วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 15


-----------------------------------



               คำถาม   ใบรับรองเงินฝากในธนาคารเป็นเอกสารสิทธิหรือไม่  และความผิดฐานปลอมเอกสารจำต้องมีเอกสารแท้จริงอยู่ก่อนหรือไม่
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 เปิดดูเอกสารภายในซองเอกสาร ได้เห็นใบรับรองเงินฝากแล้วจึงใส่ซองปิดผนึก  และเขียนชุดใบนำส่งเอกสาร  แม้ใบรัรองเงินฝากจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีข้อความเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่เป็นถ้อยคำในทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มีตัวเลขบัญชีของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเงินระบุว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  มีชื่อของจำเลยที่ 2  จำเลยที่ 1 ซึ่งทำงานกับธนาคารโจทก์ร่วมมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี  เชื่อว่าสามารถเข้าใจได้ว่าใบรับรองเงินฝากดังกล่าวเป็นใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 รู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน โดยวิสัยของผู้ที่ทำงานกับธนาคารมานานย่อมทราบว่า จำเลยที่ 2 ไม่น่าจะมีเงินฝากธนาคารโจทก์ร่วมมาถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบว่าใบรับรองเงินฝากของจำเลยที่ 2 เป็นเอกสารปลอม
               ใบรับรองเงินฝากมีข้อความว่าจำเลยที่ 2  มีเงินฝากในธนาคารโจทก์ร่วมมีกำหนดจ่ายคืนสามารถเปลี่ยนมือได้  แบ่งแยกและซื้อขายได้ จึงเป็นเอกสารที่แสดงให้ผู้อื่นเชื่อว่า จำเลยที่ 2 มีเงินฝากตามจำนวนในเอกสารฝากไว้กับโจทก์ร่วมและสามารถรับเงินฝากคืนจากโจทก์ร่วม  สามารถเปลี่ยนมือแบ่งแยกและซื้อขายได้ด้วย จึงเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ใบรับรองเงินฝากดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ
                การที่จำเลยที่  1  ทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากเป็นเอกสารสิทธิปลอมแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมจัดส่งเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปต่างประเทศ  โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ในธุรกิจของโจทก์ร่วมด้วยการปิดผนึกซองเขียนชุดใบนำส่งเอกสารการของธนาคารโจทก์ และใบนำส่งไปรษณีย์มอบให้แก่พนักงานโจทก์ร่วมผู้มีหน้าที่จัดส่งเอกสารตามวิธีการจัดส่งเอกสารในธุรกิจโจทก์ร่วมครบถ้วนแล้ว  จึงเป็นการลงมือใช้หรืออ้างเอกสารที่เกิดจากกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ แม้เอกสารสิทธิปลอมจะปิดผนึกอยู่ในซองและพนักงานผู้จัดส่งเอกสารของโจทก์ร่วมตรวจเห็นพิรุธจนพบว่าเอกสารสิทธิที่จัดส่งเป็นเอกสารสิทธิปลอมก่อนที่เอกสารจะส่งถึงผู้รับในต่างประเทศ ก็เป็นการใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิปลอมเป็นความผิดสำเร็จ โดยไม่ต้องรอผลของการใช้หรืออ้างว่าผู้รับหรือผู้ถูกอ้างจะได้รับเอกสารสิทธิปลอมที่จัดส่งไป เพราะจำเลยที่ 1ได้ใช้หรืออ้างเอกสาร การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือได้ว่ากระทำไปในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม  ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา  265  แล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม
                 ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
                 

                 คำถาม    ผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนหรือสมัครใจวิวาท จะอ้างการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  3238/2554  จำเลยที่ 1 กับพวกได้เข้าร่วมต่อสู้ชกต่อยกับผู้เสียหายด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อน  ทั้งยังได้สมัครใจเข้าทะเลาะวิวาทต่อสู้กับผู้เสียหาย อันเป็นการสมัครใจเข้าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะการป้องกันโดยชอบจะมีได้ก็ต่อเมื่อเป็นการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายโดยที่ตนเองและผู้อื่นไม่ได้สมัครใจเข้าร่วมต่อสู้ทำร้ายกับอีกฝ่าย
                 การที่จำเลยที่ 1ใช้อาวุธปืนพกลูกซองเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายชีวิตคนได้เล็งยิงไปยังด้านหลังของผู้เสียหาย  ย่อมส่อเจนาให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกที่ไม่สำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย  จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
                   
                คำถาม   การนำบุคคลที่อยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งแม่น้ำถือว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  4091/2554   แม้การเข้าไปทำร้ายผู้ตายในตอนแรก  จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ร่วมรู้เห็นหรือสมคบกับ  ส. บ. ค. หรือจำเลยที่ 2  และจำเลยที่ 1  เข้าไปเตะผู้ตายเพียงครั้งเดียว ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเพียงเจตนาทำร้ายผู้ตายก็ตาม  แต่เหตุการณ์ทำร้ายผู้ตายดังกล่าวได้ยุติลงและขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกลากผู้ตายซึ่งขณะนั้นไม่ได้สติไปโยนลงแม่น้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่  จำเลยที่  1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการนำผู้ตายซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดสติไปโยนทิ้งน้ำเช่นนั้น  ย่อมไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องจมน้ำตาย จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย

                 
               คำถาม   ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ หากครอบครองโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเอง แต่ความจริงเป็นที่ดินของผู้อื่น ผู้ครอบครองได้สิทธิ์หรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  3866/2554   จำเลยและ ส. เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและบุคคลในครอบครัว เพราะได้รับการยกให้ซึ่งที่ดินพิพาทจาก ม. น้องสาวของจำเลยเจ้าของที่ดินพิพาท  เมื่อจำเลยกับ ส. พร้อมด้วยครอบครัวได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตั้งแต่ได้รับยกให้เมื่อปี 2526 ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยและบุคคลในครอบครัวของจำเลยเข้าใจมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  การครอบครองของจำเลยในลักษณะดังกล่าวจึงมิใช่การครอบครองปรปักษ์ เพราะการครองครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นนั้น เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 1382  หาได้บัญญัติว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองจะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นทรัพย์สินของบุคคลอื่นด้วยไม่  หากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน  แม้จะเข้าใจว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแล้ว แต่ความเป็นจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่  เมื่อจำเลยกับครอบครัวร่วมกันครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว  ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
                 โจทก์ซื้อและรับโอนที่ดินกับบ้านพิพาทจาก ม. มีราคาสูงถึง 2,800,000 บาท และโจทก์ก็ทราบจาก ม. แล้วว่า ไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง โจทก์ควรที่จะตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดว่าญาติของ ม. เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใคร โดยการไปซักถามจาก พ. หรือบุคคลในครอบครัวของ พ. ที่พักอาศัยอยู่ในบ้านพิพาท แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำเช่นนั้นทั้งที่โอกาสกระทำได้โดยง่าย  กรณีดังกล่าวย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคสอง  จำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงย่อมยกสิทธิขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินมาโดยไม่สุจริตได้  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
                   
                 คำถาม   ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองหรือไม่  หากผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองได้หรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  4436/2545  การที่จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่โจทก์นั้น แท้จริงแล้วเป็นการจำนองประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อ ล.  โจทก์ผู้รับจำนองจึงมิได้เป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน  สัญญาจำนองจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์   โจทก์จึงบังคับจำนองแก่จำเลยมิได้
                 การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลว่า  การจำนองที่ดินตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้ต้นเงินที่จำเลยได้รับมาปล่อยกู้จาก ล.  และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระรวมกันแล้วใช้ชื่อโจทก์เป็นผู้รับจำนอง  จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  เป็นการนำสืบเพื่ออธิบายถึงที่มาของหนี้ตามสัญญาจำนองว่าไม่สมบูรณ์เพราะไม่มีมูลหนี้ต่อกัน  จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย  หาใช่เป็นการนำสืบว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามเอกสารดังกล่าวไม่  จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบได้

                 คำพิพากษาฎีกาที่   817/2521   การที่จำเลยทั้งสองจำนองที่ดินไว้ต่อโจทก์ที่ 2  เพื่อประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้ไปจากโจทก์ที่ 1  สัญญาจำนองจะมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองหรือไม่  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมาตรา 709 เป็นเพียงกล่าวถึงผู้จำนองว่าอาจจะเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ก็ได้เท่านั้น  ส่วนผู้รับจำนองมีกล่าวไว้ในมาตรา  702  ซึ่งกำหนดลักษณะของสัญญาจำนองว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้  โดยไม่ส่งทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ  เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 709 แล้ว  ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า  ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่มีการจำนองค้ำประกันนั้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในอนาคต หรือหนี้มีเงื่อนไข  จะจำนองไว้เพื่อหนี้นั้น อาจเป็นผลได้จริง  ก็จำนองได้  ส่วนผู้จำนองจะเป็นลูกหนี้หรือบุคคลอื่นใดก็ได้ไม่จำกัด  เมื่อโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองยังไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ สัญญาจำนองจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2

วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 14

                   คำถาม   เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร หากผู้กระทำความผิดมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 5445/2552  จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นผลได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันของกลางไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายาม  กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 5 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าการพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการพยายามกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวได้กระทำในราชอาณาจักร เมื่อการพยายามกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา 27 กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและถือเสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จโดยมีโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำเลยจึงมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษา

                   คำถาม     ออกเช็คชำระหนี้แทนลูกหนี้หรือทำหนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ จะถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 5112/2552   การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทฯ จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามเช็ค ก็มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ ๒ เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ  เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 7624/2552    หนังสือรับชำระหนี้แทนลูกหนี้ของ บ. ที่ทำไว้ให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ บ. ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แทนต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง

                   คำถาม   การเปลี่ยนมูลหนี้ จากมูลหนี้อย่างหนึ่งไปเป็นมูลหนี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                   คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่ เพราะเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้  มีคำพิพากษาฎีกา วินิจฉัยดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 291/2544   จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน  ยังมิได้ชำระหนี้  การที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้แปลงหนี้เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงเป็นหนี้ใหม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายลดและในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3272/2547   จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายสาขาบางนา เมื่อปี 2535  ก. พนักงานขายประจำสาขาบางนาได้ขายรถยนต์ให้แก่ ส. ในราคา 299,000 บาท โดย ส. วางเงินดาวน์ไว้ 60,000 บาท  ส่วนที่เหลือจะนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์   หลังจากส่งมอบรถยนต์ให้แก่ ส. ไปแล้ว ปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่อนุมัติให้ ส. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากเอกสารของ ส. เป็นเอกสารปลอม และ ส. ได้นำรถยนต์หลบหนีไป จำเลยที่ ๑ ยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยทำเป็นสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงเป็นการทำสัญญาเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ หนี้อันเกิดจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็เพื่อยอมรับผิดชำระหนี้ค่ารถยนต์แก่โจทก์  ถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3209/2550   ป. กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้ และผูกพันจำเลย
                   หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนเกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์

                    คำถาม   การที่เจ้าหนี้ลดยอดหนี้ให้แก่ลูกหนี้  การตกลงกันเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ วิธีชำระหนี้ หรือการที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่
                    คำตอบ   เป็นการแปลงหนี้ใหม่  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 6525/2542  โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่ โดยโจทก์เพียงลดยอดหนี้ให้จำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้เปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยที่ 2 หากแต่เพิ่มให้จำเลยที่ 2 เข้ามาร่วมรับผิดในหนี้เดิมส่วนหนึ่ง  เพื่อให้โจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายเท่านั้น ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้เดิมจึงยังไม่ระงับไป
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1938/2540  จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 9221/2544   จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้และ วิธีการชำระหนี้  จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ  หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่  แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพนหนี้ด้วยก็ตาม เพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน และหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1812/2545   การที่ ด. ผู้ค้ำประกันมีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้ทั้งหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งควรจะชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นในครั้งเดียว แต่ก็ขอแบ่งชำระเป็นงวด ๆ เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงวิธีชำระหนี้เก่าให้ผิดไปจากเดิม  มิใช่เป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ที่จะทำให้หนี้ระงับ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันอีกคนหนึ่งจึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 5303/2545    การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้  ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ.  ระงับไปจึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2550   หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือ การค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป  เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

                     คำพิพากษาฎีกาที่ 3847/2548   ตามสัญญาร่วมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าบริการโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิมนั้น  ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม  จึงไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง  เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30  แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมี อายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 13


.........................................


                   คำถาม   เข้าไปในบริเวณบ้านของผู้อื่นและใช้ก้อนหินขว้างผู้อื่นนั้น แต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบื้องหลังคาแตก จะถือเป็นการกระทำโดยพลาดอันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์หรือไม่ และหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผลจะเป็นอย่างไร
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 2277/2554   จำเลยทั้งสองเข้าไปในบริเวณบ้านผู้เสียหายทั้งสองและใช้ก้อนหินขว้างผู้เสียหายทั้งสองแต่ไม่ถูก แต่เป็นเหตุให้กระเบี้องหลังคาแตก  การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองและฐานบุกรุกเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
                  คำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า ก้อนหินที่ขว้างไปถูกกระเบื้องหลังคาแสดงว่าเป็นเพราะพลาดไปถูกหลังคา มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงถือเอาเจตนาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจตนาทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 ด้วยไม่ได้  แม้อาจกระทำโดยประมาทแต่การทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
                 
                  คำถาม    ผู้เช่าทำพินัยกรรมยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่ผู้อื่น โดยสัญญาเช่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าได้ ต่อมาผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าจะตกทอดแก่ผู้รับพินัยกรรมหรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่ 9201/2551   สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา ซึ่งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน อันเป็นหนี้เหนือบุคคล หาใช่เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยสิทธิไม่ และการเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้และดูแลทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว  เมื่อผู้เช่าตาย สิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับสิ้นสุดลงและไม่เป็นมรดกตกทอดไปถึงทายาท  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีข้อตกลงให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าหรือไม่  เพราะหากมีข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่ายอมให้ผู้เช่าโอนสิทธิการเช่าแก่บุคคลภายนอกในระหว่างที่ผู้เช่ามีชีวิตอยู่  ซึ่งอาจทำได้ตาม ป.พ.พ. มาครา 544 เท่านั้น  ดังนั้น พินัยกรรมของ ท. ที่ยกสิทธิการเช่าที่ดินให้แก่โจทก์จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ แก่โจทก์เกี่ยวกับที่ดินที่เช่าและไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จะต้องให้โจทก์เป็นผู้เช่าต่อไป จำเลยที่ 1 ย่อมพิจารณาให้จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้เช่าที่ดินแต่ละแปลงต่อไปได้
                 
                  คำถาม    เจ้าหนี้ปลดจำนองให้แก่ผู้จำนอง ทำให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้ไม่อาจรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ได้  จะมีผลให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  และหากสัญญาค้ำประกันระบุว่าผู้ค้ำประกันไม่หลุดพ้นความรับผิดจากการกระทำของเจ้าหนี้ดังกล่าว  ข้อตกลงนั้นบังคับได้หรือไม่
                  คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  8370/2551   การที่โจทก์ปลดจำนองให้แก่ ว. อาจทำให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันไม่อาจรับช่วงสิทธิจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคสอง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายตามมาตรา 697 ก็ตาม แต่ปรากฎว่าตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ ข้อ 5  ระบุว่า  “การค้ำประกันนี้ย่อมผูกพันผู้ค้ำประกันอย่างสมบูรณ์ต่อไป และผู้ค้ำประกันไม่พ้นจากการรับผิด เพราะเหตุผู้ให้กู้อาจกระทำการใด ๆ ไป  เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิใด ๆ อันได้ให้หรืออาจได้ให้ไว้แก่ผู้ให้กู้แต่ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกัน”  อันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงกันยกเว้นบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 697 ซึ่งมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  โจทก์และจำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจตกลงกันให้มีผลเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงปลดจำนองค้ำประกันร่วมให้แก่ ว. แม้จะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อสัญญาดังกล่าว
                   
                    คำถาม   การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้น  การนับระยะเวลาการใช้ทางหากที่ดินภารยทรัพย์มีการโอนต่อ ๆ กันมา จะต้องเริ่มนับระยะเวลาการใช้ทางใหม่ทุกครั้งหรือไม่
                    คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 10002/2551   โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยต้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม  แม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม  แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน  สิทธิในอันที่จะใช้ทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่  ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาท จึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
                   
                     คำถาม   เจ้าของรวมในที่ดินจะจำหน่าย (ขาย) กรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นได้หรือไม่  เจ้าของรวมคนอื่นจะมีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 1454/2551   โจทก์ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 83631 แก่บริษัท ม. โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัทดังกล่าว  แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย  ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จะจำหน่ายส่วนของตน หรือจำนอง หรือก่อให้เกิดภาะติดพันก็ได้” และความในวรรคสองบัญญัติว่า “แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่าย จำนำ จำนอง หรือก่อให้เกิดภาระติดพันได้  ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน”  การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. มิใช่เป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ตัวทรัพย์สิน  ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่สามารถกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสอง
                     ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้แต่การใช้นั้นต้องไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ” การที่โจทก์จำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์แก่บริษัท ม. เพื่อให้บริษัทดังกล่าวมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวม  จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ที่จะกระได้  ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 6 ก็บัญญัติให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยที่ 1 หามีสิทธิขัดขวางการจำหน่ายกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ไม่
                     
                      คำถาม     กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยอนุมัติขายที่ดินของบริษัทให้แก่กรรมการเองและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน  ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะฟ้องกรรมการและบุคคลภายนอกได้หรือไม่ และจะฟ้องให้โอนที่ดินคืนแก่บริษัทหากโอนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 10878/2551   ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นกรรมการบริษัทที่ทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัทได้  การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท บ. สมคบกันในการประชุมกรรมการบริษัทและมีมติให้ขายที่ดินของบริษัทให้แก่จำเลยทั้งแปดซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทและบุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาประเมินและราคาตามท้องตลาดทำให้บริษัทเสียหาย  เป็นการกระทำโดยทุจริตสมคบกันเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นของตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท เมื่อบริษัทไม่ยอมฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท บ. ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการได้ แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัท บ.
                       ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทโอนที่ดินคืนให้แก่บริษัทหากโอนคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่ดินนั้นเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง เพราะการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ก็จัดเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสองด้วย
                       
                         คำถาม   ผู้จะซื้อนำที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายมาทำสัญญายกให้ผู้อื่นโดยระบุให้ผู้รับต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาที่ผู้จะซื้อมีต่อผู้ขาย โดยไม่ได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่างผู้ขายกับผู้รับ  ต่อมาผู้ขายบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายโดยไม่ชอบ ผู้รับจะมีอำนาจฟ้องผู้ขายหรือไม่
                         คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่ 5948/2554   ที่ดินพิพาทเดิม ป. ตกลงทำสัญญาซื้อขายให้ ล. อันเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ระบุให้ ล. จะต้องชำระราคาให้ครบถ้วนและดำเนินการออกเอกสารสิทธิที่ดินเสียก่อน มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายมิใช่ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และการส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายถือว่า ล. ผู้จะซื้อครอบครองที่ดินแทน ป. ผู้จะขายเป็นการชั่วคราว  เมื่อ ล. นำที่ดินพิพาทมาทำสัญญายกให้โจทก์โดยระบุให้โจทก์ต้องผูกพันและปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ ล. มีต่อ ป.  อันมีลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้  การที่โจทก์รับมอบการครอบครองมาจาก ล. ย่อมเป็นการครอบครองแทน ป. ชั่วคราวเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการทำสัญญากันใหม่ระหว่าง ป. กับโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 350  โจทก์จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่อาจอ้างได้ว่า ป. บอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิครองครองที่ดินพิพาทจึงมิใช่ผู้ถูกโต้แย้งสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้อง
                     
                        คำถาม    เจ้าของที่ดินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาล แต่เจ้าของที่ดินยังคงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินต่อมาจะถือว่าผู้ร้องครอบครองโดยความสงบหรือไม่ และจะมีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2554   ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องในคดีขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาท  เป็นเพียงโต้เถียงสิทธิกัน ทั้งเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้ฟ้องขับล่าผู้ร้อง  คงปล่อยให้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา  สิทธิครอบครอบของผู้ร้องหาได้ถูกกำจัดให้ออกไปไม่  จึงมิใช่เป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้องอันจะถือว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

                        ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากผู้ร้องไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่กำหนด  ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการร้องขอครอบครองปรปักษ์ต่อไป ทั้งไม่มีผลต่อการนับระยะเวลาครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องด้วย  เมื่อนับแต่ผู้คัดค้านได้สิทธิในที่ดินพิพาทวันที่ 13 สิงหาคม 2533  จนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลชั้นต้นครั้งหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2544  เป็นเวลาเกิน 10 ปี  ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

               คำถาม   ใช้เหล้าสาดใส่หน้าผู้อื่น แต่เหล้าไปถูกบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553  จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจิตใจ เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ. เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ.โดยพลาดไป จึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย พ. โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้
         
              คำถาม   การกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินของผู้อื่น จะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 5817/2545   การที่ชาวบ้านไปขว้างปาบ้านบิดจำเลยเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันทรัพย์สินของบิดาจำเลยได้  แต่ภยันตรายที่เกิดจากการขว้างปาบ้านยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายผู้ที่ขว้างปาบ้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินที่เกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ  มิใช่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
             
              คำถาม    ภยันตรายอันเกิดจากการทำร้ายยังไม่สิ้นสุด สิทธิที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงมีอยู่หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 8345/2544   ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะวิวาทจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้านจำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป  ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้  การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลงจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้  จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้  ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลย  จากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว  เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่  ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่หาเรื่องจำเลยอีก  ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้  แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา  ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
               คำพิพากษาฎีกาที่  1826/2530  ผู้ตายลากจำเลยเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจะข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายทีหนึ่ง  แล้วทั้งจำเลยและผู้ตายต่างวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร  แล้วจึงเกิดปลุกปล้ำกัน โดยผู้ตายพยายามแย่งมีดจากจำเลยเพื่อทำร้ายจำเลย  จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายที  เช่นนี้ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงและอยู่ในภาวะเช่นนั้นใช้มีดแทงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

               คำถาม   เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกรับเงิน จะเป็นความผิดฐานใด ในทางกลับกันหากเป็นการแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินจะเป็นความผิดฐานใด
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  1524/2551  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาทจาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
               คำพิพากษาฎีกาที่  3309/2541  คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่  โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1  ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่ง คือไม่จับกุมตามหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้  เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้ง ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่านั้น และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นทั่วไปอีก
               คำพิพากษาฎีกาที่  5973/2537   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149  อันเป็นบทเฉพาะมาด้วยก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

                คำถาม   กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยอนยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง  คำว่าชื่อมีความหมายอย่างไร  และหากผู้ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างเป็นบุคคลภายนอก มิใช่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด บุคคลนั้นจะมีความผิดในหนี้ของห้างหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีการวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ยินยอมให้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง
                 คำว่า  “ ชื่อ ”  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082 ย่อมหมายถึงชื่อสกุลด้วย เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดให้ใช้ชื่อสกุลของตนระคนเป็นชื่อห้าง จำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่1286/2532)
                 คำว่า "ชื่อ" ในบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021, 1082 หมายถึง ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล อันเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกว่าเป็นของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และหมายถึงชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อหรือพยางค์หนึ่งของชื่อเว้นแต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าชื่อบางส่วนหรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว
                    จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 มีชื่อเรียกว่า “ วิริยะ” เพียงแต่ยอมให้ห้างจำเลยที่ใช้คำว่า “  วิ ” มาระคนเป็นชื่อห้าง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิฑูรย์ทัศน์ ซัพพลาย) โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า คำว่า “ วิ ”  นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหมายถึงชื่อของจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติจองกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1322/2536)
                    จำเลยที่ 2  และที่ 3 (นางประไพ)  เป็นสามีภริยากันและเป็นห้างหุ้นส่วนเพียง 2 คนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นทุนดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำชื่อของตนไประคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่แรกเริ่มจัดตั้งห้างจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1082 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548)
                  กรณีที่บุคคลที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างมิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้  

                 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1025  ห้างหุ้นส่วนสามัญคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด  ดังนั้น บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 จึงบัญญัติให้รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญเสมือนเป็นหุ้นส่วนคือต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077  คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองประเภท  คือผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีความรับผิดไม่เท่ากัน จึงไม่อาจนำเอามาตรา 1054 มาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทใด จึงได้บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อบังคับใช้กับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไว้โดยเฉพาะในมาตรา  1082 โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ยินยอม โดยแสดงออกชัดเจนหรือโดยปริยายให้ได้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อจำเลยที่ 4 (นางประหยัด) ไม่ใช่หุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 แม้จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ เสมือนเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548 และดูคำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2551)

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฎีกาที่ 466/2547 - สกัดฎีกา** รวมคำบรรยายเนติ เล่มที่ 2 อาญา มาตรา288-366 (อ.มล.ไกรฤกษ์) สมัยที่1/70


สกัดฎีกา** รวมคำบรรยายเนติบัณฑิต เล่มที่ 2 
กฎหมาย อาญา มาตรา288-366 (อ.มล.ไกรฤกษ์) สมัยที่1/70 
 
      คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๖/๒๕๔๗ คดีนี้จำเลยใช้มีดสปาต้ายาวประมาณ ๑ ศอก ซึ่งเป็นมีดขนาดใหญ่ฟันที่ใบหน้าผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่ไม่ทัน ระวังตัวมีบาดแผล ๒ แห่ง ที่ดั้งจมูกยาว ๒ เซนติเมตร ที่ศีรษะด้านหลังยาว ๓ เซนติเมตร มีดที่จำเลยใช้ฟันมีผ้าพันเกือบทั้งด้าม เปิดส่วนปลายเพียงเล็กน้อย ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อนศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมีเจตนาทำร้าย เท่านั้น

      สรุป ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนี้อธิบายได้ว่า
๑. จำเลยมีโอกาสฟันได้อย่างเต็มที่เพราะผู้เสียหายไม่ทันรู้ตัวและหากจะฟันซ้ำอีกก็กระทำได้
๒. ลักษณะของบาดแผลแสดงว่ามิได้ฟันโดยแรง แผลจึงไม่ลึกและยาวเพียงเล็กน้อย
๓. ฟันผู้เสียหายโดยที่ตัวมีดยังมีผ้าพันอยู่
๔. ผู้เสียหายกับจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

      ดังนั้นแม้อาวุธมีดจะขนาดใหญ่ อวัยวะที่ถูกฟันเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์อื่นประกอบย่อมเห็นได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า ฎีกานี้เป็น ข้อยืนยันว่า กรรมเป็นสิ่งบ่งชี้เจตนาได้เป็นอย่างดี หรือ ฎีกาที่ ๑๑๕๐/๒๕๕๓, ฎีกาที่ ๒๘๑๙/๒๕๕๔