วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

เก็งเนติฯ กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค3 ภาค2 สมัยที่70

      เก็งเนติฯ วิแพ่ง ภาค3 ภาค2 สมัยที่70
----------------------------

   กรณีที่จำเลยแถลงไม่ติดใจที่จะยกเป็นข้อต่อสู้หรือสละข้อต่อสู้นั้นแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาอีก
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๒๐๖/๒๕๔๐ จำเลยยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นการมอบอำนาจทั่วไป ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยว ด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แต่ต่อมาได้แถลงไม่ ติดใจที่จะต่อสู้ต่อไป ประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำแถลงของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นฎีกาตามมาตรา ๒๔๙ วรรคสอง เพราะตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ และเมื่อประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องยุติไปตามคำแถลงของจำเลย จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๔๙ วรรคแรก

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๒ จำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้อง โดยโต้เถียงความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามได้แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว และจำเลยทั้งสามมิได้สืบพยานอีกด้วย คดีในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ติดใจโต้เถียงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้อง คดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และต้องฟังว่าโจทก์มอบอำนาจฟ้องถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (นอกจากนี้ขอให้ดู คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๕๓/๒๕๕๒ เป็นกรณีที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย  จำเลยลงชื่อเพียงให้ความยินยอม)

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ ผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๙๒๗ ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา ๙๓๗ ธนาคาร น. ย่อมอยู่ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย ตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ ๑ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคาร น. ตาม มาตรา ๙๖๗ วรรคสาม ดังนั้น เมื่อธนาคาร น. ได้จ่ายเงินให้บริษัท ต. ซึ่งเป็นผู้รับเงินไปแล้ว ธนาคาร น. จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง
        ***คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๔๐ และที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๒   แตกต่างจาก คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ ที่ว่า คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๔๐ และ ที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๐ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องตามกฎหมายวิธีสบัญญัติเมื่อสละแล้วก็ยุติ
        แต่คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๐๕๔/๒๕๕๐ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องตามกฎหมายสาระบัญญัติ คือ โจทก์ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ แม้จำเลยจะเคยสละประเด็นพิพาทข้อนี้ไปแล้ว ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ (แม้สละศาลก็หยิบยกได้)

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๕๙๕/๒๕๕๖ ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบ แม้จำเลยจะแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าขอสละประเด็นดังกล่าว ไม่ติดใจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมมีอำนาจยกขึ้นได้


อ้างอิง รวมคำบรรยายเนติฯ วิชา กฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค3 (ศอ.อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) เล่มที่8 การบรรยายครั้งที่7 ภาค2 สมัยที่70 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น