วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม16


------------------------------

                      คำถาม  สามีเห็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายนอนหนุนตักชายอื่นและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน สามีใช้มีดแทง จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3583/2555 จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามกฎหมายที่กระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน โดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ชายและกอดจูบกันโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และผู้ตายกระทำต่อ จ. ก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากประทุษอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิ แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกัน นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ การที่จำเลยเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอดผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

                      คำถาม   พนักงานคุมประพฤติรับเงินค่าตอบแทนของผู้เยาว์และได้เบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยมิได้นำเงินดังกล่าวไปฝากธนาคารในนามผู้เยาว์เป็นความผิดฐานใด
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  205/2554  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติรับเงินค่าตอบแทนของผู้เยาว์ และได้เบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากธนาคารในนามของผู้เยาว์ เป็นการไม่ปฏิบัติตนในฐานะผู้กำกับการใช้อำนาจปกครองในส่วนที่เป็นทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามคำสั่งศาล การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 สำเร็จไปแล้ว แม้ต่อมาจำเลยนำเงินไปเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ให้แก่ผู้เยาว์ที่ธนาคาร ก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ไม่อาจทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาสำเร็จไปแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิดไปได้

                     คำถาม  การให้ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่ส่งมอบที่ดินให้ผู้รับเข้าครอบครอง ต่อมาผู้ให้ถึงแก่ความตาย ที่ดินจะถือเป็นทรัพย์มรดกของผู้ให้หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   2156/2555  จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของตนที่ได้รับการยกให้จากนางรอด มิใช่ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น อันแสดงว่านางรอดได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยครอบครองแล้วโดยโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะที่นางรอดแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทนั้น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง การที่นางรอดส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แม้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทมีแต่สิทธิครอบครอง จึงถือได้ว่านางรอดสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อจำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1377 และมาตรา 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย การออกโฉนดที่ดินพิพาทจัดทำโดยทางราชการออกให้แก่นางรอดซึ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหนังสือรับรองการทำปะโยชน์(น.ส.3)ฉบับเดิม แม้ความจริงนางรอดไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้วขณะออกโฉนดก็หาทำให้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของจำเลยเสียไปไม่ ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของนางรอดที่จะตกทอดแก่ทายาทอีกต่อไป

                    คำถาม  ข้อความในสัญญาเช่าว่า ก่อนครบสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าและผู้เช่าจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรมดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณีถือเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3801/2555  ข้อความในสัญญาเช่าที่ว่า ก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรมดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไปเพื่อขอขยายอายุสัญญาเช่าใหม่ ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

                   คำถาม  ขณะทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับ เจ้าหนี้ผู้โอนยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างตามที่ชนะการประมูล ถือว่าสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7790/2554  เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 จำเลยที่ 1 ประมูลงานรับเหมาก่อสร้างลานกีฬาขององค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยได้ ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 จำเลยที่ 1  ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดส่งวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยทำสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยกำหนดให้เริ่มทำงานภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และกำหนดทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2549 แจ้งอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย

                   คดีนี้มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการแรกว่า หนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินใช้บังคับได้หรือไม่  เห็นว่า แม้ขณะจำเลยที่ 1 ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องนั้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เริ่มงานก่อสร้างลานกีฬาให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ชนะการประมูลงานก่อสร้างลานกีฬาดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 จึงย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้สิทธิในการดำเนินงานก่อสร้างและรับเงินค่าก่อสร้างนั้นด้วยเมื่อทำงานแล้วเสร็จ สิทธิดังกล่าวจึงอยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 303 ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างตามแบบของทางราชการและเริ่มงานก่อสร้างกันเมื่อใด หาใช่สาระสำคัญไม่ เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัยเขียนข้อความลงในหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องว่า “ ได้รับทราบและยินยอมในการโอนสิทธิดังกล่าวข้างต้นแล้ว"  พร้อมกับลงลายมือชื่อและประทับตราองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงชัย ก็เพียงพอที่จะถือว่าองค์การบริหารส่วนตำรบเวียงชัยลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องปฏิบัติครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้างก่อสร้างจึงตกเป็นของผู้ร้องแล้ว และเมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่า ขณะโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวผู้ร้องได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขออายัดเงินดังกล่าวได้

ถอดไฟล์เสียง เนติ สมัยที่ 70 กฎหมาย ละเมิด (ภาคปกติ) อ.เพ็งฯ วันที่ 22 พ.ค. 60 ครั้งที่1

ถอดไฟล์เสียง เนติบัณฑิต สมัยที่ 70 
วิชา กฎหมาย ละเมิด (ภาคปกติ) อ.เพ็งฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ครั้งที่1
-----------------------------

มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สิน หรือสิทธิ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ตามมาตรา ๔๒๐ แยกเป็นหลักเกณฑ์ได้ ๓ ข้อ
 ๑. ผู้ใดทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย
 ๒. กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
 ๓. ทำให้เขาเสียหาย

ส่วนคำที่ว่า จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น’’ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ของการทำละเมิด แต่เป็นผลการทำละเมิดว่าเมื่อทำครบหลักเกณฑ์ ๓ ข้อแล้วผู้กระทำก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน บางครั้งก็ใช้คำว่า ต้องรับผิด” “ต้องรับผิดชอบในความเสียหาย หรือ '‘ต้องรับผิดชอบ เพื่อการเสียหายซึ่งมีความหมายว่า จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่นเดียวกัน
 ๑. ผู้ใดทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย แยกเป็น ๔ ถ้อยคำ คือ
๑. ผู้ใด
๒. ทำ ซึ่งรวมทั้งการละเว้น
๓. (ทำ) ต่อบุคคลอื่น
๔. โดยผิดกฎหมาย

        ข้อสังเกต แต่ละถ้อยคำนี้เป็นคำที่สำคัญ ขาดเพียงคำใดคำหนึ่งก็ไม่เป็นละเมิดตามมาตรา ๔๒๐ การแยกอธิบายแต่ละถ้อยคำจะเป็นประโยชน์ เมื่ออ่านข้อสอบจะได้เข้าใจประเด็น ที่ถามถึง จะได้ตอบตรงจุด

        ๑.) คำว่า ผู้ใด ในที่นี้ก็คือ ผู้ทำละเมิด มีได้ทั้งเด็กเล็ก ถึงคนชรา แม้เป็น ผู้เยาว์ หรือคนวิกลจริต ก็เป็นผู้ทำละเมิดได้ สำหรับสัตว์หรือทรัพย์สิ่งของไม่อาจเป็นผู้ทำละเมิด หากความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์หรือทรัพย์สิ่งของเป็นเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องรับผิด
ตัวอย่างตามที่ขึ้นจอให้ดูนี้ ว่า
 ศาลมะกันสั่งจำคุก หมาพิทบูลตลอดชีวิต ผู้พิพากษาเดโบราห์ กริฟพิธ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกสุนัข พันธ์พิทบูล ชื่อ มิคกี้ตลอด ชีวิตในเรือนจำเขตมาริโคปา เคาท์ตี หลังจากไล่ขยํ้า ดช.เควิน วัย ๔ ขวบ จนบาดเจ็บ สาหัส เบ้าตาแตก และขากรรไกรหักเมื่อ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ขณะที่นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิสัตว์ได้เผยแพร่รูปของเจ้ามิคกี้ลงบนอินเทอร์เน็ต เพื่อขอเสียงสนับสนุนไม่ให้มีการตัดสิน การุณยฆาตกับมัน อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำสั่งแล้วว่า มันต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีการอนุญาตให้มีผู้ใดรับอุปการะอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้มันยังถูกถอนเขี้ยวออกอีกด้วย
ความเสียหายที่เกิดจากสัตว์หรือทรัพย์สิ่งของ สัตว์หรือทรัพย์สิ่งของไม่อาจเป็นผู้ทำละเมิดได้ คนที่ทำละเมิดได้ต้องเป็นบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ได้ ./ อ่านต่อ... แบ่งปันเพื่อทบทวนการศึกษา คลิกที่นี่ >>> ถอดคำบรรยาย ไฟล์เสียง กฎหมาย ละเมิด (ภาคปกติ) อ.เพ็งฯ เนติ สมัยที่ 70 วันที่ 22 พ.ค. 60 ครั้งที่1

ถอดเทป ไฟล์เสียงเนติ 1/70 กฏหมายภาษีอากร อ.อดิเทพฯ วันที่ 24 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่ 1 ครั้งที่1

ถอดเทป ไฟล์เสียงเนติ ภาค 1/70 
กฏหมายภาษีอากร (ภาคปกติ) อ.อดิเทพ ฯวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 สัปดาห์ที่ 1 ครั้งที่1
............................

ภาษีเงินได้
        ภาษีเงินได้แบ่งเป็นของบุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้ของนิติบุคคล ตามประมวลรัษฎากร จะระบุไว้ว่ามีการเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ซึ่งประกอบกิจการและมีรายได้

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
๑. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
บุคคลธรรมดา บุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง เด็ก คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถก็มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกัน หากมีเงินได้ถึงเกณฑ์ตามที่มีเงินได้พึงประเมิน ถึงจำนวนที่มาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมของทุกปีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

มาตรา ๕๖ ให้บุคคลทุกคน เว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้ พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่นๆ ภายในเดือนมีนาคมทุกๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ถ้าบุคคลนั้น (๑)….()....().... ()......” /....อ่านต่อ  แบ่งปันเพื่อทบทวนการศึกษา คลิกที่นี่ >>>  ถอดเทป คำบรรยายเนติ 1/70 กฏหมายภาษีอากร อ.อดิเทพ ฯวันที่ 24 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่ 1 ครั้งที่1

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถอดคำบรรยาย ไฟล์เสียงเนติ 1/70 ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ภาคปกติ) อ.ปัญญาฯ 29 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่1 ครั้งที่1

ถอดคำบรรยาย ไฟล์เสียงเนติ ภาค 1/70 
วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ภาคปกติ) อ.ปัญญาฯ 29 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่1 ครั้งที่1
............................

ในคราวที่แล้วอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องยืม ซึ่งเราจะต้องดูในส่วนของสัญญาแล้วจะต้องพิจารณาถึงบททั่วไปด้วย เช่น เจตนา ความสามารถ
ผู้ยืมฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์สินที่ยืมเสียหายได้หรือไม่ ผู้ยืมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้ทำละเมิดทำให้ทรัพย์ที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้ยืมมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมหรือไม่ ถ้าผู้ยืมใช้ทรัพย์ตามปกติไม่ผิดหน้าที่ แต่มีบุคคลที่สามมาทำละเมิดทำให้ทรัพย์ที่ยืมเสียหาย แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมทรัพย์ที่ยืมให้กลับสู่สภาพเดิม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดใช้ค่าเสียหายเป็นเรื่องผู้ให้ยืมจะต้องดำเนินการใช้สิทธิของตนเอง เช่น
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๘๓/๒๕๓๗ โจทก์ยืมรถยนต์ผู้อื่นมาใช้แล้วถูกจำเลย ทำละเมิดขับรถยนต์มาชนท้ายรถคันที่โจทก์ยืมเสียหาย แม้มาตรา ๖๔๗ จะบัญญัติ ว่าค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติและการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ก็มีความหมายเพียงว่าผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นปกติของการใช้ทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น มิใช่กรณีอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิดซึ่งเป็นเหตุอันผิดปกติที่มีมาตรา ๔๒๐ และ ๔๓๔ วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยทำให้เสียหาย โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

หน้าที่ของผู้ยืมใช้สิ้นเปลือง
ผู้ยืมใช้สิ้นเปลืองมีหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ๒ ประการคือ
๑. หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญา ส่งมอบและส่งคืน หน้าที่นี้เป็นไปตามมาตรา ๖๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

๒. หน้าที่คืนทรัพย์สิน หน้าที่นี้ระบุไว้ในมาตรา ๖๕๐ ตอนท้าย ทรัพย์สิน ที่คืนจะต้องไม่เป็นทรัพย์สินชิ้นเดียวกับที่ยืมมา แต่ต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกัน เช่น ยืมข้าวสารหอมมะลิชนิด ๑๐๐% ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เวลาคืนต้องคืน ข้าวสารหอมมะลิชนิด ๑๐๐% มีปริมาณเดียวกับที่ยืมไป ส่วนสถานที่ส่งคืนต้องเป็นไป ตามมาตรา ๓๒๔ คือ ต้องส่งคืน ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้.../อ่านต่อ แบ่งปันเพื่อการศึกษา คลิกที่นี่ >>>> ถอดคำบรรยาย ไฟล์เสียงเนติ 1/70 ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ (ภาคปกติ) อ.ปัญญาฯ 29 พ.ค. 60 สัปดาห์ที่1 ครั้งที่1

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยาย เนติ 1/70 วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ อ.ปัญญา 29 พ.ค.60 (ภาคปกติ) สัปดาห์ที่2

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง ห้องบรรยาย เนติฯ วิชา ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ ภาค 1 สมัยที่ 70

 อ.ปัญญา 29 พฤษภาคม 2560 (ภาคปกติ) สัปดาห์ที่2
-----------------


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1098/2507 เจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินกู้ก่อนถึงกำหนดชำระ ลูกหนี้ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าขำระหนี้เงินกู้ตามสัญญาแล้ว ย่อมแสดงว่าลูกหนี้ไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญากู้นั้น เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่ลูกหนี้จะอ้างเป็นประโยชน์ได้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2534มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคลซึ่งตามบทมาตราดังกล่าวโจทก์สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลก็ได้ เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น ทั้งมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลชั้นต้นคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาได้โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาด้วยไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของลูกหนี้ ในกรณีดังกล่าว เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด 1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสาม เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายหากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1 ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แม้หนังสือกู้ยืมเงินจะระบุข้อความไว้ว่าไม่มีดอกเบี้ยแต่ข้อความตอนต้นก็ระบุไว้ว่าผู้กู้ยอมให้ดอกเบี้ยตามจำนวนเงินที่กู้แก่ผู้ให้กู้ชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันทำสัญญา นอกจากนี้ผู้กู้ยังได้บันทึกรับรองไว้ในตอนท้ายของสัญญากู้ยืมเงินว่า ถ้าหากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาใน 2 ปียินยอมคิดดอกเบี้ยนับจากวันครบสัญญา ดังนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ยอมรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน กรณีมิใช่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอันที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2517 โจทก์ฟ้องว่า จ. สามีจำเลยทั้งสองยืมเงินโจทก์ไป 2 ครั้ง ครั้งแรก 110,000 บาท ครั้งที่สอง 90,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จ. ทำหนังสือสัญญากู้ 2 ราย และรับเงินกู้ไป 200,000 บาทจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จ. ไม่ได้รับเงินกู้รายแรก แต่ไม่ได้อุทธรณ์ว่าจ. ไม่ได้ทำสัญญากู้รายแรก ดังนี้ ประเด็นว่า จ. ได้ทำสัญญากู้รายแรกหรือไม่ จึงยุติเพียงศาลชั้นต้นว่า จ.ได้ทำสัญญากู้รายแรกจริงจำเลยที่ 2 จึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้ แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ให้ ก็เป็นการที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จ. จะได้ยืมเงินจากโจทก์ หรือไม่ จำเลยที่ 2 ไม่ทราบไม่รับรอง ลายมือชื่อในสัญญากู้ไม่ใช่ของ จ. จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้ สัญญากู้จึงไม่สมบูรณ์ ดังนี้ ที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้นั้นเป็นการประกอบคำให้การที่ว่าลายมือชื่อในสัญญากู้ไม่ใช่ของ จ.คำให้การดังกล่าวจึงมีความหมายว่าเนื่องด้วยสัญญากู้ปลอมจ. จึงไม่ได้รับเงินที่ระบุไว้ในสัญญากู้ ดังนั้นเมื่อฟังว่า จ.ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้จริง ไม่ใช่สัญญากู้ปลอมแล้ว ข้อต่อสู้ว่า จ. ไม่ได้รับเงินไปตามสัญญากู้เป็นอันตกไปต้องฟังว่า จ.ได้รับเงินตามสัญญากู้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามบัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเสียภายในกำหนด 1 ปี ย่อมเป็นการให้สิทธิเจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ถึงแก่กรรมโดยเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องทวงถามให้ชำระหนี้ก่อน ฉะนั้น แม้สัญญากู้ซึ่ง จ. กู้เงินโจทก์ไปจะมีข้อความว่าหากโจทก์ต้องการเงินคืนเมื่อใดจ. จะคืนให้ทันที แต่ต้องบอกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือนก็ตามเมื่อ จ. ถึงแก่กรรม โจทก์ย่อมฟ้องคดีได้ทันทีโดยไม่จำต้องทวงถามก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5760/2540 ตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือนแต่ถึงอย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 และในตอนท้ายของสัญญายังระบุว่าไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ กับมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอีกว่า ถ้าผู้กู้ผิดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามข้อตกลงแห่งสัญญากู้เงินฉบับพิพาทให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ จะสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามการแก่กรณี ทั้งนี้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้เสร็จสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลง ต่อท้ายสัญญากู้เงินจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนหลังจากที่ตกเป็นฝ่าย ผิดสัญญาแล้ว ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะรับชำระหนี้ได้ กรณีมิใช่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2551 โจทก์ฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิซึ่งจะทำให้คู่สัญญาต้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญา อันถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตของจำเลยที่ 1 ในฐานะสถาบันการเงิน แต่ปัญหาดังกล่าวโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 และสัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อความว่า สัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่ไม่ตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควรโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าจะชำระหนี้ตามที่ผู้ให้กู้เรียกร้องทันที เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ตามลำดับ

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม11


----------------------------------


                       คำถาม   สัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1579/2552  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 บัญญัติว่า “ บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ” กล่าวโดย เฉพาะตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  5831/2553 ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 707 ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง และใช้บังคับกันได้

                     คำถาม  ใบรับเงินซึ่งเป็นหลักฐานการรับมัดจำมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้จัดทำขึ้นภายใน 30 วัน” กรณีดังกล่าว หากคู่สัญญายังมิได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  2224/2553  โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำ จึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 406
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6866/2552  หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่า   “การเพิ่มเติมหรือลดงานจะต้องคิดราคากันใหม่และถ้าต้องเพิ่มหรือลดเงินหรือยึดเวลาออกไปอีกก็จะตกลงกัน ณ บัดนั้น โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงถือว่าโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคสอง

                     คำถาม   ข้อความตามสัญญาเช่าที่ระบุว่า เมื่อหมดสัญญาแล้ว ถ้าผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อไปอีก ให้ผู้เช่ามาทำสัญญาเช่าใหม่หรือจะต้องทำความตกลงเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อนเป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  8692/2549  ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 10 ระบุว่า ก่อนที่สัญญาฉบับนี้จะสิ้นสุดลงผู้เช่าจะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าว่ามีความประสงค์ที่จะเช่าทรัพย์สินที่เช่านี้ โดยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 15 วัน ส่วนค่าเช่าจะเป็นอย่างใดนั้นให้เป็นไปตามข้อตกลงใหม่ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่าและตามคำมั่นให้เช่าที่ดิน ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ให้คำมั่นตกลงยินยอมให้ผู้รับคำมั่นเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี ค่าเช่าในอัตราปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาเช่านั้นด้วย แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่จะมีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นนั้น โจทก์และจำเลยจะต้องทำความตกลงกันในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าเสียก่อน ซึ่งระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่านั้นมิได้มีการกำหนดกันไว้อย่างแน่นอนตายตัว  แต่ให้เป็นไปตามความตกลงของโจทก์ และจำเลยที่จะเจรจาและทำความตกลงกันอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอัตราค่าเช่านั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้เป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจในขณะทำสัญญาฉบับใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือตอบรับคำมั่นของโจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็หาได้ทำให้มีสัญญาเช่าฉบับใหม่เกิดขึ้นและมีผลบังคับตามกฎหมายในทันทีดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์จำเลยไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องระยะเวลาการเช่าและอัตราค่าเช่าและไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ต่อกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินที่เช่าอีกต่อไป
                        คำพิพากษาฎีกาที่  569/2525  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจำเลยเพื่อปลูกสร้างอาคารให้ผู้อื่นเช่าช่วงมีกำหนด 15 ปี เมื่อหมดสัญญา 15 ปี ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อไปอีกให้มาทำสัญญาใหม่ แต่สัญญาใหม่นี้ยังจะต้องตกลงกันในเรื่องอัตราค่าเช่าและกำหนดเวลาเช่า ดังนี้ เมื่อครบอายุสัญญาเช่าเดิมแล้ว โจทก์เสนอขอเช่าต่ออีกแต่จำเลยไม่ตกลงตามที่โจทก์เสนอ ทั้งได้บอกเลิกสัญญาและให้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าจึงไม่มีสัญญาเช่าใหม่ระหว่างโจทก์จำเลย


                        คำถาม   คำมั่นจะให้เช่าระบุไว้ในสัญญาเช่า เมื่อผู้เช่าสนองรับ จะต้องมาทำสัญญาเช่ากันใหม่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  748/2533  หนังสือสัญญาเช่ามีข้อตกลงว่า ผู้ให้เช่าสัญญาว่า เมื่อครบกำหนดอายุสัญญานี้แล้ว ผู้ให้เช่าก็ก็จะให้ผู้เช่าได้เช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ โดยผู้ให้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้เช่าเช่าที่ดินดังกล่าวแล้วในค่าเช่าเดือนละ 800 บาท โดยผู้เช่ามิต้องจ่ายเงินเป็นก้อนเพิ่มเติม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นของฝ่ายผู้ให้เช่าที่จะให้ผู้เช่าเลือกจะบังคับผู้ให้เช่าให้ต้องยอมทำสัญญาเช่าต่อไปอีกเป็นเวลา 10 หรือไม่ และตามข้อตกลงนี้ มีผลทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายลูกหนี้ที่ผู้เช่ามีสิทธิจะเรียกร้องบังคับเอาได้ ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ผู้เช่าได้แจ้งความจำนงเช่าต่ออีก 10 ปี ผู้ให้เช่าจะไม่ยอมให้เช่าไม่ได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  1765/2537  สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าให้คำมั่นแก่ผู้เช่าว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามเงื่อนไขประเพณีที่ได้กระทำกันในวันทำสัญญานี้ ทั้งนี้ ผู้เช่าต้องแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันสัญญาเช่านี้ครบกำหนด ดังนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าให้คำมั่นไว้ เมื่อผู้เช่ามีหนังสือแสดงความจำนงขอทำสัญญาเช่าต่อภายในกำหนดเวลาเท่ากับผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าแล้ว และถือว่ามีสัญญาเช่าเกิดขึ้นใหม่ทันทีตามเงื่อนไขและประเพณีที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าฉบับเดิม โดยไม่ต้องทำสัญญาเช่ากันใหม่อีก


                      คำถาม   สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดกว่า 3 ปี มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าไว้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาเช่า หากผู้เช่าสนองรับคำมั่นสัญญาเช่าเกิดขึ้นหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  563/2540  เมื่อหนังสือสัญญาเช่ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยจึงฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 538 กำหนดเวลาเช่าที่เกินจาก 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่มีผลบังคับกันต่อไป คำมั่นของโจทก์ที่ให้แก่จำเลยไว้ตามสัญญาเช่าข้อ 2  (ก) ที่ว่าเมื่อจำเลยเช่าครบ 7 ปี ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลยอีก 15 ปี ย่อมสิ้นผลบังคับไปด้วย ดังนั้น จึงไม่มีคำมั่นของโจทก์ที่จะให้จำเลยสนองต่อไปอีก

                     คำถาม  คำมั่นจะให้เช่ามีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  6975/2537  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ค.   ค. ให้จำเลยเช่า ต่อมา ค. โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ. โอนขายให้โจทก์ แม้ ค. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ค. จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก 3  ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
                 

                    คำถาม  กรณีที่มีการบังคับจำนอง โดยเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาด แต่ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 นั้น หมายความเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  3535/2550  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 บัญญัติว่า “.......ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น” ปรากฏว่าสัญญาจำนวนที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน  เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น อันเป็นการยกเว้นบทบัญญัติของมาตรา 733 ดังกล่าวข้างต้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว คือหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
                       โจทก์ที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้นแล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนองจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัด การใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ข้ออ้างตามอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้วได้เงินจำนองสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
                        คำพิพากษาฎีกาที่  8851/2551  ป.พ.พ.มาตรา 733 ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จึงใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลหนึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระด้วย

                        ตามสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองที่จำเลยทั้งสองทำไว้กับโจทก์ไม่มีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่า หากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในเงินที่ขาดจำนวนอยู่ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาเพียงว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น โดยมิได้ระบุให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นอีก ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้นำยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดเสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จะขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อไปอีกไม่ได้

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม10


------------------------------

                       คำถาม   สัญญาจะซื้อขายห้องชุดมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่ผู้ซี้อผิดสัญญาผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบเงินทั้งหมดที่ผู้ซื้อชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ40 ของอาคารชุดนั้น หากผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  11887/2554  เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งฝ่ายที่บอกเลิกสัญญายังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดว่าในกรณีที่โจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ 40 ของอาคารชุดเป็นเงิน 4,812,080 บาท จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่ ป.พ.พ.บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างอื่นมากน้อยเพียงใด นอกไปจากขาดผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากเงินจำนวนเท่ากับราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ และมีเหตุผลให้เชื่อว่าเมื่อสัญญาเลิกกัน จำเลยสามารถขายห้องชุดดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวน 2,562,080 บาท โดยไม่รวมมัดจำ 250,000 บาท จึงยังสูงเกินส่วน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นเงิน 960,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์จำนวน 3,602,080 บาท ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น การที่จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา

                       คำถาม    เงินดาวน์ที่ชำระในวันทำสัญญา เงินดาวน์ที่ชำระภายหลังอีก 1 งวดซึ่งตามสัญญาระบุให้ถือเป็นมัดจำ หากผู้ซื้อเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบโดยถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7175/2554  โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอให้สิทธิรับเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกัน ให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

                       คำถาม   ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับโอน และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบแล้ว และผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้ผู้รับโอนแล้วบางส่วน ดังนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารจะขอให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ่ายเงินแก่ผู้รับโอนได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  12616/2555  จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์และขอให้โจทก์ติดต่อธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเริ่มกู้ครั้งแรกเมื่อเดือน กรกฎาคม 2538 เดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลัง กับอาคารศูนย์กิจกรรมนิสิตนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลังให้แก่จำเลยที่ 4 โดยโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิการรับเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบแล้ว ตามหนังสือของโจทก์ หลังจากได้หนังสือแจ้งจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้โจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ด้วยเหตุผลว่า โจทก์ปิดกิจการโดยคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่จ่ายเงินค่างวดที่เหลือให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังจำเลยที่ 4 ว่า แม้โจทก์จะได้รับคำสั่งให้หยุดกิจการจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่โจทก์ก็ยังมีอำนาจรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ตามสำเนาหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามขอ แต่ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบตามสัญญาจ้าง
                      มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่าการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นั้นมีผลให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่างวดให้แก่โจทก์ต่อไปหรือไม่
                     เห็นว่า  การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้วยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย ซึ่งในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า “....สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” และมาตรา 375 บัญญัติต่อไปว่า “ เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่” คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่4ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นมีแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่4  คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4  ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375  ดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 4 ยังคงต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์

                      คำถาม   การซื้อขายต้นอ้อย ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ขายได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อเข้าไปตัดต้นอ้อยของผู้ขายไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาลแล้ว หากผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายจะฟ้องร้องผู้ซื้อให้ชำระราคาได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่   7735/2555  ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้วยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “....หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..” ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อยกันนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

                       คำถาม   สามีพาภริยาไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำกับภริยาได้ มิได้มีเจตนาร้ายต่อภริยานั้น จะมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  735/2555  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ดังนั้น การกระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ผู้กระทำเพียงแต่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็เป็นความผิดแล้ว โดยไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อประสงค์ร้ายต่อผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยบังคับข่มขู่ฉุดกระชากพาตัวผู้เสียหายซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยขึ้นรถยนต์แล้วพาไปพักยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีพฤติการณ์บังคับกักขังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของตนย่อมต้องทำให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายไม่สามารถเดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาตามความหมายของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว

สรุปฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ 1/70 วิชา ภาษีอากร อ.อดิเทพ (ภาคปกติ) 24 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่ 70

เจาะฎีกา ถอดไฟล์เสียง เนติ 1/70
 วิชา ภาษีอากร อ.อดิเทพ (ภาคปกติ) 24 พ.ค 60 ครั้งที่1 สมัยที่ 70
....................

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2533 สัญญาจำนองและสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์ กับ พ. เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะโจทก์และ พ. สมคบกันแสดงเจตนาลวง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะมีชื่อ ในสัญญาจำนองในฐานะผู้รับจำนอง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จะต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4746/2533 จำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า โจทก์และภรรยาได้รับดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองเลย คงอ้างแต่เพียงว่าเมื่อระบุว่าคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ไว้ในสัญญาจำนอง ก็ต้องถือว่าโจทก์และภรรยาได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้นั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่า โจทก์และภรรยาไม่ได้รับเงินดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง จึงไม่มีเงินได้พึงประเมินจากเงินดอกเบี้ย

            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6338/2539 การที่โจทก์ทั้งห้ามีความผูกพันต่อบริษัทร.ตามสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ก่อนที่จะซื้อที่ดินดังกล่าวมาจากบริษัทก.และในขณะที่โจทก์ทั้งห้าได้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาโดยการจดทะเบียนซื้อจากบริษัทก. โจทก์ทั้งห้ามีเจตนาที่จะนำที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาจดทะเบียนโอนขายให้แก่บริษัทร.ตามสัญญาจะซื้อขายที่มีความผูกพันกันอยู่ดังกล่าว และหลังจากซื้อที่ดินมาได้แล้วโจทก์ทั้งห้าได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บริษัทร. ไปตามเจตนาที่ซื้อมาเมื่อราคาที่ซื้อมาต่ำแต่ราคาที่ขายไปสูงและคำนวณผลต่างของราคาซื้อบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการซื้อลบด้วยราคาขายแล้ว โจทก์ทั้งห้ามีกำไรหลายเท่าตัวทั้งราคาที่ขายไปเป็นราคาที่บริษัทร. ตกลงไว้ตามสัญญาจะซื้อขายหาใช่ราคาตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงสูงขึ้นเอง หลังจากที่โจทก์ ทั้งห้าซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาจากบริษัทก. ไม่ ดังนี้ คนที่ขายที่ดินทั้งสองแปลงแก่บริษัทร. นั้น เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร สำหรับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้ ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ซึ่งมาตรา 46 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จะได้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา เมื่อพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ.2502 มาตรา 8 ทวิ บัญญัติให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นต้นทุนในการซื้อที่ดินมา ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนอันเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรจึงชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้สามารถหาหลักฐานค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ครบถ้วน และเจ้าพนักงานประเมินได้หักให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว หาใช่กรณีโจทก์ทั้งห้าไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้ตามนัยหนังสือกรมสรรพากร ที่ กค.0802/766 ลงวันที่18 มกราคม 2528 และที่ กค.0802/7789 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2531ไม่ จึงใช้อัตราร้อยละ 78 ของเงินได้พึงประเมินตามนัยหนังสือดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 มิได้มีเจตนาซื้อและขายที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวและมิได้รับเงินจากการขายที่ดินนั้น แต่ลงชื่อ ร่วมในการซื้อและมอบอำนาจในการขายไปตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 จึงมิได้เป็นผู้ได้รับเงินได้ พึงประเมินในการที่ที่ดินทั้งสองโฉนดนั้นได้ขายไปโดยการดำเนินการ ของโจทก์ที่ 2 และตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด เจ้าพนักงาน ประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 การที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระเงินตามการประเมินจึงถือเป็นภาษีอากร ค้างนายอำเภอแห่งท้องที่นั้นมีอำนาจสั่งอายัดที่ดินของโจทก์ที่ 1 ได้ แต่เนื่องจากการประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากโจทก์ที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 4 จึงไม่เป็นหนี้ค่าภาษีอากรค้าง นายอำเภอ แห่งท้องที่จึงไม่มีอำนาจอายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 4 และขายทอดตลาด เพื่อให้ได้ชำระภาษีอากรค้างตามการประเมินได้ โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้บรรยายไว้ในตอนท้ายของคำฟ้องว่าโจทก์ทั้งห้ามิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีเหตุอันควรผ่อนผันให้โจทก์ทั้งห้าตามประมวลรัษฎากร ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้กำหนดเป็นประเด็นไว้แล้วว่ามีเหตุอันควรลดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มหรือไม่ และศาลมีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้หรือไม่ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้งดเบี้ยปรับภาษีการค้าและเบี้ยปรับภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นในคำฟ้องชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17

วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม7


--------------------------


                     คำถาม   การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่ได้จดทะเบียน หากเจ้าของภารยทรัพย์ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมจะตกแก่ทายาทเจ้าของภารยทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองว่า  หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น.โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้  เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอ จึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม  การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา  1599 และมาตร 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอม และบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาท ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ออกได้


                   คำถาม  ทนายความเรียกเงินค่าขึ้นศาลจากลูกความเกินว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด กับว่าจะดำเนินคดีให้แล้วเสร็จใน 60 วัน เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6476/2554  ข้อความตามหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ออกให้แก่ น. ผู้เสียหายระบุว่า  “ ได้รับเงินค่าดำเนินคดีจาก น. เพื่อดำเนินคดีเพิกถอนการให้จาก ป. และ ส. จำนวน 560,000 บาทไว้ครบแล้ว โดยทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันทำหนังสือนี้ บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทางโจทก์จะได้รับคืนภายหลังเสร็จคดีภายใน  7 วัน จำนวน 3 ใน 4 ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด  โดยทนายความคิดค่าทนาย 3 เปอร์เซ็นต์ ของเงินที่โจทก์ได้รับสุทธิทั้งหมด”  ข้อความทั้งหมดมีความหมายว่า เรียกเป็นค่าดำเนินคดีจำนวน 560,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายและ ค. ยืนยันว่าจำเลยแจ้งว่าเงินจำนวน 560,000 บาท เป็นเงินที่ต้องวางศาล ต่อมาจำเลยยังเรียกเพิ่มอีก 200,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลเพิ่ม เงินทั้งสองจำนวนเห็นได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายหลงเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเงินที่ต้องนำไปวางศาล จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่จำเลยโดยไม่ลังเล  เช่นนี้  จำเลยเป็นทนายความย่อมจะต้องทราบดีว่าค่าขึ้นศาลตาม ป.วิ.พ. แม้ทุนทรัพย์จะมากเพียงใดก็จะต้องชำระไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ข้อความที่จำเลยเรียกเงินจำนวน 560,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลดังกล่าวจึงเป็นความเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เพราะค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนไม่มากถึงจำนวนที่จำเลยอ้าง และจำเลยไม่เคยนำเงินจำนวนใด ๆ ไปวางเป็นค่าธรรมเนียมที่ศาลแต่อย่างใด  ทั้งข้อความในหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ว่า ทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันทำหนังสือนี้ก็เป็นเท็จ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจะกำหนดวันแน่นอนตายตัวว่า จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจำเลยมิได้ดำเนินการใด ๆ ทางคดีให้แก่ผู้เสียหายตามที่อ้างแต่แรกทั้งยังรับเงินจากผู้เสียหายไปแล้วถึง  810,000 บาท ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น

                    คำถาม   ผู้เช่าให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า หากผู้เช่าเปลี่ยนกุญแจอาคารที่เช่า ทำให้ผู้เช่าช่วงเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ จะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  7445/2554  การที่จำเลยให้ ม. เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า  ผู้เช่าช่วงจึงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่า  แต่ผลของการเป็นบริวารของผู้เช่าจะมีก็เพียงการไม่มีอำนาจพิเศษที่จะอ้างอาศัยในที่เช่าต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น หาได้กระทบความสัมพันธ์อันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยผู้ให้เช่าช่วงกับผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยให้เข้าครอบครองอาคารพิพาทไม่  เมื่อจำเลยจะกลับเข้าครอบครองอาคารพิพาทผู้เสียหายก็ได้โต้แย้งสิทธิการเช่าที่มีต่อจำเลยแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทราบแล้วว่าผู้เสียหายไม่ยินยอมมอบอาคารพิพาทให้แก่จำเลย โดยอ้างสัญญาที่มีต่อจำเลย จำเลยทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอาคารและโต้แย้งจำเลยในเรื่องความระงับของสัญญาเช่าได้เปลี่ยนกุญแจ ทำให้ผู้เสียหายเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก

                    คำถาม  วันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อที่ดินตรงกับวันอาทิตย์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ หลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญามิได้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน ผลของสัญญาจะเป็นอย่างไร
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8188/2554  เมื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ และในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยผู้จะขาย  ส่วนจำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ เมื่อไม่ปรากฏว่าภายหลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย และเมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้แก่โจทก์

                   คำถาม   สมัครใจเข้าวิวาทจะอ้างป้องกันหรือบันดาลโทสะได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8347/2554  ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ  จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว  ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป จะฟังให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน  ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเองก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ

                        คำถาม  การถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม มีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7835/2554  กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72  ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปว่าผู้ที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์อย่างเดียวกับจำเลยนั้น ถือได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หาใช่ถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวจำเลยผู้กระทำความผิดเอง ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกับ พ. กำลังพูดคุยกันก็เพื่อแสดงให้จำเลยเห็นว่า พ. มีใจให้ผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและเย้ยหยันจำเลยต่อหน้าคนรัก จำเลยจึงเกิดอาการโกรธเนื่องจากหึงหวงเป็นเหตุให้ทำร้ายผู้เสียหายนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

                      คำถาม   การพาเด็กไป โดยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าไถ่ แต่เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่เชื่อว่าควรจะได้ จะเป็นความผิดฐานใด
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  9046/2554  จำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจาก อ. ในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน  2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้ อ. นำเงินจำนวน  500,000 บาทไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหาย และ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่  1 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจาก อ. ก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจาก อ.นั้น แม้จะเป็นจำนวนเกินกว่าที่จำเลยอ้างว่า อ. เป็นหนี้จำเลย แต่ก็ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจาก อ. และใช้เงินไปมากแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ.มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา  313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ปี 2559 - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ปี 2559
...........................

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2559 
          การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาโดยมอบเงินจำนวนมากถึง 400,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการทหารมียศสูงถึงพลโทสามารถวิ่งเต้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้นาย อ.เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้ โดยผ่านช่องทางหรือกระบวนการพิเศษที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาเหมือนกรณีการสอบเข้ารับราชการตามปกติทั่วไป หาใช่มอบเงินให้เพื่อตอบแทนหรือเป็นค่าใช้จ่ายการพานาย อ. ไปสมัครสอบ พาไปติวและดำเนินการสอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมากก็โดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขัน เพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเอื้ออำนวยให้นาย อ. ได้เข้ารับราชการ หรือโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องนำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำการอันมิชอบ อันเป็นการสนับสนุนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันก็ทำลายระบบคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง สัญญาฝากเข้าทำงาน ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และแม้ตามสัญญาฝากเข้าทำงานจะระบุไว้ว่า "ผู้ให้สัญญา (จำเลยที่ 1) ยอมรับว่าเงินที่ผู้รับสัญญา (โจทก์) จ่ายให้ตามข้อ 4 ไม่ใช่เงินที่ผู้รับสัญญาให้เพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อให้นาย อ. เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้" ก็หาอาจลบล้างวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ไม่