วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

-------------------------------

                   คำถาม   ข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกในการสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 1 เมื่อปี 2491 นั้น คำถามมีว่าอย่างไร
                 คำตอบ   คำถามข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกของสำนักอบรมฯสอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2492 คำถามมีดังนี้
                 1.คำถาม   มีข้อความจริงอย่างไรบ้าง  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมแล้ว  ถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน
                 อุทาหรณ์มีว่า  ผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ครั้นตนบรรลุนิติภาวะแล้ว  จึงได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  ดังนี้  จะถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันหรือไม่ ?
                 แนวคำตอบ   ข้อความจริงซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (ปัจจุบันคือมาตรา 180)  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้  ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา  141
(ปัจจุบันคือมาตรา 179)  มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม  ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด  ท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ทั้งนี้คือเช่นว่า
(1)    ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
(2)    ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว
(3)    ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4)    ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น
(5)    ได้มีการโอนซึ่งสิทธิหรือความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
                  ตามอุทาหรณ์  ถึงแม้ว่าการที่ผู้เยาว์ได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  จะไม่ใช่การวางประกันตามความหมายในอนุมาตรา  4  ก็ตาม   โดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 142(ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติกรณีตัวอย่างไว้บางประการ ด้วยการใช้คำว่า  “เช่นว่า”  ข้อความจริงอย่างอื่นอันมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน  ดังเช่นการเอาโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายมาตรานี้
               
                  คำถาม   ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ค่างวด  ผู้ให้เช่าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้เช่าชำระ  จะถือว่าผู้ให้เช่าผ่อนเวลาให้แก่ผู้เช่าซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 6734/2553   การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน  และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น  โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
 
                    คำถาม   ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าผู้รับจะต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง   หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ให้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้โดยให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของผู้ให้โดยอ้างว่างนิติกรรมให้เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 11228/2553   นิติกรรมอำพรางตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง  เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม  นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฎออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย  ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้   ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม  แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว   การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด   เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น  สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้  และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง  กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง  กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา  มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้  ดังนี้  แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง  กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142  กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่  เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
 
                      คำถาม   ผู้ขายเสนอจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ  มีการวางเงินมัดจำไว้โดยผู้ขายออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน  มีข้อตกลงว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ต่อมาผู้ซื้อกับผู้ขายไม่อาจตกลงเงื่อนไขระหว่างกันได้  ผู้ขายจะมีสิทธิรับมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2553   ใบรับเงินมีข้อความว่า  “จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์  โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี  และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาทด้วยเช็ค  ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30 วัน”   เห็นได้ว่า  ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น  หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน  แสดงให้เห็นว่า  โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง  ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ”  ดังนั้น  เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ  สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น  เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้  จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  406
 
                      คำถาม   ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน  หากผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6857/2553   แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1715 วรรคสองบัญญัติว่า  “ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน  แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว  ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง  แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ ”  ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน  การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา  1726  ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก  หากปรากฎว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา  1736 วรรคสอง  และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา  1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา  1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้  ดังนั้น  เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้  โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514   ข้อความในวรรคสอง (ของมาตรา 1715) นั้น สืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง   คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน” ในวรรคสองนั้น  หมายถึง  ผู้จัดการซึ่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่เกี่ยวถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของตนนั้นก็เนื่องจากเจ้ามรดกไว้วางใจบุคคลนั้น  แม้จะตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคนก็ดี  เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว  ทายาทจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นแทนผู้ที่ตายไปนั้นย่อมทำไม่ได้  เพราะขัดกับคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น  กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่คนเดียวดำเนินการในการจัดการมรดกได้โดยลำพัง  ไม่เหมือนกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งโดยไม่มีพินัยกรรม  เพราะทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ใด  จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก  ก็โดยเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ดังนั้น  เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ถึงแก่ความตาย  ทายาทของเจ้ามรดกอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้อื่นเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ต่อไปก็ได้  โจทก์จะจัดการต่อไปตามลำพังคนเดียว  โดยมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญิติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
                   
                      คำถาม   สามีภรรยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร  ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภรรยา ทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว  หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล  จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553   โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร  และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม  อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า  8 วัน  ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว  จำเลยไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก  มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด  เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ  การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้  ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร(ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  364 ,  365(3))

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒ สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒

        สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐


        คำถาม การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ กับการกระทำโดยบันดาลโทสะตามมาตรา ๗๒ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ให้ อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ


        ธงคำตอบ ตอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ และมาตรา ๗๒

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 2


--------------------------------

                  คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ.  มาตรา  1300  หากมีผู้ซื้อที่ดินจากบุคคลดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง  ผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  13846/2553   ธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป  แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน  แม้มิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม   แม้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า  20 ปี แล้ว  โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีจำเลยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน  จำเลยก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตามป.พ.พ. มาตรา  1330 ได้  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย  เมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย  โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้


                 คำถาม   ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปเป็นของผู้ซื้อเมื่อใด  และหากผู้ซื้อไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  ผู้ขายเอารถยนต์กลับคืนมาโดยพลการจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9603/2553 (ประชุมใหญ่)   โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา  310,000  บาท  ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า  จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540  ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540  สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด  จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ.  มาตรา 453 , 458
                 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น  คดีจึงรับไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว  ดังนั้น  การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ  จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ  แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท  แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง  100,000 บาท  การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น  เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                 คำถาม   ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว  ผู้ซื้อจะได้สิทธิครอบครองหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12473/2553 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก  แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ  แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่  จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน  จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง
                  สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่


                 คำถาม   ผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้ว  จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งได้หรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12168/2553  ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1  ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท  โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆกัน จำนวน  8,500,000  บาท  ตามป.พ.พ.  มาตรา  229(3) และมาตรา  296   เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้  จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่  359/2509 , 4574/2536 วินิจฉัยเช่นเดียวกัน)

                  คำถาม  จำเลยตบหน้าผู้เสียหายทันทีที่เปิดประตูห้อง  ล้วงเอามีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือกรรโชก
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  11052/2553   ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน  เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด  การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน  แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.  มาตรา 334  โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339(2)  โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน  หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฎว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า  ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้อง  เมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง  จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหาย ขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น  แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก  ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  339  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  83 จึงชอบแล้ว


                  คำถาม  การกระทำความผิดโดยประมาท  ผู้กระทำจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า  ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน  บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น  ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น  ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด  ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่  ดังนั้น  การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
                   การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น  ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา  แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น


                  คำถาม  สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา  ต่อมา  ผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในสัญญาโดยพลการ  แล้วนำมาฟ้องต่อศาลเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                   คำพิพากษาฎีกาที่  1126/2505  ศาลฎีกาเห็นว่า  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  264  จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน  คดีนี้  โจทก์รับอยู่ว่า  โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง  สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นภายหลัง  ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์  จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา

สรุป วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) เล่มที่1 สมัยที่ 70

เจาะหลัก สรุป วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366
(ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) เล่มที่1 สมัยที่ 70
-----------------------

****เมื่อพิจารณาความรับผิดทางอาญาแต่ละความผิดจะต้องมีองค์ประกอบ ภายนอกและองค์ประกอบภายในครบ ถ้าขาดองค์ประกอบภายนอกหรือขาด องค์ประกอบภายในการกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิด ไม่ใช่ผิดฐานพยายาม****

          ตัวอย่างที่ ๑ 
          ก. ประสงค์ให้ ข. ตาย จึงใช้ปืนยิง ข. ตาย เมื่อพิจารณา มาตรา ๒๘๘ จะเห็นได้ว่าการกระทำของ ก. ครบทั้งองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายใน กล่าวคือ ๑. ก. เป็น ผู้กระทำ ๒. มีการกระทำของ ก. คือการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้ปืนยิง ๓. มี ข. บุคคลซึ่งถูกกระทำ นั้นคือองค์ประกอบภายนอก ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ความประสงค์ให้ ข. ตาย คือเจตนาฆ่าเมื่อมีความตายเกิดขึ้น ก. ก็มีความผิดตาม มาตรา ๒๘๘ แต่ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่า ก. ต้องการฆ่า ข. จึงใช้ปืนยิง ข. ๑๐ นัด แต่ปรากฎว่า ข. ถึงแก่ความตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว โดยที่ ก. ไม่ทราบจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบภายนอกมีไม่ครบ คือ ขาด ข. ซึ่งเป็นบุคคลในขณะที่ก. ใช้ปืนยิง การกระทำของ ก. จึงไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบภายนอกมิใช่ฐานพยายาม อย่างที่บางท่านเข้าใจ


        ตัวอย่างที่ ๒ 
       ก. ไปที่บ้าน ข. ใช้ปืนยิงไปที่เตียงนอน เพราะเห็นเงาตะคุ่ม ๆ เข้าใจว่าเป็น ข. ความจริง ข. ลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือ ข. ไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังนั้น ได้ย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นนานแล้ว จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบภายนอกครบถ้วน คือ ๑.) มีผู้กระทำ ๒.) มีการกระทำคือการยิง ๓.) มีผู้ถูกกระทำ คือ ข. และมีองค์ประกอบภายในคือเจตนา การกระทำของ ก. ไม่สำเร็จเป็นผลตามที่ประสงค์ ก. จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเพราะการกระทำไม่บรรลุผล


วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 1

                     คำถาม  ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม  ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง  จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบตาม    
ป.พ.พ. มาตรา  1656  หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา  1656  วรรคแรก  หมายความว่า  ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน  และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ  ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน  และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น  เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้  ดังนั้น  การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง  ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1705  ไปในทันที  แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม  ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
                     
                     คำถาม  หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้  จะถือเป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  4537/2553  สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก  อยู่ที่ว่า  มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้  ดังนั้น เมื่อเอกสารมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้  แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง  แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน  จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้แล้ว
                     
                     คำถาม  ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศรีษะจำเลยแต่ยังคงนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน  จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้าน  อีก 2 ชั่วโมงต่อมา  จำเลยกลับไปฆ่าผู้ตาย  จะอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย  ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน  และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว  ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ  จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว  เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่  แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว  และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง  จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา  แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
                     
                       คำถาม  การเรียกและริบเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนช่วยเหลือในทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ผู้อื่นถูกดำเนินคดีอาญาและยังไม่มีการให้เงินแก่กัน  ฉะนั้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา  143  หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  661/2554  มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านาย ธ.  ไม่ใช่อัยการเข้าของสำนวนในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์  จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว  และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน  จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น
                       เห็นว่า   การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นาย ร.  ถูกดำเนินคดีอาญา  แม้อัยการ ธ.  จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม  ก็ถือว่านาย ธ.  เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นาย ร.  แล้ว  การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
                       
                        คำถาม  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้หรือไม่
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่  112/2554  การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได  จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้  เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์  และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้  แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย  จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา  192 วรรคสาม
                         
                         คำถาม  ซื้อสุราต่างประเทศในห้างสรรพสินค้า  โดยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้า   แล้วชำระเงินตามราคาน้ำปลา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                         คำพิพากษาฎีกาที่  3935/2553   จำเลยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟู  โดยเอาสุราต่างประเทศ 12 ขวด  ราคา  3.228 บาท  ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลาและใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง  จากนั้นจำเลยนำน้ำปลาอีก 1 ลัง  วางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลังเป็นเงิน  420  บาท  แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว  การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานมอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ การเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น  พนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ให้ดูเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2542)