วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาบรรทุกเกิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559)

       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
     การที่จำเลยใช้รถบรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ถึง 20,750 กิโลกรัม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน้ำหนักบรรทุกของรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจะมีน้ำหนักเท่าใดก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยไม่นำพาว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสภาพทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม และมีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของสาธารณชน ทั้งทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางสัญจรไปมาต้องเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากสภาพของยานพาหนะที่บรรทุกน้ำหนักเป็นจำนวนมากจนเกินกว่าที่ผู้ขับจะควบคุมให้แล่นไปได้อย่างปลอดภัย พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรงไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ แต่เห็นสมควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ตาม ป.อ. มาตรา 23

เจาะฎีกาเนติฯ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 1-2 (ภาคค่ำ) (ครั้งที่ 1) สมัยที่ 2/70 อ. สุรสิทธิ์ แสงโรจนพัฒน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560


เจาะฎีกาเนติฯ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาภาค 1-2 (ภาคค่ำ) (ครั้งที่ 1) สมัยที่ 2/70
 อ. สุรสิทธิ์ แสงโรจนพัฒน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560  
-----------------------------

           ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง 
            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2555 ผู้ร้องมิใช่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง เพียงแต่อ้างสิทธิในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่ถูกจำเลยลักไปซึ่งได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยและมาใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยเท่านั้น ความเสียหายของผู้ร้องที่อ้างว่าได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปนั้นจึงเกิดขึ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย มิใช่เกิดจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดของจำเลย สิทธิเรียกร้องความเสียหายของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดเช่นเดียวกันกับผู้เสียหายทั้งสอง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ราคาที่ผู้ร้องได้ชดใช้ไปตามสัญญาประกันภัยได้ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์รถยนต์คือผู้เสียหายทั้งสอง และพนักงานอัยการโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเรียกให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น โดยเป็นการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 43 และเมื่อพิจารณาประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สิทธิของผู้เสียหายที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตราดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวโดยแท้ของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม มาตรา 4, 5 และ 6 เท่านั้น ผู้เสียหายที่จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 50 จึงหมายถึงผู้เสียหายในคดีอาญาเท่านั้น

วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558 สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
           ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา

ฎีกาที่ 3839/2560 - พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 มาตรา 25 (4)

คำพิพากษาฎีกาที่ 3839/2560 "... คำขอบังคับส่วนนี้ มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขาย รวมราคาซื้อขายเป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดี จึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)"


วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง