วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69 ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)

สถิติ วิอาญา เนติ + หลักกฎหมาย ข้อสอบ สมัยที่ 55 - 69   ข้อ1-10 สมัยที่ 70 (Excel)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560

การแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องแสดงออกโดยทางทะเบียน
       คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560 แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560 เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้

มัดจำมิใช่เบี้ยปรับที่ศาลจะมีอำนาจลดได้ 
      คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10316/2559 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559

        ทนายความของบริษัทไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่แจ้งให้กรรมการทราบก่อน 
        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10005/2559  ในกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม หากคู่ความฝ่ายใดฝายหนึ่งเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความจะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวหากเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า ใบแต่งทนายความจำเลยระบุข้อความเกี่ยวกับอำนาจของทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของจำเลย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ โดยมีลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพร้อมตราประทับของจำเลยถูกต้องตามหนังสือรับรองของจำเลย ทนายความจำเลยย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทนายความจำเลยไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบก่อนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นแม้จำเลยไม่ต้องการตกลงกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องทนายความจำเลยกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)

ตารางสอนเนติบัณฑิต ภาค 2 สมัยที่ 70 (ภาคปกติ , ภาคค่ำ)




วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559

           คำว่า ผู้อื่น ตาม ปอ.มาตรา 334 จะเป็นใครก็ได้ แม้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาจะต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง(ในส่วนของเจ้าทรัพย์) ศาลก็ลงโทษจำเลยได้ 
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9425/2559  แม้ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น แต่กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัท ส. นายจ้างของจำเลยเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าบริษัท ช. เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559

         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10517/2559 จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง หรือเป็นกรรมการวัด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในวัดบ้านขว้างที่จะมีอำนาจจัดทอดผ้าป่าโดยลำพัง การที่จำเลยจัดพิมพ์ซองผ้าป่าซึ่งข้อความบนซองผ้าป่าของกลางเป็นการเชิญชวนให้ร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดบ้านขว้าง ทั้งที่จำเลยไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะจัดทอดผ้าป่าในนามวัดบ้านขว้างโดยพลการเพราะไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดและไม่ได้ผ่านการประชุมระหว่างไวยาวัจกร กรรมการวัด เจ้าอาวาสวัด ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนรวมทั้งชาวบ้าน ทั้งซองผ้าป่าของกลางที่จัดพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้อื่นไม่มีรอยตราของวัดประทับด้านหลังซอง การจัดพิมพ์ซองผ้าป่าดังกล่าวจึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยจำเลยไม่มีอำนาจ ลักษณะข้อความตามซองผ้าป่าของกลางระบุชัดเจนว่าเป็นการทอดผ้าป่า ณ วัดบ้านขว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าเป็นซองผ้าป่าที่แท้จริงที่จัดทำขึ้นโดยวัดบ้านขว้าง ทั้งที่ความจริงแล้วทางวัดบ้านขว้างมิได้รับรู้ด้วย หากมีการนำซองผ้าป่าดังกล่าวไปใช้โดยไม่สุจริตนำออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วไม่นำเงินมาทำบุญที่วัดบ้านขว้างตามที่ระบุในซองผ้าป่า ย่อมเกิดความเสื่อมเสีย หรือเสียชื่อเสียง หรือขาดความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อวัดบ้านขว้างและพระครู ป. เจ้าอาวาสวัดบ้านขว้าง แม้ผลของการกระทำจะยังไม่ปรากฏความเสียหายแต่พิจารณาพฤติการณ์ประกอบการกระทำของจำเลยที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยก็น่าจะเกิดความเสียหายได้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก แล้ว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

หลักเกณฑ์การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

หลักเกณฑ์การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘๐


          ประเด็น การแก้ไขคำให้การให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน ..... คำว่า ๗ วัน ตามมาตรา ๑๘๐ ขยายคำว่า "วันชี้สองสถาน" หรือไม่

         คำถาม คดีที่มีการชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจะต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือไม่?

          คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้


        คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๖๔๒/๒๕๕๕ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ ก่อนศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๓ ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันชี้สองสถาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ แล้ว ส่วนคำร้องขอให้หมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสองยื่นในวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๓ พร้อมกับคำร้องขอแก้ไขคำให้การถือได้ว่าเป็นการยื่นพร้อมกับคำให้การชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓)

        ข้อสังเกต ซึ่งเดิมเข้าใจกันว่า คำว่า ไม่น้อยกว่า ๗ วันนั้นมาขยายวันชี้สองสถานด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้องก็น่าจะด้วยเหตุผลว่าคำว่า ๗ วัน ขยายวันชี้สองสถาน ซึ่งปรากฏว่าศาลฎีกาได้วางหลักชัดเจนแล้ว ว่า กำหนดเวลา ๗ วันใช้เฉพาะไม่มีการชี้สองสถานก็ให้ยื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน


หลักฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)

ฟ้องซ้อน (ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๑๗๓)
               เมื่อได้ยื่นฟ้องและศาลรับฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแล้ว ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นซึ่งอาจเป็นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ (มาตรา ๑๗๓(๑)) แม้ว่าภายหลังคดีเดิมจะหมดไป ก็ไม่ทำให้คดีหลังไม่เป็นฟ้องซ้อน (ฎีกาที่ ๓๓๔๖/๒๕๓๕) ศาลจะพิพากษายกฟ้องสำหรับคำฟ้องที่ยื่นครั้งหลังนี้

                หลักเกณฑ์ฟ้องซ้อน มีดังนี้
                                ๑.๑ ห้ามเฉพาะโจทก์เท่านั้น – ถ้ามีผู้อื่นใช้สิทธิของโจทก์ในการฟ้องคดีอยู่แล้ว โจทก์ก็จะมาฟ้องอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อน เช่น กรณีเจ้าของร่วม อัยการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๗๙/๒๕๒๕ – จำเลยสามารถฟ้องคดีใหม่ได้ แม้คดีเดิมยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่เป็นการฟ้องซ้อน เพราะมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม และมิใช่การฟ้องซ้ำ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด
                                ๑.๒ คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีก่อนและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน – หากคู่ความต่างกันหรือผลัดกันเป็นโจทก์หรือจำเลยก็ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๙๙/๒๕๓๐ - ถ้าเป็นคู่ความเดียวกัน แม้จะถอนฟ้องคดีเดิมหลังจากฟ้องคดีใหม่ก็ไม่ทำให้มีสิทธิฟ้องใหม่ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๖๖/๒๕๑๘ – การฟ้องของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ถือเป็นการฟ้องคดีแทนเจ้าของรวมทั้งหมด
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๘/๒๕๒๓ – ผู้จัดการมรดกเป็นตัวแทนทายาทฟ้องคดีไว้แล้ว ทายาทจะฟ้องอีกไม่ได้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๒๔/๒๕๔๓ – ถ้าผู้จัดการมรดกยังไม่ฟ้องคดี ทายาทย่อมฟ้องคดีได้เอง
                                ๑.๓ การฟ้องคดีทั้งสองนั้นจะต้องเป็นการฟ้องเกี่ยวกับประเด็นอย่างเดียวกันหรือเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกัน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๖/๒๕๑๑ – โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุผิดสัญญาเช่า ต่อมาสัญญาเช่าหมดอายุ โจทก์จึงฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุสัญญาเช่าระงับ เช่นนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนเพราะไม่ใช่เกิดจากมูลคดีเดียวกัน

    กรณีโจทก์เรียกทรัพย์คนละอย่างกันซึ่งสามารถเรียกได้ในฟ้องเดิมเนื่องจากเป็นเรื่องสืบเนื่องจากคดีเดิม หากมาฟ้องใหม่ถือเป็นฟ้องซ้อน
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖-๕๗/๒๕๑๙ – การฟ้องเรียกคืนค่ารถยนต์เพราะถูกบุคคลอื่นยึดรถไป สามารถเรียกรวมไปในฟ้องผิดสัญญาแลกเปลี่ยนรถยนต์ได้อยู่แล้ว โจทก์นำมาฟ้องใหม่จึงเป็นฟ้องซ้อน
คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๘๖/๒๕๔๖ – จำเลยเคยฟ้องหย่าโจทก์ในคดีก่อน ต่อมาโจทก์มาฟ้องหย่าจำเลยในคดีนี้ จำเลยฟ้องแย้งขอแบ่งสินสมรส ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะฟ้องหย่าและฟ้องขอแบ่งสินสมรสจำต้องทำพร้อมกัน
                ๑.๔ คดีแรกต้องอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นไหน – อาจเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกันก็ได้ หรือคดีอาจอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๗๗๓/๒๕๓๙ – กรณีการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของศาลชั้นต้น และการฟ้องคดีใหม่เป็นเรื่องเดียวกับฟ้องแย้ง ถือเป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องแย้ง