วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

แจก ถอดไฟล์เสียง เนติ วิ.แพ่ง ภาค2 อ.นพพรฯ (ภาคปกติ) ครั้งที่1 เนติ สมัยที่ 70

 ถอดไฟล์เสียง เนติ วิ.แพ่ง ภาค2 อ.นพพรฯ  (ภาคปกติ) ครั้งที่1 เนติ สมัยที่ 70 



วิธีใช้งาน : เพียงเข้าระบบ+กดดาวน์โหลดตามลิงค์ข้างต้น.

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70

ฎีกาเด่น ถอดไฟล์เสียง สัมมนาวิ.แพ่ง (ภาคค่ำ) อ.อดุลย์ ขันทอง 
วันที่ 22 พ.ย 60 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
.............................


           ในคดีแพ่ง ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566/2539 ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายแต่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การและยกขึ้นอุทธรณ์แล้วแต่เมื่อผู้ร้องสอดมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นผู้ร้องสอดจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และเมื่อผู้ร้องสอดฎีกาปัญหานี้อีกจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

            ในคดีอาญาปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
                คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 822/2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชาและฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี โดยปรับบทว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานพยายามส่งออก ให้ลงโทษฐานพยายามส่งออกซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โดยยังคงให้ลงโทษจำเลยฐานนำเข้ายางกัญชา และฐานพยายามส่งออกยางกัญชา จำคุกกระทงละ 2 ปี แต่ปรับบท เป็นว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกับฐานนำเข้า ให้ลงโทษฐานนำเข้าอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวคือนำยางกัญชา ของกลางจำนวนเดียวกันจากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินเพื่อไปเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยจำเลยครอบครองยางกัญชาจำนวนดังกล่าวต่อเนื่องกันจนกระทั่งถูกจับการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมียางกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกรรมเดียว ไม่เป็นความผิดฐานนำเข้าและพยายามส่งออกยางกัญชาดังกล่าวแต่อย่างใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นอ้างได้แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่20 ธันวาคม 2539 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ ก. จำเลยมียางกัญชา จำนวน 15 แท่ง น้ำหนัก 4,974 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ข.จำเลย นำยางกัญชาตามข้อ ก. จากประเทศเนปาลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบิน และ ค. หลังจากนั้น จำเลยส่งยางกัญชาซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองตามข้อ ก. และนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตามข้อ ข. ออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยทางเครื่องบินไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง..." เมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
      พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า "...หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้..." แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ หากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ

คำวินิจฉัยคดีปกครอง 2560 ที่น่าสนใจ 

       คำวินิจฉัยที่ 5/2560  แม้สัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. กับการประปาส่วนภูมิภาค จะเป็นสัญญาทางปกครอง และสัญญาค้ำประกันของธนาคารโจทก์ต่อการประปาส่วนภูมิภาคที่ค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ในการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาหลัก ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองด้วย แต่สัญญาค้ำประกันของจำเลยเป็นสัญญาที่จำเลยทำต่อธนาคารโจทก์เพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. หากผิดนัดไม่ใช้เงินแก่การประปาส่วนภูมิภาคจนเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ต้องชำระหนี้แทน จำเลยจะชำระเงินให้แก่ธนาคารโจทก์แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มิใช่สัญญาที่จำเลยทำกับการประปาส่วนภูมิภาคว่าหากธนาคารโจทก์ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จำเลยจะเข้าชำระหนี้แทน สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาค้ำประกันของผู้ค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา แต่เป็นสัญญาที่จำเลยทำกับธนาคารโจทก์โดยยินยอมจะชำระหนี้ให้แก่ธนาคารโจทก์เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ซึ่งแยกออกได้จากสัญญาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ทำกับการประปาส่วนภูมิภาค และสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารโจทก์ทำต่อการประปาส่วนภูมิภาคเพื่อค้ำประกันห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. อันเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเอกชน และมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นการค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความสัมพันธ์ของเอกชนในทางแพ่ง ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 9/2560 คดีที่เอกชนผู้ซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรรยื่นฟ้องเอกชนเจ้าของโครงการ จำเลยที่ ๑ หน่วยงานทางปกครอง จำเลยที่ ๒ ว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ หลีกเลี่ยงการขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินในโครงการ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ทั้งจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมโอนที่ดินส่วนที่เป็นถนนซึ่งเป็นภาระจำยอมของโครงการให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินสังกัดจำเลยที่ ๒ รับจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตกลงไปขออนุญาตจัดสรรที่ดินและไม่ได้ตกลงจะให้บริการสาธารณูปโภคหรือจะให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ไม่เคยสัญญาหรือแสดงต่อสาธารณะว่าจะจัดให้โครงการเป็นหมู่บ้านจัดสรร และไม่ใช่ผู้จัดสรรที่ดิน ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิโอนที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การโอนและการจดทะเบียนโอนชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อพิพาทอันเป็นประเด็นแห่งคดีในส่วนที่โจทก์ทั้งสาม ขอให้เพิกถอนการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินซึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๘๖ และพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ หรือไม่ หากที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ ๑ มีข้อจำกัดสิทธิในการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลจะพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่สังกัดจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองรับจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันจะเป็นเหตุให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามซึ่งมีข้อจำกัดสิทธิในการโอนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ เมื่อมูลความแห่งคดีในส่วนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินพิพาท และสิทธิของจำเลยที่ ๑ ในการโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์สินของตน จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนข้อพิพาทตามคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการดูแลสาธารณูปโภคที่อยู่ในโครงการนั้น เป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน


       คำวินิจฉัยที่ 12/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดา เจ้าของที่ดิน น.ส. ๒ แต่จำเลยนำที่ดินบางส่วนของโจทก์ไปจัดสรรและออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และไปขอออกเป็นโฉนดที่ดิน เมื่อโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ออกให้ ขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ก. และโฉนดที่ดินส่วนที่ทับ น.ส. ๒ ของโจทก์ จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินในเขตปฏิรูป จำเลยจึงมีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาทำการปฏิรูปได้ การขอออกโฉนดและการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าตามคำฟ้องและคำให้การคู่ความต่างฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองมาก่อนตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป โดยไม่จำต้องวินิจฉัยการกระทำของหน่วยงานทางปกครองว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

     คำวินิจฉัยที่ 13/2560  คดีที่เอกชนทั้งสองยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันรังวัดและออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและปักป้ายประกาศว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินพิพาท ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและให้คืนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 14/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ผู้ฟ้องคดีซื้อที่ดิน น.ส. ๓ ก. จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดีและยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่ารังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ทั้งแปลง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เอกสารสิทธิในที่ดินเป็นเอกสารสิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถออกโฉนดที่ดินได้ เพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มิชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ที่คัดค้านการออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ ให้การว่าสาเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์คัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์และผู้ฟ้องคดีนำรังวัดทับที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัด จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 19/2560 คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินบำนาญที่ได้รับไปตามหนังสือสัญญาการใช้เงินคืนที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์เพื่อขอรับบำเหน็จบำนาญในระหว่างกระบวนการทางวินัยยังไม่ถึงที่สุดโดยมีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกัน เป็นการฟ้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

        คำวินิจฉัยที่ 22/2560 คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และครอบครัวเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนด แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งว่าโฉนดออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงทำบันทึกคืนโฉนดที่ดินให้กลับคืนเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตรวจสอบพบว่า โฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ราชพัสดุ การคืนโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงเป็นการคืนโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ขอให้คืนโฉนด ให้เพิกถอนคำสั่งเพิกถอนโฉนด และแก้ไขโฉนดที่ดินพิพาทให้เป็นเช่นเดิม หากไม่คืนหรือไม่อาจคืนได้ขอให้ถือว่าโฉนดที่ดินพิพาทฉบับเจ้าของที่ดินสูญหาย พร้อมทั้งให้ออกโฉนดใบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่ดินตามโฉนดพิพาทออกทับที่ราชพัสดุ (สนามยิงเป้า) การเพิกถอนโฉนดชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่ง และไม่มีเหตุที่จะต้องคืนโฉนด เห็นว่าเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่ใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ถอดคำบรรยายเนติ วิ.แพ่ง ภาค4 อ.สมพงษ์ เหมวิมล 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) เนติ ภาค2/70 ครั้งที่1

ถอดคำบรรยายเนติ วิ.แพ่ง ภาค4 อ.สมพงษ์ เหมวิมล  
 วันที่ 22 พ.ย 60 (ภาคค่ำ) เนติ ภาค2/70 ครั้งที่1



คำแนะนำการใช้งาน : เพียงเข้าระบบ +กดดาวน์โหลด ตามลิงค์ข้างต้น.



ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ) วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70

ฎีกา 5 ดาว ถอดคำบรรยายเนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ)
วันที่ 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70
--------------------

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2551 (อ.เน้นออกสอบ) จำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนประสานงานเพื่อผลประโยชน์ของจำเลยในการได้รับจ้างงานในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อมาจำเลยได้เข้าเป็นคู่สัญญากับกิจการร่วมค้าไอทีโอโดยเป็นผลจากการดำเนินการของโจทก์ตามสัญญาตั้งตัวแทน โจทก์มีสิทธิเรียกร้องอันเป็นมูลหนี้ตามสัญญาดังกล่าวที่จะฟ้องร้องจำเลยได้ คดีของโจทก์จึงมีมูลที่จะฟ้องร้อง ส่วนปัญหาว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาตั้งตัวแทน หรือจำเลยได้รับการจ้างเหมาช่วงงานดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์หรือไม่ ยังเป็นที่โต้เถียงกันซึ่งต้องนำสืบพยานหลักฐานกันในชั้นพิจารณาต่อไป แม้จำเลยไม่ตั้งใจยักย้ายทรัพย์สินของตนไปให้พ้นจากอำนาจศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) แต่การที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทยแม้เคยมีก็ปิดสำนักงานสาขาไปแล้วเพราะใบอนุญาตประกอบกิจการของคนต่างด้าวไม่ถูกต้อง และการที่จำเลยไม่มีทรัพย์สินใดในประเทศไทย ทั้งจำเลยไม่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยพอที่โจทก์จะบังคับคดีได้ ย่อมเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นการยุติธรรมและสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 255 (1) (ข) จึงนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่โจทก์ขอมาใช้ในการสั่งให้อายัดเงินค่าจ้างที่กิจการร่วมค้าไอทีโอบุคคลภายนอกจะชำระให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1)

.


ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

ฎีกาการเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551)

      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551 การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้

ฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ) 22 พย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 สมัยที่ 70

ฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ วิชา วิ.แพ่ง ภาค 4 (ภาคค่ำ)
วันที่ 22 พ.ย 60 อ.สมพงษ์ เหมวิมล ภาค2 ครั้งที่ 1 สมัยที่ 70
-----------------
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2504 ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นโรงเรือนมี 2 ชั้น แม้ชั้นบนกับชั้นล่างมีทางเข้าต่างหากจากกัน และชั้นบนมี 11 ห้อง ใช้เป็นโรงแรม ชั้นล่างมี 4 ห้อง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบริวาร แต่มีสภาพเป็นโรงเรือนเพียงหลังเดียวไม่สามารถที่จะแยกจากกันได้ ผู้ร้องขับทรัพย์จะขอให้แยกยึดไม่ได้
การยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 (1) เป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่นำยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วมีผู้มาร้องขัดทรัพย์ เจ้าหนี้ขอให้ศาลสั่งผู้ร้องขัดทรัพย์วางเงินประกันต่อศาลได้ หาใช่ให้สิทธิแก่ผู้ร้องขัดทรัพย์ที่จะขอเช่นนั้นไม่




ติดตาม ถอดเทป-เน้นประเด็นคำบรรยาย สรุป เก็ง วิแพ่ง วิอาญา ทยอยอัพเดท.. ที่ LawSiam.com

วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2559 แม้ ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 ศาล หมวด 1 เขตอำนาจศาลได้บัญญัติเกี่ยวกับคำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลว่าให้ฟ้องหรือร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ตามมาตรา 7 (1) แต่คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ ขอให้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล มีผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดต่างขอให้ตั้งตนเป็นผู้อนุบาลด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ ช. และ ซ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งผู้ร้อง ผู้คัดค้านและผู้ร้องสอดเป็นผู้อนุบาลร่วมกัน การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอให้บังคับ ศ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลและรักษาเงินรายได้ของ ซ. ให้ส่งมอบเงินให้ ซ. โดย ศ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นผู้อนุบาลแต่อย่างใดว่าไม่ยอมส่งมอบเงินรายได้ของคนไร้ความสามารถ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อนุบาลจะไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ ศ. เป็นอีกคดีต่างหาก คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่ใช่คำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตรา 7 (1) ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอในคดีนี้ได้

พ.ร.บ.การเล่นแชร์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2552  พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและเพื่อมิให้มีการประกอบธุรกิจการเล่นแชร์ที่กระทบต่อการระดมเงินออมของสถาบันการเงินที่ทางราชการสนับสนุนและรับผิดชอบซึ่งส่งผลกระทบไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยส่วนรวม แต่การเล่นแชร์ของประชาชนโดยทั่วไปที่มิได้ดำเนินการเป็นธุรกิจยังให้กระทำต่อไปได้ ดังนั้น มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงบัญญัติห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 ประการ เช่น ตามมาตรา 6 (3) อีกทั้งมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บัญญัติเอาความผิดแก่นายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์จะเอาความผิดเฉพาะผู้เป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้น ดังนั้น นิติกรรมการเล่นแชร์ของนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ แต่นิติกรรมการเล่นแชร์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ไม่ตกเป็นโมฆะไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 สิทธิหรือหน้าที่ของสมาชิกวงแชร์มีความผูกพันตามกฎหมายอยู่อย่างไรความผูกพันย่อมมีอยู่เช่นนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้และสั่งจ่ายเช็คเงินค่าแชร์มอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อนำไปมอบให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูล เพื่อให้โจทก์นำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแชร์แก่โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง การเล่นแชร์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกลงกันระหว่างผู้เล่น สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อวงแชร์ล้มในวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 และเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกัน โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้นับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ