วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 12

               คำถาม   ใช้เหล้าสาดใส่หน้าผู้อื่น แต่เหล้าไปถูกบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553  จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจิตใจ เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ. เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ.โดยพลาดไป จึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย พ. โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้
         
              คำถาม   การกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินของผู้อื่น จะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 5817/2545   การที่ชาวบ้านไปขว้างปาบ้านบิดจำเลยเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันทรัพย์สินของบิดาจำเลยได้  แต่ภยันตรายที่เกิดจากการขว้างปาบ้านยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายผู้ที่ขว้างปาบ้าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินที่เกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69 จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ  มิใช่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
             
              คำถาม    ภยันตรายอันเกิดจากการทำร้ายยังไม่สิ้นสุด สิทธิที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงมีอยู่หรือไม่
              คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 8345/2544   ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะวิวาทจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้านจำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป  ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้  การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลงจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้  จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้  ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลย  จากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว  เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่  ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้  มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่หาเรื่องจำเลยอีก  ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้  แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา  ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
               คำพิพากษาฎีกาที่  1826/2530  ผู้ตายลากจำเลยเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจะข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายทีหนึ่ง  แล้วทั้งจำเลยและผู้ตายต่างวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุห่างประมาณ 100 เมตร  แล้วจึงเกิดปลุกปล้ำกัน โดยผู้ตายพยายามแย่งมีดจากจำเลยเพื่อทำร้ายจำเลย  จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายที  เช่นนี้ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงและอยู่ในภาวะเช่นนั้นใช้มีดแทงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

               คำถาม   เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกรับเงิน จะเป็นความผิดฐานใด ในทางกลับกันหากเป็นการแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินจะเป็นความผิดฐานใด
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  1524/2551  จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน 1,500 บาทจาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
               คำพิพากษาฎีกาที่  3309/2541  คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่  โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1  ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่ง คือไม่จับกุมตามหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้  เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้ง ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่านั้น และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นทั่วไปอีก
               คำพิพากษาฎีกาที่  5973/2537   จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149  อันเป็นบทเฉพาะมาด้วยก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

                คำถาม   กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยอนยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง  คำว่าชื่อมีความหมายอย่างไร  และหากผู้ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างเป็นบุคคลภายนอก มิใช่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด บุคคลนั้นจะมีความผิดในหนี้ของห้างหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีการวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ยินยอมให้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง
                 คำว่า  “ ชื่อ ”  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081 และมาตรา 1082 ย่อมหมายถึงชื่อสกุลด้วย เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดให้ใช้ชื่อสกุลของตนระคนเป็นชื่อห้าง จำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่1286/2532)
                 คำว่า "ชื่อ" ในบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021, 1082 หมายถึง ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล อันเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกว่าเป็นของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และหมายถึงชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อหรือพยางค์หนึ่งของชื่อเว้นแต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าชื่อบางส่วนหรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว
                    จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 มีชื่อเรียกว่า “ วิริยะ” เพียงแต่ยอมให้ห้างจำเลยที่ใช้คำว่า “  วิ ” มาระคนเป็นชื่อห้าง (ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิฑูรย์ทัศน์ ซัพพลาย) โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า คำว่า “ วิ ”  นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหมายถึงชื่อของจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติจองกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1322/2536)
                    จำเลยที่ 2  และที่ 3 (นางประไพ)  เป็นสามีภริยากันและเป็นห้างหุ้นส่วนเพียง 2 คนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นทุนดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2 นำชื่อของตนไประคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่แรกเริ่มจัดตั้งห้างจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1082 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548)
                  กรณีที่บุคคลที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างมิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้  

                 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1025  ห้างหุ้นส่วนสามัญคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด  ดังนั้น บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 จึงบัญญัติให้รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญเสมือนเป็นหุ้นส่วนคือต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้ ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077  คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองประเภท  คือผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมีความรับผิดไม่เท่ากัน จึงไม่อาจนำเอามาตรา 1054 มาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทใด จึงได้บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อบังคับใช้กับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไว้โดยเฉพาะในมาตรา  1082 โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ยินยอม โดยแสดงออกชัดเจนหรือโดยปริยายให้ได้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อจำเลยที่ 4 (นางประหยัด) ไม่ใช่หุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 แม้จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ เสมือนเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548 และดูคำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2551)

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ฎีกาที่ 466/2547 - สกัดฎีกา** รวมคำบรรยายเนติ เล่มที่ 2 อาญา มาตรา288-366 (อ.มล.ไกรฤกษ์) สมัยที่1/70


สกัดฎีกา** รวมคำบรรยายเนติบัณฑิต เล่มที่ 2 
กฎหมาย อาญา มาตรา288-366 (อ.มล.ไกรฤกษ์) สมัยที่1/70 
 
      คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๖/๒๕๔๗ คดีนี้จำเลยใช้มีดสปาต้ายาวประมาณ ๑ ศอก ซึ่งเป็นมีดขนาดใหญ่ฟันที่ใบหน้าผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายนอนอยู่ไม่ทัน ระวังตัวมีบาดแผล ๒ แห่ง ที่ดั้งจมูกยาว ๒ เซนติเมตร ที่ศีรษะด้านหลังยาว ๓ เซนติเมตร มีดที่จำเลยใช้ฟันมีผ้าพันเกือบทั้งด้าม เปิดส่วนปลายเพียงเล็กน้อย ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าจำเลยมาก่อนศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมีเจตนาทำร้าย เท่านั้น

      สรุป ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนี้อธิบายได้ว่า
๑. จำเลยมีโอกาสฟันได้อย่างเต็มที่เพราะผู้เสียหายไม่ทันรู้ตัวและหากจะฟันซ้ำอีกก็กระทำได้
๒. ลักษณะของบาดแผลแสดงว่ามิได้ฟันโดยแรง แผลจึงไม่ลึกและยาวเพียงเล็กน้อย
๓. ฟันผู้เสียหายโดยที่ตัวมีดยังมีผ้าพันอยู่
๔. ผู้เสียหายกับจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

      ดังนั้นแม้อาวุธมีดจะขนาดใหญ่ อวัยวะที่ถูกฟันเป็นอวัยวะสำคัญ แต่ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์อื่นประกอบย่อมเห็นได้ว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า ฎีกานี้เป็น ข้อยืนยันว่า กรรมเป็นสิ่งบ่งชี้เจตนาได้เป็นอย่างดี หรือ ฎีกาที่ ๑๑๕๐/๒๕๕๓, ฎีกาที่ ๒๘๑๙/๒๕๕๔

ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 11


....................................

                 คำถาม  การใช้สิทธิในที่ดินทั้งสองแปลงในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกัน หากต่อมามีการโอนที่ดินแปลงหนึ่งไป ผู้รับโอนจะนำสิทธิที่เจ้าของรวมมีอยู่ในที่ดินที่รับโอน มารับต่อเนื่องเพื่อให้ได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๐๑๕/๒๕๕๓  ขณะที่  ส.  ซื้อที่ดินแปลงแรก  และต่อมา  พ.  ซื้อที่ดินแปลงที่  ๒  นั้น  ส.  และ  พ.  อยู่กินฉันสามีภริยาแล้ว  แม้จะไม่ได้ความว่า  ส.  และ  พ.  ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แต่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาต้องถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน  ทั้งการที่จะมีภาระจำยอมได้จะต้องมีที่ดินสองแปลงโดยที่ดินแปลงหนึ่งตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินอีกแปลงหนึ่ง  และการที่จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑  จะต้องเป็นการใช้เพื่อตน  มิใช่เป็นการอาศัยเมื่อการใช้สิทธิในที่ดินของ  ส.  ทั้งสองแปลงเป็นการใช้ในฐานะเจ้าของที่ดินร่วมกันกับ  พ.  มิใช่เป็นการใช้ในที่ดินของผู้อื่นอันจะเป็นผลให้ได้สิทธิภาระจำยอมในช่วงเวลาดังกล่าว  โจทก์จะนำสิทธิที่  ส.  มีอยู่ในที่พิพาทมานับต่อเนื่องกับสิทธิที่โจทก์ได้รับเพื่อให้ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินแปลงพิพาทหาได้ไม่  เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดิน  มีโฉนดจาก  ส.  ในปี  ๒๕๓๖  นับถึงวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง  ๑๐  ปี ทางพิพาทจึงยังไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๔๐๑

                คำถาม  ซื้อขายรถยนต์โดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ซื้อ  หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วน  ผู้ขายไปเอารถยนต์คืนมา  จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๐๓๑๔/๒๕๕๓  จำเลยขายรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้เสียหายโดยส่งมอบการครอบครองพร้อมใบแทนคู่มือจดทะเบียนกับลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและโอนกับหนังสือมอบอำนาจให้แก่ผู้เสียหาย  โดยที่สัญญาจะซื้อขายไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ไว้  การซื้อขายรถยนต์ของกลางจึงเสร็จเด็ดขาดและกรรมสิทธิ์โอนขณะทำสัญญาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๔๕๓  และมาตรา  ๔๕๘  การชำระราคาไม่ครบถ้วนกรณีนี้ไม่เป็นเหตุให้กรรมสิทธิ์ยังไม่ได้โอนแก่ผู้เสียหาย  ผู้เสียหายจึงได้กรรมสิทธิ์นับแต่วันทำสัญญา  เมื่อสัญญาซื้อขายไม่กำหนดเวลาชำระราคาไว้  ผู้เสียหายจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระราคา  การที่จำเลยเอารถยนต์ของกลางไปจึงไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายและที่จำเลยโทรศัพท์นัดหมายให้ผู้เสียหายนำรถยนต์ของกลางไปห้างที่เกิดเหตุโดยจำเลยอ้างต่อพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าบัตรจอดรถหายแล้วใช้บัตรจอดรถที่อ้างว่าหายนำรถยนต์ของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย  แสดงว่าได้มีการวางแผนลักทรัพย์รถยนต์ของผู้เสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นขั้นตอน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

                คำถาม  ผู้ขายโอนขายห้องชุดแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนผู้ซื้อบอกเลิกสัญญา  ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือไม่  และจะต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญาหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๑๕/๒๕๕๓  เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย  คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา  กล่าวคือ  โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์  แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา  ดังนี้  การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก็ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย  โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๓๘๙  โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา  ๓๘๗  ก่อน  การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว  เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา  คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  กล่าวคือ  จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  ๗.๕ต่อปี  นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้  ทั้งนี้ตามมาตรา  ๓๙๑  วรรคหนึ่งและวรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๗
                คำถาม  กรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  นั้น  หมายถึงที่ดินแปลงเดิมต้องมีทางออกสู่สาธารณะอยู่แล้วในขณะแบ่งแยกหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๙๓๒๕/๒๕๕๓  ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  แต่หากเป็นกรณีแบ่งแยกที่ดินแปลงเดียวกันทำให้ที่ดินที่แบ่งแยกนั้นแปลงใดไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งหมายถึงทางสาธารณะที่มีอยู่ในขณะแบ่งแยกนั้นแล้ว  ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  เมื่อปรากฏว่าที่ดินของโจทก์และที่ดินพิพาทถูกแบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันก่อนมีถนนพุทธมณฑลสาย  ๑  กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๕๐  มาบังคับได้  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  ๓  ทาง  แต่เป็นเส้นทางที่ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นและไม่ปรากฏว่าเป็นทางสาธารณะ  อีกทั้งไม่ใช่ทางที่เป็นภารยทรัพย์ของที่ดินของโจทก์  ซึ่งเจ้าของที่ดินอาจจะอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางหรือไม่ก็ได้  และแม้เจ้าของที่ดินนั้นจะยินยอมให่โจทก์ผ่านที่ดินของตนได้ก็ไม่ใช่สิทธิตามกฎหมาย  ประกอบกับมีระยะทางจากที่ดินของโจทก์ไปสู่ทางสาธารณะไกลไม่สะดวก  จึงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบด้วยที่ดินของผู้อื่นจนไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นได้  แต่การที่จะเปิดทางจำเป็นนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็นของโจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยที่ดินพิพาทให้เสียหายน้อยที่สุด
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๓๔๐๘/๒๕๕๑  การที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๕๐  มาใช้บังคับได้ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินแปลงเดิมมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว  เมื่อแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ  เจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินตามมาตรา  ๑๓๔๙  ได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
                เดิมที่ดินของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้  ต้องอาศัยที่ดินของผู้อื่นเดินผ่านเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ  แต่การที่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินของผู้อื่นได้เพราะเขายินยอม  มิใช่เป็นสิทธิตามกฎหมายต้องถือว่าไม่มีทางออกสู่สาธารณะ  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  ๑๓๕๐  แต่เป็นกรณีที่ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ  โจทก์สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามมาตรา  ๑๓๔๙
                โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้หลายทางโดยผ่านทางที่ดินของบุคคลอื่นที่มิได้หวงห้ามโจทก์  การที่โจทก์จะขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อความสะดวกของโจทก์  แต่ทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องเดือดร้อนและเสียหาย  และถ้าหากให้จำเลยที่  ๑  เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็น  จะทำให้จำเลยที่  ๑  ต้องรื้อบริเวณหลังบ้านด้านทิศตะวันออก  อันจะทำให้จำเลยที่  ๑  ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสาม  การกระทำของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๓๕/๒๕๔๔  ที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้สัญจรตามปกติจึงเป็นทางสาธารณะ  ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๑๓๔๙  วรรคหนึ่ง
                บ้านบางหลังของฝ่ายโจทก์เป็นบ้านยกพื้น  อยู่สูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำประมาณ  ๗๐  เซนติเมตร  แสดงให้เห็นว่า  ระดับน้ำในแม่น้ำกับริมตลิ่งย่อมจะน้อยกว่า   ๗๐  เซนติเมตร  กรณีไม่ถือว่าเป็นที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะอยู่สูงกว่ากันมากตามความหมายของมาตรา  ๑๓๔๙  วรรคสอง
                เมื่อที่ดินของโจทก์ที่  ๖  ถึงที่  ๑๓  ทั้ง  ๔  แปลงอยู่ติดกับทางสาธารณะ  แม้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ใช้ทางสาธารณะนี้สัญจรไปมาเป็นเวลานานแล้ว  ก็ไม่ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิที่จะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดโดยอ้างว่าเป็นทางจำเป็นได้
                ที่ดินของโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และโจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  แปลงอื่น  ซึ่งไม่ได้ติดทางสาธารณะโดยตรงนั้น  เป็นที่ดินแบ่งแยกมาจากที่ดินที่ติดทางสาธารณะ  หากโจทก์ที่  ๑  ถึงที่  ๕  และ  โจทก์ที่  ๘  ถึงที่  ๑๓  จะเรียกร้องเอาทาง  ก็ต้องเรียกร้องเอาจากที่ดินแปลงเดิมที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกัน  ไม่อาจที่จะเรียกร้องขอใช้ทางพิพาทได้

                คำถาม  รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิด  เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ  จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๘๖๑๑/๒๕๕๓  การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ  โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  แต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น  เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตาม  ป.อ.  มาตรา  ๑๓๗,  ๑๗๔  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  ๑๗๓  นอกจากนี้  จำเลยยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์ร่วม  อันเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง  จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2554 เจาะฎีกา 5 ดาว* สัปดาห์ที่ 3 วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) 7 มิ.ย 60 ภาคปกติ สมัยที่ 1/70

 เจาะฎีกา 5 ดาว * สัปดาห์ที่ 3  วิชา กฏหมายอาญา มาตรา288-366
 (ศอ.มล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์) 7 มิ.ย 60  ภาคปกติ สมัยที่ 1/70
................................


คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2554 พฤติการณ์ที่จำเลยได้ดักรอแล้วตีผู้เสียหายที่ศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จนตกจากรถจักรยานแล้วใช้อาวุธมีดซึ่งมีอันตรายไล่แทงผู้เสียหายจนถูกที่ท้องทะลุถึงลำไส้ แล้วติดตามทำร้ายไปถึง 60 เมตร จนผู้เสียหายหลบหนีลงไปในบ่อน้ำจำเลยก็ยังวนเวียนรอทำร้ายเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายถูกแทงที่ท้อง หากไม่ได้รับการรักษายอมถึงแก่ความได้ จำเลยก็ยังไม่ยอมให้ผู้เสียหายขึ้นจากบ่อน้ำเพื่อไปรักษาตัว พฤติการณ์ของจำเลยเมื่อพิจารณาประกอบกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย อย่างไรก็ดีการที่จำเลยถือขวดดักรอทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายถูกตีล้มตกจากรถจักรยาน จำเลยจึงใช้ขวดแตกแทงและใช้อาวุธมีดแทง แสดงว่าเจตนาในเบื้องแรกจำเลยมีเจตนาไตร่ตรองเพียงทำร้ายผู้เสียหาย แล้วมาเปลี่ยนเจตนาเป็นมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายในภายหลัง เนื่องจากเจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกลืนกันไปในการกระทำต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80 เท่านั้น



ข้อเท็จจริง
1.จำเลยมีสาเหตุวิวาทกับผู้เสียหายเพราะถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าจำเลยลักโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายและกล่าววาจายั่วยุ ท้าทาย จนจำเลยร้องไห้ออกไปจากบ้าน ส. จากนั้นจำเลยก็ไปดักรอเพื่อไปทำร้ายผู้เสียหาย
2. เมื่อผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยใช้ขวดตีศีรษะผู้เสียหายอย่างแรง จนขวดที่ตีแตกและเสียหายตกจากรถจักรยาน เมื่อขวดแตกแล้วจำเลยได้ใช้ขวดนั้นแทงเข้าที่ลำตัวและท้องของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายหลบหนีจำเลยก็ตามเข้าไปแทงผู้เสียหายด้วยอาวุธมีดปลายแหลมโดยจำเลยได้ตระเตรียมอาวุธมีดมาและการทำร้ายผู้เสียหายได้กระทำอย่างต่อเนื่อง เมือผู้เสียหายหลบหนีจนถึงบ่อน้ำผู้เสียหายกระเสือกกระสนหลบลงไปในบ่อน้ำ จำเลยยังตามไปจะทำร้ายอีกแต่ไม่ได้ลงไปในบ่อน้ำเพราะผู้เสียหายขู่ว่าผู้เสียหายมีมีดและปรากฏว่าจำเลยรอผู้เสียหายอยู่อีกครึ่งชั่วโมง เมื่อฝนตกหนักจำเลยจึงกลับไป
3. ปัญหามีว่า กระกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
4. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289(4) ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัสโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 297 ประกอบมาตรา 298 ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องฐานพยายามฆ่า
5. อัยการโจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ที่จำเลยไปดักรอแล้วตีผู้เสียหายที่ศีรษะแล้วใช้อาวุธมีดซึ่งมีอันตรายไล่แทงผู้เสียหายจนถูกที่ท้องทะลุถึงลำไส้แล้วติดตามทำร้ายไปถึง 60 เมตร จนผู้เสียหายหลบหนีลงไปในบ่อน้ำ จำเลยก็ยังวนเวียนรอทำร้ายเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทั้งที่รู้ว่าผู้เสียหายถูกแทงที่ท้อง หากไม่ได้รับการรักษาย่อมถึงแก่ความตายได้ จำเลยก็ยังไม่ยอมให้ผู้เสียหายขึ้นจากบ่อน้ำ
เพื่อไปรักษาตัว พฤติการณ์ของจำเลยเมื่อพิจารณาประกอบกันแสดงว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี การที่จำเลยถือขวดดักรอทำร้ายผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายถูกตีล้มตกจากรถจักรยาน จำเลยจึงใช้ขวดแตกแทงและให้อาวุธมีดแทง แสดงว่าเจตนาในเบื้องแรกจำเลยมีเจตนาไตร่ตรองเพียงทำร้ายผู้เสียหายแล้วมาเปลี่ยนเจตนาเป็นมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายในภายหลัง เนื่องจากเจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกันไปในการกระทำต่อเนื่องกันเป็นกรรมเดียว จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80

หมายเหตุ
1. คดีนี้ศาลฎีกาใช้คำว่า เจตนาทำร้ายและเจตนาฆ่าเกลื่อนกันไปในการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว
2. ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาใช้คำทำนองเดียวกันว่าเกลื่อนกลืน ตามฎีกาที่ 185/2520 ซึ่งคดีนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่และเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ความผิดฐานยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่จึงเกลื่อนกลืนเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
3. ตามฎีกา 7034/2554 ข้างต้น ถ้าผู้เสียหายหลบหนีจำเลยลงไปในบ่อน้ำแล้วจมน้ำตาย จำเลยจะมีความผิดตาม ป.อ. ฐานใดและเพราะเหตุใด
4. ตามฎีกา 7034/2554 จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 371 ด้วยหรือไม่ หากผิดจะเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรม


ถามตอบฎีกา บทบรรณาธิการเนติ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 10


------------------------------------

                  คำถาม  ก่อสร้างตอม่อ  ทำคานปูนและปักเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น  จะอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๕๒๓๘/๒๕๔๖  ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่สุจริตตามฟ้องจริง
                ปัญหาข้อต่อมาที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า  จำเลยทั้งสองได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวโดยอายุความนั้น  เห็นว่า  การที่จำเลยทั้งสองสร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน  จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำของโจทก์โดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๓๘๒  ประกอบมาตรา  ๑๔๐๑  ดังนั้น  แม้จะมีการครอบครองมานานเท่าใด  จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าว


                คำถาม  ผู้กู้นำโฉนดที่ดินมอบให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้  ผู้ให้กู้จะมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินหรือไม่  และหากผู้ให้กู้คืนโฉนดที่ดินแก่ผู้กู้ไป  จะเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               ๑.คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๔/๒๕๔๖  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า  ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาทหรือไม่  เห็นว่า  ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินก็โดยจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายคำร้อง  ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัย  ข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวนั้นเอง  แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้  ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๔๑  หมายถึง  การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น  หนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่  เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว  ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินฉบับพิพาท
               ๒.  คำพิพากษาฎีกาที่  ๒๗๑๘/๒๕๑๕  ในประเด็นที่ว่า  การที่โจทก์ได้คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไปนั้น  จำเลยที่  ๒  ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๖๙๗  นั้น  ต้องเป็นสิทธิที่ให้อำนาจแก่เจ้าหนี้เหนือทรัพย์สินของลูกหนี้  เช่น  การจำนอง  จำนำ  หรือบุริมสิทธิ  โฉนดเป็นเพียงเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์  จำเลยที่  ๑  มอบโฉนดให้โจทก์ยึดถือไว้ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิใดๆ  ในตัวทรัพย์  คือที่ดินตามโฉนด  การที่โจทก์คืนโฉนดให้จำเลยที่  ๑  ไป  จึงไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยที่  ๒  ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดไปได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่  ๖๓๑/๒๔๗๔
               ๓.  เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้เงินโดยลูกหนี้มอบโฉนดให้ยึดไว้เป้นประกันนั้น  ไม่มีสิทธิยึดหน่วงตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  ๒๔๑  จึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลายฯ  มาตรา  ๖  เมื่อลูกหนี้ต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย  เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิน  ๒  เดือนไม่ได้  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  มาตรา  ๙๑  (ฎีกาที่  ๕๔๕/๒๕๐๔)
               ๔.  ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันยอมให้เจ้าหนี้ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ครบถ้วนนั้น  ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  กรณีเช่นนี้ไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาจำนอง  เพราะเจ้าหนี้มิได้มีสิทธิพิเศษในที่ดินอันเป็นตัวทรัพย์นั้น  (ฎีกาที่  ๕๐๕/๒๕๐๗)  เพียงเอาโฉนดที่ดินมาให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้ตามสัญญากู้  มิใช่หนี้ที่มีประกันตามกฎหมาย   (ฎีกาที่  ๑๖๑๒/๒๕๑๒)
               ๕. จำเลยให้โจทก์กู้เงินยึดโฉนดไว้เป็นประกัน  หนี้ขาดอายุความ  โจทก์เรียกโฉนดคืนได้  มิใช่จำนำที่จะบังคับตามมาตรา  ๑๘๙  (ฎีกาที่  ๒๒๙/๒๕๒๒  ประชุมใหญ่)
               ๖.   กู้เงินมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดไว้  เมื่อลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ก็เรียกโฉนดคืนไม่ได้  (ฎีกาที่  ๔๑๖/๒๕๒๐)
               โจทก์ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำเลย  โดยจำเลยยึดถือโฉนดรายพิพาทกับใบมอบอำนาจที่โจทก์ให้ไว้ยังมิได้นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันตามที่ตกลงกัน  เมื่อโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยมากกว่าที่โจทก์เสนอจะชำระให้แก่จำเลย  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับชำระหนี้  และ  ยึดถือโฉนดไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นได้  (ฎีกาที่  ๙๔๒/๒๕๒๗)


                คำถาม  กรณีลูกหนี้ทำสัญญาจะขายทรัพย์เฉพาะสิ่งแล้ว  กลับเอาทรัพย์นั้นไปโอนขายแก่ผู้อื่น  ผู้ซื้อรายแรกจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อรายหลังได้หรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๓๙๒/๒๕๔๕  ก่อนที่จำเลยที่  ๑  จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่  ๒  จำเลยที่  ๒  ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่  ๑  ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทต่อกันไว้ก่อนแล้วการที่จำเลยที่  ๒  ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่  ๑  จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่  ๑  เสียเปรียบ  ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์  โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๔๓๘๔/๒๕๔๐  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  และเมื่อวัตถุแห่งหนี้คือบ้านพร้อมที่ดินอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  แม้ลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้  ก็ยังทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้
                คดีเรื่องนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลฎีกาเห็นว่า  จำเลยที่  ๓  เป็นน้องภรรยาของจำเลยที่  ๒  เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการในนามของจำเลยที่  ๑  จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่  ๓  ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทโดยรู้อยู่ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์ดังกล่าวกับจำเลยที่  ๑  ก่อนแล้ว  โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่  ๒๒๖๐๖๓  เพื่อจดทะเบียนโอนให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  ๑  เป็นเพียงบุคคลสิทธิ  หาใช่ทรัพยสิทธิ  โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่  ๑  กับที่  ๓  ไม่ได้นั้น  เห็นว่า  บทบัญญัติว่าด้วยการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  มิได้บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในทรัพยสิทธิเท่านั้นที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ  ดังนี้เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิในบุคคลสิทธิย่อมร้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใดๆ  อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบได้ด้วย  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น
                ที่จำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฎีกาว่า  การเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๒๓๗  จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้  แต่จำเลยที่  ๑  มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  ย่อมไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบนั้น  เห็นว่าวัตถุแห่งหนี้ในคดีนี้คือบ้านพร้อมที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้  ดังนี้แม้จำเลยที่  ๑  จะมีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก้โจทก์ได้  ก็ยังทำให้โจทก์เสียเปรียบ  ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่  ๑  และที่  ๓  ฟังไม่ขึ้น

                คำถาม  การปลอมเอกสารต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและต้องทำให้เหมือนของจริงหรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๙๕/๒๕๔๖  จำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันทำปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์  ฉบับลงวันที่  ๒๖  สิงหาคม  ๒๕๔๑  ระหว่างนายยืนยง  ผู้ขาย  กับนายเตือนใจ  ผู้ซื้อโดยจำเลยที่  ๒  กับพวกร่วมกันหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  เป็นบุคคลคนเดียวกับนายยืนยงซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน  ภ – ๗๘๗๔  นครราชสีมา  และตกลงขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นางเตือนใจ  ซึ่งความจริงแล้ว  จำเลยที่  ๒  กับนายยืนยงเป็นบุคคลคนละคนกัน

                เห็นว่า  การปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน  และไม่ต้องทำให้เหมือนของจริงก็เป็นเอกสารปลอมได้  จำเลยที่  ๒  กับพวกหลอกลวงนางเตือนใจว่า  จำเลยที่  ๒  คือ  นายยืนยงเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว  และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันนั้น  โดยพวกของจำเลยที่  ๒  ลงลายมือชื่อนายยืนยง  ในช่องผู้ขายในสัญญาดังกล่าวมอบให้นางเตือนใจยึดถือไว้การกระทำของจำเลยที่  ๒  กับพวกมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้เงินจากนางเตือนใจ  และไม่ให้นางเตือนใจใช้สัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นเป็นหลักฐานฟ้องเรียกเงินคืน  ทำให้นางเตือนใจได้รับความเสียหาย  จำเลยที่  ๒  กับพวก  จึงมีความผิดฐานร่วมกันปลอมหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์อันเป็นเอกสารสิทธิ  เมื่อจำเลยที่  ๒  กับพวกได้มอบหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์นั้นให้นางเตือนใจยึดถือไว้  จำเลยที่  ๒  กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมอีกกระทงหนึ่ง  รวมทั้งมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วย