แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม11


----------------------------------


                       คำถาม   สัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1579/2552  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 บัญญัติว่า “ บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ” กล่าวโดย เฉพาะตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  5831/2553 ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 707 ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง และใช้บังคับกันได้

                     คำถาม  ใบรับเงินซึ่งเป็นหลักฐานการรับมัดจำมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้จัดทำขึ้นภายใน 30 วัน” กรณีดังกล่าว หากคู่สัญญายังมิได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  2224/2553  โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำ จึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 406
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6866/2552  หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่า   “การเพิ่มเติมหรือลดงานจะต้องคิดราคากันใหม่และถ้าต้องเพิ่มหรือลดเงินหรือยึดเวลาออกไปอีกก็จะตกลงกัน ณ บัดนั้น โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงถือว่าโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง

                     คำถาม   ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า เมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีก ให้ผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่หรือจะต้องทำความตกลงเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อนเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  8692/2549  ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10 ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าและตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว  แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์ และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาฉบับใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
                        คำพิพากษาฎีกาที่  569/2525  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปี ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้ว โจทก์เสนอขอเช่าต่ออีกแต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย


                        คำถาม   คำมั่นจะให้เช่าระบุไว้ในสัญญาเช่า เมื่อผู้เช่าสนองรับ จะต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  748/2533  หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า ผู้ให้เช่าสัญญาว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็ก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 หรือไม่ และตามข้อตกลงนี้ มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิจะเรียกร้องบังคับเอาได้ ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  1765/2537  สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหนด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก


                      คำถาม   สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดกว่า 3 ปี มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าไว้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า หากผู้เช่าสนองรับคำมั่นสัญญาเช่าเกิดขึ้นหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  563/2540  เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2  (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก

                     คำถาม  คำมั่นจะให้เช่ามีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ค.   ค. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ค. โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้ ค. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ค. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3  ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
                 

                    คำถาม  กรณีที่มีการบังคับจำนอง โดยเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาด แต่ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นั้น หมายความเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3535/2550  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 บัญญัติว่า “.......ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนวนที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
                       โจทก์ที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนองจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัด การใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนองสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
                        คำพิพากษาฎีกาที่  8851/2551  ป.พ.พ.มาตรา 733 ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย

                        ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ไม่มีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาเพียงว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้นำยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกไม่ได้

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม10


------------------------------

                       คำถาม   สัญญาจะซื้อขายห้องชุดมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่ผู้ซี้อผิดสัญญาผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบเงินทั้งหมดที่ผู้ซื้อชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ40 ของอาคารชุดนั้น หากผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  11887/2554  เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งฝ่ายที่บอกเลิกสัญญายังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดว่าในกรณีที่โจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ 40 ของอาคารชุดเป็นเงิน 4,812,080 บาท จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่ ป.พ.พ.บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างอื่นมากน้อยเพียงใด นอกไปจากขาดผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากเงินจำนวนเท่ากับราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ และมีเหตุผลให้เชื่อว่าเมื่อสัญญาเลิกกัน จำเลยสามารถขายห้องชุดดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวน 2,562,080 บาท โดยไม่รวมมัดจำ 250,000 บาท จึงยังสูงเกินส่วน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นเงิน 960,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์จำนวน 3,602,080 บาท ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น การที่จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา

                       คำถาม    เงินดาวน์ที่ชำระในวันทำสัญญา เงินดาวน์ที่ชำระภายหลังอีก 1 งวดซึ่งตามสัญญาระบุให้ถือเป็นมัดจำ หากผู้ซื้อเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบโดยถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7175/2554  โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอให้สิทธิรับเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกัน ให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

                       คำถาม   ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับโอน และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบแล้ว และผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้ผู้รับโอนแล้วบางส่วน ดังนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารจะขอให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ่ายเงินแก่ผู้รับโอนได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  12616/2555  จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์และขอให้โจทก์ติดต่อธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเริ่มกู้ครั้งแรกเมื่อเดือน กรกฎาคม 2538 เดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลัง กับอาคารศูนย์กิจกรรมนิสิตนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลังให้แก่จำเลยที่ 4 โดยโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิการรับเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบแล้ว ตามหนังสือของโจทก์ หลังจากได้หนังสือแจ้งจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้โจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ด้วยเหตุผลว่า โจทก์ปิดกิจการโดยคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่จ่ายเงินค่างวดที่เหลือให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังจำเลยที่ 4 ว่า แม้โจทก์จะได้รับคำสั่งให้หยุดกิจการจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่โจทก์ก็ยังมีอำนาจรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ตามสำเนาหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามขอ แต่ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบตามสัญญาจ้าง
                      มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่าการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นั้นมีผลให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่างวดให้แก่โจทก์ต่อไปหรือไม่
                     เห็นว่า  การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้วยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย ซึ่งในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า “....สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” และมาตรา 375 บัญญัติต่อไปว่า “ เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่” คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่4ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นมีแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่4  คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4  ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375  ดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 4 ยังคงต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์

                      คำถาม   การซื้อขายต้นอ้อย ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ขายได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อเข้าไปตัดต้นอ้อยของผู้ขายไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาลแล้ว หากผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายจะฟ้องร้องผู้ซื้อให้ชำระราคาได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่   7735/2555  ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้วยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “....หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..” ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อยกันนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

                       คำถาม   สามีพาภริยาไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำกับภริยาได้ มิได้มีเจตนาร้ายต่อภริยานั้น จะมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  735/2555  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ดังนั้น การกระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ผู้กระทำเพียงแต่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็เป็นความผิดแล้ว โดยไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อประสงค์ร้ายต่อผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยบังคับข่มขู่ฉุดกระชากพาตัวผู้เสียหายซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยขึ้นรถยนต์แล้วพาไปพักยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีพฤติการณ์บังคับกักขังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของตนย่อมต้องทำให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายไม่สามารถเดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาตามความหมายของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว

วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม7


--------------------------


                     คำถาม   การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่ได้จดทะเบียน หากเจ้าของภารยทรัพย์ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมจะตกแก่ทายาทเจ้าของภารยทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองว่า  หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น.โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้  เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอ จึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม  การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา  1599 และมาตร 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอม และบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาท ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ออกได้


                   คำถาม  ทนายความเรียกเงินค่าขึ้นศาลจากลูกความเกินว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด กับว่าจะดำเนินคดีให้แล้วเสร็จใน 60 วัน เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6476/2554  ข้อความตามหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ออกให้แก่ น. ผู้เสียหายระบุว่า  “ ได้รับเงินค่าดำเนินคดีจาก น. เพื่อดำเนินคดีเพิกถอนการให้จาก ป. และ ส. จำนวน 560,000 บาทไว้ครบแล้ว โดยทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันทำหนังสือนี้ บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทางโจทก์จะได้รับคืนภายหลังเสร็จคดีภายใน  7 วัน จำนวน 3 ใน 4 ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด  โดยทนายความคิดค่าทนาย 3 เปอร์เซ็นต์ ของเงินที่โจทก์ได้รับสุทธิทั้งหมด”  ข้อความทั้งหมดมีความหมายว่า เรียกเป็นค่าดำเนินคดีจำนวน 560,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายและ ค. ยืนยันว่าจำเลยแจ้งว่าเงินจำนวน 560,000 บาท เป็นเงินที่ต้องวางศาล ต่อมาจำเลยยังเรียกเพิ่มอีก 200,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลเพิ่ม เงินทั้งสองจำนวนเห็นได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายหลงเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเงินที่ต้องนำไปวางศาล จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่จำเลยโดยไม่ลังเล  เช่นนี้  จำเลยเป็นทนายความย่อมจะต้องทราบดีว่าค่าขึ้นศาลตาม ป.วิ.พ. แม้ทุนทรัพย์จะมากเพียงใดก็จะต้องชำระไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ข้อความที่จำเลยเรียกเงินจำนวน 560,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลดังกล่าวจึงเป็นความเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เพราะค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนไม่มากถึงจำนวนที่จำเลยอ้าง และจำเลยไม่เคยนำเงินจำนวนใด ๆ ไปวางเป็นค่าธรรมเนียมที่ศาลแต่อย่างใด  ทั้งข้อความในหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ว่า ทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันทำหนังสือนี้ก็เป็นเท็จ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจะกำหนดวันแน่นอนตายตัวว่า จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจำเลยมิได้ดำเนินการใด ๆ ทางคดีให้แก่ผู้เสียหายตามที่อ้างแต่แรกทั้งยังรับเงินจากผู้เสียหายไปแล้วถึง  810,000 บาท ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น

                    คำถาม   ผู้เช่าให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า หากผู้เช่าเปลี่ยนกุญแจอาคารที่เช่า ทำให้ผู้เช่าช่วงเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ จะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  7445/2554  การที่จำเลยให้ ม. เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า  ผู้เช่าช่วงจึงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่า  แต่ผลของการเป็นบริวารของผู้เช่าจะมีก็เพียงการไม่มีอำนาจพิเศษที่จะอ้างอาศัยในที่เช่าต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น หาได้กระทบความสัมพันธ์อันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยผู้ให้เช่าช่วงกับผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยให้เข้าครอบครองอาคารพิพาทไม่  เมื่อจำเลยจะกลับเข้าครอบครองอาคารพิพาทผู้เสียหายก็ได้โต้แย้งสิทธิการเช่าที่มีต่อจำเลยแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทราบแล้วว่าผู้เสียหายไม่ยินยอมมอบอาคารพิพาทให้แก่จำเลย โดยอ้างสัญญาที่มีต่อจำเลย จำเลยทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอาคารและโต้แย้งจำเลยในเรื่องความระงับของสัญญาเช่าได้เปลี่ยนกุญแจ ทำให้ผู้เสียหายเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก

                    คำถาม  วันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อที่ดินตรงกับวันอาทิตย์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ หลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญามิได้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน ผลของสัญญาจะเป็นอย่างไร
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8188/2554  เมื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ และในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยผู้จะขาย  ส่วนจำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ เมื่อไม่ปรากฏว่าภายหลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย และเมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้แก่โจทก์

                   คำถาม   สมัครใจเข้าวิวาทจะอ้างป้องกันหรือบันดาลโทสะได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8347/2554  ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ  จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว  ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป จะฟังให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน  ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเองก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ

                        คำถาม  การถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม มีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7835/2554  กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72  ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปว่าผู้ที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์อย่างเดียวกับจำเลยนั้น ถือได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หาใช่ถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวจำเลยผู้กระทำความผิดเอง ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกับ พ. กำลังพูดคุยกันก็เพื่อแสดงให้จำเลยเห็นว่า พ. มีใจให้ผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและเย้ยหยันจำเลยต่อหน้าคนรัก จำเลยจึงเกิดอาการโกรธเนื่องจากหึงหวงเป็นเหตุให้ทำร้ายผู้เสียหายนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

                      คำถาม   การพาเด็กไป โดยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าไถ่ แต่เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่เชื่อว่าควรจะได้ จะเป็นความผิดฐานใด
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  9046/2554  จำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจาก อ. ในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน  2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้ อ. นำเงินจำนวน  500,000 บาทไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหาย และ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่  1 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจาก อ. ก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจาก อ.นั้น แม้จะเป็นจำนวนเกินกว่าที่จำเลยอ้างว่า อ. เป็นหนี้จำเลย แต่ก็ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจาก อ. และใช้เงินไปมากแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ.มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา  313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม9


-----------------------------

                      คำถาม  ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญาก็ดี เงินที่ชำระในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็ดี  เงินที่ชำระในวันทำสัญญาซึ่งตามสัญญาระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ก็ดี เป็นมัดจำหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 4917/2554  มัดจำที่ได้ให้แก่กันไว้เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญาในวันทำสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญา ดังนั้น เงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์ผู้จะซื้อได้ชำระให้แก่จำเลยผู้จะขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเท่านั้นที่เป็นมัดจำ ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลยภายหลังทำสัญญาดังกล่าวนั้นมิใช่มัดจำแต่เป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน
                     เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลย ซึ่งเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนตามสัญญานั้น จำเลยต้องให้โจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เงินจำนวน 800,000 บาทดังกล่าวมิใช่มัดจำที่จำเลยจะมีสิทธิริบเพราะเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
                      (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  3216/2554  โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นคู่สัญญาตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน โดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ท. ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาดังกล่าว จำเลยและบริษัท ท. ต่างมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งก็เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นพยานชุดเดียวกัน เห็นได้ว่า บริษัท ท. เป็นบริษัทในเครือของจำเลยตรงตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขต่อท้ายสัญญา จำเลยกับบริษัท ท. ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทรายนี้ โดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ถือว่าจำเลยและบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย มีผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดสรรที่ดินและบ้านที่โจทก์ทั้งสองจองซื้อจากจำเลย จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่ผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาทั้งหมดดังกล่าวแล้วได้
                      เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพราะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินให้ถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกโดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อยินยอมให้จำเลยผู้จะขายริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดเช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นพยานหลักฐาน และเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระอีกจำนวน 32,500 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญา มิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงมิใช่ค่ามัดจำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิกแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
                    โจทก์ทั้งสองชำระค่าดิน ค่าจ้างปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านหลังจากที่จำเลยมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทแล้ว เป็นเงิน 606,897 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  แต่การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน  ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

                     คำถาม   นั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดแล้ว แต่สตาร์ทไม่ติด เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จหรือพยายาม
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3463/2554  การที่จำเลยไปนั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แม้จำเลยจะสตาร์ทเครื่องด้วยเท้าไม่ติดและต่อสายตรงไม่สำเร็จ แต่จำเลยก็ได้พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดไว้ 5 ถึง 10 เมตร เป็นการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปได้แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานลักทรัพย์

                    คำถาม   การใช้กำลังประทุษร้ายโดยมิได้เจตนาเพื่อเอาทรัพย์ไป หากการประทุษร้ายขาดตอนไปแล้ว จึงมีเจตนาเอาทรัพย์ไป เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  6554/2554  โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่ก่อนเกิดเหตุว่าผู้เสียหายจะขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ และเหตุที่ผุ้เสียหายหยุดรถจักรยานยนต์  เนื่องจากผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ลุยน้ำ ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง ดังนี้ จำเลยกับพวกอาจพบผู้เสียหายโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย ประกอบกับเมื่อจำเลยกับพวกใช้มีดฟัน ผู้เสียหายวิ่งหลบหนีแล้ว จำเลยกับพวกยังวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปอีก เชื่อว่าจำเลยกับพวกใช้มีดฟันผู้เสียหายเพราะโกรธที่ผู้เสียหายร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย มิใช่เป็นการฟันผู้เสียหายเพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เมื่อจำเลยกับพวกไม่อาจทำร้ายผู้เสียหายได้อีก การที่จำเลยกับพวกกลับไปเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายผู้เสียหายขาดตอนไปแล้ว จำเลยกับพวกจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                     คำถาม  การบอกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า ขอเก็บเงินค่าวินต่อเดือนหากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายก็ให้กลับบ้านต่างจังหวัดไป จะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดีเป็นความผิดฐานกรรโชก หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3723/2554  จำเลยที่ 1 เรียกประชุมสมาชิกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในวินของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยจำเลยทั้งสองได้บอกให้สมาชิกทราบว่าจำเลยที่ 1 ขอเก็บเงินค่าวินจากสมาชิกคนละ 950 บาท ต่อเดือน หากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายเงินให้ ก็ให้สมาชิกคนนั้นกลับบ้านต่างจังหวัดไป จำเลยทั้งสองจะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดี คำพูดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่ขืนใจให้สมาชิกทั้งที่เข้าร่วมประชุมและไม่เข้าร่วมประชุมยอมจ่ายเงินเป็นรายเดือนเดือนละ 950 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 และไม่ใช้สมาชิกบอกเรื่องที่ต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบด้วย โดยการขู่เข็ญให้สมาชิกทราบว่าหากสมาชิกคนใดไม่ยอมกระทำตามที่บอก สมาชิกก็จะได้รับผลร้ายคือจะถูกยึดเสื้อวินที่สมาชิกสวมใส่ในการขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างคืน ซึ่งหมายความว่า สมาชิกคนนั้นจะไม่สามารถมาจอดรถจักรยานยนต์ของตนที่วินของจำเลยที่ 1 เพื่อรอให้ผู้โดยสารว่าจ้างอีกต่อไป อันเป็นการขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของบรรดาสมาชิก ส่วนคำว่าให้ระวังตัวให้ดีนั้นคนปกติทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นลักษณะคำพูดข่มขู่ให้คนที่ได้รับฟังให้เกิดความกลัวอยู่ในตัวว่า อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายได้ จึงเป็นกรณีจำเลยทั้งสองขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบรรดาสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายหลายคนยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก

                         คำถาม  เข้าไปทำร้ายผู้อื่นในบ้านมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 364 มาตรา 365 หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   540/2554  บ้านที่เกิดเหตุมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่ การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ในบริเวณที่บุคคลทั่วไปย่อมจะเข้าไปได้นั้น ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 และมาตรา  365
                       คำถาม  นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปในที่เกิดเหตุในยามวิกาลเพื่อจะลักทรัพย์แล้วสำรวจที่จะลักเพื่อจะขนไว้บนรถบรรทุก แต่ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ ถือว่าลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  4938/2554  จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปจอดในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุซึ่งล้อมรั้วสังกะสีในยามวิกาล แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ไฟฉายส่องไปที่มอเตอร์ซึ่งติดตั้งอยู่บนโครงเหล็ก เป็นการสำรวจทรัพย์ที่จะลักและเพื่อขนทรัพย์นั้นไปไว้บนรถบรรทุกของกลางที่นำเข้ามาในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุ แม้จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ แต่นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาทรัพย์ไปได้ในทันทีทันใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอยู่ในชั้นลงมือกระทำความผิดแล้วเพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะ บ. กับพวกพบจำเลยที่ 2 กับพวกก่อนที่จำเลยที่ 2 กับพวกจะลักทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์แล้ว

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 6


-------------------------------

                 คำถาม     การเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2554   การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสิทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า  ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา  กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43, 44  และ 45 เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้ ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย ดังนั้น ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต แม้เป็นการเอาไปจากการครองครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง  จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
                มีหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกานี้โดยอาจารย์ สมชัย  ฑีฆาอุตมากรว่า  จำเลยลักเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส. ซึ่งลักมาจากผู้เสียหาย แม้ ส. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ ส. ก็เป็นผู้ที่ยึดถือไว้โดยเจตราจะยึดถือเพื่อตน  จึงเป็นผู้ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367  เพียงแต่ ส. ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้อาจถูกผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336  จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ์ดีไปกว่า ส.  เมื่อจำเลยลักเอาไปจาก ส.  จำเลยจึงมีความผิดฐานลักรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของ ส. เพราะความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์แล้ว ยังคุ้มครองถึงสิทธิครอบครองด้วย

                คำถาม   ใช้มีดดาบไล่ฟันทำร้ายผู้อื่น ผู้ถูกไล่ฟันวิ่งหลบหนีกระโดยลงน้ำจนถึงแก่ความตายผู้กระทำจะมีความผิดฐานใด
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 9413/2552  ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 วรรคแรกเป็นบทบัญญัติให้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ  หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น  เมื่อจำเลยที่ 2  ใช้มีดดาบไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย  การกระทำของจำเลยที่ 2  จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่าแต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย  จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 290  แล้ว  มิใช่เป็นการพยายามกระทำความผิด

                 คำถาม   ผู้เช่าซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่  โดยมีข้อตกลงระหว่างกันว่า  ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำ เมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ กรณีดังกล่าว หากมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำกัน เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำจะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1312  ได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ 9764/2552  ในการซื้อที่ดินจากธนาคาร โจทก์  จำเลย และผู้เช่าอื่นมีข้อตกลงระหว่างกันว่า ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน  ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่น  ก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่  ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพไปก่อน  ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย  เมื่อโจทก์และจำเลยได้ซื้อที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์  โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์  และเมื่อมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเช่นนี้  จึงมิใช่กรณีที่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงยิ่งตามมาตรา 4

                คำถาม   เจ้าหนี้ที่จะฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237  จะต้องเป็นเจ้าหนี้ในขณะใดและจำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                (ก)     ต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม
                คำพิพากษาฎีกาที่  533/2535   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่  3  โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชาย โดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  237  แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่า  ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น  และการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่า ลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อน  หรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3  เพิ่งเป็นหนี้โจทก์หลังจากได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วถึง  3 ปี ขณะที่จำเลยที่  3 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3  ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  8999/2550   จำเลยที่  1  เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่  1 ให้แก่ ค. ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่  2  ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523  จำเลยที่  2  จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการทำโดยสุจริต  ส่วนการที่จำเลยที่  1  เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2  ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน  นิติกรรมที่จำเลยที่  1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  2  จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
                (ข)      ไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องยังมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ก็มีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉล
                คำพิพากษาฎีกาที่  3975/2553   การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้  เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214  ดังนั้น  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลง ไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม  แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1   จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องหนี้ให้แก่โจทก์  การที่จำเลยที่ 1  จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  2  โดยเสน่หา  และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก นอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่  1  ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ  โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้
               
                คำถาม     ผู้ให้กู้มอบเงินกู้แก่ผู้กู้ภายหลังจากทำสัญญาจำนอง  สัญญาจำนองสมบูรณ์หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  1579/2552   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  707  บัญญัติว่า     “ บทบัญญัติมาตรา 681  ว่าด้วยค้ำประกันนั้น  ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร “ กล่าวโดยเฉพาะตามนัยมาตรา 681  ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้  ดังนั้น  เมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่  1  ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์  การจำนองเป็นประกัน การชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
               คำพิพากษาฎีกาที่    5831/2553   ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 707  ประกอบมาตรา  681 วรรคสอง  และใช้บังคับกันได้

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม4


-----------------------------------

                   คำถาม   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายจะใช้ถ้อยคำทำกิริยาหรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น ๆ ได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็นการขู่ตรง ๆ เท่านั้น
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  7890/2554  ผู้เสียหายไม่รู้จักจำเลยกับพวก การที่พวกจำเลยขับรถแซงและปาดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อให้หยุดรถทันทีและตะคอกด่าพร้อมกับพูดว่ามีอะไรส่งมาให้หมด โดยจำเลยกับพวกแสดงสีหน้าขึงขัง แม้พวกจำเลยจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งสิ่งของให้จะทำร้ายผู้เสียหาย แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามผู้เสียหายให้กลัวว่าจะถูกทำร้ายหากไม่ส่งทรัพย์สินให้ จึงเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งกิริยาและวาจาโดยมีความหมายว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ให้สิ่งของใดแล้วผู้เสียหายจะถูกทำร้าย จนผู้เสียหายกลัวต้องรีบส่งกระเป๋าสะพายให้จำเลย หาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเองไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ มิใช่ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยยังคงนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คันเดียวกับพวกและแม้จำเลยไม่ได้พูดกับผู้เสียหาย แต่เมื่อผู้เสียหายยื่นทรัพย์ให้จำเลยก็รับไว้แล้วก็ขับรถจักรยานยนต์หนีไปด้วยกันทันที ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554 วินิจฉัยเช่นกัน)
                 
                    คำถาม   ลูกจ้างมีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าของนายจ้างไปส่งให้แก่ลูกค้า หากเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปจะเป็นความผิดฐานใด
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1307/2554  ในขณะเกิดเหตุบริษัท ว. จำกัด และจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ครอบครองสินค้าปุ๋ยเคมีไว้แทนบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้ เมื่อเกิดเหตุบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้เสียหายด้วย และสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท ว. จำกัด มีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวไปส่งที่สถานีสินค้าของผู้เสียหาย การครอบครองของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น อำนาจการครอบครองสินค้าที่แท้จริงยังอยู่กับผู้เสียหาย เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปโดยทุจริตจึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
                   
                     คำถาม  คำว่าทรัพย์ของผู้อื่นในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มีความหมายอย่างไร
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  9270/2554  องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “ ทรัพย์ของผู้อื่น” หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นของบิดาผู้เสียหายที่ 1 และเป็นรถยนต์ที่ใช้ในครอบครัวของผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของรถยนต์กระบะสามารถใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้ทุกเวลาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงสิทธิใช้รถยนต์กระบะในฐานะบุตรเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ผู้เสียหายที่  1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และเมื่อปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และพนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ได้
                 
           คำถาม  การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอม จะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทหรือไม่ และการได้ทางจำเป็นตาม    ป.พ.พ. มาตรา 1350 ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจะมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินแปลงใดและต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่   8621/2554  การที่ ก. ท. พ. ร. และจำเลยร่วมตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งโดยแบ่งที่ดิน 2 ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนเหนือสุดและใต้สุดเพื่อออกสู่ทางสาธารณะกว้าง  4 เมตร ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นการก่อภาระจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม แต่หลังจากที่มีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่ถูกแบ่งแยก การก่อภาระจำยอมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงบังคับภาระจำยอมดังกล่าวได้ในระหว่างคู่สัญญาด้วยกันในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น เมื่อ ก. และ ส. ซึ่งเป็นคู่สัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ถูกผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีกำหมายบัญญัติให้จำเลยทั้งสองต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความจาก ก. และ ส. โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำเลยทั้งสองให้รับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นภาระจำยอม
                   ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงใหญ่โดยให้แบ่งที่ดิน  2 ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนที่อยู่เหนือสุดและใต้สุดเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แสดงว่าที่ดินแปลงใหญ่นี้มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ภายหลังจากการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ถูกแบ่งแยกมีที่ดินแปลงอื่นล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงย่อยในส่วนนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งถูกแบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350
         เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินถูกแบ่งแยกและการแบ่งแยกนั้นเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินที่ถูกแบ่งแยกแปลงอื่นได้ตามกฎหมาย การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                 
                    คำถาม  เงินดาวน์งวดที่สองที่ผู้ซื้อชำระให้แก่ผู้ขายภายหลังวันทำสัญญา ถ้าสัญญาระบุว่าให้ถือเป็นมัดจำและผู้ขายมีสิทธิริบได้หากผู้ซื้อผิดสัญญา ต่อมามีการเลิกสัญญากัน ผู้ขายมีสิทธิริบเงินดาวน์งวดที่สองหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  7175/2554  โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา  ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกันให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วนเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
                       
                  คำถาม  ผู้สลักหลังเช็คผู้ถือ และผู้สลักหลังเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้ทรงแล้วรับเช็คกลับคืนมา จะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คภายในกำหนดอายุความใด
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3762/2554  โจทก์นำเช็คพิพาทห้าฉบับไปสลักหลังขายลดให้แก่ ส. กับ บ. ต่อมาโจทก์นำเงินตามเช็คไปชำระให้บุคคลทั้งสองและรับเช็คพิพาทกลับคืนมา การที่โจทก์ชำระเงินตามเช็คให้แก่ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือสี่ฉบับกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับดังกล่าวตาม ป.พ.พ.มาตรา 904 จึงมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา  1002 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในอายุความ 1 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คทั้งสี่ฉบับนี้จึงไม่ขาดอายุความ
                      ส่วนเช็คพิพาทอีกหนึ่งฉบับซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ การที่โจทก์สลักหลังเช็คฉบับนี้ขายลดให้แก่ ส. กับ บ. ส. และ บ. จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทฉบับนี้กลับคืนมา โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช้ผู้ทรงเช็คฉบับนั้นไม่ จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายในเวลาหกเดือน นับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คและใช้เงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1003 เมื่อ พ. กรรมการของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ผ่อนชำระเงินให้ ส. กับ บ.โดยผ่อนชำระตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2541 โจทก์จึงได้รับเช็คทั้งห้าฉบับกลับคืนมาและโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม  2541 จึงล่วงเลยระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทฉบับนี้จึงขาดอายุความ
                     
                      คำถาม  ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบสิบปีโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางจะได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1203/2554  ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งกฎหมายบัญญัติให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้มาโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ สำหรับการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงว่าภารยทรัพย์จะเป็นของผู้ใด หรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น เพราะแม้มีผู้ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบ 10ปี โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางดังกล่าวย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 143629 ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12606 เป็นทางสัญจรไปสู่ทางสาธารณะจนครบ  10ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
                     แม้บริษัท ว. จะทำหนังสือรับรองยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองมิได้ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าในขณะที่โจทก์ที่  2ขายให้แก่บริษัท ว.ในราคาสูงถึง 2,000,000บาทเศษเนื่องจากอยู่ติดกับถนนสายใหญ่ แต่โจทก์ที่ 2 ขายให้แก่บริษัท ว. ในราคาที่ต่ำเกินสมควรเพียง 540,000 บาท เพราะโจทก์ที่ 2 คาดหวังว่าแม้จะขายไปแล้วโจทก์ทั้งสองก็ยังมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ตามที่บริษัท ว. ให้คำรับรองไว้  ฉะนั้นการที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ  จึงเป็นการใช้โดยถือว่าตนมีสิทธิในทางนั้น อันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโดยตรง หาใช่เป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ไม่
                   
             คำถาม  เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานเป็นเหตุให้พนักงานปลอมลายมือชื่อ จะถือว่าเจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมตราอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกเรื่องลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 หรือไม่

             คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้

              คำพิพากษาฎีกาที่  9483/2554  เช็คพิพาทส่วนใหญ่ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นผู้ไปเบิกถอนเงินสดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเมื่อตรวจสอบลายมือชื่อของ พ.ในเช็คพิพาทกับตัวอย่างลายมือชื่อของ พ. แล้วจะมีลักษณะคล้ายกัน จำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับก็มิได้สูงจนผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งตราประทับของโจทก์ที่ประทับลงในเช็คก็เป็นตราประทับที่แท้จริงของโจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของ พ. ในช่องผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 จ่ายเงินในบัญชีของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกปลอมลายมือชื่อของ พ.โดยใช้ตราประทับที่แท้จริงสั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเวลานานและจำนวนหลายฉบับดังกล่าว แสดงว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยมิได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 โจทก์จะอ้างว่าได้ว่าจ้างสำนักงานบัญชีตรวจสอบบัญชีของโจทก์หาได้ไม่ โจทก์จึงอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทคืนแก่โจทก์

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม3

------------------------


                          คำถาม  การบังคับเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปเพียงเท่าที่คิดว่าพอกับที่ลูกหนี้เป็นหนี้ โดยไม่ได้เอาทรัพย์สินอื่นที่มีค่ามากไปด้วย จะถือว่ามีเจตนาทุจริตหรือไม่
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่  674/2554  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยกับพวกเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บและบังคับเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเท่าที่คิดว่าพอกับค่าจ้างที่ผู้เสียหายเป็นหนี้พวกจำเลยอยู่เท่านั้นไม่ได้ เอาทรัพย์สินอื่น ๆ ที่มีค่ามากไปด้วยก็ตาม  แต่การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย

                        คำถาม  การใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่กระสุนไม่ลั่นและผู้นั้นได้วิ่งหลบหนีไป  หากผู้กระทำตามไปยิงอีกจะยังถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายอีกหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6370/2554  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงปืนขึ้นฟ้า 1 นัดแล้ว อ. ได้ชักอาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนจริง พฤติการณ์ของ อ. เช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า อ. ได้ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายแก่ตน ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิป้องกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ อ. 1 นัด ในทันทีทันใด แม้กระสุนจะลั่นหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธยิง อ. แต่กระสุนปืนไม่ลั่นแล้ว อ. ได้วิ่งหลบหนีไป เช่นนี้ เหตุที่จำเลยที่ 1 จะป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไป การที่จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตาม อ. ไป แล้วยิงต่อสู้กับ อ. อีกเช่นนี้ เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการที่ อ. ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 ก่อนอันถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งหลังจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

                       คำถาม  หนังสือสัญญาซื้อขายระยุว่า ราคาส่วนที่เหลือ อ. ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าปรากฏว่าผู้ขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อบางส่วนเหลือที่ดินส่วนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนอีก  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินส่วนที่เหลือติดต่อกันกว่า 10 ปี จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3878/2554  หนังสือสัญญาซื้อขายอาคารพาณิชย์และที่ดินข้อ 3 ระบุว่า ผู้ซื้อต้องชำระราคาแก่ผู้ขายในวันทำสัญญาจำนวน 600,000 บาท และข้อ 5 สำหรับราคาอาคารพาณิชย์และที่ดินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 2,100,000 บาท ผู้ซื้อต้องชำระในวันรับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์และที่ดินดังกล่าวตามสัญญานี้ โดยผู้ขายจะเป็นผู้นำผู้ซื้อไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน ผู้ซื้อต้องไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพาณิชย์ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ขายแสดงว่าหนังสือสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและอาคารไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะในวันทำสัญญามีการชำระราคาที่ดินและอาคารเพียงบางส่วนเท่านั้นราคาส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคาร
                      โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยเนื้อที่รวม 24  ตารางวา เหลือที่ดินที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนอีกจำนวน 4 ตารางวา ซึ่งจำเลยยังคงประสงค์ให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาและมิได้บอกเลิกสัญญา สัญญาซื้อขายอาคารและที่ดินจึงยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยอยู่ การครอบครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา ของจำเลยย่อมเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาและเป็นเพียงการที่จำเลยครอบครองแทนโจทก์ซึ่งยังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 4 ตารางวาเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือครองครองแก่โจทก์ว่าจะไม่ครอบครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา  แทนโจทก์ต่อไป จึงมิใช่การครองครอบโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้จำเลยจะครองครองที่ดินจำนวน 4 ตารางวา นับติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์

                      คำถาม   ผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว หากไปตกลงจะซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินในโฉนดจะมีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 6468/2554  การแสดงเจตนาเป็นเจ้าของที่จะทำให้ผู้ครอบครองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382  นั้น ต้องเป็นการแสดงเจตนาเป็นเจ้าของตลอดระยะสิบปีที่ได้ครอบครองติดต่อกัน เมื่อครบสิบปีแล้วผู้ครองครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ครอบครองไปโดยผลของกฎหมาย เมื่อผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบว่ามีบ้านจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วถึง 22 ปี จึงมีการเจรจาที่จะให้จำเลยรับซื้อที่ดินพิพาท ดังนั้น แม้จะฟังว่าการที่จำเลยตกลงจะซื้อที่ดินพิพาทเป็นการยอมรับในกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์แต่ก็เป็นการยอมรับหลังจากที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่จำเลยได้รับโดยผลของกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

                      คำถาม  การที่ลูกหนี้ให้สิทธิแก่ธนาคารเจาหนี้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้เพื่อหักใช้หนี้ได้ทันทีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้  ถือเป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงได้ หลังจากชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 697 หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  125/2554  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 697 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จำนองก็ดี  จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหน้าที่แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งหมายความว่าเมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วก็ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่เหนือลูกหนี้ด้วยตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 วรรคสอง โดยสิทธินั้นเป็นสิทธิที่เจ้าหนี้จะบังคับเอาจากลูกหนี้ได้เช่นเดียวกับสิทธิจำนอง สิทธิจำนา จึงจำกัดเฉพาะสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้นและถ้าเจ้าหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธินั้นผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าตนต้องเสียหาย แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัทลูกหนี้ให้สิทธิโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากของตนที่มีอยู่ 1,500,000 บาท เพื่อหักให้หนี้ได้ทันทีที่บริษัทดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้  จึงเท่ากับว่าโจทก์มีสิทธิหักกลบลบหนี้เหนือเงินฝากจำนวนนั้นของลูกหนี้ ไม่ใช่สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันอาจเข้ารับช่วงหลังจากชำระหนี้แก่โจทก์ได้อีก  การที่โจทก์เพิ่งฟ้องจำเลยที่ 1 หลังจากบริษัทดังกล่าวถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้วเกือบ 9 ปี นั้น เป็นสิทธิที่โจทก์จะกระทำได้ตามปกติในอายุความเรียกร้องของตน โดยจำเลยที่ 1 ไม่อาจยกเป็นข้อโต้แย้งได้เพราะไม่ใช่การกระทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจนไม่อาจรับช่วงสิทธิที่โจทก์มีอยู่เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามนัยของมาตรา 697 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความผิด

                        คำถาม  ที่งอกริมตลิ่งกับที่ชายตลิ่ง ต่างกันอย่างไร
                        คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 589/2554  ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง ลักษณะของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ต่ำกว่าที่ดินของจำเลยร่วม 3 ถึง 5 เมตร ไม่มีลักษณะเป็นที่งอกซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเป็นที่งอก ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกออกไปจากริมตลิ่งของที่ดินจำเลยร่วมตามธรรมชาติ แต่เป็นท้องทางน้ำที่ตื้นเขินเพราะกระแสน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินและข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ติดแม่น้ำในฤดูน้ำปีปกติน้ำยังท่วมถึงทุกปีจึงเป็นที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) แม้จำเลยจะครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน แต่จะอ้างสิทธิดังกล่าวขึ้นยันโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณะประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 จำเลยจึงต้องรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท

                      คำถาม  ครอบครองที่ดินโดยเข้าใจว่าเป็นของตนเอง  แต่ความจริงเป็นของผู้อื่น จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้หรือไม่  และหากผู้มีชื่อในโฉนดจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไป ระหว่างผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ กับบุคคลภายนอกใครมีสิทธิ์ในที่ดินดีกว่ากัน
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3866/2554  จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับการยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยการครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองอย่างปรปักษ์เพราะการครอบครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้นเห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่ หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
                       โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ม. ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่มีโอกาสกระทำได้โดยง่าย กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม2

--------------------------------

                     คำถาม  ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้จำนองโดยผู้รับจำนองไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่ต่อมาผู้รับจำนองได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีแก่ผู้จำนอง  ดังนี้ การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  4015/2555  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด แม้โจทก์จะไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนองก็ตาม แต่การที่ทนายโจทก์ทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยเป็นการกระทำในนามของโจทก์ ทั้งต่อมาโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีแก่จำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของทนายโจทก์เป็นการบอกกล่าวในนามของโจทก์  ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการซึ่งให้สัตยาบันแก่การกระทำของทนายโจทก์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่งแล้ว จึงถือว่าโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา728โดยชอบแล้ว
                     
                     คำถาม  ซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต และรื้อถอนบ้านไปแล้ว หากบ้านพิพาทจำนองแก่ผู้รับจำนองไว้ก่อน สิทธิของผู้รับจำนองบ้านพิพาทจะระงับสิ้นไปหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1587/2555 โจทก์รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้าน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง และเมื่อบ้านพิพาทเป็นโรงเรืองซึ่งมีอยู่ในขณะที่จดทะเบียนจำนอง การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงบ้านพิพาทด้วย แม้จำเลยจะซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต แต่สิทธิของจำเลยได้มาภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเหตุที่จะทำให้การจำนองระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744  เท่านั้น การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทไปไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในทรัพย์จำนองระงับสิ้นไปได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่บ้านพิพาทที่จำเลยซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง  การที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป  จำเลยไม่มีสิทธิในบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์
                    จำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลมิใช่เป็นผู้จำนองหรือคู่สัญญากับโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นผู้จำนองต่อโจทก์ การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทขายให้แก่โจทก์ และเมื่อเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่รื้อถอนบ้านพิพาทเป็นต้นไป
                 
                   คำถาม  ผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากผู้เช่า (สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้) จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่าช่วงที่ผู้เช่าช่วงค้างชำระผู้เช่าเดิมอยู่ก่อนที่จะได้รับโอนสิทธิการเช่าจากผู้เช่าเดิมหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 12753/2555  หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กับโจทก์ระบุว่าผู้รับโอนสิทธิตกลงรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่า ผู้เช่า ผู้เช่าช่วง ไปทันทีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป  ย่อมหมายถึงสิทธิทั้งหลายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้โอนมีอยู่ทั้งก่อนและหลังวันดังกล่าว ให้ตกเป็นของโจทก์ผู้รับโอนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป แม้จะไม่ได้ระบุไว้ว่าหมายถึงค่าเช่าช่วงที่จำเลยค้างชำระก่อนวันโอนแต่ก็เป็นหนึ่งในสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายที่มีอยู่ เมื่อข้อสัญญาไม่ได้ระบุยกเว้นไว้ย่อมไม่แยกต่างหากจากสิทธิทั้งหลายที่จะตกได้แก่โจทก์ผู้รับโอน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระอยู่ก่อนการรับโอนสิทธิการเช่าและภายหลังการรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยตามฟ้อง
                    โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าช่วงที่จำเลยค้างชำระแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้โอนก่อนวันที่โจทก์รับโอนสิทธิและภายหลังที่โจทก์รับโอนสิทธิซึ่งจำเลยค้างชำระ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าช่วงทั้งหมดภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือเอาหนังสือบอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา และสัญญาเช่าเป็นอันระงับ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแต่ไม่ชำระตามที่กำหนด และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดการบอกกล่าว ถือว่าการเช่าช่วงรายเดือนมีการบอกกล่าวเกิน 15 วันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 วรรคสอง ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงโดยชอบแล้ว สัญญาเช่าช่วงจึงเลิกกันเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา  จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมบริวารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนออกไปจากที่ดินที่เช่า ทั้งมีสิทธิเรียกค่าเช่าช่วงค้างชำระทั้งหมดและค่าเสียหาย
                   
                    คำถาม  การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ จะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่าง ที่เป็นที่ดินมือเปล่ารวมเข้ากับระยะเวลาภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 2270/2554  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกนเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
                     
                     คำถาม  การตรวจค้น การจับ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ถูกกระทำมีสิทธิป้องกันสิทธิของตนหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2555 บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านที่มีอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำ และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่ การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนันสนุนว่าเพราะเหตุใด จึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบได้  จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ,มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 367
                     
                   คำถาม  ผู้ร่วมวางแผนในการกระทำความผิด หากขณะกระทำความผิดไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกในขณะกระทำความผิดได้ จะถือเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 74/2555  แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 และ ส. มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิดก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 และ ส. กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้ตายไป จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และ ส. ในขณะกระทำความผิดได้  จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ ส. ได้ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการ กระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และ ส. เท่านั้น หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยไม่

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม6


-----------------------

                     คำถาม  ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มา ซึ่งไม่อาจยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หากจะครอบครองปรปักษ์อีก  จะเริ่มนับระยะเวลาครอบครองเมื่อใด
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  6147/2554  ถึงแม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่จำเลยซื้อที่ดินแปลงอื่นเมื่อวันที่  30 มีนาคม 2530 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม  2533 บริษัท ค. ซื้อที่ดินมีโฉนดแปลงพิพาทจากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนซื้อขายและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อบริษัท ค.ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา ซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่ครบระยะเวลา  10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

                    คำถาม  ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ซื้อยังมิได้ชำระราคาแก่ผู้ขาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1834/2554  ป.พ.พ. มาตรา 458 บัญญัติว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อใด ทำสัญญาซื้อขายกันสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  456 วรรคหนึ่ง กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปเป็นของผู้ซื้อทันทีตั้งแต่ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ส่วนราคาทรัพย์สินที่ต้องชำระแก่กันเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งแห่งสัญญาซื้อขาย หาใช่เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินไม่  ดังนั้น การชำระราคาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเวลาโอนกรรมสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ตามแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน เมื่อโจทก์ทำสัญญาขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดทั้ง 21 แปลง ให้แก่ ป. กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของ ป. ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ ป. ยังไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ ดังนั้น สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ป. จึงมีผลสมบูรณ์เด็ดขาด และที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. มิใช่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นทายาท และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์

                    คำถาม  สัญญาเช่าระบุว่า  การที่ผู้เช่าครอบครองสถานที่เช่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า โดยผู้ให้เช่าไม่ทักท้วง มิให้ถือว่าเป็นการต่ออายุสัญญาเช่า การต่ออายุสัญญาเช่าให้กระทำเป็นหนังสือโดยแจ้งชัด กรณีดังกล่าว คู่สัญญาจะทำสัญญาเช่าต่อไปโดยไม่ใช้สิทธิให้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ได้หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  725/2554  จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 ขณะทำสัญญาเช่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิให้จำเลยเช่าอาคารพิพาท การที่โจทก์จำนองที่ดินและอาคารพิพาทแก่ธนาคารและถูกธนาคารดังกล่าวฟ้องบังคับจำนองก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับธนาคาร หามีผลกระทบสิทธิตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่
                     แม้ตามสัญญาเช่าจะระบุว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่า การที่ผู้เช่ายังคงครอบครองสถานที่เช่า โดยผู้ให้เช่ามิได้ทักท้วง มิให้ถือว่าสัญญาเช่าได้ขยายกำหนดอายุเวลาการเช่าออกไป การต่ออายุสัญญาเช่าให้กระทำเป็นหนังสือโดยคู่สัญญาโดยแจ้งชัดก็ตาม แต่การที่จำเลยเบิกความยอมรับว่า ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยติดต่อขอทำสัญญาเช่ากับโจทก์ต่อไปเพื่อต้องการทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ โจทก์ไม่ยอมต่อสัญญาเช่าให้แก่จำเลย แต่ให้ทนายโจทก์ทวงถามค่าเช่าจากจำเลย ส่วนโจทก์เบิกความว่าเหตุที่ไม่่มีการทำสัญญาเช่าภายหลังครบกำหนดเวลาเช่าเนื่องจากโจทก์ติดต่อให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าแล้ว  แต่จำเลยไม่ยอมทำสัญญาเช่าและได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าอันเป็นการแสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยประสงค์ทำสัญญาเช่าต่อไป โดยไม่ใช้สิทธิให้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ  จึงถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 แล้ว จำเลยจึงต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์


                      คำถาม   การนับระยะเวลาการได้ภาระจำยอมโดยอายุความ  ผู้รับโอนที่ดินจะนับระยะเวลาครอบครองต่อจากเจ้าของเดิมได้หรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1031/2554  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน(ส.ค.๑) และที่ดินมีหลักฐานตามแบบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) โดยบิดามารดาของเจ้าของที่ดินและชาวบ้านใช้ทางพิพาทซึ่งผ่านที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยเป็นทางออกสู่สาธารณะเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ปี  2498 เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินแล้วโจทก์ทำถนนขึ้นมาผ่านที่พิพาทเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ไม่ห้ามปรามกลับปล่อยให้โจทก์ใช้ทางต่อไปเวลาถึง 8 ปีเศษ  แม้โจทก์จะซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) และที่ดินมีหลักฐานตามแบบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ต่อจากเจ้าของเดิมนับถึงวันฟ้องจะยังไม่ครบ 10 ปี แต่เมื่อเจ้าของเดิมได้ใช้ทางพิพาทโดยเจตนาให้เป็นทางเข้าออกประจำมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงสามารถนับระยะเวลาการครอบครองต่อจากเจ้าของเดิมได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1385 ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์


                       คำถาม   การได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินที่มิได้มีการนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  5215/2554  จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากธนาคาร ท. เจ้าของที่ดิน จึงก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวจากธนาคาร ท. และมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท  จำเลยทั้งสองได้รับแล้ว  ดังนี้  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1413 บัญญัติว่า ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีกำหนดเวลาไซร้ ท่านว่าคู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายตามสมควร การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวได้จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินและจำเลยทั้งสองได้รับแล้ว ถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสิทธิเหนือพื้นดินพิพาทของจำเลยทั้งสองที่ได้มานั้น มิได้มีการนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้สิทธิเหนือพื้นดินของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1298 ประกอบมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากธนาคาร ท.

                        คำถาม  สัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลา หากในสัญญามีข้อตกลงว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงผู้เช่าต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปและส่งคืนสถานที่เช่าในสภาพเรียบร้อยให้แก่ผู้ให้เช่าภายใน  30 วัน นับแต่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงจะถือว่าเป็นสัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 1932/2554  สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ที่มีข้อตกลงด้วยว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด  ผู้เช่าจะต้องขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกไป และส่งคืนสถานที่เช่าในสภาพเรียบร้อยให้แก่ผู้เช่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงนั้น เป็นเพียงกำหนดระยะเวลาให้ผู้เช่าดำเนินการขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวาร และจัดการให้สถานที่เช่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเพื่อส่งคืนแก่ผู้ให้เช่าเท่านั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 564 ซึ่งสัญญาเช่าย่อมระงับสิ้นไปเมื่อสิ้นระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้คือวันที่ 31 มีนาคม 2549 โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนหรือต้องแจ้งว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าข้อใด การที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าและให้จำเลยส่งมอบสถานที่เช่าคืนภายใน  15 วัน ถือเป็นเพียงการแจ้งยืนยันการสิ้นสุดของสัญญาเช่าให้ชัดแจ้งเท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าโดยไม่ชอบหาได้ไม่

                     คำถาม   ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครอบปรปักษ์ หากผู้มีชื่อในโฉนดร้องคัดค้าน ต่อมาศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาล จะถือว่าเป็นการครอบครองโดยสงบหรือไม่ และจะมีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองที่ดินหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                     คำพิพากษาฎีกาที่  3864/2554  การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบตาม ป.พ.พ.   มาตรา 1382 นั้น จะต้องหมายความว่า ครอบครองอยู่ได้โดยไม่ถูกกำจัดให้ออกไป การที่เพียงแต่โต้เถียงสิทธิกันนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบได้ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องเมื่อวันที่  27 สิงหาคม 2541 จึงเป็นเพียงโต้เถียงสิทธิกันเท่านั้น อีกทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในคดีเดิมแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ฟ้องขับไล่ผู้ร้องแต่อย่างใด คงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา สิทธิครอบครองของผู้ร้องหาได้ถูกกำจัดให้ออกไปไม่  จึงมิใช่เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้องอันจะถือว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบแล้วได้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นครั้งแรกเมื่อวันที่  16 มิถุนายน 2541 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการร้องขอครอบครอบปรปักษ์ต่อไป  ทั้งไม่มีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องด้วย  ดังนั้น นับแต่ผู้คัดค้านได้สิทธิในที่ดินพิพาทคือวันที่ 13 สิงหาคม 2533 จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นวันที่ 25 มิถุนายน 2544 เป็นเวลาเกิน 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382