วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติฯ เล่มที่ 2 สมัยที่ 1/71 (ฎีกาที่ ๕๓๗๖/๒๕๖๐, ฎีกาที่ ๒๑๓๑/๒๕๖๐)

        คำถาม ผู้กู้ยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ผู้ให้กู้ ผู้กู้เรียกให้คืน เงินดอกเบี้ยได้หรือไม่ และผู้ให้กู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดงกล่าวหรือไม่
        คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๗๖/๒๕๖๐ โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ ๕ ต่อเดือน และโจทก์ยังเบิกความว่า หลังจากทำหนังสือสัญญากู้เงินแล้ว จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เดือนละ ๒,๕๐๐ บาท เป็นเวลา ๓ เดือน รวมเป็นเงิน ๗,๕๐๐ บาท ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗ (เดิม)
        จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ซึ่งตกเป็นโมฆะ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๑ จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ และจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ได้ดอกเบี้ยดงกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้น ตามหนังสือสัญญากู้เงิน 
        คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๓๑/๒๕๖๐ โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ให้จำเลยกู้ยืมรวมค่าใช้จ่ายร้อยละ ๑.๓ ต่อเดือน หรือ อัตราร้อยละ ๑๕.๖ ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๓ ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ มีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้โดยจงใจ ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๗ เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์ เป็นโมฆะเท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิ์คิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
        สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีการกำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ โจทก์ บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือในวันที่ ๑๖  มิถุนายน ๒๕๕๗ พ้นกำหนด รยะเวลา ๗  วัน ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เมื่อหนี้ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระเป็นหนี้เงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในระหว่างเวลาผิดนัดอัตรา ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๗  เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ


อ้างอิง ถามตอบ บทบรรณาธิการเนติฯ เล่มที่ 2 สมัยที่ 1/71

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ฎีกาคำบรรยายเนติ ภาคทบทวน* อาญา ม.1-58,107-208 อ.อำนาจ ครั้งที่ 1 3 มิ.ย 61 สมัยที่71


     ฎีกาคำบรรยายเนติ ภาคทบทวน* 
อาญา ม.1-58,107-208 อ.อำนาจ ครั้งที่ 1 3 มิ.ย 61 สมัยที่71
-------------------------


        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2531 การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้ จ. เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกนั้นแม้ผู้เสียหายจะไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย และไม่มีเจตนาจะมอบเงินให้แก่จำเลย โดยได้ไปแจ้งความแล้วนำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจมาหลอกให้จำเลยรับไว้เป็นหลักฐานในการจับกุมก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว.

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 537/2523 เรียกทรัพย์ว่าจะนำไปให้ผู้พิพากษาตัดสินยกฟ้องแม้ผู้เรียกไม่ตั้งใจจะเอาทรัพย์ที่เรียกไปให้เจ้าพนักงานนั้นเลย ก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2554 (อ.เน้น น่าสนใจ) ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานโจทก์ขัดแย้งกันไม่เพียงพอฟังเพื่อลงโทษจำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา
        จำเลยเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องคดีแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา แม้พนักงานอัยการจะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินก็ตาม ก็ถือว่าพนักงานอัยการนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่บุคคลที่จำเลยจะให้ช่วยเหลือแล้ว การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว และเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2536 การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจาก ฉ.เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาโดยวิธีอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดีอันเป็นคุณแก่ ฉ.ให้ฉ.ชนะคดีในชั้นศาลฎีกานั้นครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว จำเลยจะได้ไปจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาให้กระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ฉ.หรือไม่ หาใช่องค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 ไม่ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปก่อนที่จำเลยจะได้เรียกและรับเงินจากฉ.จำเลยย่อมไม่สามารถจะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณแก่ ฉ.ได้ทันก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบความผิดไปแต่อย่างใด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558 จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7188/2538 การที่จะแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลนั้น จะต้องทำเป็นเรื่องเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง นายอำเภอแม้จะเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลอยู่ด้วยก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะแต่งตั้งเสมียนตราอำเภอให้เป็นสมุห์บัญชีสุขาภิบาลได้ด้วยตนเอง ดังนั้นการที่นายอำเภอสั่งให้จำเลยไปปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีสุขาภิบาล จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยไม่มีฐานะเป็นพนักงานของสุขาภิบาลและไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 ได้

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5964/2537 ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษา แต่เมื่อเงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นสวัสดิการต่อกรมตำรวจ หาใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่อย่างใดไม่ จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ไม่ได้ แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีจึงขาดอายุความ

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1272/2506 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอมีหน้าที่รับเรื่องราวจดทะเบียน ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของราษฎร ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินจากผู้ขายเกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนดและยึดเอาส่วนเกินไว้เงินส่วนเกินไม่ใช่เป็นเงินของทางราชการหรือของรัฐบาล จึงไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147
        ฉะนั้น การที่จำเลยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม(แม้จะเกินกว่ากฎหมายกำหนด)ก็ดี การทำนิติกรรมการซื้อขายที่ดินก็ดี จึงไม่ใช่เป็นการกระทำหรือเบียดบังต่อทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2545 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคน โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่านโดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้น และพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง แต่เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน8 ครั้ง เป็นเงิน 153,700 บาท แม้ว่าจะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าผ่านทาง แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งเป็นผู้รับเงินและรวบรวมนำส่งต่อไปอันถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบ จึงถือว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินอันเป็นสิ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ทุจริตนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคัน หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน จำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมาปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป ฉะนั้น แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จรับเงินก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด

        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2541 จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสาร ดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ควบคุมดูแลเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเงินทุกประเภทของโรงเรียน พ. จำเลยได้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อของข้าราชการหลายคนในสัญญารับรองการยืมเงินว่า บุคคลเหล่านั้นยืมเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายในกิจการของโรงเรียนอันเป็นความเท็จ และปลอมลายมือชื่อของผู้อำนวยการ โรงเรียนกับพวกเป็นผู้อนุมัติให้ยืมเงิน อีกทั้งปลอมสัญญารับรองการยืมเงินของบุคคลดังกล่าวโดยเพิ่มเติมข้อความหรือแก้ไขตัวเลขให้สูงขึ้น แล้วเบียดบังเงินส่วนนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และ 147 แต่การที่จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็โดยมีเจตนาที่จะใช้เป็นหลักฐานในการเบียดบังเงินเป็นของตนการที่จำเลยเบียดบังเงินแต่ละครั้งจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147อันเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดรวม 36 กระทง เท่านั้นแต่การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำ ของจำเลยในความผิดตามมาตรา 147 และมาตรา 161 เป็นความผิดหลายกรรมและพิพากษาลงโทษจำเลย ตามมาตรา 147 รวม 36 กระทงกับมาตรา 161 รวม 36 กระทงนั้นไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225

..........

หมายเหตุ อยู่ระหว่างถอดเทป สรุปย่อคำบรรยายเล่มที่ 1-16 
พร้อมเน้นประเด็น เนติฯ แพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* สมัยที่ 71 

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ถอดไฟล์เสียงเนติฯ กฎหมายครอบครัว (ภาคปกติ) อ.ประสพสุขฯ สมัยที่ 71 วันที่ 22 พ.ค 61 ครั้งที่ 1

อ.ประสพสุขฯ สมัยที่ 71 วันที่ 22 พ.ค 61 ครั้งที่ 1
---------------------------------------------------------------------
สกัดหลักกฎหมาย สรุป เจาะประเด็น ฎีกา 5 ดาว เตรียมสอบเนติบัณฑิต ภาค 1 สมัยที่ 71
ข้อ 8. วิชา กฎหมายครอบครัว-มรดก (ภาคปกติ) อ.ประสพสุข บุญเดช  ครั้งที่1
วัน อังคาร ที่ 22  พฤษภาคม พ.ศ. 2561  สัปดาห์ที่1

---------------------------------------------------------------------
(จับประเด็น เน้นมาตรา ฎีกาเด่น จากการบรรยาย* (Key words Law) วลีกฎหมายที่ควรจำ)

รายละเอียดพอสังเขป :-
- ถอดคำบรรยายฯ ภาคปกติ ครบทุกคาบ ทุกวิชา พร้อมเก็งก่อนสอบ ท่องพร้อมสอบ รายข้อ*
- สำหรับทบทวนคำบรรยายอ่านกระชับ เน้นประเด็น Update! จากห้องบรรยายเนติบัณฑิต
- สกัดหลักกฎหมาย-เจาะประเด็นคำบรรยาย จำแนกออกเป็นเรื่อง/กลุ่ม เพื่อง่ายต่อการสืบค้น ท่องจำ*
- เจาะประเด็นสำคัญ อาจารย์เน้นย้ำ ตัวอย่างข้อสอบ พร้อมออกสอบ*
- แนะนำ ติดตามคำบรรยายฯ อ.ประสพสุข บุญเดช ได้รับการคัดเลือกในการออกข้อสอบ**



ทยอยอัพเดท ... ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ พร้อมเน้นประเด็น เก็ง รายข้อ +เก็บตกก่อนสอบ
(ถอดเทป เจาะฎีกา ภาคค่ำ เป็นส่วนเสริม หาก อาจารย์เน้นพิเศษ หรือมีฎีกาติดดาว)

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ฎีกาถอดเทปแพ่ง เนติ 1/71 วิชา มรดก (อ.กีรติ กาญจนรินทร์) ภาคปกติ 21 พ.ค 61 ครั้งที่1

ฎีกาถอดเทป เนติ 1/71 วิชา มรดก (อ.กีรติ กาญจนรินทร์) ภาคปกติ 21 พ.ค 61 ครั้งที่1

อยู่ระหว่างถอดเทปพร้อมเน้นประเด็น เนติฯ แพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* สมัยที่ 71
เก็งพร้อมสอบ อัพเดท ที่ www.LawSiam.com  

*****************

การใช้กฎหมายมรดก ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2541 เมื่อทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่พิพาทยังอยู่ระหว่างทายาทครอบครองร่วมกันและยังมิได้มีการแบ่งปันกัน แม้จำเลยจะครอบครองทรัพย์มรดกก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกัน เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 และเมื่อพ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 มาตรา 3 กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอายุความมรดกไม่อยู่ในบังคับต้องใช้กฎหมายอิสลาม กรณีจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2541 บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลพ.ศ. 2489 นั้น หมายความว่าคดีแพ่งที่เกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัวและมรดกของผู้นับถือศาสนาอิสลามอันเกิดขึ้นในศาล ของสี่จังหวัดดังกล่าว ให้ศาลใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทน ดังนั้น กรณีที่จะเป็นคดีต้องด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียก่อน คดีนี้เป็นเรื่องเจ้ามรดกยกที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นสิทธิแก่จำเลยและจำเลยร่วมตั้งแต่เจ้ามรดกยังไม่ถึงแก่ความตาย การยกที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแม้จะทำตามหลักกฎหมายอิสลาม ที่เรียกว่าพิธีแฮร์เบอะ โดยทำพิธีอย่างถูกต้องที่บ้านโต๊ะอิหม่ามก็ตาม กรณีก็ไม่ใช่เรื่องมรดกเพราะเป็นเรื่องให้ระหว่างมีชีวิตอยู่ บทกฎหมายในเรื่องนี้จึงต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2483 ผู้ตายและผู้รับมฤดกต่างนั้นถือศาสนาอิสสลามและอยู่ในบริเวณ 7 หัวเมืองนั้นต้องแย่งมฤดกตามกฎหมายอิสสลาม ไม่ว่าทรัพย์จะอยู่นอกจังหวัดนั้นหรือไม่ สารตราที่ออกโดยพระบรมราชกิจจานุเบกษาก็ต้องถือว่ามีผลใช้บังคับได้ดุจ กฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2505 การวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องมรดกอิสลามศาสนิกในศาลจังหวัดปัตตานีซึ่งศาลชั้นต้นต้องใช้กฎหมายอิสลามและต้องให้ดะโต๊ะยุติธรรมวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามนั้น หากศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้อง ศาลสูงก็มีอำนาจยกคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเสียให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่ได้
ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายอิสลามได้ เพราะถ้ามีคำวินิจฉัยชี้ขาดของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามมาโดยถูกต้องแล้ว ย่อมเป็นอันเด็ดขาดในคดีนั้น

..........
หมายเหตุ ทยอยอัพเดท ..ถอดเทป+เน้นประเด็น เนติฯ แพ่ง-อาญา ครบทุกคาบ ทันก่อนสอบ* 
เก็งพร้อมสอบ สมัยที่ 71 อัพเดท ที่ www.LawSiam.com  

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต (PDF) วิอาญา ข้อ1-10 สมัยที่ 70

คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ1) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ2) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ3) ภาค2 สมัยที่ 70

.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ4) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ5) ภาค2 สมัยที่ 70
.

คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ6) ภาค2 สมัยที่ 70
.

คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ7) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ8) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ9) ภาค2 สมัยที่ 70
.
คำถาม-ธงคำตอบ เนติบัณฑิต วิอาญา รายข้อ (ข้อ10) ภาค2 สมัยที่ 70