วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริง แต่แจ้งข้อเท็จจริงเท็จ ผิดฐานอะไร?

 

       มาตรา ๑๗๓ เป็นกรณีไม่มีการกระทําผิดเกิดขึ้น แต่ถ้ามีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริง แต่แจ้งข้อเท็จจริงให้ผิดออกไปเป็นกรณีตามมาตรา ๑๗๒

        ฎีกาที่ ๒๒๔๙/๒๕๑๕ นาย ก. ถูกคนร้ายฆ่าตาย จําเลยเห็น นาย ส. กับ ฮ. ร่วมกันฆ่านาย ก. โดยไม่ได้เห็นนาย ท. ร่วมกระทําผิดด้วย แต่จําเลยไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตํารวจที่ออกไปสืบสวนและให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเห็นนาย ท. ร่วมกับคนร้ายดังกล่าวกระทําผิด จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา เป็นความผิดตามมาตรา ๑๗๒

        ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงตามฎีกามีการกระทําผิดเกิดขึ้น คือมีการฆ่ากันแล้ว จึงมีการแจ้งเท็จเกี่ยวกับตัวคนร้าย กรณีนี้เข้าองค์ประกอบของมาตรา ๑๗๒


อ้างอิง :  กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

รู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีการชิงทรัพย์ ผิดฐานอะไร?

           ฎีกาที่ ๗๗๙๙/๒๕๔๓ การที่จําเลยรู้ว่ามิได้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้น แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายสองคนร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ที่จําเลยเช่าซื้อมาจากบริษัทไปเพื่อมิให้บริษัทดังกล่าวยึดรถจักรยานยนต์คืนจากจําเลย เนื่องจากจําเลยค้างชําระค่าเช่าซื้อ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๓


อ้างอิง : ฎีการวมคำบรรยายเนติฯ เล่มที่12 กฏหมายอาญา มาตรา1-58,107-208 (อ.ชาตรี สุวรรณิน) สมัยที่74

ขู่ว่าจะเปิดเผยรูปภาพและวิดีโอ ความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ผิดฐานอะไร?

 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๑๘๘/๒๕๖๑ จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับ รูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทําของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทําให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทําของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์

ขู่ว่าจะตบถ้าไม่ให้ค่าเฝ้ารถและยังนําเก้าอี้ มาขวาง ผิดฐานอะไร?

 

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๖๓/๒๕๕๑ ผู้เสียหายนํารถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยนําเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๐

 

        ข้อสังเกต เรื่องนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยตามมาตรา ๓๓๗ เท่านั้น มิได้ฟ้องข้อหาชิงทรัพย์มาด้วย**** การขู่ว่าจะตบถ้าไม่ให้ค่าเฝ้ารถและยังนําเก้าอี้ มาขวาง แสดงว่าจำเลยประสงค์จะให้ผู้เสียหายยื่นเงินค่าจอดรถในเวลาเดียวกันนั้น การกระทําของจำเลยจึงน่าจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

ตกลงยินยอมตามที่ขู่แล้วเอาตำรวจมาจับ เป็นกรรโชกหรือไม่?

 

ถ้าตกลงยินยอมแล้วแม้ต่อมาจะเอาตํารวจมาจับกุมก็เป็นความผิด สําเร็จ

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๔๓/๒๕๓๐ เมื่อผู้เสียหายได้อ่านจดหมายกรรโชก ของจําเลยแล้วจึงตกลงยอมให้เงินตามที่เรียกร้องเนื่องจากเกรงจะได้รับอันตราย การที่ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดแก่ตน ก็เป็นการแจ้งความเพื่อขอความคุ้มครองเจ้าพนักงานตามปกติ มิใช่ผู้เสียหายไม่ยอมทําตามการขู่เข็ญ การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดสําเร็จไม่ใช่อยู่ขั้นพยายาม

ตกลงมอบเงินให้แต่เป็นการวางแผนเพื่อจะจับกุม ผิดฐานกรรโชก หรือไม่?

 

กรณีที่ตกลงมอบเงินให้แต่เป็นการวางแผนเพื่อจะจับกุมเป็นเพียงพยายาม

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๓๙/๒๕๒๗ จําเลยเขียนจดหมายใช้ชื่อว่า ส. ถึง ผู้เสียหายให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จําเลยจํานวนหนึ่ง หากไม่ให้จะฆ่าผู้เสียหาย บุตร ภริยาและอื่น ๆ ผู้เสียหายได้ไปปรึกษากับตํารวจ ในที่สุดวางแผนส่งเงินมี กระดาษยัดใส่โดยเอาธนบัตรฉบับละ ๕๐๐ บาท ปะหน้าไว้ ๔ ใบ ไปวางไว้ที่นัดหมายตามที่จดหมายบอก พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายนําความเข้าแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อทําวางแผนจับกุมจําเลย แสดงว่าผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินตามขู่ การกระทํา ของจําเลยเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก

เขียนจดหมายไปขู่เข็ญผู้เสียหาย ได้ความว่า บุตรของผู้เสียหายเป็นคนบอกให้เขียน ผิดฐานกรรโชกหรือไม่?

 

       ประเด็น ปัญหาว่าถ้าขู่ว่าจะทําอันตรายต่อบุคคลที่สาม หากผู้ที่ถูกข่มขืนใจไม่ ทราบเรื่อง และเกิดความเกรงกลัวจึงให้ประโยชน์ ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินไป ทั้ง ๆ ที่ผู้ขู่กับบุคคลที่สามได้สมยอมกันเพื่อทําให้ผู้ที่ถูกข่มขืนใจ เกิดความเกรงกลัว ว่าจะเกิดอันตรายต่อบุคคลที่สาม เช่นนี้จะเป็นความผิดฐานกรรโชกหรือไม่

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๘/๒๕๐๓ (ประชุมใหญ่) จําเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็ญผู้เสียหายให้ส่งเงิน ๓,๐๐๐ บาท ไปให้จําเลย มิฉะนั้นบุตรผู้เสียหายจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แม้จะได้ความว่าบุตรของผู้เสียหายเป็นคนบอกให้จําเลยเขียนจดหมายไปขู่เข็ญบิดาเพื่อหลอกลวงให้บิดาส่งเงินมาให้ ก็ยังถือว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนใจเพราะในแง่ของผู้เสียหายยังคงถือว่าบุตรผู้เสียหายเป็นบุคคลที่สามตามมาตรา ๓๒๗ วรรคต้น จําเลยจึงมีความผิดฐานกรรโชกตาม มาตรา ๓๓๗

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ อ.เอื้อน ขุนแก้ว(ภาคปกติ) 3 ธ.ค 62 สมัยที่72


สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ ฟื้นฟูกิจการ สมัยที่72  

อ.เอื้อน ขุนแก้ว(ภาคปกติ) 3 ธ.ค 62 

----------------

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3195/2549 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ส่วนศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และตั้งผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2543 และต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546 ดังนี้ เมื่อหนี้คดีนี้อันเกิดจากมูลละเมิดเกิดขึ้นหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และแผนพื้นฟูกิจการมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 ลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจได้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/62 และไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/12 (4)

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3443/2545 การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์ เพียงแต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง(1) ห้ามมิให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อน การที่โจทก์ไม่ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอถอนฟ้องให้จำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ศาลไม่อาจสอบถามจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ยื่นคำให้การแล้วได้นั้น ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียได้ แต่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่ได้ยื่นคำให้การไม่ได้เพราะมาตรา 175 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าเป็นการถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องโดยยื่นเป็นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล ดังนั้น คำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นต้องสั่งอนุญาตเพราะเป็นคนละส่วนกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมดและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เพราะเหตุทิ้งฟ้อง


           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2559 พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับของมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด... (5) ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้..." เป็นบทกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ หาได้มีผลต่อบุคคลอื่นที่มิได้เป็นลูกหนี้ที่มีการฟื้นฟูกิจการด้วยไม่ จึงมีข้อจำกัดสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาห้ามบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เมื่อปรากฏว่าระหว่างฟื้นฟูกิจการนั้นผู้ร้องเป็นเพียงผู้เช่าที่ครอบครองเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลย เครื่องจักรดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่อยู่ในกองทรัพย์สินของผู้ร้องที่จะได้รับความคุ้มครองเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดร้อยห้าสิบเจ็ดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินของจำเลยตามหมายบังคับคดีได้ กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์สินตามคำร้อง

           คำพิพากษาฎีกาที่ 5230/2560 เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา และภายหลังศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวของจำเลย
           ต่อมาศาลยกเลิกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และจำเลยทำนิติกรรมหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลยังมิได้มีคำสั่งให้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวมีผลต่อไป จำเลยย่อมมีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนเองตามปกติได้

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2546 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่ง เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของผู้ร้องตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/13 (1) ประกอบมาตรา 90/12 (4) เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ถือว่าเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/79 แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยอ้างว่า มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่คำร้องได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มูลหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ทั้งเป็นคำสั่งซึ่งกระทำโดยผู้พิพากษาคนเดียวจึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26
           ผู้ร้องอ้างว่า ลูกหนี้ผิดสัญญา จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกหนี้ ย่อมเป็นกรณีที่ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน จึงต้องห้ามตามมาตรา 90/12 (4) แต่ผู้ร้องอาจมีคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนได้ตามมาตรา 90/13 หากข้อจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นในการฟื้นฟูกิจการ คดีนี้เมื่อมูลหนี้ระหว่างผู้ร้องและลูกหนี้เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอคุ้มครองสิทธิด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 ถือได้ว่าการจำกัดสิทธิมิให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/13 (1) ศาลฎีกาเห็นสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 90/13 ประกอบมาตรา 90/12 (4)


-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์* ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดททุกวัน.... รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค3-4 อ.จิตฤดี (ภาคค่ำ) ครั้งที่1 สมัยที่72




ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.อาญา ภาค3-4 สมัยที่72
อ.จิตฤดี วีระเวสส์ (ภาคค่ำ) 30 พ.ย 62 ครั้งที่1

--------------------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2549 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีนด้วยวิธีการคือ นำเอายาแก้ปวดทั่วไปมาบดให้ละเอียดกับครกและผสมสีผสมอาหารสีส้ม จากนั้นจึงนำมาบดอัดเป็นเม็ด ฟ้องของโจทก์จึงมิได้บรรยายให้เห็นว่าสิ่งที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตมีส่วนประกอบของเมทแอมเฟตามีน เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อกฎหมายของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ก็ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดดังกล่าวมิได้ เนื่องจากฟ้องโจทก์ในส่วนผลิตไม่ชอบเสียแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนเสพเมทแอมเฟตามีนที่ได้ผลิตดังกล่าวจึงไม่ชอบไปด้วย (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2549)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2552 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งเพื่อให้ศาลหลงเชื่อว่าที่ดินเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้ ม. ทำให้โจทก์ไม่ทราบคำร้อง และนำภาพถ่ายโฉนดปลอมอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความคิด แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินเป็นของ ม. จริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า ม. เป็นผู้ถือสิทธิ์ในที่ดินและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องโจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารปลอมเข้าเป็นเอกสารท้ายคำร้องเพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของ ม. เมื่ออ่านฟ้องดังกล่าวรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งมีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินเป็นของ ม. หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว
จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จพร้อมกันไปกับการกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมโดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12082/2557 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันตัดต้นแสมของผู้เสียหาย และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 83, 358, 362, 365 แม้ในคำฟ้องจะไม่ได้บรรยายมาด้วยว่าเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขก็ตาม แต่ในคำฟ้องระบุว่ามีการเข้าไปตัดฟันต้นแสม ย่อมมีความหมายบ่งชี้ชัดอยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขอยู่แล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
เมื่อตามฟ้องของโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์รวมกันมาเป็นกรรมเดียว และคำขอท้ายฟ้องก็มิได้ขอให้ลงโทษในความผิดดังกล่าวทุกกรรมตาม ป.อ. มาตรา 91 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษคนละ 2 ปี ส่วนความผิดฐานบุกรุกให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นลงโทษในฐานความผิดตามฟ้องจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินกำหนดดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่เป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 แม้โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คำร้องดังกล่าวระบุขอให้รับรองให้ฎีกาเฉพาะคำขอส่วนแพ่ง และผู้พิพากษามีคำสั่งว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสู่ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ จึงเป็นการที่ผู้พิพากษาให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น ที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานหนัก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว


คำถาม การพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบตามกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเอกสารท้ายคำฟ้องหรือไม่

คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561 (ฎีกาใหม่)  การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องและคำเบิกความของโจทก์มาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องด้วย

การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2560***  คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก.ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง แต่จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก. เรียกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล ก. แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่าขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับ หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้จำเลยก็จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้ เป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในการบริหารราชการในภาพรวมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร แต่ใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์* ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดททุกวัน.... รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค1 อ.พงษ์เดช วานิชกิตติกูล (ภาคค่ำ) ครั้งที่1 สมัยที่72




สรุปประเด็น เก็งเนติ เน้นประเด็นสำคัญ ท่องพร้อมสอบ อัพเดท*
ฎีกาห้องบรรยายเนติฯ วิ.แพ่ง ภาค1 สมัยที่72
อ.พงษ์เดช วานิชกิตติกูล (ภาคค่ำ) 30 พ.ย 62

คำพิพากษาฎีกาที่ 2153/2555 บุคคลที่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรม ต้องเป็นบุคคลตามที่ ป.พ.พ.มาตรา175 ระบุไว้เท่านั้น บุคคลอื่นแม้มีส่วนได้เสียก็ไม่มีสิทธิ เมื่อขณะทำนิติกรรม ห.เพียงแต่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เท่านั้น แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ ห.เป็นคนไร้ฯหรือคนเสมือนฯ ต้องถือว่า ห.สามารถทำนิติกรรมต่างๆได้เอง โจทก์แม้เป็นบุตร แต่เมื่อ ห.ยังมีชีวิตอยู่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3574/2542 ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้ว โจทก์จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นไป อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกันต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตรา สูงกว่ามาใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาปัญหานี้ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้จำเลย ใช้แทนให้สูงขึ้นได้ การรื้อถอนบ้านจำเลยออกจากที่ดินพิพาทนั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้วโจทก์จะรื้อถอนบ้านของจำเลยเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลย ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

-----------------

แนะนำ :-
-  ทีเด็ด*ถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น สรุปย่อ เก็งท่องพร้อมสอบ เตรียมสอบเนติฯ ภาค 2 สมัยที่ 72 อัพเดท ที่ https://www.lawsiam.com/?name=thaibar2

- ร่วมสนับสนุนเว็บไซต์* ดาวน์โหลดข้อมูลเตรียมสอบ กลุ่มวิแพ่ง - วิอาญา  เก็งพร้อมสอบ พร้อมเก็บตก อัพเดททุกวัน.... รายละเอียด ที่  https://www.lawsiam.com/?file=donate