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               (ก)  กรณีที่ผู้ถึงแก่ความตายมิได้มีเจตนากระทำความผิด

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐   ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย  เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดฐานให้คนตายโดยไม่มีเจตนา

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๙/๒๕๑๑  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ได้ใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลยใกล้ทางเดินของบุคคลทั่วไปในระดับคนยืนพื้นเอื้อมจับถึง แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดดังกล่าวขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย  เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปรอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหตุให้ นาย ป. ซึ่งเข้าไปยืนถ่ายปัสสาวะที่ริมรั้วตรงบริเวณดังกล่าวเอื้อมมือไปจับส่วนบนของรั้ว นิ้วมือเลยไปถูกเส้นลวดนั้น กระแสไฟฟ้าจึงแล่นเข้าสู่ร่างกายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๙๑ และริบเส้นลวดของกลาง
                   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวดนั้นเพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์  เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า  แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนทำเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐  มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๙/๒๕๒๐  จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้านจำเลยเมื่อประมาณ ๗ วันก่อนเกิดเหตุ จำเลยใช้ขึงลวด ๒ เส้นรอบที่ตกกล้า สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์จากบ้านเข้าไปในเส้นลวด ๒ เส้นที่ขึงไว้ เพื่อป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า  ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๘ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา  นาย ส. ผู้ตายออกจากบ้านไปหากบหาปลาตามทุ่งนาแล้วไปเหยียบสายลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง
                   พิเคราะห์แล้ว  เห็นว่า  จำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าสายลวดที่จำเลยขึงรอบที่นาที่ตกกล้าและปล่อยกระแสไว้นั้น หากสัตว์ไปถูกเข้าก็จะถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วย  แสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่า สายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายแก่คนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้าเช่นเดียวกัน  การที่จำเลยขึงลวดมีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้วย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า หากมีคนหากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าว และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย  จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว  เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ป.อ.มาตรา ๒๙๐  

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๘๔/๒๕๒๘   ผู้ตายเข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างเพื่อจะเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้  เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้าง และปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้น ผู้ตายมาถูกกระแสไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐




                    (ข)  กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์  กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่  ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
 
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๓/๒๕๑๙   จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลยมีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้  ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไป  ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม  จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย ผู้ตายกับพวกอีก  ๓ คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาลโดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑  อัน  แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว  ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้   ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ  จำเลยไม่มีความผิด  ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ  ที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ (ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
                   มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้  ศ.จิตติ ติงศภัทิย์  ความว่า โจทก์ฟ้องตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช่กำลังทำร้าย

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๙๐/๒๕๔๘   แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรเหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้  แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัด ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มาก  การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ.มาตรา ๖๙  จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบมาตรา ๖๙
                   
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๑/๒๕๔๙   โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า  เด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์  ดังนี้  การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว  ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่ป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๐๐ โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก  ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา ๖๙  ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ   และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา  แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
                   
                   คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๗๙๔/๒๕๕๒   จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน  ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด  ๑  เส้น  จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐  เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกาย  เนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น  ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ ๑๔ ปีเศษกับ ต. อายุ  ๑๕ ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก  ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุ จำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงร้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                   

                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๕๐/๒๕๕๓   จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย  แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง ๒๒๐ โวลต์ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น   ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้  ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้  แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙  (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๖๙ )

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

ฎีกาเด่น* กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 
อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิ.ย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

.......................

คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๙๐๕/๒๕๔๘ การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ ต้องปรากฏว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์ บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดในราชอาณาจักรที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๔๕/๒๕๕๒ จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชัก ธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม กรณีต้องด้วย ปอ. มาตรา ๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ได้กระทำตลอดไปในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือน เป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิด

        ข้อสังเกต การกระทำความผิดตามมาตรา ๕ วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในการ ตระเตรียมหรือการพยายามกระทำผิดใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้น จะทำนอกราชอาณาจักรถ้าผู้กระทำนั้นได้กระทำไปตลอดแล้วผลก็จะเกิดในราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบของมาตรา ๕ วรรคสอง แล้วดังนั้นไม่ต้องไปพิจารณามาตรา ๗ และ ๘ เพราะกรณีของมาตรา ๗ และ ๘ นั้นไม่ได้ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร แต่เป็นการต้องรับโทษในราชอาณาจักรสำหรับการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

------------------------

                 คำถาม   การบังคับเอาโทรศัพย์เคลื่อนที่ของผู้อื่น  โดยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในบริเวณเอว  ถือว่าเป็นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรงๆหรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ  การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย  โดย ม. พวกของจำเลยทำท่างเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว  แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม  แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป  การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
               
                คำถาม  การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  หรือการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย  จะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา  350  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3973/2551   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย  ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต  ดังนี้  จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย  เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
                 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย  แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว  ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่  เพียงใด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350
                 
                  คำถาม  การให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 20 ปี โดยผู้เช่าต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ผู้ให้เช่า  เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาหรือไม่ และข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7894/2553   การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท  ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่า โดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น  หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่  ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา  เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374  ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไป  ข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
                   
                   คำถาม   เจ้าของที่ดินปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงของตน  ต่อมาที่ดินแปลงหนึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนำออกขาย  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรังวัดตรวจสอบที่ดินพบว่า  เจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินที่ซื้อบางส่วน  ดังนี้  ผู้ซื้อจะขอให้บังคับเจ้าของที่ดินเดิมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป  ได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  796/2552   ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312  ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด  แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท  แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330  โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว  โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336  เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป  และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้  โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้  มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต  และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4

                    คำพิพากษาฎีกาที่  9785/2553   ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า  เดิมจำเลยเป็นเจ้าที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และ  13742  ตำบลตลิ่งชัน(บางโอ)  อำเภอตลิ่งชัน(บางใหญ่)  กรุงเทพมหานคร  โดยที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีอาณาเขตติดต่อกันและมีบ้านเลขที่ 6/1  ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และบางส่วนของบ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี  คดีหมายเลขแดงที่  1497/2536  ตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว
                    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านเลขที่ 6/1  ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่  13742  หรือไม่

                    เห็นว่า  เดิมบ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลย  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742  จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกัน  โดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม มาตรา 1312  เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด  กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด  อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท  จะมีหรือไม่หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต  กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร  ดังที่จำเลยฎีกาไม่  เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

-------------------------------

                   คำถาม   ข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกในการสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 1 เมื่อปี 2491 นั้น คำถามมีว่าอย่างไร
                 คำตอบ   คำถามข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกของสำนักอบรมฯสอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2492 คำถามมีดังนี้
                 1.คำถาม   มีข้อความจริงอย่างไรบ้าง  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมแล้ว  ถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน
                 อุทาหรณ์มีว่า  ผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ครั้นตนบรรลุนิติภาวะแล้ว  จึงได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  ดังนี้  จะถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันหรือไม่ ?
                 แนวคำตอบ   ข้อความจริงซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (ปัจจุบันคือมาตรา 180)  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้  ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา  141
(ปัจจุบันคือมาตรา 179)  มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม  ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด  ท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ทั้งนี้คือเช่นว่า
(1)    ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
(2)    ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว
(3)    ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4)    ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น
(5)    ได้มีการโอนซึ่งสิทธิหรือความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
                  ตามอุทาหรณ์  ถึงแม้ว่าการที่ผู้เยาว์ได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  จะไม่ใช่การวางประกันตามความหมายในอนุมาตรา  4  ก็ตาม   โดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 142(ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติกรณีตัวอย่างไว้บางประการ ด้วยการใช้คำว่า  “เช่นว่า”  ข้อความจริงอย่างอื่นอันมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน  ดังเช่นการเอาโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายมาตรานี้
               
                  คำถาม   ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ค่างวด  ผู้ให้เช่าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้เช่าชำระ  จะถือว่าผู้ให้เช่าผ่อนเวลาให้แก่ผู้เช่าซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 6734/2553   การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน  และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น  โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
 
                    คำถาม   ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าผู้รับจะต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง   หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ให้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้โดยให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของผู้ให้โดยอ้างว่างนิติกรรมให้เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 11228/2553   นิติกรรมอำพรางตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง  เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม  นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฎออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย  ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้   ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม  แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว   การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด   เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น  สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้  และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง  กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง  กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา  มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้  ดังนี้  แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง  กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142  กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่  เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
 
                      คำถาม   ผู้ขายเสนอจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ  มีการวางเงินมัดจำไว้โดยผู้ขายออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน  มีข้อตกลงว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ต่อมาผู้ซื้อกับผู้ขายไม่อาจตกลงเงื่อนไขระหว่างกันได้  ผู้ขายจะมีสิทธิรับมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2553   ใบรับเงินมีข้อความว่า  “จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์  โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี  และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาทด้วยเช็ค  ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30 วัน”   เห็นได้ว่า  ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น  หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน  แสดงให้เห็นว่า  โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง  ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ”  ดังนั้น  เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ  สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น  เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้  จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  406
 
                      คำถาม   ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน  หากผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6857/2553   แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1715 วรรคสองบัญญัติว่า  “ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน  แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว  ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง  แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ ”  ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน  การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา  1726  ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก  หากปรากฎว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา  1736 วรรคสอง  และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา  1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา  1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้  ดังนั้น  เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้  โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514   ข้อความในวรรคสอง (ของมาตรา 1715) นั้น สืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง   คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน” ในวรรคสองนั้น  หมายถึง  ผู้จัดการซึ่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่เกี่ยวถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของตนนั้นก็เนื่องจากเจ้ามรดกไว้วางใจบุคคลนั้น  แม้จะตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคนก็ดี  เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว  ทายาทจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นแทนผู้ที่ตายไปนั้นย่อมทำไม่ได้  เพราะขัดกับคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น  กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่คนเดียวดำเนินการในการจัดการมรดกได้โดยลำพัง  ไม่เหมือนกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งโดยไม่มีพินัยกรรม  เพราะทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ใด  จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก  ก็โดยเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ดังนั้น  เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ถึงแก่ความตาย  ทายาทของเจ้ามรดกอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้อื่นเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ต่อไปก็ได้  โจทก์จะจัดการต่อไปตามลำพังคนเดียว  โดยมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญิติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
                   
                      คำถาม   สามีภรรยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร  ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภรรยา ทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว  หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล  จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553   โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร  และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม  อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า  8 วัน  ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว  จำเลยไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก  มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด  เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ  การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้  ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร(ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  364 ,  365(3))

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒ สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒

        สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐


        คำถาม การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ กับการกระทำโดยบันดาลโทสะตามมาตรา ๗๒ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ให้ อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ


        ธงคำตอบ ตอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ และมาตรา ๗๒

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 2


--------------------------------

                  คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ.  มาตรา  1300  หากมีผู้ซื้อที่ดินจากบุคคลดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง  ผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  13846/2553   ธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป  แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน  แม้มิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม   แม้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า  20 ปี แล้ว  โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีจำเลยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน  จำเลยก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตามป.พ.พ. มาตรา  1330 ได้  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย  เมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย  โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้


                 คำถาม   ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปเป็นของผู้ซื้อเมื่อใด  และหากผู้ซื้อไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  ผู้ขายเอารถยนต์กลับคืนมาโดยพลการจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9603/2553 (ประชุมใหญ่)   โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา  310,000  บาท  ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า  จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540  ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540  สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด  จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ.  มาตรา 453 , 458
                 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น  คดีจึงรับไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว  ดังนั้น  การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ  จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ  แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท  แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง  100,000 บาท  การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น  เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                 คำถาม   ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว  ผู้ซื้อจะได้สิทธิครอบครองหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12473/2553 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก  แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ  แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่  จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน  จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง
                  สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่


                 คำถาม   ผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้ว  จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งได้หรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12168/2553  ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1  ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท  โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆกัน จำนวน  8,500,000  บาท  ตามป.พ.พ.  มาตรา  229(3) และมาตรา  296   เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้  จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่  359/2509 , 4574/2536 วินิจฉัยเช่นเดียวกัน)

                  คำถาม  จำเลยตบหน้าผู้เสียหายทันทีที่เปิดประตูห้อง  ล้วงเอามีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือกรรโชก
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  11052/2553   ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน  เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด  การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน  แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.  มาตรา 334  โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339(2)  โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน  หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฎว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า  ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้อง  เมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง  จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหาย ขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น  แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก  ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  339  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  83 จึงชอบแล้ว


                  คำถาม  การกระทำความผิดโดยประมาท  ผู้กระทำจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า  ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน  บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น  ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น  ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด  ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่  ดังนั้น  การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
                   การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น  ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา  แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น


                  คำถาม  สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา  ต่อมา  ผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในสัญญาโดยพลการ  แล้วนำมาฟ้องต่อศาลเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  1126/2505  ศาลฎีกาเห็นว่า  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  264  จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน  คดีนี้  โจทก์รับอยู่ว่า  โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง  สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นภายหลัง  ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์  จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา

สรุป วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) เล่มที่1 สมัยที่ 70

เจาะหลัก สรุป วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366
(ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) เล่มที่1 สมัยที่ 70
-----------------------

****เมื่อพิจารณาความรับผิดทางอาญาแต่ละความผิดจะต้องมีองค์ประกอบ ภายนอกและองค์ประกอบภายในครบ ถ้าขาดองค์ประกอบภายนอกหรือขาด องค์ประกอบภายในการกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิด ไม่ใช่ผิดฐานพยายาม****

          ตัวอย่างที่ ๑ 
          ก. ประสงค์ให้ ข. ตาย จึงใช้ปืนยิง ข. ตาย เมื่อพิจารณา มาตรา ๒๘๘ จะเห็นได้ว่าการกระทำของ ก. ครบทั้งองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายใน กล่าวคือ ๑. ก. เป็น ผู้กระทำ ๒. มีการกระทำของ ก. คือการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้ปืนยิง ๓. มี ข. บุคคลซึ่งถูกกระทำ นั้นคือองค์ประกอบภายนอก ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ความประสงค์ให้ ข. ตาย คือเจตนาฆ่าเมื่อมีความตายเกิดขึ้น ก. ก็มีความผิดตาม มาตรา ๒๘๘ แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่า ก. ต้องการฆ่า ข. จึงใช้ปืนยิง ข. ๑๐ นัด แต่ปรากฎว่า ข. ถึงแก่ความตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยที่ ก. ไม่ทราบจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบภายนอกมีไม่ครบ คือ ขาด ข. ซึ่งเป็นบุคคลในขณะที่ก. ใช้ปืนยิง การกระทำของ ก. จึงไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบภายนอกมิใช่ฐานพยายาม อย่างที่บางท่านเข้าใจ


        ตัวอย่างที่ ๒ 
       ก. ไปที่บ้าน ข. ใช้ปืนยิงไปที่เตียงนอน เพราะเห็นเงาตะคุ่ม ๆ เข้าใจว่าเป็น ข. ความจริง ข. ลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือ ข. ไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังนั้น ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบภายนอกครบถ้วน คือ ๑.) มีผู้กระทำ ๒.) มีการกระทำคือการยิง ๓.) มีผู้ถูกกระทำ คือ ข. และมีองค์ประกอบภายในคือเจตนา การกระทำของ ก. ไม่สำเร็จเป็นผลตามที่ประสงค์ ก. จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเพราะการกระทำไม่บรรลุผล


วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

                     คำถาม  ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม  ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง  จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบตาม    
ป.พ.พ. มาตรา  1656  หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา  1656  วรรคแรก  หมายความว่า  ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน  และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ  ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน  และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น  เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้  ดังนั้น  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง  ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1705  ไปในทันที  แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม  ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
                     
                     คำถาม  หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้  จะถือเป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  4537/2553  สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก  อยู่ที่ว่า  มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้  ดังนั้น เมื่อเอกสารมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้  แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง  แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน  จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้แล้ว
                     
                     คำถาม  ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศรีษะจำเลยแต่ยังคงนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน  จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้าน  อีก 2 ชั่วโมงต่อมา  จำเลยกลับไปฆ่าผู้ตาย  จะอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย  ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน  และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว  ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ  จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว  เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่  แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว  และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง  จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา  แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
                     
                       คำถาม  การเรียกและริบเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนช่วยเหลือในทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ผู้อื่นถูกดำเนินคดีอาญาและยังไม่มีการให้เงินแก่กัน  ฉะนั้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา  143  หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  661/2554  มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านาย ธ.  ไม่ใช่อัยการเข้าของสำนวนในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์  จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว  และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน  จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น
                       เห็นว่า   การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีอาญา  แม้อัยการ ธ.  จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม  ก็ถือว่านาย ธ.  เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นาย ร.  แล้ว  การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
                       
                        คำถาม  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  112/2554  การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได  จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้  เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์  และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้  แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  192 วรรคสาม
                         
                         คำถาม  ซื้อสุราต่างประเทศในห้างสรรพสินค้า  โดยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้า   แล้วชำระเงินตามราคาน้ำปลา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                         คำพิพากษาฎีกาที่  3935/2553   จำเลยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟู  โดยเอาสุราต่างประเทศ 12 ขวด  ราคา  3.228 บาท  ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลาและใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง  จากนั้นจำเลยนำน้ำปลาอีก 1 ลัง  วางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลังเป็นเงิน  420  บาท  แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว  การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานมอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น  พนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ให้ดูเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2542)

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม15


------------------------------

                     คำถาม  หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้กู้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ผู้ให้กู้จะฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันได้ทันทีหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

                      คำถาม  ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค หากผู้ทรงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้สลักหลังเช็ค ผู้ทรงจะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  2569/2551  ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็ครวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว
                      คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ ได้อีกหรือไม่
                      เห็นว่า การที่บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
                       ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด
                        หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500 วินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500  การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 - 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 - 2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 - 2  นั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1 - 2 พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป

                       คำถาม  การที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น จะมีผลทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้สะดุดหยุดลงด้วยหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  1438/2540  การที่ ว. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วยแม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น การที่ ว. ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น จึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง 5 ปีเท่านั้น ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 11 ฉบับ คิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 891,808.23 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย จึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ภายในอายุความ 5 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความ แม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี ก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ดังนั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า 5 ปี อันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้

                         คำถาม  พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง โดยสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง พินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่
                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

                         บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลาย เป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้