วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559

            คำพิพากษาฎีกาที่ 642/2559 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้และไม่ได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้างานฝ่ายควบคุมคุณภาพ มีอำนาจอนุมัติการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีอำนาจรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานในกรณีพนักงานลืมตอกบัตร ทั้งต้องดูแลควบคุมให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุดตรงตามที่ขออนุมัติ กลับจงใจลงลายมือชื่อรับรองเวลาทำงานในบัตรตอกเวลาทำงานของ ท. อันเป็นความเท็จ เช่นนี้การกระทำของโจทก์ถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่อยู่ในความหมายของการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว การที่จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาแก่ ท. เพราะผลจากการร้องเรียนของผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้มีการตรวจสอบและโจทก์แก้ไขเอกสารเสียก่อน ท. ยังไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำของโจทก์ก็หาทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตไปได้

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556

           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21329/2556 การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้ แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ

ฎีกาประกันภัย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559)

          ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยกรณีความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559 ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

        สมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวันก็เป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสองได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555 การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

ฎีกาเก็ง เนติฯ วิ.อาญาภาค 1-2 (ภาคปกติ) อ.จุลสิงห์ 27 พย 60 ครั้งที่2 สมัยที่70

ฎีกาเก็ง เนติฯ วิ.อาญาภาค 1-2 (ภาคปกติ) 
  อ.จุลสิงห์  วันที่ 27 พย 60 ครั้งที่2 สมัยที่70
--------------------

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1339/2557 ผู้เสียหายถูกคนร้ายทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงเป็นกรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ ถ้าผู้เสียหายจะเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการต้องกระทำโดยผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเองโดยมีการพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในใบแต่งทนายความ แม้จะมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือด้วยตนเอง เนื่องจากผู้เสียหายไม่รู้สึกตัวและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ จึงมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เป็นการไม่ถูกต้อง ยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วม จึงไม่มีสิทธิฎีกา และแม้กรณีเช่นว่านั้นสามารถที่จะแก้ไขความบกพร่องได้ แต่คดีล่วงเลยมานานมากแล้ว ทั้งการพิจารณาคดีก่อนหน้านั้นของโจทก์ร่วมมิได้เสียไป ประกอบกับพนักงานอัยการก็ว่าคดีต่างโจทก์ร่วมอยู่แล้ว จึงเห็นควรไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งผู้เสียหายแก้ไขข้อบกพร่องในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการให้บริบูรณ์ใหม่เสียก่อน และสมควรพิจารณาคดีต่อไป