วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 5

                คำถาม    คำว่า  “ ตอแหล ”  เป็นการดูหมิ่นหรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๙๑๙/๒๕๕๒  การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง  การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย   การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว  หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่  หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว  เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า  “ ตอแหล ”  ว่า  เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย  การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ  จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๑
               
               คำถาม   ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน  มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย  จะเป็นความผิดหรือไม่                 
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               (ก)  กรณีที่ผู้ถึงแก่ความตายมิได้มีเจตนากระทำความผิด

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐   ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย  เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้  จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดฐานให้คนตายโดยไม่มีเจตนา

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๙๙/๒๕๑๑  โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ได้ใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลยใกล้ทางเดินของบุคคลทั่วไปในระดับคนยืนพื้นเอื้อมจับถึง แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดดังกล่าวขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย  เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปรอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหตุให้ นาย ป. ซึ่งเข้าไปยืนถ่ายปัสสาวะที่ริมรั้วตรงบริเวณดังกล่าวเอื้อมมือไปจับส่วนบนของรั้ว นิ้วมือเลยไปถูกเส้นลวดนั้น กระแสไฟฟ้าจึงแล่นเข้าสู่ร่างกายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๙๑ และริบเส้นลวดของกลาง
                   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ๒๒๐ โวลท์ไปตามเส้นลวดนั้นเพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์  เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า  แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนทำเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐  มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๒๙/๒๕๒๐  จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้านจำเลยเมื่อประมาณ ๗ วันก่อนเกิดเหตุ จำเลยใช้ขึงลวด ๒ เส้นรอบที่ตกกล้า สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลท์จากบ้านเข้าไปในเส้นลวด ๒ เส้นที่ขึงไว้ เพื่อป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า  ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๘ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ นาฬิกา  นาย ส. ผู้ตายออกจากบ้านไปหากบหาปลาตามทุ่งนาแล้วไปเหยียบสายลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง
                   พิเคราะห์แล้ว  เห็นว่า  จำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าสายลวดที่จำเลยขึงรอบที่นาที่ตกกล้าและปล่อยกระแสไว้นั้น หากสัตว์ไปถูกเข้าก็จะถึงแก่ความตายได้ ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วย  แสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่า สายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายแก่คนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้าเช่นเดียวกัน  การที่จำเลยขึงลวดมีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้วย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า หากมีคนหากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าว และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย  จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว  เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย  จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ป.อ.มาตรา ๒๙๐  

                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๘๘๔/๒๕๒๘   ผู้ตายเข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างเพื่อจะเกี่ยวหญ้า จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้  เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้าง และปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้น ผู้ตายมาถูกกระแสไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย  ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐




                    (ข)  กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์  กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่  ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
 
                   คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๓/๒๕๑๙   จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลยมีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้  ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไป  ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม  จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย ผู้ตายกับพวกอีก  ๓ คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาลโดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑  อัน  แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว  ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้   ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ  จำเลยไม่มีความผิด  ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ  ที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ (ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
                   มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้  ศ.จิตติ ติงศภัทิย์  ความว่า โจทก์ฟ้องตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช่กำลังทำร้าย

                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๙๐/๒๕๔๘   แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรเหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้  แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัด ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้  ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มาก  การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ.มาตรา ๖๙  จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบมาตรา ๖๙
                   
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๑/๒๕๔๙   โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า  เด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์  ดังนี้  การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว  ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิที่ป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๐๐ โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก  ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม ป.อ. มาตรา ๖๙  ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ   และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา  แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
                   
                   คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๗๙๔/๒๕๕๒   จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน  ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด  ๑  เส้น  จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐  เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกาย  เนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น  ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ ๑๔ ปีเศษกับ ต. อายุ  ๑๕ ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก  ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุ จำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงร้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
                   

                    คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๕๐/๒๕๕๓   จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย  แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง ๒๒๐ โวลต์ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น   ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้  ดังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้  แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙  (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๖๙ )

วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สรุปฎีกา กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

ฎีกาเด่น* กฎหมาย อาญา มาตรา 1- 58 107-208 
อ.อุทัย (ภาคปกติ) 5 มิ.ย 60 สัปดาห์ที่ 3 สมัยที่1/70

.......................

คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๙๐๕/๒๕๔๘ การจะถือว่าความผิดใดได้กระทำในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ ต้องปรากฏว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรหรือผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร คดีนี้โจทก์ บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุทุกข้อหาเกิดในราชอาณาจักรที่บริเวณ ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าเหตุเกิดในเขตต่อเนื่องของประเทศไทยไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำก็ไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา ๕ แต่อย่างใด จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดในราชอาณาจักรไม่ได้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๔๕/๒๕๕๒ จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชัก ธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม กรณีต้องด้วย ปอ. มาตรา ๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า การพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ได้กระทำตลอดไปในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือน เป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิด

        ข้อสังเกต การกระทำความผิดตามมาตรา ๕ วรรคสอง ที่กำหนดว่า ในการ ตระเตรียมหรือการพยายามกระทำผิดใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้น จะทำนอกราชอาณาจักรถ้าผู้กระทำนั้นได้กระทำไปตลอดแล้วผลก็จะเกิดในราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบของมาตรา ๕ วรรคสอง แล้วดังนั้นไม่ต้องไปพิจารณามาตรา ๗ และ ๘ เพราะกรณีของมาตรา ๗ และ ๘ นั้นไม่ได้ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร แต่เป็นการต้องรับโทษในราชอาณาจักรสำหรับการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

------------------------

                 คำถาม   การบังคับเอาโทรศัพย์เคลื่อนที่ของผู้อื่น  โดยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในบริเวณเอว  ถือว่าเป็นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรงๆหรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ  การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย  โดย ม. พวกของจำเลยทำท่างเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว  แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม  แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป  การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
               
                คำถาม  การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  หรือการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย  จะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา  350  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3973/2551   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย  ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต  ดังนี้  จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย  เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
                 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย  แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว  ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่  เพียงใด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350
                 
                  คำถาม  การให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 20 ปี โดยผู้เช่าต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ผู้ให้เช่า  เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาหรือไม่ และข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7894/2553   การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท  ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่า โดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น  หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่  ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา  เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374  ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไป  ข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
                   
                   คำถาม   เจ้าของที่ดินปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงของตน  ต่อมาที่ดินแปลงหนึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนำออกขาย  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรังวัดตรวจสอบที่ดินพบว่า  เจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินที่ซื้อบางส่วน  ดังนี้  ผู้ซื้อจะขอให้บังคับเจ้าของที่ดินเดิมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป  ได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  796/2552   ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312  ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด  แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท  แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330  โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว  โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336  เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป  และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้  โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้  มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต  และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4

                    คำพิพากษาฎีกาที่  9785/2553   ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า  เดิมจำเลยเป็นเจ้าที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และ  13742  ตำบลตลิ่งชัน(บางโอ)  อำเภอตลิ่งชัน(บางใหญ่)  กรุงเทพมหานคร  โดยที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีอาณาเขตติดต่อกันและมีบ้านเลขที่ 6/1  ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และบางส่วนของบ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี  คดีหมายเลขแดงที่  1497/2536  ตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว
                    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านเลขที่ 6/1  ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่  13742  หรือไม่

                    เห็นว่า  เดิมบ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลย  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742  จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกัน  โดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม มาตรา 1312  เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด  กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด  อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท  จะมีหรือไม่หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต  กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร  ดังที่จำเลยฎีกาไม่  เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 4

-------------------------------

                   คำถาม   ข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกในการสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ 1 เมื่อปี 2491 นั้น คำถามมีว่าอย่างไร
                 คำตอบ   คำถามข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกของสำนักอบรมฯสอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2492 คำถามมีดังนี้
                 1.คำถาม   มีข้อความจริงอย่างไรบ้าง  ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมแล้ว  ถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน
                 อุทาหรณ์มีว่า  ผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  ครั้นตนบรรลุนิติภาวะแล้ว  จึงได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  ดังนี้  จะถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันหรือไม่ ?
                 แนวคำตอบ   ข้อความจริงซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (ปัจจุบันคือมาตรา 180)  บัญญัติไว้ว่า  ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้  ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา  141
(ปัจจุบันคือมาตรา 179)  มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม  ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด  ท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ทั้งนี้คือเช่นว่า
(1)    ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
(2)    ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว
(3)    ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4)    ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น
(5)    ได้มีการโอนซึ่งสิทธิหรือความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน
                  ตามอุทาหรณ์  ถึงแม้ว่าการที่ผู้เยาว์ได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้  จะไม่ใช่การวางประกันตามความหมายในอนุมาตรา  4  ก็ตาม   โดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 142(ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติกรณีตัวอย่างไว้บางประการ ด้วยการใช้คำว่า  “เช่นว่า”  ข้อความจริงอย่างอื่นอันมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน  ดังเช่นการเอาโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายมาตรานี้
               
                  คำถาม   ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ค่างวด  ผู้ให้เช่าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้เช่าชำระ  จะถือว่าผู้ให้เช่าผ่อนเวลาให้แก่ผู้เช่าซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 6734/2553   การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน  และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้ หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น  โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
 
                    คำถาม   ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าผู้รับจะต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง   หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ให้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้โดยให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของผู้ให้โดยอ้างว่างนิติกรรมให้เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 11228/2553   นิติกรรมอำพรางตามป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง  เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม  นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฎออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย  ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้   ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม  แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว   การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด   เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น  สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้  และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง  กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง  กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา  มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้  ดังนี้  แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง  กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142  กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่  เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
 
                      คำถาม   ผู้ขายเสนอจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ  มีการวางเงินมัดจำไว้โดยผู้ขายออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน  มีข้อตกลงว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ต่อมาผู้ซื้อกับผู้ขายไม่อาจตกลงเงื่อนไขระหว่างกันได้  ผู้ขายจะมีสิทธิรับมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2553   ใบรับเงินมีข้อความว่า  “จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์  โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี  และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาทด้วยเช็ค  ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน 30 วัน”   เห็นได้ว่า  ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น  หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน  ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน  แสดงให้เห็นว่า  โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง  ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ”  ดังนั้น  เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ  สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น  เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้  จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  406
 
                      คำถาม   ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน  หากผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 6857/2553   แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1715 วรรคสองบัญญัติว่า  “ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน  แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ  และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว  ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง  แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้ ”  ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน  การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา  1726  ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก  หากปรากฎว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา  1736 วรรคสอง  และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา  1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว  จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา  1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้  ดังนั้น  เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้  โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514   ข้อความในวรรคสอง (ของมาตรา 1715) นั้น สืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง   คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน” ในวรรคสองนั้น  หมายถึง  ผู้จัดการซึ่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น  ไม่เกี่ยวถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของตนนั้นก็เนื่องจากเจ้ามรดกไว้วางใจบุคคลนั้น  แม้จะตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคนก็ดี  เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว  ทายาทจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นแทนผู้ที่ตายไปนั้นย่อมทำไม่ได้  เพราะขัดกับคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น  กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่คนเดียวดำเนินการในการจัดการมรดกได้โดยลำพัง  ไม่เหมือนกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งโดยไม่มีพินัยกรรม  เพราะทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ใด  จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก  ก็โดยเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ดังนั้น  เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ถึงแก่ความตาย  ทายาทของเจ้ามรดกอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้อื่นเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ต่อไปก็ได้  โจทก์จะจัดการต่อไปตามลำพังคนเดียว  โดยมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง  ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญิติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
                   
                      คำถาม   สามีภรรยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร  ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภรรยา ทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว  หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล  จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553   โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร  และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม  อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า  8 วัน  ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว  จำเลยไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก  มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด  เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ  การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้  ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร(ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  364 ,  365(3))

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒ สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙

คำถามในการสอบปากเปล่า ครั้งที่ ๒

        สมัยที่ ๖๙ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ วันอาทิตย์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐


        คำถาม การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ กับการกระทำโดยบันดาลโทสะตามมาตรา ๗๒ มีหลักเกณฑ์อย่างไร ให้ อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ


        ธงคำตอบ ตอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ และมาตรา ๗๒