แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ บทบรรณาธิการเนติ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม10


------------------------------

                       คำถาม   สัญญาจะซื้อขายห้องชุดมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่ผู้ซี้อผิดสัญญาผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบเงินทั้งหมดที่ผู้ซื้อชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ40 ของอาคารชุดนั้น หากผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  11887/2554  เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ทั้งฝ่ายที่บอกเลิกสัญญายังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดว่าในกรณีที่โจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ 40 ของอาคารชุดเป็นเงิน 4,812,080 บาท จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่ ป.พ.พ.บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างอื่นมากน้อยเพียงใด นอกไปจากขาดผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากเงินจำนวนเท่ากับราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ และมีเหตุผลให้เชื่อว่าเมื่อสัญญาเลิกกัน จำเลยสามารถขายห้องชุดดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวน 2,562,080 บาท โดยไม่รวมมัดจำ 250,000 บาท จึงยังสูงเกินส่วน ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นเงิน 960,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์จำนวน 3,602,080 บาท ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น การที่จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา

                       คำถาม    เงินดาวน์ที่ชำระในวันทำสัญญา เงินดาวน์ที่ชำระภายหลังอีก 1 งวดซึ่งตามสัญญาระบุให้ถือเป็นมัดจำ หากผู้ซื้อเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบโดยถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมัดจำหรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7175/2554  โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอให้สิทธิรับเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกัน ให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

                       คำถาม   ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับโอน และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบแล้ว และผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้ผู้รับโอนแล้วบางส่วน ดังนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารจะขอให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ่ายเงินแก่ผู้รับโอนได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  12616/2555  จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์และขอให้โจทก์ติดต่อธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเริ่มกู้ครั้งแรกเมื่อเดือน กรกฎาคม 2538 เดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลัง กับอาคารศูนย์กิจกรรมนิสิตนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลังให้แก่จำเลยที่ 4 โดยโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิการรับเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบแล้ว ตามหนังสือของโจทก์ หลังจากได้หนังสือแจ้งจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้โจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ด้วยเหตุผลว่า โจทก์ปิดกิจการโดยคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่จ่ายเงินค่างวดที่เหลือให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังจำเลยที่ 4 ว่า แม้โจทก์จะได้รับคำสั่งให้หยุดกิจการจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่โจทก์ก็ยังมีอำนาจรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ตามสำเนาหนังสือของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามขอ แต่ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบตามสัญญาจ้าง
                      มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่าการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นั้นมีผลให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่างวดให้แก่โจทก์ต่อไปหรือไม่
                     เห็นว่า  การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้วยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย ซึ่งในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า “....สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” และมาตรา 375 บัญญัติต่อไปว่า “ เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่” คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่4ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นมีแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่4  คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4  ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375  ดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 4 ยังคงต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์

                      คำถาม   การซื้อขายต้นอ้อย ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน ผู้ขายได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อเข้าไปตัดต้นอ้อยของผู้ขายไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาลแล้ว หากผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายจะฟ้องร้องผู้ซื้อให้ชำระราคาได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่   7735/2555  ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้วยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “....หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..” ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการซื้อขายต้นอ้อยกันนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

                       คำถาม   สามีพาภริยาไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำกับภริยาได้ มิได้มีเจตนาร้ายต่อภริยานั้น จะมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  735/2555  ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ดังนั้น การกระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว ผู้กระทำเพียงแต่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็เป็นความผิดแล้ว โดยไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อประสงค์ร้ายต่อผู้เสียหายแต่อย่างใด การที่จำเลยบังคับข่มขู่ฉุดกระชากพาตัวผู้เสียหายซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยขึ้นรถยนต์แล้วพาไปพักยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีพฤติการณ์บังคับกักขังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี จำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของตนย่อมต้องทำให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายไม่สามารถเดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาตามความหมายของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว

วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม7


--------------------------


                     คำถาม   การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่ได้จดทะเบียน หากเจ้าของภารยทรัพย์ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมจะตกแก่ทายาทเจ้าของภารยทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  2975/2553  น. เสนอขายที่ดินโดยนำรูปแผนที่หลังโฉนดที่ดินมาแสดงแก่โจทก์เพื่อยืนยันรับรองว่า  หากโจทก์ซื้อที่ดินของ น.โจทก์ก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกและใช้ประโยชน์เกี่ยวแก่การสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ซื้อได้  เมื่อโจทก์ตกลงซื้อที่ดินตามที่ น. เสนอ จึงเกิดเป็นสัญญาก่อให้เกิดภาระจำยอม  การที่ น. ไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ คงมีผลเพียงทำให้ภาระจำยอมดังกล่าวยังไม่เป็นทรัพยสิทธิที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง เท่านั้น แต่ก็เป็นบุคคลสิทธิใช้บังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญา และไม่ใช่สิทธิที่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของ น. โดยแท้ เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาภาระจำยอมย่อมตกทอดแก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา  1599 และมาตร 1600 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอม และบังคับให้จำเลยรื้อถอนรั้ว เสาปูนและลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาท ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ออกได้


                   คำถาม  ทนายความเรียกเงินค่าขึ้นศาลจากลูกความเกินว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด กับว่าจะดำเนินคดีให้แล้วเสร็จใน 60 วัน เป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  6476/2554  ข้อความตามหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ออกให้แก่ น. ผู้เสียหายระบุว่า  “ ได้รับเงินค่าดำเนินคดีจาก น. เพื่อดำเนินคดีเพิกถอนการให้จาก ป. และ ส. จำนวน 560,000 บาทไว้ครบแล้ว โดยทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันทำหนังสือนี้ บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทางโจทก์จะได้รับคืนภายหลังเสร็จคดีภายใน  7 วัน จำนวน 3 ใน 4 ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด  โดยทนายความคิดค่าทนาย 3 เปอร์เซ็นต์ ของเงินที่โจทก์ได้รับสุทธิทั้งหมด”  ข้อความทั้งหมดมีความหมายว่า เรียกเป็นค่าดำเนินคดีจำนวน 560,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายและ ค. ยืนยันว่าจำเลยแจ้งว่าเงินจำนวน 560,000 บาท เป็นเงินที่ต้องวางศาล ต่อมาจำเลยยังเรียกเพิ่มอีก 200,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลเพิ่ม เงินทั้งสองจำนวนเห็นได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก จึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายหลงเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเงินที่ต้องนำไปวางศาล จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากให้แก่จำเลยโดยไม่ลังเล  เช่นนี้  จำเลยเป็นทนายความย่อมจะต้องทราบดีว่าค่าขึ้นศาลตาม ป.วิ.พ. แม้ทุนทรัพย์จะมากเพียงใดก็จะต้องชำระไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ข้อความที่จำเลยเรียกเงินจำนวน 560,000 บาท อ้างว่าเป็นเงินวางศาลดังกล่าวจึงเป็นความเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เพราะค่าธรรมเนียมศาลมีจำนวนไม่มากถึงจำนวนที่จำเลยอ้าง และจำเลยไม่เคยนำเงินจำนวนใด ๆ ไปวางเป็นค่าธรรมเนียมที่ศาลแต่อย่างใด  ทั้งข้อความในหนังสือการรับเงินของจำเลยที่ว่า ทนายความดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันทำหนังสือนี้ก็เป็นเท็จ เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจะกำหนดวันแน่นอนตายตัวว่า จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 60 วัน ย่อมไม่อาจเป็นไปได้และจำเลยมิได้ดำเนินการใด ๆ ทางคดีให้แก่ผู้เสียหายตามที่อ้างแต่แรกทั้งยังรับเงินจากผู้เสียหายไปแล้วถึง  810,000 บาท ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตฉ้อโกงผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้น

                    คำถาม   ผู้เช่าให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า หากผู้เช่าเปลี่ยนกุญแจอาคารที่เช่า ทำให้ผู้เช่าช่วงเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ จะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  7445/2554  การที่จำเลยให้ ม. เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า  ผู้เช่าช่วงจึงมีฐานะเป็นเพียงบริวารของผู้เช่า  แต่ผลของการเป็นบริวารของผู้เช่าจะมีก็เพียงการไม่มีอำนาจพิเศษที่จะอ้างอาศัยในที่เช่าต่อผู้ให้เช่าเท่านั้น หาได้กระทบความสัมพันธ์อันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยผู้ให้เช่าช่วงกับผู้เสียหายซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยให้เข้าครอบครองอาคารพิพาทไม่  เมื่อจำเลยจะกลับเข้าครอบครองอาคารพิพาทผู้เสียหายก็ได้โต้แย้งสิทธิการเช่าที่มีต่อจำเลยแล้ว กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทราบแล้วว่าผู้เสียหายไม่ยินยอมมอบอาคารพิพาทให้แก่จำเลย โดยอ้างสัญญาที่มีต่อจำเลย จำเลยทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายยังครอบครองอาคารและโต้แย้งจำเลยในเรื่องความระงับของสัญญาเช่าได้เปลี่ยนกุญแจ ทำให้ผู้เสียหายเข้าครอบครองอาคารไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุก

                    คำถาม  วันนัดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาจะซื้อที่ดินตรงกับวันอาทิตย์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ หลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญามิได้เรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน ผลของสัญญาจะเป็นอย่างไร
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8188/2554  เมื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ และในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยผู้จะขาย  ส่วนจำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ผู้ซื้อ เมื่อไม่ปรากฏว่าภายหลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย และเมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้แก่โจทก์

                   คำถาม   สมัครใจเข้าวิวาทจะอ้างป้องกันหรือบันดาลโทสะได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8347/2554  ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ  จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว  ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป จะฟังให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน  ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเองก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ

                        คำถาม  การถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม มีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  7835/2554  กรณีที่จะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72  ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับความรู้สึกของคนธรรมดาหรือวิญญูชนทั่วไปว่าผู้ที่อยู่ในภาวะ วิสัย และพฤติการณ์อย่างเดียวกับจำเลยนั้น ถือได้ว่าจำเลยผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมหรือไม่ หาใช่ถือเอาตามความรู้สึกนึกคิดของตัวจำเลยผู้กระทำความผิดเอง ที่จำเลยฎีกาว่าการที่ผู้เสียหายจอดรถจักรยานยนต์ขวางหน้ารถยนต์ที่จำเลยกับ พ. กำลังพูดคุยกันก็เพื่อแสดงให้จำเลยเห็นว่า พ. มีใจให้ผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและเย้ยหยันจำเลยต่อหน้าคนรัก จำเลยจึงเกิดอาการโกรธเนื่องจากหึงหวงเป็นเหตุให้ทำร้ายผู้เสียหายนั้น ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

                      คำถาม   การพาเด็กไป โดยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทรัพย์สินเพื่อเป็นค่าไถ่ แต่เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่เชื่อว่าควรจะได้ จะเป็นความผิดฐานใด
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  9046/2554  จำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจาก อ. ในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน  2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้ อ. นำเงินจำนวน  500,000 บาทไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหาย และ อ. เพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึง ต. น้องสาวผู้เสียหายในวันที่  1 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจาก อ. ก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจาก อ.นั้น แม้จะเป็นจำนวนเกินกว่าที่จำเลยอ้างว่า อ. เป็นหนี้จำเลย แต่ก็ได้ความว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่ อ. จะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจาก อ. และใช้เงินไปมากแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า อ. เป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจาก อ. จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและ อ. ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ตาม ป.อ.มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าว เป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตาม ป.อ. มาตรา  313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม9


-----------------------------

                      คำถาม  ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญาก็ดี เงินที่ชำระในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็ดี  เงินที่ชำระในวันทำสัญญาซึ่งตามสัญญาระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ก็ดี เป็นมัดจำหรือไม่

                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 4917/2554  มัดจำที่ได้ให้แก่กันไว้เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญาในวันทำสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญา ดังนั้น เงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์ผู้จะซื้อได้ชำระให้แก่จำเลยผู้จะขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเท่านั้นที่เป็นมัดจำ ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลยภายหลังทำสัญญาดังกล่าวนั้นมิใช่มัดจำแต่เป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน
                     เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลย ซึ่งเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนตามสัญญานั้น จำเลยต้องให้โจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เงินจำนวน 800,000 บาทดังกล่าวมิใช่มัดจำที่จำเลยจะมีสิทธิริบเพราะเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
                      (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  3216/2554  โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นคู่สัญญาตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน โดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ท. ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาดังกล่าว จำเลยและบริษัท ท. ต่างมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งก็เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นพยานชุดเดียวกัน เห็นได้ว่า บริษัท ท. เป็นบริษัทในเครือของจำเลยตรงตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขต่อท้ายสัญญา จำเลยกับบริษัท ท. ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทรายนี้ โดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ถือว่าจำเลยและบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย มีผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดสรรที่ดินและบ้านที่โจทก์ทั้งสองจองซื้อจากจำเลย จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่ผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาทั้งหมดดังกล่าวแล้วได้
                      เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพราะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินให้ถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกโดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อยินยอมให้จำเลยผู้จะขายริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดเช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นพยานหลักฐาน และเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระอีกจำนวน 32,500 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญา มิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงมิใช่ค่ามัดจำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิกแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
                    โจทก์ทั้งสองชำระค่าดิน ค่าจ้างปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านหลังจากที่จำเลยมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทแล้ว เป็นเงิน 606,897 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  แต่การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน  ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

                     คำถาม   นั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดแล้ว แต่สตาร์ทไม่ติด เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จหรือพยายาม
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3463/2554  การที่จำเลยไปนั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แม้จำเลยจะสตาร์ทเครื่องด้วยเท้าไม่ติดและต่อสายตรงไม่สำเร็จ แต่จำเลยก็ได้พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดไว้ 5 ถึง 10 เมตร เป็นการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปได้แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานลักทรัพย์

                    คำถาม   การใช้กำลังประทุษร้ายโดยมิได้เจตนาเพื่อเอาทรัพย์ไป หากการประทุษร้ายขาดตอนไปแล้ว จึงมีเจตนาเอาทรัพย์ไป เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  6554/2554  โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่ก่อนเกิดเหตุว่าผู้เสียหายจะขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ และเหตุที่ผุ้เสียหายหยุดรถจักรยานยนต์  เนื่องจากผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ลุยน้ำ ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง ดังนี้ จำเลยกับพวกอาจพบผู้เสียหายโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย ประกอบกับเมื่อจำเลยกับพวกใช้มีดฟัน ผู้เสียหายวิ่งหลบหนีแล้ว จำเลยกับพวกยังวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปอีก เชื่อว่าจำเลยกับพวกใช้มีดฟันผู้เสียหายเพราะโกรธที่ผู้เสียหายร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย มิใช่เป็นการฟันผู้เสียหายเพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เมื่อจำเลยกับพวกไม่อาจทำร้ายผู้เสียหายได้อีก การที่จำเลยกับพวกกลับไปเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายผู้เสียหายขาดตอนไปแล้ว จำเลยกับพวกจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                     คำถาม  การบอกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า ขอเก็บเงินค่าวินต่อเดือนหากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายก็ให้กลับบ้านต่างจังหวัดไป จะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดีเป็นความผิดฐานกรรโชก หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3723/2554  จำเลยที่ 1 เรียกประชุมสมาชิกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในวินของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยจำเลยทั้งสองได้บอกให้สมาชิกทราบว่าจำเลยที่ 1 ขอเก็บเงินค่าวินจากสมาชิกคนละ 950 บาท ต่อเดือน หากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายเงินให้ ก็ให้สมาชิกคนนั้นกลับบ้านต่างจังหวัดไป จำเลยทั้งสองจะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดี คำพูดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่ขืนใจให้สมาชิกทั้งที่เข้าร่วมประชุมและไม่เข้าร่วมประชุมยอมจ่ายเงินเป็นรายเดือนเดือนละ 950 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 และไม่ใช้สมาชิกบอกเรื่องที่ต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบด้วย โดยการขู่เข็ญให้สมาชิกทราบว่าหากสมาชิกคนใดไม่ยอมกระทำตามที่บอก สมาชิกก็จะได้รับผลร้ายคือจะถูกยึดเสื้อวินที่สมาชิกสวมใส่ในการขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างคืน ซึ่งหมายความว่า สมาชิกคนนั้นจะไม่สามารถมาจอดรถจักรยานยนต์ของตนที่วินของจำเลยที่ 1 เพื่อรอให้ผู้โดยสารว่าจ้างอีกต่อไป อันเป็นการขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของบรรดาสมาชิก ส่วนคำว่าให้ระวังตัวให้ดีนั้นคนปกติทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นลักษณะคำพูดข่มขู่ให้คนที่ได้รับฟังให้เกิดความกลัวอยู่ในตัวว่า อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายได้ จึงเป็นกรณีจำเลยทั้งสองขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบรรดาสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายหลายคนยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก

                         คำถาม  เข้าไปทำร้ายผู้อื่นในบ้านมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 364 มาตรา 365 หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   540/2554  บ้านที่เกิดเหตุมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่ การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ในบริเวณที่บุคคลทั่วไปย่อมจะเข้าไปได้นั้น ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 และมาตรา  365
                       คำถาม  นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปในที่เกิดเหตุในยามวิกาลเพื่อจะลักทรัพย์แล้วสำรวจที่จะลักเพื่อจะขนไว้บนรถบรรทุก แต่ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ ถือว่าลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้

                      คำพิพากษาฎีกาที่  4938/2554  จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปจอดในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุซึ่งล้อมรั้วสังกะสีในยามวิกาล แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ไฟฉายส่องไปที่มอเตอร์ซึ่งติดตั้งอยู่บนโครงเหล็ก เป็นการสำรวจทรัพย์ที่จะลักและเพื่อขนทรัพย์นั้นไปไว้บนรถบรรทุกของกลางที่นำเข้ามาในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุ แม้จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ แต่นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาทรัพย์ไปได้ในทันทีทันใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอยู่ในชั้นลงมือกระทำความผิดแล้วเพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะ บ. กับพวกพบจำเลยที่ 2 กับพวกก่อนที่จำเลยที่ 2 กับพวกจะลักทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์แล้ว

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัย66 เล่ม8


----------------------------


                  คำถาม  ธนาคารเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก หรือไม่
                   คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 7819/2552  การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้ จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 624/2553  การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ปรากฎว่าเงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปนั้นเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นจำเนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 10558/2553 การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินฝากประจำของโจทก์มาชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีได้ เป็นการกู้ยืมเงินโดยมีเงินฝากประจำเป็นหลักประกัน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินฝากประจำมาหักกลบลบหนี้แล้วแต่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามยังคงคิดดอกเบี้ยจากโจทก์ต่อไปอีก โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ยังมิได้นำหนังสือรับรองสินเชื่อมาคืนให้จำเลยที่ 1 เช่นนี้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง เงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้กับจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน จำเลยที่ 1 คงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จึงมิใช่เป็นการที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 จัดการทรัพย์สินของตน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานยักยอก


                    คำถาม  สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินโดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินการบังคับตามคำพิพากษาตามยอมต่อที่ดิน เพื่อมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้กู้บังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวได้ จะเป็นความผิดหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  701/2553  จำเลยที่ 1 และที่ 2 สมคบกันทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2541 จำนวนเงิน 500,000 บาท และฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2542 จำนวนเงิน 200,000 บาท โดยมิได้เป็นหนี้กันจริง แล้วดำเนินคดีและบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้นต่อที่ดินโฉนดเลขที่ 47781 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1142/2544 ของศาลชั้นต้น บังคับคดีต่อทรัพย์สินดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการจงใจทำผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 สัญญากู้ยืมเงินทั้ง 2 ฉบับ และสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 42/2545 ของศาลชั้นต้น จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่ต้องเพิกถอน


                   คำถาม   ขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์บรรทุกโทรทัศน์ที่ลักไป โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ลักมา เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  8396/2552  การกระทำความผิดฐานรับของโจร ผู้กระทำไม่จำต้องรับทรัพย์ของกลางไว้ในความครอบครองของตนเอง เพียงแต่ช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ให้ อ. นั่งซ้อนท้าย บรรทุกโทรทัศน์ของกลางไปที่อำเภอดอนสัก โดยรู้อยู่ว่าเป็นโทรทัศน์ที่ อ. ลักมา ก็เป็นการช่วยพาเอาไปเสียอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานรับของโจรแล้ว


                  คำถาม  นำภาพถ่าย (ไม่ได้ใช้ต้นฉบับ) หนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และยื่นฟ้องทายาทเจ้าของที่ดินตามโฉนดจะเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9026/2553  โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ การที่จำเลยนำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอมไปยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และยื่นคำฟ้องบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการ กระทำของจำเลยแล้ว เพราะอาจต้องเสียที่ดินพิพาทไปจากการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
                   เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารสิทธิปลอม ภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวที่จำเลยถ่ายสำเนามา จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอมด้วย  เมื่อจำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไปใช้อ้างเป็นเอกสารแนบท้ายคำร้องและคำฟ้องโดยรู้อยู่แล้วว่าหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมแล้ว
                     จำเลยนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ และนำภาพถ่ายหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยต่างวันเวลากัน การกระทำของจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

                     คำถาม  ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า จะต้องผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนดังกล่าวหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  454/2552  สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา  ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท  เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต

                    คำถาม   การคืนเงินประกันการเช่าเป็นหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจะต้องรับผิดและปฏิบัติต่อผู้เช่าหรือไม่
             ผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เช่ามีสิทธิขอให้บังคับผู้ให้เช่าส่งมอบค่าเช่าหลังจากโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่เช่าและเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระแก่ผู้ให้เช่าหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    (ก) คำพิพากษาฎีกาที่  1990/2552 โจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทมาจาก ป. โดยมีจำเลยเช่าตึกแถวดังกล่าวจาก ป. อยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยชำระเงินประกันความเสียหายจากการเช่าให้ ป. ใช้จำนวนหนึ่ง เงินประกันการเช่านี้เป็นเงินประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เช่าและผู้ให้เช่าเดิม แม้ระบุไว้ในสัญญาเช่าก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่อื่นตามสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดระหว่างผู้ให้เช่าตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง การคืนเงินประกันการเช่าจึงไม่ใช่หน้าที่ตามสัญญาเช่าที่โจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะต้องรับผิดและปฏิบัติตาม  เมื่อโจทก์ไม่ต้องรับผิดคืนเงินประกันการเช่า ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีสิทธินำเงินประกันการเช่าจำนวน 72,000 บาทมาหักจากค่าเสียหายที่จำเลยค้างชำระค่าเช่าโจทก์ได้
                     (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  44/2553  ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 569 ที่กำหนดให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า และผู้รับโอนย่อมรับไปทังสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่าด้วยนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม
                    คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2036 และที่ดินโฉนดเลขที่ 20279 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 76/4-7 ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาคารพาณิชย์เลขที่ดังกล่าวจำเลยได้ให้นาย ก. เช่ามีกำหนด 3 ปี ค่าเช่าเดือนละ 40,000 บาท โดยนาย ก. ได้วางเงินประกันความเสียหายจากการเช่าไว้แก่จำเลย จำนวน 200,000 บาท ดังนั้น โจทก์จึงได้รับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าที่จำเลยและนาย ก. ทำไว้ ต่อมาปรากฎว่าภายหลังจากที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวแล้ว จำเลยยังได้รับค่าเช่าจากนาย ก. นอกจากนั้นการที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมสิทธิตามสัญญาเช่าดังกล่าวมา จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินประกันความเสียหายตามสัญญาเช่าดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเช่า ค่าประกันพร้อมดอกเบี้ย
                     ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 569 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีสิทธิรับเงินค่าเช่าที่ผู้เช่าต้องชำระหลังจากโอนกรรมสิทธิ์ และเงินประกันความเสียหายที่ผู้เช่าชำระให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีสิทธิได้รับหรือยึดถือเงินดังกล่าวไว้ต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ แม้ในเวลาต่อมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้เช่าก็ตาม

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย67 เล่ม1

---------------------------------

                       คำถาม   บุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อครอบครองต่อมา ดังนี้ ผู้ซื้อจะนับระยะเวลาที่ผู้ขายครอบครองที่ดินติดต่อกับระยะเวลาที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินเข้าด้วยกันอันจะทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่
                      การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ครอบครองจะต้องมีเจตนาสุจริตหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1981/2556  ท. ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แสดงว่า ท. เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครองครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
                       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ได้บัญญัติว่าการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองจะต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาที่สุจริต คงบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นก็ตาม

                       คำถาม  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนขณะทำพินัยกรม ผู้ทำพินัยกรรมกับผู้รับพินัยกรรมมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินให้ผู้รับพินัยกรรมว่า ให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่น ดังนี้ ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่นจะฟ้องบังคับให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   5791/2556  การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง
                      ท. ผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และขณะ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตาย และจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งรับทราบเจตนาของ ท. ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงหนึ่งตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาท อันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงนั้นแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้นอันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ทำให้เป็นโมฆะหรือเสียเปล่ายังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ไม่ แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้

                       คำถาม  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจดทะเบียนให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าหรือมีอำนาจฟ้องขับไล่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  15033/2555   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 68160 และจดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยมีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 นางบุญช่วยให้นางชอุ่มมารดาจำเลยเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 3 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย นางชอุ่มก่อสร้างบ้านพิพาทเสร็จแล้วขอเลขที่บ้าน หลังจากนั้นนางชอุ่มและจำเลยย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านพิพาท นางชอุ่มทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับนางบุญช่วยต่อมาอีกหลายครั้ง ต่อมานางชอุ่มยกบ้านพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับนางบุญช่วยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 มีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท ก่อนครบกำหนดตามสัญญานางบุญช่วยแจ้งจำเลยว่าจะให้อยู่อีก 2 เดือน แล้วให้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยยังอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท

                       คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความยุติว่า โจทก์จดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่  การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1

       ถาม-ตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค1 สมัยที่66 เล่มที่ 1
--------------------------------


         คำถาม  สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจาก
ทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น หากหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ และจะเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องได้หรือไม่
         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
         คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๕๕๗/๒๕๕๔ เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ ๑ ขาดอายุความ
 โดยหนี้ดังกล่าวมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ ๒ จำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๒๗ และมาตรา ๗๔๕ กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไปไม่ได้  ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิผู้รับจำนองบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบก็ตาม โจทก์ก็จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๒ เพื่อเอาชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้น บทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติห้ามผู้รับจำนองมิให้ใช้สิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า ๕ ปีขึ้นไป มิได้ห้ามผู้รับจำนองมิให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขอให้บังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปได้
                         

         คำถาม ข้อความในสัญญาเช่าว่า ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก แต่ต้องตกลงเรื่องค่าเช่ากันใหม่ หรือต้องมาทำสัญญากันใหม่ เป็นคำมั่นจะให้เช่าหรือไม่
          คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๐๑/๒๕๕๕ ข้อความในสัญญาเช่าที่ว่า ก่อนครบสัญญาเช่า โจทก์และจำเลยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าในอัตราที่เป็นธรรม ดังที่ปฏิบัติมาเป็นปกติประเพณี ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับค่าเช่าหรือระยะเวลาเช่าที่แน่นอนอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า จึงไม่เข้าลักษณะคำมั่นจะให้เช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่สนองรับคำเสนอที่โจทก์แจ้งไปเพื่อขอขยายอายุสัญญาเช่าใหม่  ถือว่าคำเสนอของโจทก์ตกไป สัญญาเช่าจึงไม่เกิดขึ้น ถือได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ของโจทก์ที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
           คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๑-๖๖๒/๒๕๑๑ สัญญาเช่ามีข้อความว่า “เมื่อหมดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิต่ออายุในสัญญาเช่าได้อีก ส่วนค่าเช่านั้นตกลงกันใหม่” ย่อมเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้โอกาสผู้เช่าจะต่อสัญญาได้เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการต่ออายุสัญญาเช่าต่อไป
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๙/๒๕๑๒ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาเช่าต่อกันมีข้อความว่า “ผู้ให้เช่าจะยอมให้ผู้เช่าเช่าสถานที่ต่อไปอีกคราวหนึ่งมีกำหนด ๑๐ ปี ในอัตราค่าเช่าอย่างเดิม หรืออัตราค่าเช่าอื่นใดสุดแต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน” นั้น หมายความว่าอัตราค่าเช่าจะเป็นอย่างเดิมก็ดี หรืออย่างอื่นก็ดี โจทก์จำเลยจะต้องตกลงซึ่งกันและกันเสียก่อน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเช่าตามกฎหมายหากตกลงกันไม่ได้ก็ย่อมจะต่อสัญญาเช่ากันไม่ได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๙๔/๒๕๑๕  สัญญาเช่าซึ่งระบุว่า เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าแล้ว หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่อผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก และค่าเช่าจะได้ตกลงกันภายหลังนั้น เป็นเพียงผู้ให้เช่าให้โอกาสผู้เช่าที่จะต่อสัญญาเช่าได้อีก ในเมื่อตกลงค่าเช่ากันเรียบร้อยแล้ว และไม่มีพันธะผูกพันผู้ให้เช่าว่าจะเรียกร้องค่าเช่ากันได้มากน้อยเพียงใด  เมื่อผู้ให้เช่ากำหนดอัตราค่าเช่า  ผู้เช่าไม่สนองรับก็เป็นอันตกลงค่าเช่ากันไม่ได้ สัญญาเช่าต่อไปย่อมไม่เกิด
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๑๖๐/๒๕๑๘  ข้อสัญญาว่า ถ้าครบกำหนดเช่าผู้เช่าต้องมาทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน  มิฉะนั้น ยอมให้เก็บค่าเช่าเป็นเดือนละ  ๑,๐๐๐ บาทได้ ดังนี้ เป็นแต่ให้โอกาสทำสัญญาใหม่ แม้ผู้เช่าขอทำสัญญาใหม่ใน ๗ วัน ก็ยังไม่เป็นสัญญาผูกพันผู้ให้เช่า
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๕/๒๕๒๕  โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อสร้างตึกแถวและอาคารบ้านเรือน (ตลาดสด) ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ ๗ ตึกแถวฯ ที่โจทก์ปลูกสร้างขึ้นใหม่โจทก์มีสิทธิให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้ตามสัญญาข้อ  ๒ โดยข้อ ๒ มีความว่า ยอมให้โจทก์เช่าที่ดินมีกำหนด ๑๕ ปี เมื่อหมดสัญญา  ๑๕ ปีแล้ว ถ้าโจทก์ประสงค์จะเช่าต่อให้มาทำสัญญาใหม่ ถ้าไม่ทำสัญญาต่อ โจทก์จะต้องส่งมอบสถานที่เช่าพร้อมตึกแถวฯ ให้แก้ผู้ให้เช่าจนครบถ้วนทุกอย่าง ดังนี้ มิใช่คำมั่นจะให้เช่า จำเลยหาจำต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาทต่อไปไม่
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๒๖๓/๒๕๓๕  หนังสือสัญญาเช่าสถานที่ระบุว่า ถ้าผู้รับมอบหรือผู้เช่ามิได้ประพฤติผิดสัญญา  ผู้มอบหรือผู้ให้เช่าจะได้พิจารณาต่ออายุสัญญาให้อีกคราวหนึ่ง เป็นการแสดงความประสงค์ของคู่สัญญาว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าจะใช้ดุลพินิจต่อสัญญาให้แก่ผู้เช่าอีกคราวหนึ่ง ในเมื่อผู้เช่าไม่ได้กระทำผิดสัญญา อย่างไรก็ดีแม้ผู้เช่าจะไม่ได้กระทำผิดสัญญาก็ตาม  การจะต่ออายุสัญญาให้อีกหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของผู้ให้เช่า สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่คำมั่นจะให้เช่า
           

           คำถาม  คำมั่นจะให้เช่า  มีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าหรือไม่
            คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๗๒/๒๕๓๗  เดิมตึกแถวตามฟ้องเป็นของ ด.  ด.ให้จำเลยเช่า  ต่อมา ด.โอนตึกแถวให้ อ. แล้ว อ.โอนขายให้โจทก์ แม้ ด. จะให้คำมั่นแก่จำเลยว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ด.จะให้จำเลยเช่าตึกแถวต่ออีก ๓ ปี คำมั่นดังกล่าวก็ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๔๙๑/๒๕๓๙  สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่าเดิมกับจำเลยระบุว่าผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าต่อระยะเวลาการเช่าไปอีกหลังจากที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วเป็นเพียงข้อตกลงต่างหากนอกเหนือจากสัญญาเช่าซึ่งเป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่เป็นทรัพย์สิทธิที่จะได้เช่าต่อไปคงผูกพันเฉพาะคู่สัญญาคือผู้ให้เช่าห้องพิพาทเดิมกับจำเลยเท่านั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องพิพาทซึ่งมิได้ตกลงกับจำเลยในข้อตกลงดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีกเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในห้องพิพาทต่อไป จำเลยก็ต้องออกไปจากห้องพิพาทนั้น

                  คำถาม   การร่วมกันไปทำร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสเป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๓๘  - ๗๓๙/๒๕๕๕  ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  ๒๙๙ ต้องเป็นกรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัส  ซึ่งหมายถึงกรณีไม่ทราบว่าผู้ใดหรือบุคคลใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส แต่จำเลยที่  3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่  2 กับพวกใช้มีดและเหล็กแป็บฟันและตีผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่ใช่เป็นการชุลมุนต่อสู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  299
                  คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๒๓๕/๒๕๕๓  กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา  ๒๙๙ นั้นต้องเป็นการชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัสโดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส  แต่หากสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้  ทั้งรู้ว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ลงมือทำร้ายย่อมลงโทษผู้นั้นกับพวกได้ตามเจตนาและผลของการกระทำ  เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าจำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้เสียหายกับพวกฝ่ายหนึ่งวิวาทต่อสู้กัน แล้วพวกของจำเลยเป็นผู้ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ย่อมมิใช่กรณีตาม ป.อ. มาตรา 299 และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหาย คือ น. ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายด้วย จำเลยซึ่งมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายย่อมต้องรับผลอันเป็นธรรมดาย่อมเกิดขึ้นจากการนั้นในฐานเป็นตัวการ แม้มิได้เป็นผู้ลงมือใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายด้วยตนเองก็ตาม